“Feminism is not a map to a utopia that someday we’ll all get to, and live happily ever after in. It’s a centuries-old struggle for liberation.” (Nicole Aschoff, 2020)
ระบบการแบ่งงานกันทำที่ทุนนิยมสร้างขึ้นคือสาเหตุหลักที่กีดกันเสรีภาพและความเท่าเทียมของผู้หญิง ทุนนิยมจัดระเบียบการทำงานในรูปแบบใหม่โดยมอบหน้าที่ให้ผู้ชายต้องเป็นแรงงานรับจ้าง และผลักให้ผู้หญิงอยู่ติดกับบ้าน ทำหน้าที่ดูแลครอบครัว ตอบสนองอารมณ์ทางเพศ และพึ่งพารายได้จากผู้ชายที่ออกไปทำงานนอกบ้าน ในแง่นี้ผู้หญิงจึงถูกสร้างภาพให้เป็นเพียงแค่ผู้ใช้แรงงานโดยธรรมชาติ (natural force) เท่านั้น (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2560) ปัจจุบันประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งการถูกล่วงละเมิด การถูกทำร้ายร่างกาย การกดขี่ค่าแรง การถูกเลือกปฏิบัติ ตลอดจนการถูกขับไล่ออกจากชุมชน ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันจึงมีขบวนการ “เฟมินิสต์” ที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศให้กับผู้หญิงมากมาย ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่โด่งดังในโลกออนไลน์ ดังที่เราเคยได้ยินกระแส “เฟมทวิต” ในช่วงปีที่ผ่านมา (บีบีซี, 2563)
เฟมินิสต์กระแสหลักที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศคือเฟมินิสต์สายเสรีนิยมใหม่ กลุ่มนี้มีแนวทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศด้วยข้อเสนอว่า ผู้หญิงต้องเท่าเทียมกับผู้ชายในทุกมิติ เช่น การประกาศว่าผู้หญิงจะมีชีวิตที่ดีขึ้นหากพวกเขาก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศหรือผู้บริหารบริษัท การได้รับค่าจ้างเท่ากับผู้ชาย หรือการได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ เหมือนกับผู้ชายในทุกปริมณฑล (ชินเชีย อารุชชา, ติถี ภัฏฏาจารย์, แนนซี่ เฟรเชอร์, 2564) กล่าวโดยนัย เฟมินิสต์สายนี้ตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศบนเงื่อนไขที่ทำให้ตนสามารถแข่งขันในตลาดและขยายทุนของตนเองได้
หากมองผ่าน ๆ ตามข้อเสนอข้างต้น หลายคนอาจคิดว่านี่คือข้อเสนอที่ดีและฟังขึ้นอย่างยิ่ง เพราะมันมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพลังอำนาจให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะอำนาจทางการเงินและเศรษฐกิจ แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ข้อเรียกร้องของฝ่ายเสรีนิยมใหม่เป็นเพียงน้ำผึ้งอาบยาพิษ เพราะในความเป็นจริง แนวทางการต่อสู้แบบนี้ยังคงเน้นให้ผู้หญิงต้องกัดฟันต่อสู้และดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเก่า เช่น การทำงานหนักมากขึ้น สอดคล้องกับโลกสัจนิยมแบบทุน (capitalist realism) ที่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มักพร่ำสอนเราว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลวขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคม ฉะนั้นจึงมีเพียงปัจเจกที่กุมชะตาชีวิตของตน (สรวิศ ชัยนาม, 2562) เมื่อยุทธศาสตร์การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มนี้วางอยู่บนตรรกะของตลาด สุดท้ายแล้วความเท่าเทียมทางเพศก็ถูกลดทอนเป็นเพียงเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (มติชนออนไลน์, 2563) มิพักต้องกล่าวว่า การต่อสู้ของกลุ่มนี้มักวนเวียนอยู่กับการไล่ตามความปรารถนาของอภิสิทธิ์ชนเพศหญิง ที่ละเลยชีวิตผู้หญิง และคนหลากหลายเพศจำนวนนับล้านที่กำลังทนทุกข์ทรมาน รวมทั้งกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการกดขี่ขูดรีด (Nicole Aschoff, 2020)
คล้ายกันกับแนวทางการต่อสู้แบบการเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) ที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและการยอมรับอัตลักษณ์ที่หลากหลายจากสังคม เช่น กลุ่ม LGBTQ ในประเทศไทยที่เรียกร้องสิทธิในการสมรสที่เท่าเทียมกับเพศชายและหญิง (Voice online, 2563) การต่อสู้แบบการเมืองอัตลักษณ์เน้นการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมมากกว่าเศรษฐกิจ ดังนั้นปัญหาของการเมืองอัตลักษณ์คือมันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ อย่างถึงรากถึงโคน เพราะมันกลับไปให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์บางอย่างเหนือกว่าอัตลักษณ์หนึ่ง ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบสังคมไปสู่ความเสมอภาคอย่างแท้จริง พูดให้ชัดขึ้น การเมืองอัตลักษณ์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกปิดและบิดเบือนการขูดรีดในทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2564)
อีกด้านหนึ่ง เฟมินิสต์สายสังคมนิยมหรือเฟมินิสต์เพื่อคน 99% ก็ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและต่อต้านปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศเช่นกัน หากแต่ข้อเสนอของกลุ่มนี้แตกต่างจากกลุ่มข้างต้นอย่างสิ้นเชิง เฟมินิสต์กลุ่มนี้มองว่าปัญหาทุกอย่างโดยเฉพาะเรื่องเพศล้วนมีที่มาและเกี่ยวพันกันกับระบบทุนนิยมอย่างแยกไม่ออก ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากการที่ทุนทำให้ธรรมชาติกลายเป็นสินค้า ในกรณีนี้ธรรมชาติกลายเป็นเพียงบ่อสูบเงิน หรือไม่ก็เป็นแหล่งทิ้งของเสียของเหล่านายทุนบรรษัทข้ามชาติ ขณะที่คนท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้หญิงต้องถูกไล่รื้อ และต้องระเห็จไปเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับค่าแรง หรือเป็นแรงงานราคาถูกในประเทศโลกที่หนึ่ง ปัญหาการทำร้ายร่างกายในครอบครัวที่ผู้หญิงมักเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของผู้ชาย ก็เกิดจากชีวิตที่ไม่มั่นคงแน่นอนของผู้ชายอันเนื่องมาจากพิษเศรษฐกิจ หรือแม้แต่เรื่องที่เราทึกทักว่าเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างเรื่องประชาธิปไตยนั้น ก็มิได้ไปกันได้ดีกับระบอบทุนนิยม เนื่องจากทุนเป็นฝ่ายควบคุมรัฐ[1] เราจึงเห็นปรากฏการณ์การรัดเข็มขัดเกิดขึ้นหลายแห่ง โดยสวัสดิการทางสังคมและสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นของเอกชน และเราจำต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงมัน (ชินเชีย อารุชชา, ติถี ภัฏฏาจารย์, แนนซี่ เฟรเชอร์, 2564)
เฟมินิสต์สายนี้พัฒนาข้อเสนอที่เรียบง่ายคือ ความเท่าเทียมทางเพศหมายถึงความเท่าเทียมกันของทุกคน นี่มีนัยว่าคนทุกเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สีผิว เพศ ศาสนา หรือภาษา จำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีดที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคม ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มุ่งไปสู่การรื้อโครงสร้างทางสังคมแบบเก่า การพัฒนาประชาธิปไตยโดยเฉพาะประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานที่ดีขึ้น รวมไปถึงการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นสำหรับงานที่อยู่ในส่วนการผลิต (production) และการผลิตซ้ำ (reproduction) โดยเฉพาะรูปแบบหลังที่เป็นงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำหรือไม่ได้รับค่าจ้างเลย อาทิ งานดูแล (care work) ที่มักเป็นหน้าที่ของผู้หญิง[2] (ชินเชีย อารุชชา, ติถี ภัฏฏาจารย์, แนนซี่ เฟรเชอร์, 2564)
สรุป การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศไม่ควรวางอยู่บนฐานคิดแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ และการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมแบบการเมืองอัตลักษณ์ ตรงกันข้าม การต่อสู้เรื่องนี้ควรมุ่งไปที่ใจกลางของปัญหาคือ ระบบทุนนิยมที่คอยกดขี่ขูดรีดเราทุกคนในทุกพื้นที่และทุกเวลา การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศอย่างยั่งยืนจึงหมายถึงการต่อสู้เพื่อคนทุกคนและเพื่อรื้อถอนโครงสร้างทางสังคมแบบเก่า ขณะเดียวกันก็ต้องมุ่งสร้างสังคมใหม่ที่ทุกคนเท่าเทียมกันขึ้นมาแทนที่
[1] มิพักต้องกล่าวถึงประเด็นที่นายทุนไม่ยอมเสียผลประโยชน์ทางชนชั้นของตน เช่น นายทุนอาจสนับสนุนให้ปราบปรามการประท้วงของขบวนการแรงงาน เมื่อการประท้วงส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมที่ (Dylan Riley, 2021)
[2] งานดูแลหมายถึงงานบ้าน การเลี้ยงดู จัดเตรียม หุงหา เก็บกวาด เซ็กซ์ การปรนนิบัติ ฯลฯ งานเช่นนี้ทุนหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าจ้างหรือหากจ่ายก็จ่ายแบบต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
รายการอ้างอิง
Dylan Riley. (2021). Capitalists Have Never Been Friends of Democracy. Retrieved from https://www.jacobinmag.com/2021/04/capitalism-electoral-democracy-property-relations
Nicole Aschoff. (2020). Why I’m a Feminist — and a Socialist. Retrieved from https://www.jacobinmag.com/2020/03/feminism-socialism-anti-capitalism-working-class?fbclid=IwAR2i7Pi0uUoM14r992ctpzag1ECmxbOYqR4tSMNBMyEcfjDv7aK_AnGRNmQ
Voice online. (2563). ‘ม็อบ LGBTQ’ คึกคัก ชักธงหลากสี ‘ปลดแอกสิทธิทางเพศ’. เข้าถึงได้จาก https://voicetv.co.th/read/Ld92GHzI1
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2560). Autonomia ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ การเมืองของการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ.
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2564). UNIVERSALITY AND IDENTITY POLITICS ว่าด้วย ‘ความเป็นสากล’ และ ‘การเมืองเรื่องอัตลักษณ์’. เข้าถึงได้จาก https://spectrumth.com/2021/01/21/gender-talk-1-universality-and-identity-politics-%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99/
ชินเชีย อารุชชา, ติถี ภัฏฏาจารย์, แนนซี่ เฟรเชอร์. (2564). ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99%. กรุงเทพฯ.
บีบีซี. (2563). เฟมทวิต : ประวัติศาสตร์ของแนวคิดสตรีนิยม และปมขัดแย้งในสังคมไทย. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/international-53153218
มติชนออนไลน์. (2563). รู้ยัง! ความเท่าเทียมทางเพศ กระตุ้นเศรษฐกิจได้! เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_2047886
สรวิศ ชัยนาม. (2562). เมื่อโลกซึมเศร้า…Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์. กรุงเทพฯ.