ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นความเสี่ยงต่อชื่อเสียงของบริษัท เช่น กรณีที่อุตสาหกรรมประมงไทยโดนโจมตีว่ามีการใช้แรงงานทาส หรืออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ และโดนกล่าวหาว่ามีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งนี้ นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์องค์กรแล้ว หลายประเทศยังมีนโยบายปฏิเสธการรับซื้อสินค้าที่อาจมีวัตถุดิบปนเปื้อน ละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย ผลกระทบเชิงลบดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจในประเทศไทยไม่ควรละเลย และควรมีการร่วมกันคิดหาทางออกที่ยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชุมชนและเกษตรกรรายย่อยซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลยและเอาเปรียบในระบบการผลิตขนาดใหญ่

            วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2559 องค์การอ็อกแฟม ร่วมกับ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ Change Fusion จัดสัมมนาเรื่องธุรกิจยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืน (Thailand’s Ethical and Sustainable Business Forum) ณ โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพ ลุมพินี พาร์ค โดยมีตัวแทนจากภาควิชาการ หน่วยงานกำกับดูแล/ตรวจสอบ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม มาพูดคุย แลกเปลี่ยน นำเสนอแนวโน้มธุรกิจที่ยั่งยืนร่วมกันในระดับโลกและในประเทศไทย รวมถึงถอดบทเรียนการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจธรรมดาสู่การเป็นธุรกิจที่ยึดจริยธรรม

            ในการเสวนา ‘สถานการณ์การบริโภคยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย’ สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวถึงคำนิยามการบริโภคยึดจริยธรรม (Ethical Consumption) ว่า “การบริโภคเปี่ยมจริยธรรม หรือการบริโภคยึดจริยธรรม หมายถึง การบริโภคอะไรก็แล้วแต่ที่ยึดผลกระทบของการบริโภคที่อยู่นอกเหนือมิติด้านราคาและคุณภาพของสินค้าหรือบริการ โดยนำประเด็นปัจจัยทางจริยธรรมมาเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อ”

            สฤณี ยังกล่าวถึงคำศัพท์อีกคำคือ ‘การบริโภคอย่างยั่งยืน’ หรือ Sustainable Consumption ว่า เป็นคำที่ค่อนข้างใหม่กว่า มีการให้คำนิยามว่าคือ การใช้บริการและผลิตภัณฑ์ในทางที่ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานและปรับปรุงคุณภาพชีวิต ในทางที่จะลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและวัสดุอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด ลดการปล่อยของเสียและสารพิษตลอดวงจรชีวิตของบริการหรือผลิตภัณฑ์ ในทางที่ไม่คุกคามความต้องการของคนรุ่นหลัง

            “ช่วงหลังๆ มานี้ คำศัพท์เหล่านี้มีโน้มเอียงที่จะเข้าหากัน คือมีนิยามใกล้กันมากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่นักวิชาการหลายคนบอกว่าขาดไม่ได้คือ นอกจากจะบริโภคอย่างยั่งยืนแล้ว ต้องมี การผลิตอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Production ควบคู่ไปด้วย”

suscon

ภาพจาก UNEP 

            การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายลำดับที่ 12 ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติ โดยใจความหลักคือ ‘ทำสิ่งที่ดีกว่าและมากกว่าโดยใช้น้อยกว่า’ ซึ่งเน้น 3 องค์ประกอบคือ น้ำ อาหาร และพลังงาน ซึ่งเป็น 3 ทรัพยากรที่ในอดีตมีการใช้อย่างสิ้นเปลือง ขาดประสิทธิภาพ และประชากรหลายล้านคนเข้าไม่ถึง ตัวอย่างเช่น ประชากรกว่าหนึ่งพันล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำจืดได้ การใช้พลังงานเพื่อการพาณิชย์และที่อยู่อาศัยเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นอันดับสองรองจากการขนส่ง และมีอาหารกว่า 3,000 ล้านตันต่อปีที่กลายเป็นขยะอาหาร ในขณะที่มีประชากร 1,000 ล้านคนตกอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ และอีก 1,000 ล้านคนอดอยาก

            “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อ 12 มีตัวชี้วัดหลายประการ เช่น การลดของเสียต่อหัวของผู้บริโภคลงครึ่งหนึ่ง แต่บางข้อก็เป็นภาพกว้างที่ยังไม่ชัดเจน อย่างการระบุถึงการลดการสร้างของเสียได้อย่างมโหฬาร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” สฤณีให้ความเห็น

            ในมุมมองของสฤณี โจทย์ที่ยากที่สุดของธุรกิจคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคมี ‘อำนาจอธิปไตย’ ในตนเอง กล่าวคือจะตัดสินใจซื้ออะไรก็ได้ตามความพึงพอใจ โดยมีเพียงกลไกจากภาครัฐที่สามารถเข้ามาควบคุมพฤติกรรมได้ อย่างไรก็ดี การควบคุมโดยภาครัฐจะต้องเกิดจากความเห็นพ้องต้องกันถึงอันตรายจากทุกภาคส่วน แต่บางส่วนที่มีความคลุมเครือ เช่น ผักเคมี หรือผักอินทรีย์ ก็จะเป็นการตัดสินใจของผู้บริโภค

            “ที่สิงคโปร์ กระบวนการที่น่าสนใจคือการรณรงค์เรื่องอาหารทะเลที่ยั่งยืน (Sustainable Seafood) เพราะสิงคโปร์ต้องสั่งซื้ออาหารจากต่างประเทศทั้งหมด ยกเว้นสิ่งเดียวที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้คือไข่ไก่ จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ให้ผู้บริโภคเข้าใจเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน มีการทำคู่มือเป็นแผ่นพับเล็กๆ เวลาไปทานอาหารทะเลที่ไหนก็คลี่ออกมาดูได้ว่า ปลาอะไรที่สุ่มเสี่ยงจะสูญพันธุ์และไม่ควรกิน นอกจากนี้ยังมีเครือโรงแรมฮิลตันของสิงคโปร์ที่เปลี่ยนมาใช้อาหารทะเลจากอุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืนเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร” สฤณียกตัวอย่างที่เกิดขึ้น

image

ภาพจาก https://www.msc.org/multimedia/images/press-releases/HiltonSingaporeJourneytoSustainableSeafood.png/image

            ปัจจุบัน มาตรฐานอาหารทะเลยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักในระดับสากลคงจะหนีไม่พ้น The Marine Stewardship Council หรือตรา MSC ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรผู้ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานอาหารทะเลที่ยั่งยืน ปัจจุบันมาตรฐานนี้มีหัวใจหลักอยู่ 3 ข้อคือ 1.การจับปลาจะต้องอยู่ในระดับที่ประชากรปลาสามารถฟื้นฟูกลับมาอย่างยั่งยืนได้ 2.การดำเนินการจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด 3.การจับปลาจะต้องไม่ละเมิดกฎหมายระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ซึ่งนอกจาก MSC ก็ยังมีอีกหนึ่งมาตรฐานคือ The Aquaculture Stewardship Council หรือตรา ASC ที่ให้การรับรองการทำฟาร์มสัตว์น้ำเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน

            “การที่โรงแรมจะได้รับมาตรฐานอาหารทะเลยั่งยืนต้องใช้เวลาเตรียมการค่อนข้างนาน เพราะเงื่อนไขสำคัญคือคุณภาพของสินค้าที่นำส่งต้องมีรสชาติไม่ด้อยกว่าเดิม อย่างฮิลตันก็เผชิญปัญหาว่าปลาที่ใช้เป็นวัตถุดิบยังไม่ได้มีการรับรอง MSC ทั้งหมด ปัจจุบันมีเมนูเพียง 6 ใน 10 ที่ได้รับการรับรอง MSC แต่ถ้ารวม ASC ด้วยก็จะเป็น 8 ใน 10 โดยเป้าหมายของเขาคือทำให้อาหารทะเลทุกชิ้นมาจากแหล่งที่ยั่งยืน” สฤณีกล่าว

ธุรกิจที่ยั่งยืนและการบริโภคยึดจริยธรรมในประเทศไทย

            สำหรับในประเทศไทย สฤณีใช้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นภาพแทนตลาดการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กมากโดยมีมูลค่าเพียงราว 500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับตลาดสินค้าเกษตรทั่วไปที่มีมูลค่าถึง 1.43 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังระบุว่าตลาดการบริโภคอย่างยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือเหตุผลของผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านี้

            “งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่สนใจสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง คือราวร้อยละ 80 แต่ถ้าพูดเรื่องสุขภาพ ก็ยังเป็นเรื่องของตัวเองอยู่ ไม่ได้นำไปโยงกับผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นข้อจำกัด”

change-thailand

            สฤณีมองว่า การเคลื่อนไหวที่โดดเด่นในแง่การบริโภคยึดจริยธรรมคือการรณรงค์ต่างๆ เช่น การรณรงค์งดรับประทานรังนก หรืองดรับประทานปลานกแก้ว ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยการนำเสนอผลกระทบเชิงลบต่อธรรมชาติ รวมทั้งกิจกรรม ‘ม็อบแครอท’ (Carrot Mob) ที่เชิญชวนให้ผู้บริโภคมาจับจ่ายใช้สอยในห้างแห่งหนึ่ง โดยให้เงื่อนไขว่าหากมียอดขายถึงเป้าหมาย ห้างนั้นจะเลิกใช้ถุงพลาสติก

            “เราอาจยังไม่เห็นภาพผลิตภัณฑ์สำหรับการบริโภคอย่างยั่งยืน แต่ก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เทียบเคียงเครื่องใช้ไฟฟ้ากับผลิตภัณฑ์อย่างอาหาร สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากประหยัดไฟเบอร์ห้าจะเป็นที่รู้จักมากและเหตุผลที่ผู้บริโภคเลือกซื้อก็เพราะฉลากเบอร์ห้าผูกโยงคำว่า ‘ประหยัด’ กับ ‘รักโลก’ อย่างชัดเจน คือผู้ซื้อซื้อแล้วรู้สึกว่าได้ประโยชน์กับตัวเขาเอง ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคจะมีทัศนคติต่อสินค้าอินทรีย์ว่า ‘ราคาแพง’  ซึ่งเราอาจต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการเชื่อมโยงการบริโภคอาหารอินทรีย์กับประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับในอนาคต” สฤณีกล่าวสรุป

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทไทย เปลี่ยน

            ปฏิเสธไม่ได้ว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ตกเป็นจำเลยสังคมในฐานะ ‘นายทุน’ ผู้รับซื้อข้าวโพดที่มีส่วนทำลายป่าต้นน้ำ และซื้อปลาป่นที่มีส่วนทำลายทะเลไทย ซึ่งที่ผ่านมา ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานฯ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยอมรับว่าบริษัทมองข้ามประเด็นเหล่านั้นไป โดยไม่ได้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของบริษัท

            “ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างเช่นการใช้ปลาป่นที่ส่งผลกระทบต่อทะเลเพื่อผลิตอาหารกุ้ง เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะคิดว่าเราใช้ปลาป่นเป็นส่วนผสมอาหารกุ้งเพียงร้อยละ 10 แต่ไม่ว่าเราจะมีส่วนร่วมเท่าไหร่ เราก็มีส่วนร่วม โดยเฉพาะถ้าเราไม่ทำการสอบทานเต็มระบบ ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงานผิดกฎหมาย ถึงเราจะไม่ใช่ผู้ดำเนินการโดยตรง แต่เราก็มีบทบาทและความรับผิดชอบ เพราะผลกระทบก็ตกอยู่กับตัวบริษัทเอง” ศุภชัยกล่าว

            ศุภชัยยังถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ว่า ที่ผ่านมาเครือฯ จะเน้นเรื่องความปลอดภัยในอาหาร แต่ในช่วงหลัง บริษัทมีการส่งออกไปที่ยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งประเทศเหล่านี้ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน เครือฯ จึงต้องปรับตัวเองให้ได้มาตรฐานโลก

            “เราทำหลายอย่าง ทั้งปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือความคิดของผู้บริหารและความคิดของพนักงานในองค์กรเอง อยากให้มองว่าซีพีเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เพราะเรามีพนักงานเกือบ 350,000 คน สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสร้างความเข้าใจว่าความยั่งยืนคืออะไร และปรับความเข้าใจให้เป็นภาพเดียวกัน”

            หลังจากรับทราบว่าการเผาไร่ข้าวโพดมีส่วนทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินโครงการโดยร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาสังคมในการจัดตั้งศูนย์ความข้อมูลด้านการจัดการไฟ รวมทั้งให้งบประมาณการดูแลและควบคุมไฟ เช่น การทำแนวกันไฟ รวมทั้งแก้ปัญหาการเผาซังข้าวโพดโดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการขนซังข้าวโพดออกจากพื้นที่เพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยและอาหารวัว

            “ปีนี้ที่อำเภอแม่แจ่ม เผาข้าวโพดลดลง 80% ก็เกิดจากภาครัฐร่วมกับเอกชนลงไปให้ความรู้ชุมชน สร้างแรงจูงใจโดยมอบเงินสนับสนุนให้หาวิธีการอื่นที่ไม่ต้องเผา นี่เป็นเรื่องความตระหนักของชุมชน เป็นการสร้างความตระหนักของคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน”

_WUT7679

ผู้ร่วมเสวนา ภาพจากอ็อกแฟม

            สำหรับบริษัทน้ำตาลมิตรผล แม้จะไม่โดนโจมตีเช่นเครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่วรวัฒน์ ศรียุกต์ Vice President ด้าน Corporate Sustainability มองว่า มิตรผลก็ดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพราะแรงกดดันจากคู่ค้าซึ่งเป็นบริษัทขนาดยักษ์ ไม่ว่าจะเป็น เป็ปซี่ โคคาโคล่า และยูนิลีเวอร์

            “มิตรผลขายน้ำตาลให้กับลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งลูกค้าจากต่างประเทศก็จะถามเสมอว่ามิตรผลมีแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนยังไง เพราะเราก็อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของเขา เดิมกลุ่มมิตรผลเราผลิตแต่น้ำตาล แต่ปัจจุบันเราเอาขยะมาทำเอทานอล ตัวชานอ้อยเราเอาไปเผาเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล เศษที่เหลือซึ่งยังมีสารอินทรีย์ เราก็นำไปทำปุ๋ยให้กับชาวไร่อ้อย แต่ก่อนเราต้องจ้างคนมาขนขยะเหล่านี้ไป แต่ตอนนี้เราสามารถแปลงให้กลายเป็นมูลค่าได้ทั้งหมด เรียกว่าเราอยู่ในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” วรวัฒน์ถ่ายทอดประสบการณ์

            ปัจจุบัน มิตรผลเป็นบริษัทที่มีกำลังผลิตน้ำตาลอันดับ 4 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมเอทานอลและไฟฟ้าชีวมวลในภูมิภาคอาเซียน แน่นอนว่าเมื่อบริษัทใหญ่ขึ้น ก็ย่อมตกเป็นเป้าสายตา

            “ตอนที่มิตรผลเป็นบริษัทเล็กๆ เราดำเนินการอย่างไร พอบริษัทใหญ่ขึ้นเราก็ต้องพัฒนา จะย่ำอยู่ที่เดิมไม่ได้ มิตรผลเองก็มองมาตรฐานน้ำตาลที่ยั่งยืนอย่าง BONSUCRO ที่มีข้อกำหนดอย่างการลดการใช้สารเคมี ดูแลเรื่องสุขภาพพนักงาน ซึ่งการทำเรื่องเหล่านี้ในระยะสั้นมันอาจจะเป็นต้นทุน แต่หากมองระยะยาวสิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งสิ้น และต่อให้คุณเป็นบริษัทเล็ก แต่ถ้าคุณเป็นคู่ค้ากับบริษัทใหญ่ เขาก็จะส่งนโยบายมาให้คุณทำ” วรวัฒน์กล่าว

            บดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสนอความเห็นในฐานะผู้กำกับดูแลว่า ตลาดหลักทรัพย์ทำหน้าที่สนับสนุนความยั่งยืน 3 ประการคือ ให้ความรู้ (educate) ประเมินผล (evaluate) และยกย่อง (recognize) บริษัทต่างๆ ที่เข้ามาจดทะเบียนกับตลาดทุน โดยเน้นย้ำว่าปัจจุบันผู้จัดการกองทุนจะมองที่ Sustainability Report มากกว่างบการเงิน เนื่องจากรายงานความยั่งยืนจะสามารถสะท้อนการเติบโตของบริษัทได้ในระยะยาว

            ประเทศไทยมีบริษัทที่ได้รับการยอมรับเรื่องความยั่งยืน โดยมีบริษัทไทยอยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลกอย่าง Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) มากที่สุดในอาเซียน และมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 1 บริษัทเป็น 13 บริษัท ภายใน 5 ปี

            ส่วนมุมมองจากสถาบันการศึกษา อเล็กซ์ มาฟโร Chief of Operations สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ อธิบายว่า สถาบันมีการสอนนักธุรกิจเรื่องความยั่งยืน ตั้งแต่การบรรยาย การเข้าถึงชุมชนโดยศึกษาจากบริษัทหรือองค์กรภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จ การทำงานวิจัย และให้คำปรึกษากับบริษัทภาคเอกชน

            “การสอนเรื่องความยั่งยืนนั้นยาก มีเด็กนักเรียนมาถามผมว่าทำไมผมต้องมาเรียนความยั่งยืนด้วย ผมมาเรียน MBA เขามองว่ามันไม่เห็นจะเกี่ยวกัน แต่ผมก็พยายามชี้แจงว่าเราไม่ได้สอนเรื่องความยั่งยืนเพื่อใคร แต่ก็เพื่อธุรกิจของตัวเขาเอง จะได้อยู่รอดในระยะยาว แต่นักธุรกิจส่วนใหญ่จะมองเห็นแต่กำไรในระยะสั้น

            “เราสอนให้เขาทำธุรกิจอย่างยั่งยืน แต่ความเป็นจริงแล้วเราสอนให้เขาเป็นผู้บริโภคที่ยั่งยืนทางอ้อม คือตอนออกไปเขาอาจจะไม่ทำงานแบบนักธุรกิจยั่งยืน แต่ตอนที่เขาไปซื้อของ เขาจะคิดสองครั้งก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ” อเล็กซ์กล่าว

ประเทศไทย ติดตรงไหน ถึงยังไม่ยั่งยืน

            สฤณีมองว่า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติในปัจจุบันได้กลายเป็นเสมือนจริยธรรมสากล เป็นเป้าหมายที่ให้ทั้งโลกมีทิศทางเดียวกัน

            “แต่สำหรับสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมพุทธ คนไทยเข้าวัดเยอะมาก มีจิตกุศลมาก เป็นคนขี้สงสาร แต่เราใช้กรอบศีลธรรมหรือจริยธรรมที่ยังเป็นปัจเจกมองเรื่องผลกรรม จึงเป็นเรื่องท้าทายว่าเราจะก้าวข้ามจริยธรรมเชิงปัจเจก สู่ศีลธรรมในระดับสาธารณะได้อย่างไร

            “สำหรับภาคธุรกิจ ความยากอย่างหนึ่งของความยั่งยืนคือ เราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่มีเส้นชัย แต่ถึงเราจะไม่มีเส้นชัยก็จริงแต่สิ่งที่ต้องตอบให้ได้คือ 100 เมตรแรกอยู่ที่ตรงไหน เราต้องบรรลุอะไร ความยั่งยืนในปัจจุบันไม่ใช่แค่แนวคิด ไม่ใช่แฟชั่น อยู่ที่ว่าใครจะมองเห็นความเสี่ยงเหล่านั้นได้ก่อนกัน เมื่อเจอความเสี่ยง เราไม่ใช่แค่ลดหรือจัดการ แต่จะแปลงความเสี่ยงทางธุรกิจไปสู่การสร้างโอกาส และสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอย่างไร”

            สฤณียังย้ำอีกว่า เราจำเป็นต้องมี 3 เงื่อนไขเพื่อให้เกิดจุดพลิกผันทางวัฒนธรรม (cultural shift) ให้ภาคธุรกิจและสังคมโดยรวมเข้าสู่ธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ธรรมาภิบาลแบบประชาธิปไตยที่แข็งแรง (strong democratic governance) ความโปร่งใสขั้นสุดขั้วของภาคธุรกิจ (radical corporate transparency) และการปรับค่านิยมและจริยธรรมหลักของสังคม ให้สอดคล้องและสอดรับกับ “จริยธรรมสากล” ซึ่งปัจจุบันคือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

            ส่วนศุภชัยมองว่า สิ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังตีโจทย์ไม่แตกคือการทำงานกับภาครัฐ โดยยกตัวอย่างการบุกรุกพื้นที่ป่า จังหวัดน่าน ซึ่งการที่เครือฯ จะรับซื้อหรือหยุดรับซื้อข้าวโพดไม่ได้มีผลต่อการบุกรุกป่า แต่หัวใจของปัญหาอยู่ที่เรื่องที่ดินทำกิน

            “ปัญหาบางอย่างค่อนข้างซับซ้อน จำเป็นต้องมีผู้กำกับดูแล แต่ผู้กำกับดูแลก็ยังไม่ตระหนักเรื่องความยั่งยืน เพราะเขาวุ่นวายอยู่กับการบริหารจัดการปัญหาแบบวันต่อวัน ถ้าเราทำตรงนี้ได้ทั้งในส่วนของภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาครัฐ ความร่วมมือก็จะสมบูรณ์ และประสิทธิผลก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

            วรวัฒน์เสนอความเห็นว่า จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านต้องเริ่มที่ประเด็นด้านสุขภาพ โดยยกตัวอย่างฉลากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคน้อยคนจะให้ความสนใจ แต่ในกรณีกล่องโฟม วรวัฒน์มองว่าหลายคนเลือกจะใช้บรรจุภัณฑ์ไบโอชานอ้อยแทนเพราะทราบว่าการบรรจุของร้อนในกล่องโฟมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

            “ผมมองว่าถ้ามีกลไกทางภาษีหรือมาตรการที่ทำให้ช่องว่างของราคาลดลงมา สินค้าที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะขายง่ายขึ้น เช่น เอทานอล ไม่มีทางจะเกิดหรอกถ้าน้ำมันราคา 10 บาท แต่พอราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ เอทานอลก็เกิดขึ้นได้ คือผมมองสองด้านคือด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าทั้งสองอย่างมาบรรจบกันมันก็เกิดขึ้น” วรวัฒน์สรุป

            แม้ว่าวันนี้ ความยั่งยืนทางธุรกิจและการบริโภคยึดจริยธรรมอาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้อยู่ไกลตัวอีกต่อไปเพราะนี่คือกระแสของโลกที่กำลังจะสร้างแรงกดดันให้ธุรกิจไทย ‘ต้องเปลี่ยน’ และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเป็นไปอย่างราบรื่นคือภาคประชาสังคม

            ชวนมาหาคำตอบว่าภาคธุรกิจจะจับมือกับภาคประชาสังคมได้อย่างไรใน ธุรกิจยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืน (3) : การสร้างความร่วมมือของภาคธุรกิจ

สัมภาษณ์เพิ่มเติม คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร

เอกสารประกอบการเขียน

“Goal 12: Ensure sustainable consumption and production patterns” เข้าถึงได้ที่ http://www.un.org/sustainabledevelopment/sustainable-consumption-production/

“MSC Americas Region” เข้าถึงได้ที่ https://www.msc.org/documents/msc-brochures/msc-americas-brochure/at_download/file