ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) หรืองานสร้างสรรค์เสรี หมายถึงชุดสัญญาอนุญาตชื่อเดียวกัน และองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อเดียวกันที่ก่อตั้งโดย แลรี่ เลสสิก (Larry Lessig) ซึ่งปัจจุบันบริหารงานโดย โจอิชิ อิโต (Joichi Ito) ทำกิจกรรมที่ว่าด้วยการขยายรูปแบบของความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของเจ้าของผลงานมากขึ้น โดยตั้งอยู่บนความเชื่อว่า ระบบลิขสิทธิ์ที่ “ดี” นั้น ไม่ใช่ระบบที่ปกป้องคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นระบบที่สร้าง “สมดุล” ระหว่างการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ และการส่งเสริมให้คนนำงานชิ้นนั้นไปใช้เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ช่วยให้ผู้สร้างงานสามารถปกป้องลิขสิทธิ์ของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็อนุญาตให้คนอื่นใช้งานชิ้นนั้นภายใต้เงื่อนไขที่ผู้สร้างเป็นคนกำหนดเอง

แต่เดิมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะมีเพียงแค่ 2 ประเภท คือ ให้มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง 100 เปอร์เซ็นต์ (copyright) กับ ไม่มีลิขสิทธิ์ (public domain) เท่านั้น แต่ครีเอทีฟคอมมอนส์ ได้ขยายรูปแบบของการคุ้มครองให้หลากหลายขึ้น โดยมีหลักการหลักคือ “ยอมรับสิทธิของผู้สร้าง” (Attribution), “ไม่ใช้เพื่อการค้า” (Noncommercial), “ไม่แก้ไขต้นฉบับ” (No Derivative Works), และ “ใช้สัญญาอนุญาตแบบเดียวกัน” (Share Alike) ตัวอย่างเช่น

  1. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา ไม่ใช้เพื่อการค้า และไม่แก้ไขต้นฉบับ (by-nc-nd) เป็นสัญญาที่อนุญาตให้ผู้อื่นเผยแพร่งานของเจ้าของผลงานได้ ตราบใดที่เขาให้เครดิตแก่เจ้าของผลงานในฐานะผู้สร้างต้นฉบับและลิงค์กลับไปที่สัญญาอนุญาตของเจ้าของ แต่ไม่อนุญาตให้นำไปใช้เพื่อการค้าและดัดแปลงแก้ไขไม่ว่าด้วยวิธีใด
  2. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา ไม่ใช้เพื่อการค้า และอนุญาตแบบเดียวกัน (by-nc-sa) เป็นสัญญาที่อนุญาตให้ผู้อื่นแก้ไข ดัดแปลง ต่อยอดได้ ตราบใดที่ไม่นำไปใช้เพื่อการค้า โดยต้องให้เครดิตแก่เจ้าของผลงานในฐานะผู้สร้างต้นฉบับ และต้องเผยแพร่งานที่ดัดแปลงไปแล้วนั้น ภายใต้สัญญาอนุญาตประเภทเดียวกัน
  3. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา และไม่ใช้เพื่อการค้า (by-nc) เป็นสัญญาที่อนุญาตให้แก้ไข ดัดแปลง ต่อยอดได้ ตราบใดที่ไม่นำไปใช้เพื่อการค้า โดยต้องให้เครดิตแก่เจ้าของผลงานในฐานะผู้สร้างต้นฉบับ แต่ต้องไม่เผยแพร่งานที่ดัดแปลงไปแล้วนั้น ภายใต้สัญญาอนุญาตประเภทเดียวกัน
  4. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา และไม่แก้ไขต้นฉบับ (by-nd) เป็นสัญญาที่อนุญาตให้ผู้อื่นนำผลงานไปเผยแพร่ ไม่ว่าเพื่อจุดประสงค์อะไร ตราบใดที่ให้เครดิตแก่เจ้าของผลงานในฐานะผู้สร้างต้นฉบับ และไม่มีการแก้ไข ดัดแปลงหรือต่อเติมไม่ว่ากรณีใด ๆ
  5. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา และอนุญาตแบบเดียวกัน (by-sa) เป็นสัญญาที่อนุญาตให้แก้ไข ดัดแปลง ต่อยอดผลงานได้ ไม่ว่าจะเพื่อจุดประสงค์ใด ตราบใดที่ให้เครดิตแก่เจ้าของผลงานในฐานะผู้สร้างต้นฉบับ และเผยแพร่ผลงานที่ดัดแปลงนั้นภายใต้สัญญาอนุญาตประเภทเดียวกัน
  6. สัญญาอนุญาตประเภทแสดงที่มา (by) เป็นสัญญาที่อนุญาตให้แก้ไข ดัดแปลง ต่อยอดผลงานได้ ไม่ว่าจุดประสงค์ใด ตราบใดที่ให้เครดิตแก่เจ้าของผลงานในฐานะผู้สร้างต้นฉบับ

นอกจากนั้นยังมีสัญญาอนุญาตแบบอื่น ๆ ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น สัญญาอนุญาตแบบ Sampling+ ที่อนุญาตให้ผู้อื่นนำบางส่วนของผลงานไปสร้างงานใหม่ ไม่ว่าด้วยจุดประสงค์ใด, คำอุทิศงานสู่สาธารณะ ให้เจ้าของผลงานสละลิขสิทธิ์ทั้งหมดของตนเองไปสู่สาธารณะ, ลิขสิทธิ์ของผู้ริเริ่ม ให้เจ้าของผลงานอุทิศงานสู่สาธารณะได้เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 14 หรือ 28 ปี, สัญญาอนุญาตแบ่งปันดนตรี สำหรับนักดนตรีที่ต้องการแบ่งปันงานดนตรีกับแฟนเพลง, สัญญาอนุญาตสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่อนุญาตให้ผู้นำผลงานไปใช้มีเสรีภาพมากขึ้น หากเขาอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และ สัญญาอนุญาตประเภท GNU GPL และ GNU LGPL สำหรับคนที่ต้องการใช้สัญญาอนุญาตกับซอฟต์แวร์

ปัจจุบันมีงานสร้างสรรค์นับล้านๆ ชิ้นที่ใช้สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนส์ และนับวันก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เพราะครีเอทีฟคอมมอนส์มีประโยชน์ชัดเจนสำหรับผู้สร้างงานที่เชื่อมั่นในพลังของการร่วมมือกัน และ “ต่อยอด” ความคิดสร้างสรรค์ในอดีตออกไปเป็นงานใหม่ๆ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย