หนังสือพิมพ์ the guardian นับว่าเป็นสื่อแนวหน้าที่ตามติดประเด็นด้านความยั่งยืนในภาคธุรกิจ โดยทุกๆ ปี จะมีการจัดอันดับและมอบรางวัลธุรกิจที่ยั่งยืน โดยมีหลากหลายด้าน อาทิ การจัดการขยะ การจัดการน้ำ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การสร้างผลลัพธ์ทางสังคม และสตาร์ตอัพแห่งปี โดยในบทความนี้ จะขอหยิบยกตัวอย่างธุรกิจที่ ‘ยั่งยืน’ ในประเด็นที่น่าสนใจ และอาจเป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงเส้นทางสู่ความยั่งยืน ของภาคเอกชนทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง รวมถึงธุรกิจเกิดใหม่
Winnow – เอาชนะขยะอาหารด้วยเทคโนโลยี
รู้หรือไม่ อาหารมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่ากับอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมดในทวีปแอฟริกา เดินทางสู่ถังขยะทุกปี โดยมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นผู้ก่อปัญหาอาหารขยะมากที่สุด
ข้อมูลจากโครงการจัดการขยะและทรัพยากร (Waste and Resources Action Programme – Wrap) ประเมินว่าในครัวเชิงพาณิชย์ ขยะอาหารร้อยละ 21 มาจากของเน่าเสีย ร้อยละ 45 มาจากกระบวนการปรุงในครัว และร้อยละ 34 มาจากที่ลูกค้ารับประทานเหลือ
ธุรกิจสตาร์ตอัพ Winnow จัดการปัญหาดังกล่าวโดยนวัตกรรม “เครื่องมือวัดอัจฉริยะ” ที่จะจัดเก็บข้อมูลอาหารที่เหลือทิ้งลงในถังขยะ เพียงเห็นหน้าตาก่อนลงถัง ระบบดังกล่าวก็จะประเมินมูลค่าของอาหารที่สูญเสียไปจากการรับประทานเหลือของลูกค้า หรือจากการปรุงอาหารในครัว เพื่อให้เชฟได้รู้ข้อมูลที่แม่นยำของอาหารเหลือทิ้ง และนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตต่อไป
ระบบ Winnow ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม และมีการนำไปใช้ในกว่า 200 ครัวทั่วโลก โดยช่วยลดต้นทุนค่าอาหารราวร้อยละ 3 ถึง 8 ร้านอาหาร Sam’s Brasserie & Bar ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 5,000 ปอนด์ (ประมาณ 220,000 บาท) ในเวลาเพียง 4 สัปดาห์ หรือในประเทศไทย ที่โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท สามารถประหยัดต้นทุนได้ถึง 60,000 บาท
Winnow จึงคว้ารางวัลจัดการปัญหาขยะ และยังเป็นสตาร์ตอัพด้านความยั่งยืนที่น่าจับตามอง
Páramo – ก้าวที่ยิ่งใหญ่สู่เสื้อไร้สาร PFCs
PFCs หรือ perfluorinated compounds เป็นสารที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในเส้นใยสำหรับการผลิตเสื้อผ้ากีฬากลางแจ้ง เนื่องจากเป็นสารที่มีคุณสมบัติทำให้ผ้ากันน้ำและสามารถถ่ายเทอากาศได้
อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยชี้ว่า การปนเปื้อนของสาร PFCs ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ รวมทั้งเป็นสารก่อมะเร็ง และกดทับภูมิคุ้มกันในเด็ก นอกจากนี้ สาร PFCs ยังไม่ย่อยสลายในธรรมชาติ โดยรายงาน Footprints in the Snow ของกรีนพีซระบุว่าพบการปนเปื้อนของสาร PFCs ในแหล่งน้ำและหิมะพื้นที่ห่างไกล
Páramo เป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่ประกาศว่าจะไม่ใช้สาร PFCs ในผลิตภัณฑ์สำหรับกีฬากลางแจ้ง แต่ทดแทนโดยเทคโนโลยีทางเลือกซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยผู้ก่อตั้งบริษัท ในขณะที่คู่แข่งในอุตสาหกรรมเสื้อกีฬากลางแจ้ง เช่น North Face, Mammut, Jack Wolfskin และ Patagonia ยังนิ่งเฉย และใช้สาร PFCs ในผลิตภัณฑ์ของต่อไป แม้จะทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
มาตรฐานของ Páramo จึงเปรียบเสมือนบรรทัดฐานใหม่ที่บริษัทอื่นควรเดินตาม และได้รับรางวัลธุรกิจยั่งยืนในฐานะผู้นำ (Bold Moves)
มหาวิทยาลัย Manchester – สร้างงานเอื้อชุมชน
ชุมชน Moss Side ในอดีตเป็นสถานที่อื้อฉาวอาชญากรรมและซ่องสุมอาชญากรที่คุณอาจได้ยินเสียงไซเรนของรถตำรวจหรือรถพยาบาลในความถี่ใกล้เคียงกับเสียงนกร้อง ปัจจุบัน ภาพดังกล่าวได้เปลี่ยนไปสู่เมืองที่เต็มไปด้วยนักศึกษาทางตอนใต้ของแมนเชสเตอร์
อย่างไรก็ดี แม้โครงสร้างพื้นฐานจะได้รับการปรับปรุงให้น่าอยู่อาศัย แต่ความท้าทายคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชน
เมื่อ 4 ปีก่อน มหาวิทยาลัย Manchester ซึ่งถือว่าเป็นนายจ้างที่ใหญ่ที่สุดในชุมชน ได้ก่อตั้งศูนย์จัดหางาน The Works เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนที่มองหาโอกาสร่วมงานทั้งในมหาวิทยาลัยที่ทุกปี จะมีตำแหน่งงานว่างที่ไม่ใช่ตำแหน่งทางวิชาการประมาณ 600 ถึง 700 ตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งงานภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการจัดหาบุคลากร กลไกดังกล่าวอยู่ภายใต้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลในมหาวิทยาลัย ทำให้การจัดจ้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นับตั้งแต่เปิดทำการ มหาวิทยาลัยได้จัดหางานกว่า 2,400 ตำแหน่ง โดยบุคคลที่มาสมัครอยู่ในสภาวะตกงานกว่าร้อยละ 97 งานที่มหาวิทยาลัยจัดหาให้มีตั้งแต่การจัดอาหาร การจัดการ และงานก่อสร้าง โดยล่าสุดมีการขยายพื้นที่ทำการไปยังชุมชนข้างเคียง และเซ็นสัญญาจัดหางานให้แก่บริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น Laing O’Rourke และ Balfour Beatty โดยบริษัทเหล่านี้ระบุในสัญญาว่าจะว่าจ้างคนในชุมชนที่ตกงานอย่างน้อย 1,000 ตำแหน่งต่อปี
มหาวิทยาลัย Manchester จึงมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบอย่างแนบชิด และคว้ารางวัลธุรกิจยั่งยืนในแง่การสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact)
Innocent Drinks – ลดการใช้น้ำผ่านแอปฯ
ในยุคที่แอปพลิเคชันมือถือไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอีกต่อไป การที่บริษัทน้ำผักและผลไม้อย่าง Innocent Drinks ประกาศตัวว่าพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้เกษตรกรลดการใช้น้ำอาจดูไม่น่าตื่นเต้นนัก แต่จากตัวเลขน้ำที่ประหยัดได้กว่า 1.7 พันล้านลิตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของน้ำที่เกษตรกรใช้ทั้งหมดยืนยันว่าแอปฯ ดังกล่าวไม่ธรรมดา
อุปสรรคในการจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้ Irri-fresa แอปพลิเคชันที่ใช้คำนวณปริมาณน้ำที่เหมาะสมในแต่ละวัน คือราคาน้ำที่ถูกเหมือนกับได้ฟรี แต่ Innocent Drinks ได้ลงทุนโดยการจัดอบรมเกษตรกรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงเว็บไซต์โดยมหาวิทยาลัย Cordoba ที่ระบุว่าเกษตรกรจะสามารถประหยัดต้นทุนพลังงาน ปุ๋ย และแรงงานได้เท่าไร หากลดการใช้น้ำ ทำให้แอปฯ ดังกล่าวประสบความสำเร็จฃ
นอกจากนี้ Innocent Drinks ยังผลักดันโดยการพาเกษตรกรไปชมอุทยานแห่งชาติ Doñana พื้นที่มรดกโลกที่กำลังจะตายเพราะถูกดูดน้ำซึ่งหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตไปใช้ในอุตสาหกรรมฟาร์มสตรอเบอร์รีขนาดยักษ์มูลค่ากว่า 400 ล้านยูโร ในเมืองเซวิลล์ ประเทศสเปน โดยเกษตรกรให้คำมั่นว่าจะร่วมประหยัดน้ำเพื่ออนุรักษ์สมบัติทางธรรมชาติแห่งนี้ไว้
Innocent Drinks เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจว่าธุรกิจจะสร้างแรงจูงใจเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมคู่ค้าได้อย่างไร โดยเฉพาะการใช้สินทรัพย์ราคาถูกอย่างน้ำ
Wyke Farms – หมุนฟาร์มด้วยพลังงานหมุนเวียน
เมื่อ 5 ปีก่อน Wyke Farms ธุรกิจเกษตรที่ส่งออกชีสกว่า 14,000 ตันต่อปีไปยังกว่า 160 ประเทศ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่สู่ฟาร์มที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบัน ฟาร์มสามารถต้นทุนด้านประหยัดพลังงานได้กว่า 100,000 ปอนด์ต่อเดือน
นอกจากพลังงานไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ Wyke Farms ผลิตกระแสไฟฟ้าจากความร้อนที่ได้จากมูลวัว ขยะจากการผลิตชีส รวมถึงขยะชีวภาพจากโรงงานข้างเคียง ซึ่งจะนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและแก๊สชีวภาพ ที่นอกจากจะใช้ในฟาร์มแล้ว ยังส่งไปจำหน่ายที่เมือง Bruton อีกด้วย ทั้งนี้ การนำขยะมาผลิตแก๊สชีวภาพจะช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
Wyke Farms ยังเปิดธุรกิจใหม่โดยแปลงจากแก๊สชีวภาพเป็นมีเธนชีวภาพส่งขายให้กับภาคธุรกิจ อาทิ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Sainsbury นอกจากนี้ Wyke Farms ยังลงทุนในซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมการผลิตไฟฟ้าและรีไซเคิลน้ำเสีย ทำให้สามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้อย่างทันท่วงที
เมื่อปีที่ผ่านมา Wyke Farms จึงคว้ารางวัลธุรกิจยั่งยืนในด้านการปล่อยคาร์บอนและการจัดการพลังงาน (carbon and energy management)
Marcatus QED – ต่อสู้ความไม่เท่าเทียมทางเพศในอินเดีย
แม้อินเดียจะนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชาธิปไตยก้าวหน้าอันดับต้นๆ ของโลก และเคยมีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในอินเดียกลับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง เช่น วิธีการที่รัฐจัดการกับคดีผู้หญิงถูกข่มขืน หรือในบางรัฐที่ชุมชนห้ามผู้หญิงมีโทรศัพท์มือถือ หรือออกจากบ้านเพียงลำพัง
ปัญหาที่ฝังรากลึกทำให้ Marcatus QED บริษัทข้ามชาติที่เน้นจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ต้องพยายามจัดการอย่างละมุนละม่อม ผ่านโครงการฝึกอบรมเกษตรกรรายย่อยในประเทศอินเดีย โดยร่วมพัฒนาหลักสูตรกับองค์กรภาคเอกชนอย่าง Oxfam Digital Green และ Indian Consultancy for Knowledge Societies เพื่อออกแบบการฝึกฝนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอินเดีย แล้วจึงนำหลักสูตรดังกล่าวไปใช้จริงกับเกษตรกรรายย่อยกว่า 18,000 ครัวเรือนในห่วงโซ่อุปทานแตงกวา (gherkin) ทางตอนใต้ของอินเดีย
การฝึกอบกรมดังกล่าวจะสื่อสารผ่านทางวีดีโอในภาษาท้องถิ่น ครอบคลุมประเด็น เช่น การควบคุมศัตรูพืช โดยจะฉายให้ชมทั่วทั้งหมู่บ้าน วิดีโอฝึกสอนหลายชิ้นมีผู้หญิงเป็นผู้บรรยายหลัก กำกับด้วยสคริปต์ที่ออกแบบเพื่อสื่อสารกับเกษตรกรผู้หญิงโดยเฉพาะ
สิ่งที่ Marcatus QED เรียนรู้ตลอดโครงการฝึกอบรมนี้คือ คุณไม่สามารถเดินเข้าไปหาชุมชน และเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศได้ เพราะหากต้องการเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรม ทุกอย่างจะต้องค่อยเป็นค่อยไป การทำงานของ Marcatus QED ทำให้บริษัทได้รับรางวัลธุรกิจยั่งยืนด้านความหลากหลายทางเพศและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (Diversity & Inclusion)
Social Stock Exchange – ตลาดหุ้นระดมทุนเพื่อสังคม
นับวันนักลงทุนทั้งระดับสถาบันและระดับบุคคลต่างมองหาทางเลือกลงทุนที่ไม่เพียงตอบโจทย์ผลกำไรทางการเงิน แต่รวมถึงผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการลงทุนนั้นๆ Social Stock Exchange (SSX) นับว่าเป็นตลาดทุนแห่งแรกที่นำแนวคิดดังกล่าวมาสร้างกระดานซื้อขายอย่างเป็นรูปธรรม โดยเปิดการซื้อขายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2556
ตลาด SSX ดำเนินการเช่นเดียวกับตลาดหุ้นปกติ แต่จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมของบริษัทที่ต้องการเข้ามาเป็นสมาชิก คือต้องผ่านกระบวนการสมัครที่ค่อนข้างหิน และมีผู้ผ่านการคัดเลือกเพียงร้อยละ 45 เท่านั้น
ความท้าทายและหัวใจสำคัญของ SSX คือการวัดผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการลงทุน โดยสมาชิกของ SSX จะต้องเปิดเผยรายงานซึ่งระบุเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกัน และได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก
เมื่อปีที่ผ่านมา SSX ระดมเงินทุนได้กว่า 400 ล้านปอนด์ (ราว 20,000 ล้านบาท) โดยบริษัทได้นำเงินดังกล่าวไปสร้างบ้านในราคาประหยัด 800 หลัง ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานหมุนเวียน 78,000 ตัน และประชาชนกว่า 8,300 คนสามารถเข้าถึงสถานอนามัยแห่งใหม่
นอกจากสร้างทางเลือกให้นักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม SSX ยังเป็นหลักฐานสำคัญต่อนักการเงินกระแสหลักว่าการลงทุนอย่างรับผิดชอบก็สามารถสร้างผลตอบแทนทางการเงินได้ไม่ต่างกัน SSX จึงคว้ารางวัลธุรกิจยั่งยืนด้านการเงินเพื่อสิ่งที่ดีกว่า (Finance for good)
ข้อมูลประกอบการเขียน
Winnow
Paramo
- UK outdoor clothing company rejects toxic PFCs
- Greenpeace Report: PFC pollution is everywhere. Páramo amongst few taking serious action
Marcatus QED
Manchester University
Innocent Drinks
Wyke Farm
SSX