นับวันในไทย นิยามและความหมายของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” หรือ sustainable banking เริ่มซึมเข้าสู่กระแสสำนึกของธนาคารไทยและคนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเชื่องช้าแต่ว่ามั่นคง นำผู้กำกับดูแลเองคือธนาคารแห่งประเทศไทย นักลงทุนสถาบันบางราย และธนาคารบางแห่ง
วันนี้ในระดับสากล ความเข้าใจและจริงใจของธนาคารในการเปลี่ยนเส้นทางสู่ธนาคารที่ยั่งยืน ในแง่ของการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ จะดูจากสองเรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง การออกและบังคับใช้นโยบายสินเชื่อ (credit policy) ที่ชัดเจน คำนึงถึงความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (Environment, Social & Governance ย่อว่า ความเสี่ยง ESG) มีรายการธุรกิจความเสี่ยง ESG สูงที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (exclusion list) และสอง การบูรณาการกระบวนการประเมินความเสี่ยง ESG เข้าไปในกระบวนการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ไม่ใช่ดูแค่ว่าลูกค้าปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เพราะกฎหมายตามความเสี่ยง ESG ไม่ทัน
ตัวอย่างความเสี่ยง ESG
ในงานวิจัยเรื่อง “ความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อม กับระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคาร” (ดาวน์โหลดฉบับเต็ม) คณะวิจัยได้รับความอนุเคราะห์จากธนาคารระดับโลกแห่งหนึ่งซึ่งบูรณาการความเสี่ยง ESG เข้าไปในกระบวนการทำงานของธนาคารมาหลายปี
ธนาคารแห่งนี้แจกแจงแรงจูงใจ วิถีปฏิบัติ และความท้าทายของธนาคารในการจัดการความเสี่ยง ESG สรุปได้ดังต่อไปนี้
ถาม: แรงจูงใจของธนาคารในการจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (ความเสี่ยง ESG) เชิงรุกคืออะไร?
ตอบ: เรามีเหตุผลสามข้อด้วยกัน ข้อแรก นี่คือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับธุรกิจไหนก็ตาม ข้อสอง ในฐานะธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เราเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเสียชื่อเสียงสูงมากถ้าหากเรามีส่วนในโครงการทผิดๆ และเราก็ไม่อยากให้ใครมาทำแคมเปญโจมตีองค์กร ข้อสาม ความเสี่ยงด้านความยั่งยืนนำไปสู่ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง และถึงที่สุดก็เพิ่มความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้ (credit risk) ของลูกค้า
สำหรับเหตุผลข้อสุดท้าย ผมอยากยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ตัวอย่างแรก บริษัทปาล์มน้ำมันชั้นนำแห่งหนึ่งที่ธนาคารเราไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยถูกระงับตรารับรอง RSPO (Responsible Palm Oil มาตรฐานระดับอุตสาหกรรม) ในปี 2016 ซึ่งส่งผลให้บริษัทสูญเสียลูกค้าไปหลายราย ตัวอย่างที่สอง ในต้นทศวรรษ 2000 บริษัทป่าไม้แห่งหนึ่งจากมาเลเซียสูญเสียสัมปทานป่าไม้เพราะถูกตรวจพบว่าป่าไม้ของบริษัทไม่ผ่านมาตรฐาน FSC [Forestry Stewardship Council มาตรฐานป่าไม้ที่ยั่งยืนที่นิยมใช้สูงสุดในโลก] นำไปสู่ผลขาดทุนมหาศาล
การออกทุนสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งปกติอาศัยสินเชื่อยาว 20 ปี มีทั้งความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (ESG) และความเสี่ยงทางการเงินตั้งแต่แรก ก่อนอื่น โครงการนี้อาจมีความเป็นไปได้สูงแต่รัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะเก็บภาษีคาร์บอน (carbox tax) จากโครงการ กรณีนั้นผลการคาดการณ์ทางการเงินจากโมเดลจะยังเป็นไปได้อยู่หรือไม่? นี่เป็นความเสี่ยงจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในยุคหลังข้อตกลงปารีส [Paris Agreement ข้อตกลงระดับโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรอบใหม่ กำหนดให้ประเทศต่างๆ ประกาศเป้าหมายและแนวทางลดก๊าซเรือนกระจก] ซึ่งจะมีการทบทวนสถานการณ์ทุก 5 ปี ไม่มีใครรู้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร
ตัวอย่างทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมที่ไม่ยั่งยืนอาจนำไปสู่ผลขาดทุนทางการเงิน หรือพูดอีกอย่างก็คือ ความเสี่ยงด้านความยั่งยืนอาจสะท้อนในเห็นเป็นความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้ (credit risk)
ถาม: นโยบายของธนาคารน่าจะทำให้ธนาคารสูญเสียลูกค้าไปหลายราย ธนาคารมองเรื่องนี้อย่างไร?
ตอบ: นโยบายของเราก็คือ เน้นการคัดเลือกลูกค้าบริษัทที่มีเป้าหมายและมุมมอง[ด้านความยั่งยืน]ที่ตรงกับธนาคาร เราไม่อยากให้สิ่งที่เราทำในการดำเนินธุรกิจไปสร้างผลกระทบทางลบให้กับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เราได้เห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงแล้ว กระแสนี้ถูกขับดันด้วยกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ และธนาคารจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ลงนามรับหลักการและแนวปฏิบัติระดับโลกที่เกี่ยวกับความยั่งยืน
ถาม: ธนาคารจัดการกับกรณีที่ลูกหนี้สร้างปัญหาด้าน ESG อย่างไร?
ตอบ: ผมอยากยกตัวอย่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อออกไปเต็มวงเงินแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าลูกหนี้ถูกถอดออกจากมาตรฐาน RSPO หรือ FSC กรณีนั้น RM (relationship manager เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลลูกค้า) จะยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกับลูกหนี้ ตกลงทำแผนปฏิบัติการที่มีเงื่อนเวลาชัดเจน (time-bound) เพื่อแก้ไขปัญหา และจะติดตามดูต่ออย่างใกล้ชิด ถ้าหากเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้วลูกหนี้ยังคงทำตามข้อกำหนดไม่ได้ ธนาคารก็มีสองทางเลือก ทางแรกคือพยายามกดดันลูกค้าต่อไปเพราะสินเชื่อถูกปล่อยไปเต็มวงเงินแล้ว ทางที่สองคือขายสินเชื่อนั้นออกไปในตลาดรอง
ถาม: ที่ผ่านมาลูกค้ามีปฏิกิริยาอย่างไรเวลาที่เกิดปัญหาด้าน ESG?
ตอบ: จากประสบการณ์ การหารือกับหัวหน้าฝ่ายบริหารด้านการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) ของบริษัทไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร แต่เวลาคุยกับเจ้าของบริษัท หรือประธานกรรมการบริษัท หรือหัวหน้าฝ่ายความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของบริษัท ปกติเราจะเห็นว่าเขากระตือรือร้นที่จะจัดการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะบริษัทไม่อยากถูกมองว่าล้าหลังบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ถาม: ปกติมีกรอบเวลาที่ธนาคารจะขายสินเชื่อของลูกหนี้ที่ไม่ทำตามข้อกำหนดหรือไม่?
ตอบ: เราไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนขนาดนั้น ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจและสถานการณ์ของลูกหนี้ ซึ่งแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม สมมุติยกตัวอย่างสินเชื่อในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ธนาคารอาจจะเลือกถอนตัวออกจากความสัมพันธ์นี้หลังจากที่เจรจามา 2.5 ปีแล้วไม่มีความคืบหน้า แต่สำหรับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านมาธนาคารจะอะลุ้มอล่วยน้อยกว่า จะลงมือทำอะไรสักอย่างถ้ากรณีละเมิดผ่านไป 9-15 เดือนแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไข สำหรับสินเชื่อแบบเงินทุนหมุนเวียน [working capital ปกติเป็นสินเชื่อระยะสั้น ใช้ในการเสริมสภาพคล่องของบริษัท] ธนาคารก็จะมีพื้นที่มากกว่าในการหว่านล้อมให้ลูกหนี้แก้ปัญหา ESG เพราะถ้าหากธนาคารไม่ได้ตกลงตั้งวงเงินสินเชื่อระยะยาวให้ ธนาคารก็มีทางเลือกมากกว่าที่จะถอนตัว
ถาม: ธนาคารเคยคำนวณหรือประเมินประโยชน์จากการบูรณาการประเด็น ESG ในการดำเนินธุรกิจธนาคารหรือไม่?
ตอบ: เราไม่เคยทำ แต่เราก็ใช้ตัวชี้วัดอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงในจำนวนแคมเปญที่โจมตีธนาคาร ยกตัวอย่างข้อมูลทางอ้อมของเรื่องนี้ก็คือ ธนาคารของเราปฏิเสธไม่เข้าร่วมปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการเหมือง Galilee Basin ในประเทศออสเตรเลีย (ซึ่งเป็นโครงการอื้อฉาว ถ่านหินจากโครงการนี้จะถูกขนส่งข้ามแนวปะการังใหญ่ Great Barrier Reef มีความเสี่ยงว่าจะไปทำลายเขตอนุรักษ์ระดับโลก) หลังจากนั้นธนาคารอื่นที่ตกลงปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการนี้ก็เผชิญกับเสียงต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรงจากองค์กรในภาคประชาสังคม
คุณภาพของการจัดการความเสี่ยง ESG ของธนาคารชั้นนำต่างประเทศ โดย PIMCO
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “การเงินเอื้อสังคม” นสพ. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562