เนิ่นนานกว่าทศวรรษที่วิกฤติภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมจะปรากฏอยู่ในความเสี่ยงอันดับต้นๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวของรายงานความเสี่ยงโลกที่จัดทำโดย World Economic Forum ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยง นักวิชาการ ผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม และผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจำนวนกว่า 1,200 คนทั่วโลก

            แต่รายงานฉบับล่าสุดสะท้อนภาพที่น่ากังวล เนื่องจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมถูกลดทอนความสำคัญลงในระยะสั้น แต่ยังคงติดอันดับความเสี่ยงที่ผลกระทบสูงที่สุดในทศวรรษหน้า เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนต่างต้องทุ่มเททรัพยากรไปกับ ‘ความเสี่ยงเร่งด่วน’ ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพและการปะทะระหว่างชาติมหาอำนาจที่อาจนำไปสู่สงคราม

            การระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนฝากรอยแผลครั้งใหญ่ให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก การขาดแคลนสินค้าทั้งอาหารและพลังงานปริมาณมหาศาลที่ส่งออกจากทั้งสองประเทศซึ่งนับเป็นแหล่งผลิตสำคัญส่งผลให้ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพปรับตัวสูงขึ้น  หลายประเทศรับมือกับวิกฤติดังกล่าวด้วยการกำหนดมาตรการห้ามส่งออกสินค้าบางชนิดซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

            ดัชนีราคาที่จัดทำโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1990 การตัดสินใจคลายมาตรการจำกัดการระบาดของโควิด-19 ของจีนช่วงต้นปีนี้ยิ่งสร้างแรงกดดันให้ราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่มีใครตอบได้ว่าจะราคาปรับตัวลดลงเมื่อใด

            รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วรับมือปัญหาค่าครองชีพด้วยสารพัดนโยบายอุดหนุนทั้งราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิง นำไปสู่ระดับหนี้สาธารณะที่น่ากังวลยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤติที่รัฐบาลทั่วโลกทุ่มทรัพยากรไปอย่างมหาศาล

            อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ทั่วโลกต่างกังวลคือการปะทะระหว่างมหาอำนาจ นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน เหล่าสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรก็เปิดฉากแสดงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจด้วยการคว่ำบาตร กำหนดกำแพงภาษี รวมถึงสารพัดเงื่อนไขต่างๆ ในการส่งออกสินค้าและบริการรวมทั้งเงินลงทุน การปะทะดังกล่าวนำไปสู่การดำเนินนโยบายเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศทั่วโลกเพื่อให้สามารถ ‘อยู่ได้ด้วยตนเอง’ เพราะเห็นตัวอย่างการแปลงนโยบายเศรษฐกิจเป็นอาวุธของเหล่ามหาอำนาจโลกตะวันตก

            ยังไม่นับแรงกดดันด้านพลังงานที่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปเผชิญจนต้องก้าวถอยหลังไปลงทุนกว่าห้าหมื่นล้านยูโรเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานฟอสซิล พร้อมกับเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างไม่มีทางเลือก

            คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าความดำเนินการที่จำเป็นต่อการรับมือวิกฤติภูมิอากาศที่ยืนยันจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์นั้น แทบเป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองหากอิงจากสถานการณ์ในปัจจุบัน

แผนภาพเปรียบเทียบความรุนแรงของความเสี่ยงในระยะสั้น (2 ปี) และความเสี่ยงในระยะยาว (10 ปี)

ปัญหาใหญ่ที่ถูกมองข้าม

            ความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุด 4 ประการแรกในอีก 10 ปีข้างหน้าต่างเป็นความเสี่ยงด้านภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อม นี่คือประเด็นใหญ่ที่เราแทบไม่มีความพร้อมรับมือใดๆ ซ้ำร้ายในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการแก้ปัญหา ความสนใจและทรัพยากรยังถูกช่วงชิงไปให้กับ ‘ปัญหาเร่งด่วน’ ที่กระทบต่อชีวิตประชาชนคนหมู่มากในระยะสั้นอีกด้วย

            แม้ว่ารัฐบาลทั่วโลกจะตระหนักถึงปัญหาวิกฤติภูมิอากาศและดำเนินการวางแผนรับมือมากว่า 30 ปี ปัจจุบันระดับแก๊สเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็ยังแตะระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ รายงานฉบับล่าสุดของสหประชาชาติยืนยันว่ามีโอกาสน้อยมากที่เราจะบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส คำมั่นจากภาครัฐและภาคเอกชนในปัจจุบันจะพาเราไปสู่หายนะที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส แม้แต่ฉากทัศน์ที่มองโลกในแง่ดีที่สุด อุณหภูมิโลกเรายังเพิ่มขึ้นถึง 1.8 องศาเซลเซียส

            ผลงานความก้าวหน้าของรัฐบาลทั่วโลกสะท้อนให้เห็นผ่านความเสี่ยงระยะยาวอันดันหนึ่งคือ ‘ความล้มเหลวในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ซึ่งเหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าความพยายามที่ผ่านมาไร้ประสิทธิผลอย่างยิ่ง แม้แต่การประชุม COP27 รอบล่าสุด รัฐบาลนานาประเทศก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่ทะเยอทะยานมากพอที่จะรับมือวิกฤติภูมิอากาศได้ทั้งที่แทบไม่เหลือเวลาอีกต่อไปแล้ว

            ปัจจุบัน เราอยู่ในโลกที่ร้อนขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม หลายประเทศเริ่มเห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งยิ่งกว่าในอดีตทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ไฟป่าและพายุเฮอร์ริเคน จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว’ จะเป็นความเสี่ยงระยะสั้นอันดับสองและความเสี่ยงระยะยาวอันดับสาม

            โลกที่ร้อนกว่าเดิมและภัยธรรมชาติที่รุนแรงยิ่งขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สัตว์และพืชหลากชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  เช่น เหตุการณ์อย่างไฟป่าในออสเตรเลียที่กระทบต่อสัตว์ป่านับสามพันล้านชีวิต หรือแม้แต่วันที่อากาศร้อนผิดปกติเพียงหนึ่งวันก็สามารถคร่าชีวิตค้างคาวแม่ไก่ในออสเตรเลียจำนวนร่วมห้าหมื่นตัว ยังไม่นับการพังทลายของระบบนิเวศที่เปราะบางต่ออุณภูมิที่สูงขึ้น เช่น แนวปะการังในเขตน้ำอุ่น และทุ่งน้ำแข็งขั้วโลก ‘การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศที่พังทลาย’ จึงถูกจัดให้เป็นความเสี่ยงอันดับสี่ในทศวรรษหน้า

เตรียมรับมือ ‘วิกฤติซ้อนวิกฤติ’

            ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมอาจซ้อนทับจนนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรระหว่างประเทศในอนาคตไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำสะอาด เชื้อเพลิง และแร่หายาก ที่ความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนประชากรโลก แต่ในขณะเดียวกัน ทรัพยากรเหล่านั้นก็มีอยู่อย่างจำกัดและมีแนวโน้มผลิตได้น้อยลงเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและวิกฤติภูมิอากาศ ช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานอาจนำไปสู่ ‘วิกฤติซ้อนวิกฤติ’ ที่ยากจะแก้ไข

            แน่นอนครับว่าเรายังพอมีทางหลีกเลี่ยงวิกฤติดังกล่าวนั่นคือการที่นานาประเทศกลับมาร่วมมือแก้ไขปัญหาทรัพยากรขนาดแคลนร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ฉากทัศน์ดังกล่าวดูจะห่างไกลจากความเป็นจริงเพราะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและโลกตะวันตกดูจะไม่มีทีท่าจบลงง่ายๆ ยังไม่นับการแข่งขันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศที่นำโดยมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจนำไปสู่ยุคสมัยที่ทุกประเทศต่างหันหลังให้กับความร่วมมือระดับโลกแล้วสนใจผลประโยชน์ของชาติตนเองเป็นหลัก

            ปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาวดูจะไม่สดใสนัก หากจะผ่านพ้นวิกฤติเหล่านี้ไปได้ ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายอาจต้องตัดสินใจในแนวทาง ‘ประชาไม่นิยม’ ที่อาจดูไม่สมเหตุสมผลนักในปัจจุบันแต่เน้นการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า

เอกสารประกอบการเขียน

The Global Risks Report 2023