“ไตรกำไรสุทธิ” (Triple Bottom Line : TBL) บัญญัติเป็นครั้งแรกโดย จอห์น เอลคิงตัน (John Elkington) ในหนังสือเรื่อง Cannibal With Forks (1997) เป็นแนวคิดที่ขยายการวัดเป้าหมายความสำเร็จและคุณค่าขององค์กร, เศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งแต่เดิมสนใจแค่กำไร (Profit) มาสนใจเรื่องมนุษย์ (People) และโลก (Planet) หรืออีกนัยหนึ่งคือให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และแสดงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น แนวคิดนี้มักถูกเชื่อมโยงกับเป้าหมายความสำเร็จของการพัฒนาที่ยั่งยืน

มนุษย์ (People) หรือทุนมนุษย์ เป็นแนวคิดที่เน้นเรื่องการดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมต่อแรงงาน ชุมชน และท้องถิ่นที่ธุรกิจนั้นไปตั้งอยู่ ไม่ขูดรีดหรือก่ออันตรายกับแรงงานและคนในชุมชนนั้น ๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นด้วย นอกจากนั้นต้องดำเนินการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ที่มีเงื่อนไขหลักได้แก่

ผู้ค้าต้องรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในระดับราคาที่เหมาะสมที่ทำให้เกษตรกรสามารถมีชีวิตอยู่ที่ดีระดับหนึ่งได้, ไม่กดขี่แรงงาน และมีโครงสร้างการบริหารที่เป็นประชาธิปไตย, ไม่ใช้แรงงานเด็ก, สนับสนุนให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน และฝึกทักษะแรงงานหรือเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ, ใช้กระบวนการผลิตที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ใช้สารเคมีต้องห้ามในการผลิต

ธุรกิจ TBL ควร “คืนกำไร” ให้กับชุมชน อาจทำได้โดยสร้างความเข้มแข็งในชุมชนท้องถิ่น สร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สาธารณสุข หรือโรงเรียนให้เด็ก ๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถประเมินได้ด้วยการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เช่น การทำรายงานภายใต้ชุดหลักเกณฑ์ของ โกลบอล รีพอร์ตติ้ง อินนิชิเอทีฟ (Global Reporting Initiatives: GRI) เพื่อวัดบริษัทหรือธุรกิจนั้นแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด

โลก (Planet) หรือทุนธรรมชาติ หมายรวมถึงการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนความยั่งยืนและความหลากหลายของสิ่งแวดล้อม บริษัทต้องผลิตโดยใช้ทรัพยากรและก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มีการใช้นโยบายรีไซเคิล หมุนเวียนการใช้ ลดสารพิษ ฯลฯ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพให้มากที่สุด

กำไร (Profit) ในแง่นี้หมายถึงกำไรทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือหักต้นทุนทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นออกไปแล้ว จึงเรียกได้ว่าเป็นกำไรที่แท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทก็ย่อมต้องการกำไร แต่ธุรกิจ TBL จะไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่กำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว หากยังคำนึงถึง “ประโยชน์” และ “ต้นทุน” ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการทำธุรกิจของตนอีกด้วย