ผ่านไปร่วมปีเศษนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความเสี่ยงจากวิกฤติภูมิอากาศถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้งโดยการนำของประธานาธิบดีไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกา ล่าสุดคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อประเมินด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลของบริษัทมหาชนโดยมีเป้าหมายหนึ่งคือการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับวิกฤติภูมิอากาศภาคบังคับของเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่ใส่ใจความยั่งยืน

สหรัฐอเมริกาไม่ได้ผลักดันประเด็นนี้อย่างโดดเดี่ยว เพราะเหล่าผู้กำกับดูแลทั้งในสหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกง ลอนดอน เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ต่างก็มีทีท่าว่าจะออกกฎบังคับให้เปิดเผยความเสี่ยงด้านวิกฤติภูมิอากาศเช่นกัน

แต่ก่อนที่จะกระโดดไปเรื่องการเปิดเผย ผู้เขียนเริ่มจากการคลายความสงสัยว่ากความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการดำเนินธุรกิจ

วิกฤติภูมิอากาศกับภาคธุรกิจ

สิ่งแรกที่หลายคนคงนึกออกคือความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) ซึ่งหมายถึงอันตรายต่อชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน อาคาร โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงแปลงเกษตรกรรม เมื่อการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น มูลค่าของทรัพย์สินเหล่านี้อาจด้อยค่าลงเนื่องจากผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค เช่น ทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปคืออุทกภัยและไฟป่า ส่วนเอเชียและแอฟริกาคือภาวะขาดแคลนน้ำและความมั่นคงทางอาหาร

ความเสี่ยงดังกล่าวกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคการท่องเที่ยว โดยปลายทางของความเสี่ยงทางกายภาพก็จะจบลงที่ความเสี่ยงด้านความรับผิด (Liability Risk) ซึ่งกระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารและการประกันภัย

อย่างไรก็ดี แม้ต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐกิจจากความเสี่ยงประเภทนี้เป็นมูลค่ามหาศาล เช่นในรายงานของ Economist Intelligence Unit ที่ประมาณการมูลค่าความเสียหายที่คาดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึงสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 อยู่ที่ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากสินทรัพย์ทั้งหมดทั่วโลก แต่ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นในอนาคตที่ไกลแสนไกลจนผู้ประกอบการหลายคนมองข้ามและเห็นว่าเป็นปัญหาของคนรุ่นถัดไป

แต่อีกความเสี่ยงหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อการทำธุรกิจในปัจจุบันคือความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน (transition risk) หมายถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแง่นโยบาย กฎเกณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยี เช่นการประกาศเดินหน้าสู่เศรษฐกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ของสหภาพยุโรป หรือกฎหมายที่กำหนดเพดานการปล่อยมลภาวะซึ่งทำให้ธุรกิจต้องหันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นี่คือความเสี่ยงที่แทบทุกธุรกิจต้องเผชิญในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงานซึ่งข้องเกี่ยวโดยตรงกับต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นคือเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงธุรกิจผลิตยานยนต์ เรือ และเครื่องบิน อุตสาหกรรมเหล็กกล้าและซีเมนต์ ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างจังจนถึงขั้นไร้กำไรหากมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนซึ่งมีการบังคับใช้ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน

ความโปร่งใสด้านวิกฤติภูมิอากาศในภาคธุรกิจ

วิกฤติภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมรับมือและนักลงทุนต้องรับรู้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีกฎข้อใดบังคับให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าวจะมีก็เพียงกรอบแนวทางการเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ เช่น คู่มือของโครงการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนหรือซีดีพี (Carbon Disclosure Project: CDP) ภายใต้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงที่ว่าบริษัทซึ่งเปิดเผยข้อมูลด้านความเสี่ยงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสาธารณะจะมีแนวโน้มในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและครบถ้วนกว่านั่นเอง

หลายบริษัทเกรงว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนตื่นกลัว การศึกษาที่เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2559 พบว่าบริษัทจัดการหลักทรัพย์ ประกันภัย และกองทุนสำหรับเงินบำนาญในประเทศฝรั่งเศสซึ่งถูกบังคับให้เปิดเผยความเสี่ยงเกี่ยวกับวิกฤติภูมิอากาศจะถือตราสารหนี้และตราสารทุนซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยกว่าบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนถึงพอร์ตฟอร์ลิโอการลงทุนที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ การเปิดเผยแบบสมัครใจยังมีปัญหามากมายนอกจากความไม่เสมอภาคระหว่างบริษัท ข้อมูลที่บริษัทเลือกจะเปิดเผยก็อาจไม่ได้เป็นสาระสำคัญและไม่แม่นยำเที่ยงตรง อีกทั้งรายงานทำขึ้นคนละมาตรฐานทำให้ยากต่อการเปรียบเทียบระหว่างบริษัท ภาคเอกชนเองยังต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อว่าจ้างหน่วยงานอิสระมารับรองอีกด้วย

แต่ถึงจะไร้ข้อบังคับและมีข้อจำกัดหลายประการ หลายคนคงเคยเห็นข่าวการเปิดเผยข้อมูล ‘โดยสมัครใจ’ ของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่เนื่องจากแรงกดดันของผู้ถือหุ้น เช่น BP บริษัทด้านพลังงานสัญชาติอังกฤษที่ตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงวิกฤติภูมิอากาศเนื่องจากผู้ถือหุ้นลงคะแนนสนับสนุนอย่างท่วมท้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับบริษัทน้ำมันอีกหลายบริษัทที่เราจะเริ่มมองเห็นมติดังกล่าวเข้าประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่น่าสนใจคือนักลงทุนในตลาดให้การตอบรับค่อนข้างดีต่อการเปิดเผยโดยสมัครใจ โดยการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่าภายหลังนักลงทุนลงมติให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงวิกฤติภูมิอากาศของบริษัท ราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 1.21 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมองเห็นคุณค่าของความโปร่งใสและบริษัทเองยังสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยงในอนาคต

ควรเปิดเผยอะไรบ้าง?

ภาระการจัดทำมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงวิกฤติภูมิอากาศตกอยู่บนบ่าของคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับภูมิอากาศ หรือ TCFD (Task Force on Climate-Related Financial Disclosures) ซึ่งก่อตั้งโดยคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board) องค์กรระหว่างประเทศของเหล่าผู้กำกับดูแลทั่วโลก

แนวทางการเปิดเผยโดยสมัครใจที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะเน้นการเปิดเผย 4 ด้าน ประกอบด้วย

  • ธรรมาภิบาล (Governance) คือกลไกธรรมภิบาลในบริษัทซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและโอกาสจากวิกฤติภูมิอากาศ
  • กลยุทธ์ (Strategy) คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงและอาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์ และการวางแผนทางการเงินของบริษัท
  • การบริหารความเสี่ยง (Risk management) คือกระบวนการของบริษัทในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับวิกฤติภูมิอากาศ
  • เป้าหมายและเมตริกซ์ (Metrics and Targets) หมายถึงดัชนีชี้วัดต่างๆ ที่ใช้ในการประเมินผลและบริหารจัดการในประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและโอกาสจากวิกฤติภูมิอากาศ

หัวใจสำคัญของกรอบคิดดังกล่าวคือการเน้นที่ ‘ความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ’ ไม่ใช่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การเปิดเผยดังกล่าวจึงต้องรวมเอาแผนในอนาคตของบริษัท และการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) ที่นำเอากลยุทธ์ของบริษัทในปัจจุบันไปพิจารณาประกอบกับการคาดการณ์ในอนาคตซึ่งอุณหภูมิและต้นทุนของการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น

            น่าเสียดายที่ความพยายามของ TCFD เผชิญแรงต้านไม่มากก็น้อยจากภาคเอกชน ตั้งแต่เสียงบ่นขรมของเหล่าผู้บริหารที่อ้างว่าบริษัทขาด ‘ความเชี่ยวชาญ’ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะมองข้ามคู่มือดังกล่าวโดยมีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์จากกลุ่มตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่ 1,700 บริษัทที่ตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลตามคำแนะนำ

ความพยายามของเหล่าผู้กำกับดูแลเพื่อให้การเปิดเผยความเสี่ยงวิกฤติภูมิอากาศของธุรกิจกลายเป็น ‘ภาคบังคับ’ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ต้นทุนของการปล่อยมลภาวะสูงขึ้น และนำไปสู่เหตุผลทางธุรกิจที่จะตัดสินใจเลือกลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความโปร่งใสไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้วิกฤติภูมิอากาศได้ เนื่องจากบริษัทสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมย่อหย่อนกว่า อีกทั้งการวิเคราะห์ความเสี่ยงก็อาจยังไม่ทำให้บริษัทเปลี่ยนใจ เพราะหลายบริษัทด้านพลังงานที่เปิดเผยตามเกณฑ์ดังกล่าวก็ยังเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ ‘การเปิดเผย’ เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เป็นที่การของการเคลื่อนไหวให้บริษัทร่วมตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสที่จะต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของโครงการริเริ่มเพื่อตั้งเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative) หรือ SBTi ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทกว่า 900 บริษัทเข้าร่วมโครงการ

เป้าหมายดังกล่าวเป็นอย่างไร มีกรณีศึกษาใดบ้างที่น่าสนใจ ติดตามได้ในบทความฉบับหน้าครับ

เอกสารประกอบการเขียน

Shareholders Are Pressing for Climate Risk Disclosures. That’s Good for Everyone.
The future of climate-related disclosure
Regulators want firms to own up to climate risks