บริษัท ป่าสาละ จำกัด ดำเนินการภายใต้ทุนวิจัยจาก มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ เผยผลการวิจัยเรื่อง เหตุผลทางธรุกิจของธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย (Business case for Sustainable Banking in Thailand) ซึ่งคณะวิจัยพบว่า วงการธนาคารพาณิชย์ไทยยังค่อนข้างล้าหลังในเรื่องการธนาคารที่ยั่งยืน เมื่อพิจารณาจากการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และการเสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน อันเป็นสองด้านหลักของภาคปฏิบัติในเรื่องแนวคิดและมาตรฐานของการธนาคารที่ยั่งยืน
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงข้อค้นพบจากการทำวิจัยชิ้นนี้ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมยังไม่เข้าใจแนวคิดหรือวิถีปฏิบัติของการปล่อยสินเชื่อ “ที่รับผิดชอบ” สำหรับลูกค้าธุรกิจ โดยปัจจุบันยังไม่มีธนาคารแห่งใดใช้มาตรฐานสากลด้านการปล่อยสินเชื่อที่รับผิดชอบ อาทิ ชุดหลักอีเควเตอร์ หรือบูรณาการการประเมินความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการกลั่นกรองสินเชื่อด้วยตนเอง ธนาคารยังเน้นเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศต่างๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลเท่านั้น แม้ว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันการเงินระหว่างประเทศบางแห่ง อาทิ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ จะได้มีการจัดงานเสวนาเกี่ยวกับการธนาคารที่ยั่งยืนและชุดหลักอีเควเตอร์ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากธนาคารพาณิชย์ไทยเท่าที่ควร โดยผู้บริหารธนาคารบางรายมองว่า ถ้าหากว่าเป็นประโยชน์ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควร “สั่ง” ธนาคารให้รับชุดหลักการข้างต้นดังกล่าว ปฏิกิริยาดังกล่าวสะท้อนว่า ผู้บริหารธนาคารยังมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่วงแดล้อม กับความเสี่ยงทางธุรกิจของธนาคาร
การชุมนุมประท้วงโครงการเขื่อนไซยะบุรีบริเวณหน้าธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ
กรณีศึกษาที่น่าสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมกับความเสี่ยงทางธุรกิจของธนาคารคือ โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี มูลค่ากว่า 115,000 ล้านบาท บนลำน้ำโขงสายหลักตอนล่างในประเทศลาว ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับสินเชื่อในการก่อสร้างทั้งหมดจากธนาคารไทย 6 แห่ง โดย ณ ต้นปี พ.ศ.2558 การก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนจะคัดค้านอย่างหนัก ด้วยเหตุผลเดียวกันว่า การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีแนวโน้มจะก่อ “หายนะทางระบบนิเวศ” ครั้งใหญ่ นักสิ่งแวดล้อมบางคนถึงกับเรียกเขื่อนไซยะบุรีว่า เป็นการ “ปาดคอแม่น้ำโขง” เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญยิ่งในแง่ของระบบนิเวศ และงานวิจัยอิสระชิ้นแล้วชิ้นเล่าก็ชี้ว่าเขื่อนไซยะบุรีจะก่อให้เกิดปัญหาข้ามพรมแดนที่ยากจะเยียวยา จากการเปลี่ยนแปลงของระดับแม่น้ำ ตะกอน และเส้นทางปลาอพยพ เพราะจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อม
ยิ่งไปกว่านั้น การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรียังเป็นการท้าทายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) องค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อการพัฒนาลำน้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการแรกที่ใช้ข้อตกลง MRC ในการจัดการ แต่รัฐบาลลาวกลับอนุมัติให้ก่อสร้างเขื่อนนี้ทั้งที่กัมพูชาและเวียดนามไม่เคยให้ความเห็นชอบ และผลการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ของ MRC เองก็เสนอให้ชะลอโครงการนี้ออกไป 10 ปี เพื่อทำการประเมินผลกระทบเพิ่มเติม และธนาคารโลกก็ประกาศสนับสนุนข้อค้นพบของ SEA รวมถึงยืนยันว่า ธนาคารโลกจะไม่ให้สินเชื่อกับโครงการสร้างเขื่อนใดๆ ในลำน้ำโขงสายหลัก
นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำสั่งในคดีพิพาทระหว่างชาวบ้านริมแม่น้ำโขง ซึ่งฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานราชการอื่น โดยมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมไว้พิจารณา โดยคาดว่าการพิจารณาในชั้นศาลจะเริ่มต้นในปี 2558
นักวิจัยหลายคน อาทิ Srivastava (2007) จึงเสนอว่า ธนาคารควรนำประเด็นผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อโครงการใหญ่ เนื่องจาก 1) การจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการปล่อยสินเชื่อจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของธนาคารเอง ด้วยการลดสัดส่วนหนี้เสียลง และ 2) การจัดการความเสี่ยงดังกล่าวจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สร้างประโยชน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะทั้งหมดนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น นอกจากนี้ งานวิจัยจำนวนไม่น้อยยังชี้ว่า การบูรณาการประเด็นความยั่งยืนเข้าไปในระบบการจัดการของธนาคารจะสร้างประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ด้วยการขยับขยายพรมแดนของ “ตลาด” ในสายตาธนาคาร ช่วยให้มองเห็นฐานลูกค้าใหม่และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ในทางที่จะเพิ่มชื่อเสียงและความไว้วางใจที่สังคมมีต่อธนาคารได้เหลือคณานับ
สำหรับประเด็นที่มีประชาชนบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีกลไกเชิงสถาบันที่คุ้มครองผู้บริโภคหลายหน่วยงานด้วยกัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่โดยรวมแล้วกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินในไทยยังด้อยกว่ามาตรฐานสากลในบางมิติ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและความรู้เรื่องทางการเงินของธนาคารโลกพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่คำนวณราคาจริงที่ลูกค้าต้องจ่ายเฉลี่ยรายปี (Annual Percentage Rate: APR) ไม่มีการมอบระยะเวลาที่ลูกค้ารายย่อยสามารถเปลี่ยนใจยกเลิกบริการทางการเงินได้โดยไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ (cooling-off period) และใบสมัครสินเชื่อยังไม่มีมาตรฐานที่ทุกธนาคารใช้ร่วมกัน ซึ่งช่องว่างเหล่านี้ส่งผลให้การเปิดเผยเงื่อนไขการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความลักลั่นแตกต่างค่อนข้างมาก
ตัวอย่างสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการระดับรากหญ้าที่น่าสนใจ
นอกจากนี้ การศึกษาสถิติการร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ยังพบว่า ประเด็นที่มีผู้ร้องเรียนสูงสุดคือ บัตรเครดิต ตามมาด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อพาณิชย์ และสินเชื่อเช่าซื้อ ในปี พ.ศ.2556 เรื่องร้องเรียนที่ ศคง. รับกว่าร้อยละ 53 เกี่ยวกับสินเชื่อ โดยประเด็นที่มีผู้ร้องเรียนสูงสุด ได้แก่ การร้องขอความช่วยเหลือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ตามมาด้วยข้อสงสัยเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ และข้อร้องเรียนว่าสถาบันการเงินคิดค่าธรรมเนียมและค่าปรับฐานผ่อนจ่ายช้าสูงอย่างไม่เป็นธรรม
สถิติเรื่องร้องเรียนทางการเงินของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ฉายภาพความเปราะบางของผู้บริโภคในมุมที่แตกต่าง นั่นคือ ปัญหาการมีหนี้สินเกินตัว กรณีร้องเรียนเรื่องการผ่อนจ่ายช้า การถูกติดตามหนี้อย่างข่มขู่คุกคาม การถูกฟ้องดำเนินคดีจากการผิดนัดชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการถูกหักบัญชีไปชำระหนี้
สถิติข้อร้องเรียนของผู้บริโภคทางการเงินข้างต้นสอดคล้องกับสถานการณ์รวมของประเทศ คือตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนในไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับร้อยละ 82 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ณ ปลายปี พ.ศ. 2556 ส่งผลให้ไทยติดกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงสุดในเอเชีย ใกล้เคียงกับมาเลเซีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีระดับรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทย ในแถลงการณ์เดือนเมษายน 2557 ฟิทช์เรทติ้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ระบุว่า “ความเสี่ยงเชิงระบบจะปรับตัวสูงขึ้นถ้าหากการเติบโตของหนี้ครัวเรือนยังไม่ชะลอตัวลง ความเสี่ยงเหล่านี้อาจกลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาคุณภาพสินทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะถ้าหากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ท่ามกลางความปั่นป่วนทางการเมือง จนทำให้อัตราว่างงานและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมาก ในกรณีนั้น ความเสี่ยงด้านภาระผูกพันของประเทศอาจปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ถ้าหากรัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภาคธนาคาร หากเกิดกรณีที่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน”
สถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคทางการเงิน ประกอบกับสถานการณ์ด้านหนี้ครัวเรือนดังสรุปข้างต้น สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางธุรกิจได้จากการปรับปรุงวิถีการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะ 1) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าออมเงินและลดภาระหนี้ และ 2) การผนวกผสานการให้การศึกษาหรือความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) เข้าไปในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
กลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์
ส่วนประเด็นเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินนั้น แม้คณะวิจัยจะพบว่า ปัจจุบันคนไทยมีอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบค่อนข้างสูง แต่กลับเป็นการเข้าถึงบริการเงินฝากมากกว่าสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ ผลการสุ่มสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย 6,000 คนทั่วประเทศโดย FinScope ซึ่งจัดทำเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “Development of a Strategic Framework for Financial Inclusion” โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) สำหรับกระทรวงการคลังเมื่อปี 2556 ระบุว่า ประชากรไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปร้อยละ 77 มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร และอีกร้อยละ 21 ใช้บริการทางการเงินรูปแบบอื่น เท่ากับว่าประชากรวัยผู้ใหญ่กว่าร้อยละ 98 ใช้บริการทางการเงินในระบบรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ผลการสำรวจนี้คล้ายคลึงกับของธนาคารโลก (Global Findex) ที่พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการใช้บริการทางการเงินสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลภาพรวมลักษณะนี้มักจะปิดบังความหลากหลายเมื่อมองลึกลงในระดับภาคหรือระดับจังหวัดของประเทศ และกลบเกลื่อนสถานการณ์ของผู้มีรายได้น้อย ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยโดย ADB พบว่า มีครัวเรือนรายได้น้อยเพียงร้อยละ 38 ที่เคยใช้บริการทางการเงินอย่างน้อยหนึ่งประเภท ครัวเรือนรายได้น้อยร้อยละ 16 ไม่เคยใช้บริการทางการเงินใดๆ เลย ในขณะที่ครัวเรือนรายได้ปานกลางและรายได้สูงราวร้อยละ 80 ใช้บริการทางการเงินสามประเภทหรือมากกว่า นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยเกือบครึ่งไม่เคยกู้เงิน และร้อยละ 28 เข้าไม่ถึงแม้แต่บริการเงินฝากของธนาคาร เทียบกับร้อยละ 6 ในกรณีครัวเรือนรายได้ปานกลางและรายได้สูง (ADB, 2011)
M-Pesa หนึ่งในโมเดลธุรกิจธนาคารมือถือที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง
โดยรวม ธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่เจาะตลาดผู้มีรายได้น้อย ทั้งในตัวเมืองและชนบท ปล่อยให้ตลาดดังกล่าวเป็นพื้นที่ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารออมสิน นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจชนิดเป็น “ผู้ตาม” การพัฒนาเศรษฐกิจในไทย มิได้เป็น “ผู้นำ” การพัฒนาดังที่ผู้บริหารบางรายกล่าวอ้าง เมื่อเปรียบเทียบยอดสินเชื่อต่อหัวกับยอดผลผลิตมวลรวมรายจังหวัด (จีพีพี) ต่อหัว คณะวิจัยพบว่า ยิ่งจีพีพีมีระดับต่ำ ยอดสินเชื่อคงค้างในจังหวัดนั้นๆ ยิ่งอยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย โดยข้อมูลของกรุงเทพมหานครเป็นค่าผิดปกติอย่างชัดเจน – ยอดสินเชื่อต่อหัวอยู่ที่ 1.04 ล้านบาทโดยประมาณ หรือ 2.1 เท่าของรายได้ต่อหัว ซึ่งอยู่ที่ 485,672 บาทต่อคนต่อปีในปี พ.ศ. 2554
เมื่อคำนึงพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย ประกอบกับสถานการณ์ในตลาดสินเชื่อปัจจุบัน คณะวิจัยเสนอว่าตลาดยังเปิดกว้างอยู่มากสำหรับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 12,000 บาทต่อเดือน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15-28 ต่อปี โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจในการเจาะตลาดนี้มีอาทิ การจับมือกับองค์กรการเงินฐานรากให้ทำหน้าที่เป็น “ตัวแทนการปล่อยกู้และติดตามหนี้” แทนธนาคาร และโมเดลการธนาคารผ่านมือถือที่สามารถแปลงเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ให้เป็นเงินสดได้ตามต้องการ
หมายเหตุ : คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดงานวิจัยฉบับสมบูรณ์