ที่ผ่านมามนุษย์คงปฏิเสธได้ยากขึ้นว่า ความเสื่อมโทรมลงของสิ่งแวดล้อมและผลพวงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบด้านหนึ่งที่อาจจะยังมีการพูดถึงไม่มากนัก คือ เมื่อสิ่งแวดล้อมของโลกกำลังอ่อนล้าอย่างเต็มที่ และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นในระดับที่สุดจะคาดประมาณ สิ่งเหล่านี้กระทบกับจิตใจของคนเราอย่างไร

Photo by Quintin Gellar from Pexels

อุณหภูมิผิวโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจนแผ่นน้ำแข็งและทะเลน้ำแข็งละลาย ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ไฟป่า พายุ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง และภัยธรรมชาติในระดับรุนแรงก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมารูปแบบสภาพภูมิอากาศที่แทบคาดเดาไม่ได้กำลังคุกคามห่วงโซ่และผลผลิตอาหารของมนุษย์ ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายด้าน รวมถึงถือเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาวะทั้งทางกายและจิต

ในด้านสุขภาพกาย ภัยธรรมชาติทำให้มนุษย์เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องก็ค่อย ๆ ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น ความเจ็บป่วยที่มากับอากาศร้อน โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ และการเพิ่มขึ้นของโรคที่เกิดจากพาหะ (vector-borne diseases) เช่น โรคไข้เลือดออก โรคซิก้า

สำหรับด้านสุขภาพจิต ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ความสนใจและความพยายามที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพจิตได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่การตระหนักรู้สาธารณะและด้านวิชาการ  เช่น สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association: APA) ที่ถือเป็นสมาคมนักจิตวิทยาที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา และเป็นต้นแบบในการวิจัยหรือการกำหนดหลักจริยธรรมของนักจิตวิทยาทั่วโลก สมาคมฯได้ทบทวนบทบาทของงานจิตวิทยาในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการจัดตั้งหน่วยงาน (Task Force) เฉพาะกิจขึ้น รวมถึงเผยแพร่ผลสำรวจและตีพิมพ์งานวิจัยหลายฉบับในเรื่องนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 2009

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้คน ทั้งคนที่มีและไม่มีประสบการณ์ตรงกับความเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงอย่างน้ำท่วม ไฟป่า หรือพายุ อาจเกิดภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Posttraumatic Stress Disorder: PTSD) ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือภาวะทางอารมณ์อื่น ๆ ได้  เช่น การศึกษาในพื้นที่ประสบภัยจากพายุเฮอริเคนแคทรีน่า ในสหรัฐอเมริกาชิ้นหนึ่งพบว่า มีอัตราการฆ่าตัวตายและการคิดฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และ 1 ใน 6 ของกลุ่มตัวอย่างถูกวินิจฉัยว่ามีอาการ PTSD

นอกจากนี้ เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นมาแล้ว ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงจากความเสียหายของภัยพิบัติก็อาจมีความเครียด เพราะรู้สึกว่าจัดการหรือปรับตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่มีทรัพยากรในชีวิตจำกัด และมีความเครียดในด้านอื่นอยู่แล้ว ความเครียดอาจมีสาเหตุมาจากความกังวลถึงภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมถึงความรู้สึกเปราะบาง ทำอะไรไม่ได้ เศร้า และสิ้นหวัง

Photo by Valdemaras D. from Pexels

กลุ่มคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่ามีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาชนกลุ่มน้อยอย่างชาวเอสกิโม (Inuit) ในแคนาดาเป็นเวลานาน 10 ปีพบว่า การที่พวกเขาต้องสัมผัสกับการละลายของน้ำแข็งอยู่ทุกวี่วัน ทำให้เกิดความโศกเศร้า (grief) ทั้งต่อระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลง ความเสียหายที่คนได้ทำต่อธรรมชาติ การที่วิถีชีวิตและความรู้ในด้านการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและการทำมาหากินที่เคยเชื่อถือกันมาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป รวมถึงการที่ไม่สามารถรักษาสมบัติจากบรรพบุรุษไว้ได้ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้มีชื่อเรียกว่าความโศกเศร้าเชิงนิเวศ (ecological grief)

ทั้งนี้ คนที่มีอาชีพและดำรงชีวิตตามสภาพภูมิอากาศเป็นหลักแบบชาวเอสกิโม เช่น เกษตรกรและชาวประมง ก็เสี่ยงกับความวิตกกังวลและความเศร้าเช่นกัน อย่างการศึกษาชิ้นหนึ่งในออสเตรเลียเมื่อ ค.ศ. 2012 ที่พบว่า เกษตรกรมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการประสบกับภัยแล้งที่ยาวนาน

ส่วนผู้คนจำนวนมากที่อาจไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแบบเฉียบพลัน หรือกระทบต่ออาชีพ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของพวกเขาในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป อาทิ ความวิตกกังวลจากการรับรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นเรื่อง “ใหญ่” เพราะผู้คนมักรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ ไร้ความหวัง มองว่าเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนสูง แก้เองไม่ได้ และยังเป็นปัญหาระยะยาว หลายคนจึงวิตกกังวลถึงอนาคตของตัวเองและลูกหลาน รวมถึงรู้สึกผิดที่พฤติกรรมที่ตนเองทำไว้ในวันนี้ ส่งผลเสียต่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป ซึ่งอาการวิตกกังวลเหล่านี้เริ่มมีชื่อเรียกหลายแบบ เช่น ความเครียดจากสิ่งแวดล้อม (Environmental Distress) ความเครียดเชิงนิเวศ (Ecological Stress) ความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Distress) และความวิตกกังวลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Eco-anxiety)

อีกความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้น คือ ความรู้สึกสูญเสีย (loss) อันเนื่องมาจากสถานที่หรือสภาพแวดล้อมที่ผู้คนมีความผูกพัน (sense of place) กำลังเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อคนเรารู้สึกสูญเสียสถานที่ ธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมที่ตนเองผูกพันทางใจ เช่น ชุมชนที่อยู่ แม่น้ำ ทะเลหรือภูเขาที่คุ้นเคย พวกเขาจะรู้สึกสูญเสียความมั่นคง ปลอดภัย และอัตลักษณ์ของตัวเองไปด้วย ซึ่งความรู้สึกสูญเสียที่ว่าก็เริ่มมีการบัญญัติคำขึ้นมาใช้เรียก เช่น ความรู้สึกสูญเสียอันเนื่องมาจากความผูกพันต่อสถานที่หรือสภาพแวดล้อม (Solastalgia)

งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า อาการวิตกกังวล โศกเศร้า หรือรู้สึกสูญเสียเกิดขึ้นกับคนหลาย ๆ กลุ่ม เช่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงอย่างชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวเอสกิโม เกษตรกร และผู้ประสบภัยธรรมชาติ กลุ่มต่อมาที่ได้รับผลกระทบทางใจ คือ กลุ่มคนที่มีความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติสูง หรือมีความรู้จริงในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น นักนิเวศวิทยา นักสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นคนที่ตระหนักรู้ถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงว่า การดำรงอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกอย่างมีนัยสำคัญ (Anthropocene) รวมทั้งคนที่เข้าใจวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความวิตกกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูงกว่ากลุ่มอื่น คือ คนในเจเนเรชั่นวาย (Y) หรือมิลเลนเนียล ที่เกิดระหว่าง ค.ศ. 1981-1996 ซึ่งเป็นวัยแรงงานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ณ ปัจจุบัน และเจเนเรชั่นซี (Z) ที่เกิดระหว่าง ค.ศ. 1997-2010 ก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกและวิตกกังวลกับปัญหานี้มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า

จากการสำรวจของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ใน ค.ศ. 2020 กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,017 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่อยู่ในเจเนเรชั่นวาย (18-35 ปี) เกือบครึ่งระบุว่า ความเครียดจากความรู้สึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 330 คนของนักวิจัยที่ The College of Wooster ในรัฐโอไฮโอที่พบว่า คนในช่วงวัยนี้ได้คะแนนสูงสุดในการประเมินความวิตกกังวลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ งานของ Amnesty International ในปีก่อนหน้าก็พบว่าเจเนเรชั่นซีมองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อโลกในยุคของพวกเขา

ความกังวลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มเชื่อมโยงต่อการตัดสินใจมีลูกของคนอเมริกัน การสำรวจของสื่ออย่าง New York’s Times ใน ค.ศ. 2018 พบว่า 1 ใน 4 ของคนอเมริกันระบุว่า พวกเขาคาดว่าจะมีลูกน้อยกว่าที่เคยคิดไว้ โดยที่ 1 ใน 3 ของคนเหล่านั้นให้เหตุผลว่า มาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความกังวลนี้เริ่มส่งผลต่อทัศนคติในการดำเนินชีวิตของคนอเมริกันที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (เจเนเรชั่นวายและซี)

แม้จะยังไม่มีคำเรียกอาการความวิตกกังวลหรือความเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความหมายทางคลีนิก คือยังไม่มีคำหรืออาการไหนข้างต้นถูกบัญญัติให้เป็นหนึ่งในโรคจิตเวช แต่งานวิจัยทางจิตวิทยาในด้านนี้ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะถึงความวิตกกังวล โศกเศร้า และสูญเสียจะดูไม่ใช่เรื่องรุนแรง แต่ก็กลายเป็นต้นเหตุของอาการทางจิตเวชอื่น ๆ การฆ่าตัวตาย การตัดสินใจต่าง ๆ ในการใช้ชีวิต เช่น การมีลูก การย้ายถิ่นฐาน ที่สร้างผลกระทบต่อปัจจัยอื่น ๆ ในวงกว้างได้

เพราะสุขภาวะทางกายและใจของมนุษย์ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับโลกของธรรมชาติ ดังนั้นการที่ธรรมชาติกำลังล่มสลายจึงส่งผลต่อความเครียดของมนุษย์ เมื่อโลกป่วย สภาพแวดล้อมรอบตัว และ “บ้าน” ที่เราอยู่กำลังป่วย การที่เราจะยังมีสุขภาพจิตที่ดีและยิ้มแย้มเหมือนเคยก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น นอกจากผลพวงมากมายที่มนุษย์ต้องเตรียมรับมือจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว การเตรียมรับมือกับ “ใจ” ของตัวเองจากปัญหาดังกล่าวก็คงถือเป็นเรื่องไม่ไกลตัวอีกต่อไป

อ้างอิง:

American Psychological Association. (6 February 2020). Majority of US Adults Believe Climate Change Is Most Important Issue Today. เข้าถึงได้จาก American Psychological Association: https://www.apa.org/news/press/releases/2020/02/climate-change

American Psychological Association. (ม.ป.ป.). APA’s Response to the Global Climate Change Crisis. เข้าถึงได้จาก American Psychological Association: https://www.apa.org/about/policy/climate-change-crisis

Ashlee Cunsolo, และ Neville R. Ellis. (2018). Ecological grief as a mental health response to climate change-related loss. nature climate change, 8(4), 275-281. doi:10.1038/s41558-018-0092-2

Clayton, S. (2003). Environmental Identity: A Conceptual and an Operational Definition. In S. Clayton & S. Opotow (Eds.), Identity and the natural environment: The psychological significance of nature (p. 45–65). MIT Press.

Clayton, S., Manning, C. M., Krygsman, K., & Speiser, M. (2017). Mental Health and Our Changing Climate: Impacts, Implications, and Guidance. Washington, D.C.: American Psychological Association, and ecoAmerica.

Cunsolo Willox, A., Harper, S. L., Ford, J. D., Landman, K., Houle, K., Edge, V. L., & Rigolet Inuit Community Government (2012). “From this place and of this place:” climate change, sense of place, and health in Nunatsiavut, Canada. Social science & medicine (1982), 75(3), 538–547. https://doi.org/10.1016/j.socscimed.2012.03.043

Glenn Albrecht, Gina-Maree Sartore, Linda Connor, Nick Higginbotham, Sonia Freeman, Brian Kelly, . . . Georgia Pollard. (2007). Solastalgia: the distress caused by environmental change. Australas Psychiatry, 15(Suppl 1), 95-8.

Marcus Arcanjo. (8 September 2019). Eco-Anxiety: Mental Health Impacts of Environmental Disasters and Climate Change. เข้าถึงได้จาก Climate Institute: http://climate.org/eco-anxiety-mental-health-impacts-of-environmental-disasters-and-climate-change/