recycle

ก่อนขยะ (จะ) ไปไหน? ขยะจะถูกรวบรวมและจำแนกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามคุณสมบัติและความเหมาะสม โดยจุดเริ่มต้นของกระบวนการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ก็คือการแยกขยะของครัวเรือนนั่นเอง

ในบทความ “ขยะไปไหน?: ขยะหายพลังงานเกิด” เล่าถึงจัดการขยะของประเทศสวีเดนที่นำขยะเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการนำมาใช้ผลิตพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศสวีเดนมีขยะเหลือทิ้งที่ต้องฝังกลบจริงๆ เพียงแค่ 1% เท่านั้น นอกจากนี้เมื่อขยะกลายเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้สวีเดนมีขยะไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตของเตาเผาขยะและต้องนำเข้าขยะจากต่างประเทศในที่สุด แต่มิใช่ขยะทุกชนิดจะสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ ดังนั้นขยะจากภาคส่วนต่างๆ จึงต้องผ่านการคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ตามความเหมาะสม และจุดเริ่มต้นของกระบวนการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ก็คือการแยกขยะของครัวเรือน

ด้วยความที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองโกเธนเบิร์ก (Göteborg หรือ Gothenburg) ประเทศสวีเดนเป็นเวลา 2 ปีเพื่อศึกษาต่อ จึงได้สัมผัสประสบการณ์การแยกขยะตามวิถีปฏิบัติของชาวไวกิ้ง เนื่องจากเจ้าถิ่นแยกขยะกันอย่างจริงจัง แถมที่ทิ้งขยะในอาคารเรียนมีการติดป้ายแยกประเภทขยะอย่างชัดเจน ตลอดจนสถานที่รวบรวมขยะก็มีอยู่ทั่วหัวมุมถนน (ตามกฎระเบียบที่กำหนดให้สถานีเหล่านี้อยู่ในรัศมี 300 เมตรจากแหล่งที่อยู่อาศัย) แต่สิ่งที่ประสบเมื่อแรกเริ่มไปถึงดินแดนไวกิ้งก็คืออาการมึนงงว่าจะทิ้งอะไรอย่างไร ยิ่งถ้าไม่แยกขยะด้วยแล้วก็ไม่รู้จะนำไปทิ้งตรงไหน ด้วยเหตุนี้ผู้มาอยู่ใหม่จึงไม่มีทางเลือกนอกจากปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ ดังสุภาษิตที่กล่าวไว้ว่า เข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตาม

Untitled

ตัวอย่างที่ทิ้งขยะในอาคารเรียนและสำนักงาน
ที่มา: Kittichate Visuttijai

การแยกขยะของครัวเรือนที่สวีเดนแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆ ซึ่งคงไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยมากนัก ได้แก่

  • ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic waste) ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เตาอบไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึง หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ต่างๆ และของเล่นที่มากับแบตเตอรี่ ขยะประเภทนี้มีส่วนประกอบของโลหะมีค่าและสารอันตรายจึงจำเป็นต้องแยกจากขยะประเภทอื่น

  • ขยะอันตราย (Hazardous waste) คือขยะที่ประกอบด้วยสารที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีความเป็นพิษ มีฤทธิ์กัดกร่อน ติดไฟหรือระเบิดได้ง่าย ซึ่งจะเป็นอันตรายหากไม่ทิ้งในที่ที่จัดไว้เฉพาะและควรแยกจากขยะประเภทอื่น ขยะอันตราย เช่น ยา สารเคมี ยาฆ่าแมลง สีทาบ้าน น้ำมันรถยนต์ รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

ขยะอันตรายซึ่งรวมถึงหลอดไฟและแบตเตอรี่
ที่มา: Pakorn Wisitnan and Jakob Sandell

  • บรรจุภัณฑ์ (Packaging) และสิ่งพิมพ์ (Newspaper ad printed) โดยบรรจุภัณฑ์จำแนกเป็น 4 กลุ่มตามประเภทของวัสดุ ได้แก่ แก้ว โลหะ กระดาษ และพลาสติก

  • ขยะอื่นๆ ได้แก่ เศษอาหาร (Food waste) ของเหลือใช้ขนาดใหญ่ เฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

ด้วยความที่อาศัยอยู่เพียงช่วงสั้นๆจึงมิได้มีเหตุให้ต้องจัดการขยะจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า สารเคมี หรือเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ แต่ก็พอทราบมาบ้างว่าขยะเหล่านี้จะมีที่เฉพาะสำหรับทิ้ง หรือหากมีปริมาณมากก็สามารถเรียกใช้บริการหน่วยงานของเทศบาลให้มารับไปได้ ส่วนของเหลือใช้ที่ยังสภาพดี เช่น เฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้าน ถ้าไม่ทิ้งก็อาจนำไปบริจาคที่ศูนย์ซึ่งจะนำไปขายเป็นของมือสองราคาถูกต่อไป

Återvinngsplats+Foto+Frank+Palm

สถานีทิ้งขยะประกอบด้วยตู้สำหรับขยะประเภทต่างๆ
ที่มา: http://goteborg.se/

ผิดกับขยะประเภทบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ที่ได้รวบรวมและจำแนกอยู่เสมอๆ จากที่คุ้นเคยเพียง “ขยะเปียก” และ “ขยะแห้ง” หรืออย่างมากขยะแห้งก็อาจแบ่งเป็นกระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ แค่โยนลงถังให้ถูกประเภทก็เป็นอันใช้ได้ แต่ความจริงมิได้ง่ายเช่นนั้นเมื่อมาพบกับตู้ขยะเรียงรายทีละ 6-7 ตู้ นอกจากจะมึนงงแล้วยังทำให้คิดได้ว่าการแยกขยะมิใช่เรื่องเล่นๆ เสียแล้ว……อย่างเช่นการแยกขยะบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้องการการลงมือลงแรง รวมทั้งมีขั้นตอน และข้อควรระวังอยู่พอสมควร

  • ขั้นตอนแรกของการจัดการขยะในครัวเรือนคือการล้างทำความสะอาด ใช่แล้ว…จะเรียกว่าล้างขยะก็ได้ แต่ไม่ถึงกับล้างทำความสะอาดอย่างหมดจด เพียงแค่ไม่ให้เศษอาหารหรือสิ่งที่มันบรรจุมาหลงเหลือจนเน่าบูดก็พอ

  • ขั้นตอนที่สองของการจัดการขยะประเภทบรรจุภัณฑ์คือการแยกส่วน บรรจุภัณฑ์หลายชนิดมีส่วนประกอบของวัสดุต่างชนิด เป็นต้นว่าขวดซอสปรุงรสที่ทำจากแก้ว แต่มีฝาเป็นพลาสติกหรือโลหะ ถ้วยโยเกิร์ตที่มาพร้อมฟรอยด์อลูมิเนียม หรือกล่องอาหารแช่แข็งที่เป็นพลาสติกแต่มากับฉลากกระดาษ เหล่านี้จำเป็นต้องแยกประเภท จะทิ้งรวมกันมิได้ แถมการแยกขยะบรรจุภัณฑ์ก็มีข้อควรระวังดังนี้

บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก เป็นขยะที่ผู้เขียนคุ้นเคยมากที่สุด ขยะประเภทนี้ได้แก่ ขวดน้ำดื่มหรือน้ำอัดลมทั่วไป กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดสบู่ ยาสระผม ขวดซอสปรุงรส กล่องชีส ถ้วยโยเกิร์ต ถุงพลาสติกและฟิล์มพลาสติกสำหรับประกอบอาหาร แต่สิ่งที่ห้ามนำมาทิ้งรวมก็อย่างเช่น กล่องซีดี แปรงสีฟัน ของเล่นพลาสติก

บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว หมายถึงขวดแก้วบรรจุไวน์ น้ำผลไม้ หรือเบียร์ ขวดกาแฟ ขวดแยม และซอสปรุงรสต่างๆ ซึ่งนอกจากจะต้องทำความสะอาดและแกะฝาพลาสติกแล้ว ข้อควรระวังก็คือขยะในหมวดนี้ไม่รวม แก้วน้ำ เซรามิค กระจกหน้าต่าง จานแก้ว หรือหลอดไฟ

บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ ได้แก่ กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ กล่องบรรจุอาหาร เช่น ซีเรียล คุ้กกี้ นอกจากนี้ยังรวมถุงกระดาษ ได้แก่ ถุงแป้ง ถุงธัญพืช และกระดาษห่ออาหาร โดยเมื่อทำความสะอาดแล้วควรพับบรรจุภัณฑ์กระดาษเหล่านี้ให้แบนเพื่อประหยัดเนื้อที่

สุดท้ายบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ หมายถึงกระป๋องอลูมิเนียมทั่วไป ฟอยล์อลูมิเนียมที่ใช้ในครัว กระป๋องโลหะที่บรรจุสีหรือกาวก็รวมอยู่ในหมวดหมู่นี้หากล้างทำความสะอาดจนไม่เหลือสิ่งตกค้างแล้ว แต่สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งคือห้ามนำโลหะประเภทอื่นที่มิใช่บรรจุภัณฑ์มาทิ้งรวมเด็ดขาด เช่น น็อต ตะปู หรือชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

ขัันตอนการจัดการบรรจุภัณฑ์กระดาษ
ที่มา: Pakorn Wisitnan and Jakob Sandell

  • ขั้นตอนที่สามได้แก่การนำไปทิ้ง หลักการง่ายๆ คือทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง โดยทั่วไปสถานที่ทิ้งขยะมีลักษณะเหมือนสถานีหรือห้องเก็บขยะขนาดย่อมๆ จะตั้งอยู่ไม่ห่างจากที่อยู่อาศัยนัก และมีตู้หรือถังหลายใบสำหรับขยะประเภทต่างๆ สิ่งที่ต้องทำคืออ่านป้ายให้ดีและทิ้งให้ถูก แต่ถึงจะไม่รู้ภาษาสวีดิช ป้ายส่วนใหญ่ก็จะมีรูปภาพประกอบช่วย หรือหากไม่มีก็แค่สังเกตว่าของที่ทิ้งไว้ก่อนหน้านั้นคือขยะประเภทใด สำหรับข้อควรระวังในขั้นตอนนี้ก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้วจะแยกเป็นแก้วใสและแก้วขุ่น ต้องทิ้งแยกกัน ขยะกระดาษประเภทหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์กับบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษก็ทิ้งแยกกัน ที่สำคัญคือห้ามนำกระดาษที่มีกาว เช่น โพสอิท ซองจดหมาย มาทิ้งรวมกับสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ใบปลิว แผนพับ และใบโฆษณาต่างๆ อย่างเด็ดขาด เนื่องจากส่วนที่เป็นกาวจะสร้างความเสียหายเมื่อนำไปรีไซเคิล นอกจากนี้สมุดปกแข็ง กระดาษแข็งก็ต้องแยกออกไป รวมถึงต้องระวังไม่ให้มีเศษโลหะจำพวกลวดเย็บกระดาษ คลิป และตัวหนีบกระดาษ ปะปนไปกับกระดาษ

  • ขั้นตอนสุดท้าย “คืนขยะและรับเงินคืน” อันที่จริงขั้นตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำขยะไปทิ้งแต่มีความพิเศษตรงที่สามารถรับเงินคืนจากขยะบางชนิดได้ ขยะประเภทที่ได้เงินคืนคือขวดพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียม เพราะผู้ผลิตได้คิดค่าบรรจุภัณฑ์รวมอยู่ในราคาขาย ผู้บริโภคจึงจ่ายเงินในลักษณะมัดจำ เมื่อนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไปคืนก็จะได้ค่ามัดจำคืนนั่นเอง ระบบนี้มีใช้ในประเทศต่างๆ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น

บรรจุภัณฑ์พลาสติกจำพวกขวดน้ำอัดลมนั้นส่วนใหญ่ไม่ต้องนำไปที่สถานีหรือห้องทิ้งขยะ แต่สามารถนำไปคืนที่เครื่องรับขวดพลาสติก ซึ่งอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งทั่วเมือง ขวดที่สามารถนำไปคืนได้จะมีสัญลักษณ์ระบุไว้บนฉลากพลาสติกที่มากับขวด เมื่อนำขวดใส่เข้าไป เครื่องจะอ่านโค้ดบนฉลากและคืนเงินให้ 2 สวีดิชโครนสำหรับขวดใหญ่ และ 1 สวีดิชโครนสำหรับขวดเล็ก โดยจะคืนเงินในรูปของคูปองซึ่งนำไปใช้แทนเงินสดในการซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนั้น แต่หากฉลากพลาสติกหลุดออกจะทำให้เครื่องไม่สามารถอ่านโค้ดได้และจะไม่ได้เงินคืน จึงควรระวังเป็นอย่างยิ่ง

บรรจุภัณฑ์อีกประเภทที่สามารถนำไปแลกเงินคืนได้คือกระป๋องอลูมิเนียม อันได้แก่ กระป๋องน้ำอัดลม และกระป๋องเบียร์ โดยจะได้เงินคือในลักษณะคูปองเงินสดเช่นเดียวกับขวดพลาสติก คือ 0.5 สวีดิชโครนต่อ 1 กระป๋อง (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 1 สวีดิชโครนแล้ว) แต่หากกระป๋องบุบเบี้ยวไม่ได้รูปทรงจะไม่สามารถคืนได้ทางเครื่องรับอัตโนมัติ เพราะเครื่องไม่สามารถอ่านโค้ดได้

กระป๋องอลูมิเนียมและขวดพลาสติกจะมีสัญลักษณ์ระบุด้านข้างว่าสามารถนำไปคืนที่เครื่องรับอัตโนมัติได้ พร้อมระบุมูลค่าที่จะได้รับคืน
ที่มา: Kittichate Visuttijai

Reverse vending machine

ตู้รับขวดและกระป๋องอัตโนมัติ
ที่มา: Kittichate Visuttijai

ด้วยความที่ทั้งขวดพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียมสามารถไปแลกเป็นคูปองเงินสดได้ บรรจุภัณฑ์สองชนิดนี้จึงนับเป็นขุมทรัพย์อันมีค่าสำหรับนักเรียนไทยในต่างแดน เห็นได้จากเวลามีงานเลี้ยงสังสรรค์ ไม่มีครั้งใดเลยที่จะเหลือขวดหรือกระป๋องวางทิ้งไว้   เช่นเดียวกับในเมืองที่ไม่ค่อยมีขวดหรือกระป๋องทิ้งเกลื่อนกลาด เพราะมีคนมาเก็บไปหยอดตู้กันเสมอๆ นั่นเอง

แม้ว่าการจำแนกขยะในครัวเรือนอาจจะฟังยุ่งยาก ทั้งขั้นตอนการคัดแยกและการทำความสะอาด แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่สวีเดน ผู้เขียนก็แยกขยะตามวิถีสวีดิชด้วยความเต็มใจ อันเนื่องมาจากองค์ประกอบ  3 ข้อ ส่วนหนึ่งมาจากการตระหนักว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้อยู่อาศัย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการรณรงค์ให้เห็นว่าการกระทำของเรานั้นมีคุณค่าและก่อให้เกิดประโยชน์ และอย่างสุดท้ายคือแรงจูงใจทางการเงินในรูปแบบของการได้รับเงินคืนจากการแยกขยะ

หากประเทศไทยใช้องค์ประกอบทั้ง 3 ข้อนี้ ผู้เขียนก็เชื่อว่าการแยกขยะอย่างพร้อมเพรียงคงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

————————–

อ้างอิง

http://www.sopor.nu/

http://sweden.se/nature/99-recycling-thats-the-swedish-way/#start

http://goteborg.se/wps/portal/invanare/miljo/avfall-och-atervinning/sa-sorterar-du-for-atervinning/!ut/p/b1/04_SjzQ0MjazNDSxNDXTj9CPykssy0xPLMnMz0vMAfGjzOIDDL0CLZwMHQ383S3dDDxDvAPc_Lx9_F09TIAKIoEKDHAARwNC-v088nNT9XOjciwAqZSEUA!!/dl4/d5/L2dBISEvZ0FBIS9nQSEh/