เมื่อเช้าวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปฟังการแถลงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2561-2563) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในงาน SEC Conference ภายใต้สโลแกน “Capital Markets For All” หรือ “ตลาดทุนเพื่อทุกคน” ซึ่งมีผู้แทนจากโบรกเกอร์ บริษัทจดทะเบียน บริษัทจัดการลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เข้าร่วมฟังอย่างคับคั่งกว่า 400 คน (ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบได้จากหน้านี้บนเว็บ ก.ล.ต.)
ฟังแล้วผู้เขียนก็ประทับใจที่ผู้บริหาร ก.ล.ต. ทุกท่านสามารถอธิบายประเด็นต่างๆ ตั้งแต่แนวทางยกระดับการกำกับดูแล การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปจนถึงการปฏิรูปองค์กร ก.ล.ต. เอง ให้ทันยุคดิจิทัล ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่ที่ประทับใจและสะกิดใจเป็นพิเศษคือคำอธิบายของคุณทิพย์สุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งขึ้นเวทีในหัวข้อ “FinTech: ก้าวสู่ตลาดทุนดิจิทัลเพื่อสังคมไทย”
แน่นอน เรื่อง ‘ร้อน’ ในไทยวันนี้เมื่อพูดถึง FinTech หนีไม่พ้นบิตคอยน์ (Bitcoin) สกุลเหรียญดิจิทัลชื่อดัง บล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีเบื้องหลังการทำงานของบิตคอยน์ รวมไปถึง Initial Coin Offering (ICO) การระดมทุนผ่านการออกเหรียญดิจิทัล
คุณทิพย์สุดาย้ำว่า บิตคอยน์ในไทยยังไม่ได้รับการรับรองสถานะจากทางการว่าเป็น “เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามัน “ผิดกฎหมาย” เพราะในแง่หนึ่ง มันก็เป็นสินทรัพย์ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ (ไม่ว่าจะมีสถานะ “เงิน” ทางการหรือไม่) ดังนั้น ก.ล.ต. จึงยืนยันว่า การที่โบรกเกอร์ไทยออกมาชักชวนนักลงทุนไปซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าบิตคอยน์ หรือ Bitcoin futures ใน CME ชิคาโก (ซึ่งเป็นตลาดที่อยู่ใต้กำกับของสหรัฐอเมริกา) นั้น สามารถทำได้ เพียงแต่ควรเตือนนักลงทุนว่ามีความเสี่ยงสูง
เรื่องบิตคอยน์กับบล็อกเชนมีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย ผู้เขียนจะเขียนถึงจากมุม “การเงินเอื้อสังคม” ในตอนต่อๆ ไป แต่สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจไม่ใช่คำอธิบายกรณีนี้ของคุณทิพย์สุดา แต่เป็นคำอธิบาย “มุมมอง” และ “วิธีคิด” ของ ก.ล.ต. ต่อเรื่องนี้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ทั้งแตกต่างและสร้างสรรค์กว่าองค์กรที่มีอำนาจกำกับดูแลอื่นๆ ค่อนข้างมาก
คุณทิพย์สุดาบอกว่า การทำ ICO ก็คือการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งถูกออกแบบมาให้กระจายศูนย์ ไม่มีศูนย์กลางใดๆ มาใช้กับการระดมทุน ซึ่ง “เหรียญดิจิทัล” ที่ออกนั้นอาจไม่สะท้อนความเป็นเจ้าของ (จึงไม่ใช่ “หุ้น”) แต่เป็นสินทรัพย์ที่คนมองว่ามีมูลค่า เทียบเคียงได้กับ “loyalty points” หรือแต้มสะสมของสายการบินและร้านค้าต่างๆ
ในเมื่อบล็อกเชนซึ่งรองรับการออก ICO นั้นกระจายศูนย์และไร้พรมแดน จึงไม่ง่ายที่ทางการจะไปห้ามหรือขีดวง เพราะมัน “ก้าวข้าม” อำนาจการกำกับแบบ gatekeeper ดั้งเดิม ซึ่งกำกับศูนย์กลางการซื้อขายและสถาบันตัวกลางต่างๆ
ฉะนั้น “วิธีคิด” ของหน่วยงานกำกับดูแลต่อเรื่องนี้จึงต้องเปลี่ยนไปจากเดิมมาก คุณทิพย์สุดาสรุปว่า ข้อแรก ก.ล.ต. มองว่าเทคโนโลยีแบบนี้ถึงอย่างไรก็ต้องเกิดในยุคดิจิทัลไร้พรมแดน ใครไปตั้งธงว่าจะ “ห้าม” สถานเดียวก็เป็นไปไม่ได้
ฉะนั้น ข้อสอง แทนที่จะห้าม ทางการควรมีความชัดเจนในแง่กลไกกำกับ (regulatory clarity) ให้ทุกคนเข้าใจว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และสิ่งที่ทำได้นั้นทำได้ ‘อย่างไร’ บ้าง (ผู้เขียนหมายเหตุตรงนี้ว่า ปัจจุบันการซื้อขายและใช้บิตคอยน์ในไทยยังเป็น “พื้นที่สีเทา” เพราะทางการยังไม่มีความชัดเจนในแง่นี้)
ข้อสาม ก.ล.ต. อยากสนับสนุนให้เกิดผู้เกี่ยวข้องที่มีความรับผิดชอบ (ใช้คำว่า responsible facilitators) ไม่ว่าจะเป็นเว็บระดมทุน (funding portal), แพล็ตฟอร์มการซื้อขาย (trading platform) ที่ปรึกษาการลงทุน (investment advisor) หรือบริการจัดอันดับ (rating services) มาทำงานร่วมกับ ก.ล.ต.
คุณทิพย์สุดาสรุปสั้นๆ ว่า เรื่องอย่าง ICO นั้นถ้าห้ามเลยก็ไปลงใต้ดินกันหมด (ซึ่งก็ยิ่งมีโอกาสเกิดปัญหาและความเสียหายที่ไม่มีใครรู้จนกว่าจะสายเกินแก้ และไม่มีทางเยียวยา) สู้หาวิธีกำกับดูแลอย่างสร้างสรรค์ไม่ได้
คุณทิพย์สุดาฉายภาพใหญ่ด้วยว่า ก.ล.ต. จะทำงาน “เชิงรุก” มากขึ้นให้สอดคล้องกับยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการพิจารณาห้าประเด็นหลักดังต่อไปนี้
1. บริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง การเพิ่มประสิทธิภาพของบริการทางการเงินต่างๆ และเปิดให้คนไทยเข้าถึงได้มากขึ้น (ก.ล.ต. ใช้คำว่า “ขยายความเป็นประชาธิปไตย” ของการเงิน หรือ democratization) เป็นปัจจัยสำคัญ
2. “จังหวะ” สำคัญมาก (timing is everything) – ก.ล.ต. ไม่สามารถค่อยๆ คิด ค่อยๆ ออกแบบกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้สมบูรณ์แบบก่อน แล้วออกกฎมา (ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นก็ล้าสมัยไปแล้ว) ได้อีกต่อไป แต่จะต้องทดลองกลไกใหม่ๆ และเรียนรู้ร่วมกับผู้เล่นในตลาด (โครงการ “กระบะทรายการกำกับ” หรือ regulatory sandbox เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้)
3. คำถามสำคัญอีกข้อคือ เราจะทำให้ประเทศไทยน่าลงทุน น่าอยู่สำหรับผู้เล่นรุ่นใหม่ได้อย่างไร?
ผู้เขียนเห็นว่าคำถามนี้สามารถพลิกมุมและถามอีกแบบได้ว่า หน่วยงานกำกับจะเปลี่ยน “มโนทัศน์” หรือ mindset ของตัวเอง จากการเป็น “คุณพ่อรู้ดี” (เน้นการห้ามโน่นห้ามนี่ และคิดแทนว่าอะไรดีอะไรไม่ดี) เป็นหลัก มาเป็น “คุณลุงใจดี” (เน้นการสนับสนุนส่งเสริมให้ทดลองอะไรใหม่ๆ ภายในขอบเขตและเงื่อนไขที่ชัดเจน) ได้อย่างไร
4. วิถีการกำกับของ ก.ล.ต. จะเปลี่ยนจากการกำกับแบบ positive list (ใครจะทำอะไรต้องมาขออนุญาตก่อน ถ้าไม่อยู่ในรายการที่บอกว่าทำได้ ก็แปลว่าทำไม่ได้) มาเน้นการกำกับที่เน้นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความโปร่งใส (transparency) และความรับผิด (accountability) ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแทน
5. สนับสนุนส่งเสริมให้เกิด “ผู้เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบ” มาทำงานร่วมกับ ก.ล.ต.
ผู้เขียนเห็นว่า แนวทางข้างต้นสะท้อน “วิสัยทัศน์” ของ ก.ล.ต. ที่ทันสมัยและสอดรับกับยุคดิจิทัลเป็นอย่างดี
ถ้าคิดถึงอนาคตว่า อีกไม่ช้าไม่นานเราน่าจะได้เห็น “การเขย่าวงการ” (disruption) ตลาดทุนอีกหลายระลอก โดยเฉพาะเมื่อมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) และโค้ด “สัญญาอัจฉริยะ” (smart contracts) มาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายพอร์ตลงทุนของ AI ซึ่งอาจมี “ตัวตน” (identity) เป็นของตัวเอง (คือไม่ได้ทำงานรับใช้มนุษย์ หรือเป็นตัวแทนเราอีกต่อไป) ไปจนถึงการทลายอำนาจและความได้เปรียบของ “สถาบันตัวกลาง” ต่างๆ ลง ผ่านเทคโนโลยีกระจายศูนย์ที่มีความปลอดภัยสูงอย่างบล็อกเชน
ผู้เขียนเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกหน่วยงานซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลบริการทางการเงิน จะเจริญรอยตามวิถีใหม่ของ ก.ล.ต.
เริ่มต้นจากการเปลี่ยน “วิธีคิด” ว่า อนาคตขึ้นอยู่กับความสามารถกำกับในทางที่ “สนับสนุน” มากกว่า “ควบคุม” และจุดที่ควรกำกับก็คือตัว “บริการ” หรือ “สเป็คขั้นต่ำ” (minimum specifications) ของมัน ไม่ใช่ตัว “นิติบุคคล” อีกต่อไป.