นอกจากการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์แล้ว การอนุรักษ์พลังงานก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันในเรื่องความยั่งยืนด้านพลังงาน
การอนุรักษ์พลังงานหมายถึงการประหยัดหรือลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น และยังรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานอีกด้วย นั่นหมายถึงการใช้พลังงานน้อยลงแต่ได้ผลลัพธ์เท่าเดิม โดยครอบคลุมทั้งการใช้พลังงานด้านแสงสว่าง ระบบความร้อน-ความเย็น การขนส่ง และจักรกลในกระบวนการผลิต การอนุรักษ์พลังงานจึงเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ลดต้นทุนในภาคการผลิตและบริการ ตลอดจนลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของสภาวะโลกร้อน
ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงให้ความสำคัญและออกนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงออกมาตรการด้านพลังงานที่สำคัญ เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 การจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และมีแผนอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี (2554-2573) เพื่อกำหนดแนวนโยบายและแนวทางการดำเนินการด้านการอนุรักษ์พลังงานของประเทศในระยะยาว
แผนอนุรักษ์พลังงานงานระยะ 20 ปีระบุว่า กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา การใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากไม่มีมาตรการอนุรักษ์หรือการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานแล้ว ความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นจาก 71,000 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ในปี 2553 เป็น 151,000 ktoe ในปี 2573 คิดเป็น 2.1 เท่า หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.9 ต่อปี (ภายใต้สมมติฐานว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี) โดยหากประเทศไทยต้องการจำกัดการใช้พลังงานในปี 2573 ให้ไม่เกิน 121,000 ktoe เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงของกลุ่มเอเปคเมื่อปี 2550 ประเทศไทยจำเป็นจะต้องลดปริมาณการใช้พลังงานลงถึงร้อยละ 20
ด้วยเหตุนี้การอนุรักษ์พลังงานของอาคารจึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี แม้ว่าอาคารและที่อยู่อาศัยไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานสูงที่สุด แต่ก็มีสัดส่วนการใช้พลังงานกว่าร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย การบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารและมาตรการฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานของอาคารจึงเป็นตัวอย่างของมาตรการตามแนวทางการอนุรักษ์พลังงานที่ภาครัฐกำลังผลักดันอยู่ในปัจจุบัน ด้วยหวังว่าจะส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นในการออกแบบอาคาร
ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคาร Building Energy Code
กฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 จำแนกอาคารออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน อาคารโรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ และห้างสรรพสินค้า โดยกำหนดให้อาคารทั้ง 9 ประเภทและอาคารที่มีขนาดพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือ Building Energy Code (BEC) ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการออกแบบอาคาร 6 ด้าน คือ ระบบกรอบอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน การใช้พลังงานโดยรวมในอาคาร และ การใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบต่างๆของอาคาร
อาคารแต่ละประเภทจะมีค่ามาตรฐานตามเกณฑ์ที่แตกต่างกัน การผ่านเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (BEC) ได้จะมี 2 วิธี กล่าวคือ ทางเลือกที่หนึ่ง อาคารสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ทุกด้าน แต่หากอาคารไม่สามารถผ่านเกณฑ์ได้ครบยังมีโอกาสที่จะผ่าน BEC ในทางเลือกที่สองซึ่งจะประเมินจากค่าพลังงานรวม
สำหรับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารของประเทศไทยในปัจจุบันบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ทำการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของอาคาร 257 แห่ง โดยใช้ตัวชี้วัด 3 ด้าน ได้แก่ ค่าการถ่ายเทความร้อนจากผนัง (OTTV) ค่าการถ่ายเทความร้อนจากหลังคา (RTTV) และระบบไฟฟ้าแสงสว่าง พบว่าอาคารตัวอย่างมีระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่มีประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานที่ดี จึงไปชดเชยค่า RTTV และ OTTV ที่ไม่ดีนัก (ยกตัวอย่างอาคารประเภทสำนักงานที่เกณฑ์ BEC กำหนดค่าระบบไฟฟ้าแสงสว่างไม่เกิน 14 ซึ่งค่าเฉลี่ยของอาคารตัวอย่างในกลุ่มนี้เท่ากับ 10 ขณะที่เกณฑ์ BEC ของอาคารสำนักงานกำหนดค่า OTTV ไม่เกิน 50 และค่า RTTV ไม่เกิน 15 ซึ่งค่าเฉลี่ย OTTV และ RTTV ของอาคารตัวอย่างเท่ากับ 58 และ 46 ตามลำดับ) ด้วยเหตุนี้อาคารเกือบทั้งหมดจึงผ่านเกณฑ์มาตรฐาน BEC เนื่องจากผ่านเกณฑ์ค่าการใช้พลังงานรวม ผลการเก็บข้อมูลดังกล่าวได้นำไปสู่ข้อเสนอเพื่อปรับเกณฑ์มาตรฐานให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่เกณฑ์กำหนดเดิมนั้นดูจะต่ำเกินไป ขณะที่ RTTV และ OTTV ยังมีศักยภาพจะพัฒนาได้อีกมากมาก
ฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานของอาคาร
ฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานของอาคารเป็นมาตรฐานที่พัฒนาโดยศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ซึ่งอ้างอิงจากกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 เช่นเดียวกับ BEC นั่นคือเป็นอาคารประเภทใดประเภทหนึ่งตามกฎกระทรวงและมีขนาดพื้นที่รวม 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป รวมถึงใช้เกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานแบบเดียวกัน
ปัจจุบันอาคารที่เข้าข่ายตามกฎกระทรวงสามารถเข้ามาขอรับบริการตรวจประเมินประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการประเมินจะใช้ตัวชี้วัด 5 ด้านหลัก ได้แก่ ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมผ่านผนัง (OTTV) ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมผ่านหลังคา (RTTV) ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ และการใช้พลังงานโดยรวมในอาคาร
อย่างไรก็ดี อาคารจะได้รับการติดฉลากหรือไม่นั้นจะพิจารณาจากตัวชี้วัด 3 ประเภท ประกอบด้วย การถ่ายเทความร้อนรวมผ่านผนัง (OTTV) ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมผ่านหลังคา (RTTV) และการใช้พลังงานโดยรวมในอาคาร โดยฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานของอาคารมี 3 ระดับ ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านเกณฑ์ OTTV RTTV และการใช้พลังงานรวม แต่จะแตกต่างกันที่ค่าการใช้พลังงานรวมที่ลดลง อาคารที่ได้รับฉลากประเภท “ระดับดีเด่น” จะต้องลดการใช้พลังงานรวมได้มากกว่าร้อยละ 50 “ระดับดีมาก” มีการใช้พลังงานรวมลดลงร้อยละ 25.1-50 และ “ระดับดี” มีการใช้พลังงานรวมลดลงไม่เกินร้อยละ 25
จะเห็นได้ว่าอาคารที่จะได้รับฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานนั้นต้องผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากข้อกำหนดของ BEC ที่อาคารสามารถผ่านมาตรฐาน BEC ได้ หากผ่านเกณฑ์ค่าการใช้พลังงานรวม แม้ว่าอาคารจะไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าฉลากอาคารเป็นมาตรฐานที่ส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารในทุกๆ ด้าน ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐาน BEC อย่างไรก็ตาม ฉลากอาคารประหยัดพลังงานเป็นมาตรการตามความสมัครใจ จึงอยู่ที่ว่าภาครัฐจะส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติตามเกณฑ์ฉลากอาคารได้มากน้อยเพียงใด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573)
แนวทางฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานสำหรับอาคารใหม่
เอกสารประกอบการประชุม “Building Energy Labelling to Support the Uptake of Building Energy Code” วันที่ 18 มีนาคม 2558