การจัดอันดับสวนสนุกยอดนิยม 25 อันดับแรกเมื่อปี 2018 มีชื่อสวนสนุกขนาดใหญ่อย่าง ดิสนีย์แลนด์ (Disneyland) อยู่ในอันดับต้นๆ เพราะบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยร้อยยิ้มและความสุข อันเนื่องมาจากการออกแบบและบริหารจัดการประสบการณ์ของผู้เข้าชมสวนสนุก (customer experience) อย่างรอบด้าน
วอลต์ ดิสนีย์เปิดตัวดิสนีย์แลนด์ครั้งแรกที่ นครอนาไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 1955 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากนิทาน และนำเสนอประสบการณ์รูปแบบใหม่ในโรงแรมและสวนสนุกของดิสนีย์ หลังจากนั้นได้เปิด วอลต์ดิสนีย์ เวิลด์รีสอร์ต ที่ออแลนโด รัฐฟลอริดา (ค.ศ.1971) โตเกียว ดิสนีย์รีสอร์ต (ค.ศ. 1983) ดิสนีย์แลนด์ ปารีส (ค.ศ. 1992) ฮ่องกง ดิสนีย์แลนด์ ( ค.ศ. 2005 ) และล่าสุดคือ เซี่ยงไฮ้ ดิสนีย์รีสอร์ต ซึ่งเปิดเมื่อ 16 มิถุนายน 2016 หากนับถึงวันนี้ดิสนีย์ก็ดำเนินกิจการสวนสนุกมา 60 กว่าปีแล้ว
แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า นอกจากการคำนึงถึงความสุขของผู้เข้าชมสวนสนุกแล้ว ดิสนีย์แลนด์ยังบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของตนด้วย ซึ่งบทความนี้จะเล่าถึงการบริหารจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมของดิสนีย์แลนด์
ดิสนีย์แลนด์แบ่งความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ พลังงาน น้ำ และขยะ โดยดูแลแต่ละด้านดังนี้
พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: ดิสนีย์ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50 ภายในปี 2020 (เปรียบเทียบกับปี 2012)
กิจการสวนสนุกต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อนเครื่องเล่น และการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งพลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า นับจากปี 2012 ถึงปี 2017 ดิสนีย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วร้อยละ 41 โดยสวนสนุกแต่ละพื้นที่มีการบริหารจัดการพลังงานที่แตกต่างกันไปเพื่อให้สามารถลดการใช้พลังงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ดังตัวอย่างที่น่าสนใจดังนี้
บริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ สร้างแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อใช้ในสวนสนุกย่อยทั้ง 4 แห่งของวอลต์ดิสนีย์ เวิลด์รีสอร์ต (ดิสนีย์เมจิกคิงดอม เอ็ปคอต ดิสนีย์ฮอลลีวูดสตูดิโอ และดิสนีย์แอนิมอลคิงดอม) ในรัฐฟลอริดา โดยออกแบบจัดเรียงรูปทรงแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้เป็นรูปหัวมิกกี้เมาส์ซึ่งเป็นภาพจำคู่กับดิสนีย์มาอย่างยาวนาน เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์เอาไว้
โตเกียว ดิสนีย์แลนด์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการจัดแสดงขบวนพาเหรด ขณะที่ดิสนีย์แลนด์ ปารีสใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ (geothermal energy) ป้อนไฟฟ้าเข้าสู่สวนสนุกและโรงแรม ส่วนเซี่ยงไฮ้ ดิสนีย์แลนด์ ใช้ระบบที่เปลี่ยนพลังงานความร้อนเหลือทิ้ง (waste heat) ให้เป็นพลังงานที่ใช้ภายในสวนสนุก ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงกว่าร้อยละ 60
พลังงานความร้อนใต้พิภพ คือ พลังงานธรรมชาติที่เกิดจากความร้อนที่ถูกกักเก็บอยู่ภายใต้ผิวโลก
พลังงานความร้อนเหลือทิ้ง คือ พลังงานความร้อนที่ปล่อยทิ้งสู่บรรยากาศหลังจากผ่านการใช้ประโยชน์แล้ว อาจอยู่ในรูปอากาศ ก๊าซ นํ้า หรือของเหลวอื่นๆ ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าบรรยากาศ |
นอกจากนี้ดิสนีย์ เวิลด์รีสอร์ตยังมีปั๊มพลังงานไฟฟ้า (สถานีชาร์จไฟฟ้า) สำหรับให้บริการลูกค้าและพนักงานที่ใช้รถพลังงานไฟฟ้า โดยในปี 2017 มีการจ่ายไฟฟ้าเป็นระยะทางที่รถวิ่ง 600,000 ไมล์ หรือราว 965,000 กิโลเมตร ไม่เพียงเท่านั้นดิสนีย์เวิลด์รีสอร์ตยังใช้น้ำมันประกอบอาหารและเศษอาหารเหลือทิ้งมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานสำหรับขับเคลื่อนรถยนต์ภายในสวนสนุก แทนการใช้น้ำมันดีเซลอีกด้วย
การอนุรักษ์น้ำ: ในปี 2018 ดิสนีย์แลนด์ตั้งเป้าว่าจะใช้ทรัพยากรน้ำเท่ากับที่ใช้ในปี 2013 แม้ว่าจะมีพื้นที่ในการดำเนินการเพิ่มขึ้นก็ตาม รวมถึงยังพัฒนาแผนอนุรักษ์น้ำในพื้นที่แห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย
การบริหารจัดการระบบน้ำภายในสวนสนุกเครือดิสนีย์แลนด์แต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันเช่นเคย โดยสวนสนุกที่มีการบริหารจัดการน้ำโดดเด่นคือ ดิสนีย์แลนด์รีสอร์ต ซึ่งร่วมมือกับ Orange County Water District (OCWD) ในการคิดค้นนวัตกรรมการรีไซเคิลน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่ปี 2008 และ OCWD ซึ่งเป็นหน่วยงานบริการจัดการน้ำที่มุ่งใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ ได้พัฒนา Groundwater Replenishment System (GWRS) โดยน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดด้วยระบบนี้มีคุณภาพเทียบเท่าหรือมากกว่ามาตรฐานน้ำดื่มหน่วยงานภาครัฐ และนำกลับมาใช้ซ้ำ
วิธีการทำงานของ GWRS นี้ก็คือ จะเริ่มจากการบำบัดน้ำในขั้นต้น (pre-purification) เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับน้ำกลั่น จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการไมโครฟิลเตรชัน (microfiltration) เพื่อกรองอนุภาคขนาดเล็ก และกระบวนการออสโมซิสแบบผันกลับ (reverse osmosis) เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับน้ำบริสุทธิ์ และฉายแสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Light: UV) ร่วมกับไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (H2O2) เพื่อฆ่าเชื้อที่หลงเหลืออยู่ ก่อนที่จะส่งไปยังแอ่งน้ำบาดาล (groundwater basin) ในพื้นที่ของ Orange County หลังจากนั้นน้ำสะอาดจะถูกดึงมาจากชั้นหินอุ้มน้ำ และจ่ายให้แก่หน่วยงานน้ำในท้องถิ่นและแจกจ่ายให้กับผู้ใช้ เช่น บ้านและธุรกิจ
ความร่วมมือระหว่างดิสนีย์และ OCWD เป็นแนวทางการบริหารที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างเอกชนกับหน่วยงานรัฐเพื่อขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน
นอกจากระบบบริหารจัดการน้ำแล้ว ดิสนีย์ยังออกแบบสิ่งก่อสร้างใหม่ และปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิม (renovation) เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า อาทิ การใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ (low-flow toilet) การสร้างทางเลือกให้แขกผู้เข้าพักสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์น้ำได้โดยใช้ผ้าขนหนูซ้ำแทนการเปลี่ยนทุกวัน ในส่วนของภูมิทัศน์ ดิสนีย์ปลูกพืชทนแล้งเพื่อลดปริมาณน้ำที่ต้องใช้รดต้นไม้ รวมถึงใช้ระบบน้ำแบบไหลเอื่อย (low-flow) และยังมีระบบตรวจจับการรั่วไหลของน้ำภายในดิสนีย์รีสอร์ต เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำให้ได้มากที่สุด
การบริหารจัดการขยะและของเสีย: ปี 2017 ดิสนีย์ลดปริมาณขยะฝังกลบลงได้ร้อยละ 46 และตั้งเป้าว่าจะลดให้ได้มากถึงร้อยละ 60 ในปี 2020
วิธีการหนึ่งที่ดิสนีย์ทำเพื่อลดปริมาณขยะภายในสวนสนุกก็คือ พยายามยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยการบริจาคให้แก่ชุมชน นำมาใช้ภายในองค์กร และจำหน่ายให้แก่พนักงานของดิสนีย์ เช่น ชุดพนักงาน รองเท้า ของตกแต่ง และจาน รวมถึงยังคัดแยกขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก กระป๋องน้ำ ขวดแก้ว เศษโลหะ และวัสดุก่อสร้าง เพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบ
ดิสนีย์แลนด์รีสอร์ตร่วมมือกับ Clean the World Foundation ในการนำสบู่ภายในห้องพักและบรรจุภัณฑ์ ไปฆ่าเชื้อแล้วนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและครอบครัว นอกจากนี้ยังมีโครงการบริจาคอาหารกว่า 900 กิโลกรัมให้แก่ธนาคารอาหารแห่งออเรนจ์ เคาน์ตี (Second Harvest Food Bank of Orange County)
ในระหว่างการปรับปรุงขยายพื้นที่ดิสนีย์แคลิฟอร์เนียแอดเวนเจอร์ สวนสนุกในพื้นที่ดิสนีย์แลนด์รีสอร์ตได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ กว่า 78,900 กิโลกรัมออกไปภายนอก โดยบริจาคให้แก่หน่วยงานท้องถิ่น เมืองอนาไฮม์ และพิพิธภัณฑ์ เช่น ป้ายอักษร CALIFORNIA ขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่หน้าทางเข้าสวนสนุก
ในขณะที่โตเกียวดิสนีย์รีสอร์ตรายงานผลการบริหารจัดการขยะประจำปี 2017 ว่า มีขยะที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่สวนสนุกทั้งหมด 25,300 ตัน โดยเป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ 19,100 ตัน คิดเป็นร้อยละ 75 ของขยะที่ทิ้งทั้งหมด และเมื่อเปรียบเทียบในช่วง 2014 – 2017 โตเกียวดิสนีย์รีสอร์ตมีขยะในปริมาณใกล้เคียงกัน ทั้งยังมีสัดส่วนปริมาณขยะรีไซเคิลเทียบกับปริมาณขยะทั้งหมดอยู่ระดับร้อยละ 74-75
ข้อมูลการบริหารจัดการขยะข้างต้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือการแก้ไขเมื่อมีขยะเกิดขึ้นแล้ว จึงยังไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาขยะอย่างตรงจุด ขณะที่การคาดการณ์เพื่อผลิตอาหารภายในดิสนีย์แลนด์ให้ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้บริโภคที่เข้ามาเที่ยวได้จะช่วยลดปริมาณขยะจากอาหาร รวมถึงยังช่วยลดการใช้พลังงานในการผลิตลง อย่างไรก็ตาม ดิสนีย์ก็มีความพยายามที่จะลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นเหตุเช่นกัน โดยล่าสุดดิสนีย์ประกาศลดการใช้พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียว (single-used plastic) เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ดังนี้
กลางปี 2019 ตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกใช้หลอดพลาสติกและช้อนพลาสติกภายในดิสนีย์แลนด์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณหลอดพลาสติกลงกว่า 175 ล้านชิ้นต่อปี และลดปริมาณขยะช้อนพลาสติกสำหรับคนเครื่องดื่มได้กว่า 13 ล้านชิ้นต่อปี รวมถึงในอีก 2-3 ปีข้างหน้าดิสนีย์แลนด์จะเปลี่ยนสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพักโรงแรมเป็นแบบเติม (refill) ซึ่งจะทำให้ขยะพลาสติกภายในห้องพักของแขกจะลดลงถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังมีแผนลดถุงพลาสติกในร้านขายของที่ระลึก และลดของใช้ในห้องพักที่เป็นพลาสติกใช้แล้วทิ้งลงให้ได้ร้อยละ 80 รวมถึงเลิกใช้แก้วพลาสติกในสวนสนุกและโรงแรมของดิสนีย์อีกด้วย
ดิสนีย์แลนด์กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าการสร้างความสุขให้กับนักท่องเที่ยวสามารถดำเนินควบคู่ไปกับการใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมได้ ขณะทีหลายคนคงตามลุ้นว่าปี 2020 รอยเท้าคาร์บอนของดิสนีย์แลนด์จะเล็กลงได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือเปล่า
เอกสารอ้างอิง:
พลังงานความร้อนใต้พิภพ
ความร้อนเหลือทิ้ง
จัดอันดับสวนสนุก
ดิสนีย์
Groundwater Replenishment System