ที่มา http://www.4toart.com/showpict.php?uid=18101

ที่มา http://www.4toart.com/showpict.php?uid=18101

ที่มา http://www.4toart.com/showpict.php?uid=1810

หลังจากเล่าถึงปัญหาที่เกิดกับระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งพบจากการลงพื้นที่สำรวจแพปลาในจังหวัดสงขลาไปแล้ว คราวนี้ก็จะขอพูดถึงทางออกที่ภาคส่วนต่างๆ กำลังพยายามดำเนินการปิดช่องโหว่กันอยู่ เพื่อประเมินว่าปัญหานี้จะคลี่คลายไปได้อย่างไร

ขอเริ่มจากกฏหมายที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะหลายท่านอาจจะสงสัยว่าถ้าเรืออวนลากอวนรุนทำร้ายทรัพยากรทางทะเล ทั้งครูดหน้าดิน ทั้งทำลายปะการัง และบางครั้งยังไปลากเอาเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านที่วางดักปลาเอาไว้อีกด้วย ทำไมเรายังปล่อยให้มีการใช้เครื่องมือชนิดนี้กันอยู่

จริงๆ แล้วรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตระหนักถึงผลเสียทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำประมงด้วยอวนลากและอวนรุนในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง จึงมีการออกประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 โดยห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนภายในระยะ 1,000 เมตรจากฝั่ง และภายในระยะ 200 เมตรจากอาณาเขตที่ตั้งเครื่องมือการประมงประจำที่ ก่อนที่จะเพิ่มระยะเป็น 3,000 เมตร และ 400 เมตร ตามลำดับ ในปี พ.ศ.2515

นอกจากนี้ยังมีการออกระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการลดจำนวนเครื่องมืออวนลากและอวนรุน ในปี พ.ศ.2523 ที่ไม่ให้มีการออกใบอนุญาต หรือที่เรียกว่า “อาชญาบัตร” ให้กับเครื่องมือทำการประมงชนิดนี้อีกต่อไป (อวนลากอวนรุนเป็นชื่อประเภทเครื่องมือประมง ไม่ใช่ชนิดของเรือประมง เรืออวนลาก หมายถึงเรือที่ติดเครื่องมืออวนลากเอาไว้) ส่วนที่มีอยู่แล้วก็สามารถนำเครื่องมือมาต่ออาชญาบัตรได้ที่กรมประมง แต่เมื่อใดที่อาชญาบัตรขาดไปแล้วจะไม่สามารถนำมาต่อใหม่ได้อีก ทั้งนี้เพื่อจำกัดปริมาณอวนลากอวนรุนอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

ที่มา : http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=2932

ที่มา : http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=2932

แม้ว่าเราจะมีทั้งกฏหมายที่ช่วยควบคุมปริมาณเครื่องมือทำลายล้างอย่างอวนลากอวนรุน และกฏหมายป้องกันการทำประมงในบริเวณที่จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเลอยู่แล้ว แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดูจะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำเราต้องเผชิญปัญหาจากเรืออวนลากอวนรุนต่อไป เพราะความเสี่ยงในการโดนจับกุมและบทลงโทษที่จะได้รับมีน้อยกว่าผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับหากลักลอบทำผิดได้สำเร็จ ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่ากลไกการควบคุม การตรวจสอบ และบทลงโทษ เป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดการลักลอบทำการประมงอย่างผิดกฏหมายก็ไม่เกินเลยความจริงนัก

ยกตัวอย่างบริเวณชายฝั่งของจังหวัดสงขลา การลาดตระเวนและจับกุมเรือที่กระทำผิดเป็นหน้าที่ของศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลภาคใต้ตอนล่าง สังกัดสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ศูนย์นี้มีกำลังพลอยู่ทั้งหมด 46 คน เรือลาดตระเวน 9 ลำ ในขณะที่พื้นที่ในความดูแลยาวถึง 136.6 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปจนถึง อ.เมือง จ.สงขลา รวมถึงบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนนอกกว่า 136,379 ไร่ จะเห็นว่ากำลังที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะป้องกัน ควบคุม หรือตรวจสอบเรือประมงที่ลักลอบกระทำความผิดได้ทั้งหมด

ที่มา http://www3.navy.mi.th/index.php/main/detail/content_id/556

ที่มา http://www3.navy.mi.th/index.php/main/detail/content_id/556

นอกจากนี้การบังคับใช้กฏหมายก็ทำให้เกิดช่องโหว่ เช่น การจับกุมผู้ที่ลักลอบทำประมงอย่างผิดกฏหมายต้องจับในขณะที่กำลังกระทำความผิด เช่น กำลังใช้เรือมีเครื่องยนต์ลากอวนในบริเวณพื้นที่ห้ามลาก และในอวนต้องมีปลาเป็นของกลาง ไม่เพียงเท่านั้น ยังไม่รวมการโดนชาวบ้านมาปิดล้อม เพื่อกดดันให้ปล่อยตัวผู้กระทำผิดที่ถูกจับกุม ซึ่งอาจจะเป็นญาติพี่น้องหรือคนในหมู่บ้านเดียวกัน หรือเมื่อจับกุมมาได้และนำส่งฟ้องที่ศาลแขวง ศาลก็มักจะสั่งปรับโดยเฉลี่ยรายละ 5,000 บาท แล้วคืนเรือให้ (จริงๆ หน่วยงานรัฐก็ไม่อยากยึดเรือไว้ เพราะถ้าเกิดความเสียหาย ก็ต้องซ่อมแซมเรือให้เจ้าของด้วย) เหตุการณ์แบบถูกจับวันนี้ พรุ่งนี้ก็กลับมาลักลอบทำอวนลากใหม่จึงปรากฏให้เห็นเสมอ เพราะบทลงโทษและค่าปรับที่ชาวประมงจ่ายเทียบกันไม่ได้เลยกับรายได้ โดยเฉพาะการลักลอบจับปลาในช่วงเวลาและในบริเวณที่มีการเฝ้าระวังดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างดี เพราะมักจะได้ปริมาณปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ จำนวนมาก ขายได้เงินเป็นหลักหมื่น ซึ่งคุ้มที่จะเสี่ยงอย่างยิ่ง

IUU Fishing คืออะไร? IUU Fishing คือ แนวคิดเกี่ยวกับการประมงที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยสามส่วนคือ 1. การประมงที่ผิดกฏหมาย (Illegal) หรือฝ่าฝืนกฏหมายของท้องที่นั้นๆ 2. การประมงที่ไม่รายงาน (Unreported) หลีกเลี่ยงการรายงาน หรือรายงานข้อมูลเท็จ และ 3. การประมงที่ไร้การควบคุม (Unregulated) เช่นเรือประมงไร้สัญชาติ 

ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีกฏหมาย แต่ถ้าไม่มีกลไกการควบคุม ตรวจสอบ และบทลงโทษที่มีประสิทธิภาพ ผลกระทบจากเหล่าชาวประมงที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดขึ้นเรื่อยไป อย่างไรก็ตามกำลังมีความพยายามที่จะปรับปรุงข้อกฎหมายใหม่ โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติการประมงใหม่เข้าไปในสภา แต่ตกไปเมื่อมีการยุบสภาเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา จึงต้องรอลุ้นกันต่อไป

 

นอกจากผิดกฎหมายแล้ว เรื่องที่น่ากังวลอีกอย่างของการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืนก็คือการเสียโอกาสทางการค้า อย่างเช่นปัจจุบันสินค้าทั้งที่แปรรูปและไม่แปรรูปที่จะส่งออกไปยังสหภาพยุโรปต้องมีใบรับรองแหล่งที่มาว่าไม่ได้มาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU fishing (Illegal, Unreported, Unregulated fishing) ทำให้ต้องมีการนำเอามาตรฐานต่างๆ มาใช้ เช่น กรมประมงนำระบบ catch certificate มาใช้ในปีพ.ศ.2553 โดยเริ่มใช้กับปลาเศรษฐกิจที่คนบริโภคก่อน ซึ่งปลาที่จับมาจะต้องลงรายละเอียดการจับในปูมเรือว่าจับที่ไหน จับได้กี่กิโลกรัม จับโดยเรือลำใด เพื่อนำเอาใบปูมเรือมาแลกเปลี่ยนเป็นใบซื้อขายสัตว์น้ำที่แพ โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงคอยตรวจสอบความถูกต้อง

นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2556 กรมประมงยังได้จับมือกับกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหาร นำระบบรับรองปลาป่นมาใช้ โดยวัตถุดิบที่นำมาผลิตปลาป่นต้องสามารถระบุแหล่งที่มาเพื่อที่จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าวัตถุดิบที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเศษซาก เศษปลา หรือปลาเป็ด ไม่ได้เป็นวัตถุดิบที่มาจากการทำการประมงแบบ IUU

อย่างไรก็ดี ระบบรับรองปลาป่นนี้ยังมีช่องโหว่ เนื่องจากเป็นระบบรับรองตนเอง คือมีผู้ผลิตปลาป่นเป็นผู้ออกใบรับรอง ส่วนกรมประมงเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารเท่านั้น หากกรมประมงตรวจสอบแล้วว่าเอกสารถูกต้อง โรงงานอาหารสัตว์ก็จะดำเนินการจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ปลาป่นที่มีใบรับรองกิโลกรัมละสามบาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้โรงงานปลาป่นคัดเลือกวัตถุดิบที่มีใบรับรองสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยคาดหวังว่าแรงจูงใจนี้จะถูกส่งต่อไปยังเรือประมงให้ทำการประมงอย่างถูกกฏหมายและรายงานอย่างถูกต้อง ขณะนี้ผู้ผลิตปลาป่น 26 รายเข้าร่วมโครงการ แต่มีเพียงบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายเดียว ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตปลาป่นที่ไม่ได้ขายปลาป่นให้กับซีพีเอฟไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้าร่วมกับระบบรับรองปลาป่น ทำให้แรงจูงใจนี้ไม่ได้รับการส่งต่อไปยังเรือประมงที่เป็นคู่ค้ากับผู้ผลิตปลาป่นเหล่านี้

นอกจากระบบรับรองปลาป่นแล้ว ในปีที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ร่วมกับกรมประมง กรมปศุสัตว์ ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของไทย ให้มีความมั่นคงปลอดภัย และยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และในปีนี้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้ริเริ่มโครงการ Fishery Improvement Project (FIP) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของการประมงไทย ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายๆ องค์กร โดยมี World Wildlife Fund (WWF) และ Sustainable Fisheries Partnership (SFP) คอยให้ความช่วยเหลือให้การดำเนินโครงการ

จะเห็นได้ว่ามีความพยายามที่จะพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อผลักดันให้การประมงของไทยมีความยั่งยืน และเพื่อลดข้อเสียเปรียบทางการค้า แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน  จึงได้แต่หวังว่าในอนาคตผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจะเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อที่แสงสว่างซึ่งเริ่มมองเห็นทางปลายอุโมงค์ โชติช่วงชัชวาล