บทความซีรีย์ “ส่องโลกการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม” จะพาผู้อ่านไปศึกษาการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (social impact assessment) ของกิจการต่างๆ ที่ต้องการสร้างคุณค่าทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจกระแสหลักที่ทำซีเอสอาร์ สร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) รวมไปถึงกิจการเพื่อสังคม โดยเน้นศึกษากิจการที่มีการรายงานผลลัพธ์ทางสังคมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำความเข้าใจวิธีการวัดผล ตัวชี้วัด เครื่องมือที่กิจการเหล่านั้นเลือกใช้ และวิเคราะห์เหตุผลในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม
ในตอนที่ 1 นี้ ผู้เขียนจะเล่าถึงการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมของกิจการเพื่อสังคม Divine Chocolate ที่ดำเนินธุรกิจหลักในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทรายงานผลลัพธ์ทางสังคมผ่านรายงานประจำปีเป็นประจำมาตั้งแต่ปี 2006
Divine Chocolate เป็นกิจการเพื่อสังคมแบบแสวงหากำไรจากสหราชอาณาจักรที่พัฒนาขึ้นจากสหกรณ์การเกษตรในประเทศกานา เกษตรกรกลุ่มหนึ่งได้จัดตั้งสหกรณ์โกโก้ขึ้นในนาม “Kuapa Kokoo” ในช่วงต้นค.ศ. 1990 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกรด้วยกันเอง ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างการค้าที่เป็นธรรม สร้างการมีส่วนร่วมของสตรีและสนับสนุนการเพาะปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งในปี 1997 สมาชิกสหกรณ์ Kuapa Kokoo ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตแท่งโดยใช้ระบบรับรองการค้าที่เป็นธรรมหรือ Fair Trade ภายใต้แบรนด์ของตนเอง และนำสินค้าเข้าสู่ตลาดกระแสหลัก (mass market) เพื่อแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำในตลาดสหราชอาณาจักรให้ได้ สหกรณ์ Kuapa Kokoo จึงร่วมมือกับมูลนิธิ Twin Trading จัดตั้งบริษัทขึ้นในนาม “Divine Chocolate” โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างบริษัทช็อกโกแลตระดับโลกที่เกษตรกรเป็นเจ้าของ และใช้ช็อกโกแลตสร้างความสุข สร้างการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีเกียรติ และเสริมสร้างศักยภาพให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
Divine Chocolate ถือเป็นบริษัทช็อกโกแลตแห่งแรกที่มีเกษตรกรเป็นเจ้าของที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการค้าที่เป็นธรรมหรือแฟร์เทรด (Fair Trade) โดยสหกรณ์ Kuapa Kokoo ถือหุ้นในบริษัทอยู่ร้อยละ 44 และมีตัวแทนเกษตรกรนั่งอยู่ในบอร์ด สมาชิกสหกรณ์จะได้รับเงินปันผลจากกำไรของบริษัทซึ่งเริ่มมีการจ่ายเงินปันผลใน ค.ศ. 2007 ในปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกกว่า 80,000 คนจากหมู่บ้าน 1,250 แห่งในกานา และผลิตโกโก้ร้อยละ 5 ของประเทศ เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2016 บริษัทมีรายได้ 12 ล้านปอนด์ (ประมาณ 546 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 443,000 ปอนด์ (ประมาณ 20.1 ล้านบาท) บริษัทจำหน่ายสินค้าช็อคโกแลตหลากหลายรายการ ได้แก่ ช็อกโกแลตแท่งรสชาติต่างๆ เช่น นม ดาร์คช็อกโกแลต ส้ม คาราเมล ไวท์ช็อกโกแลต ช็อกโกแลตสำหรับการทำขนม ช็อกโกแลตชงสำหรับดื่มและผงโกโก้ โดยจำหน่ายทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกาและเอเชีย
Divine Chocolate รับซื้อโกโก้จากสหกรณ์ Kuapa Kokoo ในราคาที่สูงกว่าตลาดหรือราคาพรีเมียม และหักร้อยละ 2 ของรายได้รวมจากบริษัทในสหราชอาณาจักรและร้อยละ 1 ของรายได้จากบริษัทในสหรัฐอเมริกาเข้าโครงการการสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกร เช่น การสนับสนุนการเพาะปลูกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การจัดตั้งสถานีวิทยุเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารและให้ความรู้กับเกษตรกร จัดโครงการหลักสูตรการอ่านออกเขียนได้และคณิตศาสตร์เบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีการผลักดันด้านการตระหนักรู้และการขยายตัวด้านการค้าตามมาตรฐานแฟร์เทรดไปยังผู้บริโภค เพื่อเพิ่มความเข้าใจและจูงใจให้ซื้อสินค้าแฟร์เทรด
ในด้านการประเมินและรายงานผลลัพธ์ทางสังคม Divine Chocolate มีการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม 2 ประเภท คือ แบบที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการเก็บข้อมูลเองและรายงานเองอย่างสม่ำเสมอผ่านรายงานประจำปี กับการประเมินที่ใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดของหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองต่างๆ เช่น มาตรฐานแฟร์เทรดขององค์กรแฟร์เทรดสากล (Fairtrade International) และการรับรองธุรกิจยั่งยืน B-Corporation (B-Corp) โดยองค์กร B Lab
สำหรับรายงานผลลัพธ์ทางสังคมที่บริษัททำด้วยตนเองจะเน้นข้อมูลเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณเป็นส่วนใหญ่ โดยเน้นการรายงานผลผลิต (output) ทางสังคมที่เกิดจากการดำเนินการ ซึ่งบริษัทเลือกแสดงผลผลิตหลายรายการ ในการรายงานเชิงปริมาณคู่กับการแสดงงบการเงิน ได้แก่
- จำนวนเงินทุนที่ใช้สนับสนุนและพัฒนาเกษตรกร (Producer Support)
- เงินปันผลและดอกเบี้ยที่เกษตรกรได้รับ
- ค่าพรีเมียมของโกโก้แฟร์เทรดที่บริษัทจ่ายให้เกษตรกร
- ค่าพรีเมียมของน้ำตาลแฟร์เทรดที่บริษัทจ่ายให้เกษตรกร
- จำนวนผลผลิตการเกษตรแฟร์เทรดที่บริษัทใช้ ได้แก่ โกโก้ น้ำตาล อัลมอนด์และมะม่วง
ส่วนผลลัพธ์ทางสังคมอื่นๆ ที่บริษัทแสดงไว้ในรายงานที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณได้แก่
- ร้อยละของสมาชิกที่เป็นผู้หญิง และจำนวนผู้หญิงที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการสหกรณ์
- ร้อยละของรายได้ที่บริษัทลงทุนในการสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น (ร้อยละ 5 ของรายได้)
- การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต เช่น การรีไซเคิลขยะได้ร้อยละ 61 การเปลี่ยนขยะ 1,500 ตันให้เป็นพลังงานได้ 900 กิโลวัตต์ชั่วโมง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3 ตัน
- จำนวนสมาชิกเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้และคณิตศาสตร์พื้นฐาน
ส่วนการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมที่ใช้มาตรฐานสากลอื่นๆ มากำกับ บริษัทใช้มาตรฐานแฟร์เทรดกับผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองทุกชิ้นมาตั้งแต่ปี 2002 มาตรฐานแฟร์เทรดสำหรับโกโก้มีตัวชี้วัดสำคัญดังนี้
- ราคาที่รับซื้อโกโก้ต่อตัน
- ราคาพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นของโกโก้ที่ผ่านมาตรฐานแฟร์เทรดและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
- การขอเครดิตล่วงหน้าของเกษตรกร
- การส่งเสริมการค้าในระยะยาวและเป็นธรรม
- มาตรฐานทางการเพาะปลูกและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สารเคมีการเกษตร การจัดการขยะ การรักษาดินและน้ำ การไม่ใช้พันธุ์พืชที่ตัดต่อพันธุกรรม (GMO) และการห้ามใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก เป็นต้น
ในส่วนการใช้มาตรฐาน B-Corp ซึ่งบริษัทต้องผ่านเกณฑ์การประเมินทางสังคมโดยเครื่องมือที่เรียกว่า B Impact Assessment (BIA) บริษัทยื่นขอมาตรฐานนี้ทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร B-Corp เป็นมาตรฐานที่เน้นวัดผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ โดยประเมินผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคะแนนรวม 200 คะแนน เป็นการประมวลผลจากคำถามใน 2 ส่วน คือ ผลกระทบจากการปฏิบัติการ (Operational Impact) ที่ดูด้านธรรมาภิบาล แรงงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโมเดลธุรกิจ (Impact Business Models) ซึ่งรวมรวบคำถามเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจของกิจการใน 5 ด้าน ได้แก่ ธรรมาภิบาล แรงงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และลูกค้า ซึ่งในส่วนนี้บริษัทต้องได้คะแนนรวมทั้งหมดเกิน 80 จึงจะผ่านมาตรฐานนี้
เมื่อได้ข้อมูลจากการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมตามวิธีข้างต้น Divine Chocolate ใช้ผลลัพธ์ทางสังคมและการ “ผ่าน” มาตรฐาน B-Corp เพื่อสร้างความชัดเจนว่า บริษัทเป็นกิจการเพื่อสังคมที่แก้ปัญหาของเกษตรกรผู้เพาะปลูก ด้วยการทำธุรกิจตามมาตรฐานการค้าที่เป็นธรรมหรือแฟร์เทรด โดยแสดงความโปร่งใสของการจัดสรรเงินเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเกษตรกรผ่านการแสดงมูลค่าราคาพรีเมียมในการรับซื้อโกโก้ และจำนวนเงินปันผลที่เกษตรกรได้รับจากกิจการไว้อย่างชัดเจนในรายงานประจำปี รวมถึงจำนวนเงินทุนที่ใช้สนับสนุนและพัฒนาเกษตรกร (Producer Support) ที่หักจากรายได้ร้อยละ 2 ต่อปีในการดำเนินการมาโดยตลอด
นอกจากนี้การแสดงตัวเลขทางการเงินที่ใช้ไปกับการสร้างคุณค่าทางสังคมและตัวเลขทางธุรกิจเองก็ถือเป็นการแสดงความรับผิด (Accountability) ต่อนักลงทุน ซึ่ง Divine Chocolate มีผู้ถือหุ้นหลายรายรวมทั้งเกษตรกรผู้เพาะปลูกโกโก้
ในปี 2016 บริษัทได้นำมาตรฐาน B-Corporation มาใช้ เนื่องจากมองว่าแม้มาตรฐานแฟร์เทรดและการแสดงความเป็นกิจการเพื่อสังคมจะยังมีความสำคัญมาก แต่บริษัทเชื่อว่ามาตรฐาน B-Corp ที่รับรองโดยองค์กรภายนอกจะช่วยบริษัทวัดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ได้แก่ พนักงาน ซัพพลายเออร์ ชุมชน ลูกค้าและสิ่งแวดล้อม และแสดงให้เห็นถึง “คุณค่าทางสังคม”ที่อยู่ในแก่นธุรกิจของบริษัท ซึ่งโซฟี ทรานเชลล์ ซีอีโอคนปัจจุบันกล่าวว่า “เราเชื่อว่าบทบาทของเราส่วนหนึ่งในฐานะผู้นำ คือ การสร้างระบบที่จะช่วยผลักให้ธุรกิจต่างๆ มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และให้อำนาจกับผู้บริโภคเพื่อที่จะตัดสินใจเลือกซื้อโดยมีข้อมูล”
จะเห็นได้ว่าการรายงานผลลัพธ์ทางสังคมของ Divine Chocolate ไม่ได้เป็นเพียงแค่การสกัดตัวเลข หรือการรวบรวมข้อมูลมาใส่รายงานประจำปี และยื่นขอมาตรฐานเท่านั้น แต่การแจกแจงได้ถึงคุณค่าทางสังคมด้านต่างๆ สร้างความแตกต่างให้กับบริษัท และสร้างความโดดเด่นในตลาดที่บริษัทมองว่า “อิ่มตัว” การนำเสนอคุณค่าด้านบวกทางสังคม และวิธีการดำเนินธุรกิจที่ “ดี” กว่า และให้ข้อมูลเพื่อแสดงถึงความเป็นธรรมในการรับซื้อวัตถุดิบและการพัฒนาเกษตรกรให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอ ชัดเจนและมั่นใจได้ในการเลือกซื้อสินค้า โดยเฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ได้มีช็อคโกแลตแค่แบรนด์เดียวที่พยายามเล่าเรื่องคุณค่าทางสังคมให้ผู้บริโภครับฟัง
อ้างอิง: