“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของคนรวย”

ผมมักได้อ่านความคิดเห็นลักษณะนี้บ่อยครั้งตามโซเชียลมีเดียที่นำเสนอเรื่องราวการอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกคนลดการใช้ทรัพยากรหรือการปรับวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่ออนาคตของคนรุ่นหลัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อความข้างต้นมีส่วนจริงไม่น้อยเพราะเหล่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมักจะถูกจัดอยู่ในประเภทสินค้าพรีเมียมและมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นพืชผักอินทรีย์ เสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านี้จะนำเอา ‘ผลกระทบภายนอก (externality)’ เข้าไปเป็นต้นทุนในการผลิต ขณะที่สินค้าทั่วไป คนที่แบกรับต้นทุนเหล่านี้ก็คือประชาชนในสังคม โดยต้นทุนเหล่านั้นอาจอยู่ในรูปมลภาวะในน้ำ ดิน และอากาศที่จะค่อยๆ กลายเป็นปัญหาสุขภาพอย่างช้าๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ คนที่มักตอบโต้การสนับสนุนวิถีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยประโยคดังกล่าวมักเป็นผู้มีรายได้ไม่มากนัก ด้วยชีวิตที่ต้องหาเช้ากินค่ำจึงไม่มีเวลาว่างพอจะใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพราะต้องห่วงปากท้องของตนเองและครอบครัวมากกว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาหรือเธอจะมองว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของชนชั้นกลางและชนชั้นนำในสังคม

วิธีคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ตัวผมเองหากตกอยู่ในที่นั่งเดียวกันก็คงมีความคิดไม่ต่างกันมากนัก เพราะการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปัจจุบันย่อมสำคัญกว่าปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกไกลแสนไกล แต่สิ่งที่หลายคนมักมองข้ามคือปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นหนึ่งซึ่งยังไม่ถูกพูดถึงในไทยมากนักคือความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม (environmental justice) ซึ่งสามารถพิจารณาใน 2 มิติคือ

  1. มิติด้านผลกระทบ มลภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่าซึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและไม่มีเงินเพียงพอที่จะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  2. มิติด้านการใช้ประโยชน์ ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้คนแต่ละคนใช้ทรัพยากรไม่เท่ากัน โดยคนที่มีรอยเท้าการใช้ทรัพยากรขนาดใหญ่คือกลุ่มคนรวยและประเทศที่ร่ำรวย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต หรือการผลิตสินค้าจำนวนมหาศาลเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง

พอจะเห็นภาพไหมครับว่าปัญหาอยู่ตรงไหน?

สิ่งที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เดินหน้าได้ลำบากคือการที่คนหรือประเทศร่ำรวยซึ่งเป็นสาเหตุของมลภาวะและวิกฤติภูมิอากาศกลับเป็นกลุ่มคนท้ายๆ ที่จะรู้สึกได้ถึงผลกระทบ ขณะที่ประชาชนกลุ่มแรกที่จะเผชิญหน้าวิกฤติคือเหล่าคนจนซึ่งใช้ทรัพยากรในชีวิตเพียงน้อยนิดแต่กลับต้องแบกรับต้นทุนดังกล่าว

เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องของคนจนด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบหลักที่จะต้องลดการใช้ทรัพยากร แต่ในฐานะด่านหน้าที่จะรู้สึกถึงผลกระทบเป็นกลุ่มแรก กลุ่มผู้ยากไร้จึงควรส่งเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามากำกับดูแลเพื่อปันส่วนภาระความรับผิดชอบอย่างเป็นธรรมตามสัดส่วนของการใช้ทรัพยากร พร้อมทั้งสร้างกลไกเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจทำลายวิถีชีวิตของประชาชนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ และสนับสนุนให้ชุมชนเหล่านั้นปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติได้ดียิ่งขึ้น

คนจนกับวิกฤติภูมิอากาศ

            การศึกษาพบว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มต่ำริมชายฝั่งซึ่งนับเป็นบริเวณที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้กลุ่มคนเหล่านี้จะรับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญภัยพิบัติ แต่ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้พวกเขาไม่สามารถอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า

ตัวอย่างเช่นบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ก็ต้องเผชิญน้ำท่วมจากทั้งแม่น้ำและทะเลอยู่เสมอ รวมทั้งการรุกล้ำของน้ำเค็มซึ่งกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรเช่นบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ในเวียดนามที่นับเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั่วประเทศ การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่าประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณปากแม่น้ำส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสซึ่งไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะอพยพออกไปหรือสรรหาวิธีการรับมือภัยพิบัติ

อีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่น่ากังวลคือภัยแล้ง ประชากรราวสองในสามของโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งอาจขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปีและมีแนวโน้มที่ช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำจะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งมักเป็นกลุ่มคนรายได้น้อย

วิกฤติภูมิอากาศจะทำให้คนจนติดอยู่ในวงจรอุบาทว์แห่งความยากจน เพราะต้องเผชิญภัยพิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าและไม่สามารถแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า นี่คือสาเหตุที่ผู้เขียนมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนจนต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

หากถอยออกมาดูภาพใหญ่ กลุ่มประเทศยากจนและเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 20 ประเทศได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม V20 (Vulnerable Twenty Group) ซึ่งต่อมามีประเทศเข้าร่วมจนปัจจุบันมีสมาชิก 48 ประเทศ คิดเป็นจำนวนประชากร 1.2 พันล้านคนแต่สัดส่วนการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของโลก ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และติมอร์-เลสเต

รัฐบาลของประเทศเหล่านี้มองว่าตนเองมีส่วนก่อให้เกิดวิกฤติภูมิอากาศน้อยมาก แต่กลับต้องแบกรับต้นทุนราคาแพงจากวิกฤติดังกล่าว เช่น งบประมาณสำหรับมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจสูงถึง 140 ถึง 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี ที่สำคัญคือประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่สูงกว่าประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศน้อยกว่า กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ว่าประเทศที่เปราะบางต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าเพื่อกู้เงิน ทำให้การรับมือวิกฤติภูมิอากาศทำได้ยากขึ้น และสุดท้ายก็ส่งผลให้ประชาชนต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

หากปล่อยไว้เช่นนี้ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาก็จะยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤติที่หลายคนคาดไม่ถึงคือวิกฤติผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คนรวยกับภาระที่ต้องรับผิดชอบ

หากพิจารณาฝั่งการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งสะท้อนผ่านการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สะสมของแต่ละประเทศ เราจะเห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงแรกๆ ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณมหาศาลโดยไม่ทราบถึงผลกระทบ ความมั่งคั่งที่สั่งสมมาทำให้ประเทศเหล่านั้นร่ำรวยมหาศาลในปัจจุบัน ซึ่งภาระความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ควรจะมากกว่าประเทศที่ยากจน

จากสถิติล่าสุด ประเทศจีนขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของผู้ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ โดยคิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ในขณะที่ทวีปแอฟริกาซึ่งประเทศส่วนใหญ่ยากจนก็ยังคงเป็นกลุ่มที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สะสมซึ่งมีการประมาณการไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1751 ถึง 2017 ประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์นำโด่งคือสหรัฐอเมริกา (25 เปอร์เซ็นต์) รองลงมาคือกลุ่มสหภาพยุโรป (22 เปอร์เซ็นต์) ขณะที่จีนนั้นปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สะสมเป็นสัดส่วนเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมากหากเทียบเป็นสัดส่วนต่อประชากร

การศึกษาโดยอ็อกซ์แฟมวิเคราะห์การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวของประชาชนทั่วโลกโดยพบความแตกต่างที่น่าตื่นตะลึง รายงานฉบับนั้นระบุว่าไลฟ์สไตล์ของชาวอเมริกันที่มั่งคั่งที่สุดจะปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 10 เท่าของคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน เช่นเดียวกับรายงานของสหประชาชาติที่พบว่าวิถีชีวิตของคนที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ปล่อยแก๊สเรือนกระจกเฉลี่ยมากกว่าคนที่ยากจนที่สุด 50 เปอร์เซ็นต์มากกว่า 100 เท่า

ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนที่ร่ำรวยและยากจนนำไปสู่แนวคิดเรื่องการปันส่วนอย่างเป็นธรรม (Fair Share) โดยเริ่มจากการกำหนด ‘งบประมาณคาร์บอน’ ที่แต่ละประเทศหรือแต่ละคนสามารถปลดปล่อยได้เพื่อบรรลุเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หากคนกลุ่มไหนใช้เกินงบประมาณก็ต้องปรับลด ส่วนกลุ่มไหนที่ยังใช้ภายในงบประมาณก็สามารถปรับเพิ่มได้เพื่อความเป็นธรรม

ภาพจาก United Nations Emissions Gap Report

            ตัวอย่างเช่น ภายใต้กรอบคิดวิถีชีวิตคาร์บอนต่ำที่ปันส่วนอย่างเท่าเทียม ทุกคนบนโลกจะสามารถปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.1 ตันคาร์บอนต่อปี นั่นหมายความว่ากลุ่มผู้ร่ำรวยที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมากก็ต้องปรับวิถีชีวิตเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนคนที่ยากจนซึ่งปลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าก็สามารถใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองได้

กลุ่มประชากรตามรายได้

รายได้ต่อปี (USD ปี 2015) การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคน (ตันคาร์บอน) การเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดการปันส่วนอย่างเป็นธรรม

ร่ำรวยที่สุด 1% แรก

มากกว่า $109,000 74 ลดการปล่อยคาร์บอน 97%

ร่ำรวยที่สุด 10% แรก

มากกว่า  $38,000 23 ลดการปล่อยคาร์บอน 91%
ยากจนที่สุด 50% จากด้านล่าง น้อยกว่า $6,000 0.7

เพิ่มการปล่อยคาร์บอนได้ 300%

ข้อมูลจาก United Nations Emissions Gap Report

            จะเห็นว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของคนจนหรือคนรวย แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องตระหนักว่าเราต่างได้รับผลกระทบและมีภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไปตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หากผู้มีรายได้น้อยละเลยปัญหา สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ หากเหล่าคนรวยละเลยภาระความรับผิดชอบ แม้ในช่วงแรกจะสามารถใช้ความมั่งคั่งป้องกันตนเองจากผลกระทบได้ แต่สุดท้ายย่อมไม่อาจหนีพ้น เพราะในวันที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 องศาเซลเซียส ไม่ว่าที่ใดในโลกก็ไม่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์

เอกสารประกอบการเขียน

Why Climate Change and Poverty Are Inextricably Linked

How Climate Change Worsens Poverty and Inequality

Inequality and climate change: the rich must step up

Countries most exposed to climate change face higher costs of capital

What’s your “fair share” of carbon emissions? You’re probably blowing way past it.