สถานการณ์เงินเฟ้อล่าสุดของประเทศไทยนับว่าน่ากังวล โดยตัวเลขประจำเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสูงถึง 7.66% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ทุบสถิติอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 13 ปี โดยมีปัจจัยผลักดันสำคัญคือราคาพลังงานทั้งไฟฟ้า น้ำมัน และแก๊สหุงต้ม รวมถึงสารพัดอาหารที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลายคนคงทราบดีว่าสาเหตุสำคัญของภาวะเงินเฟ้อสูงในปัจจุบันคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน สองประเทศเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดน้ำมัน ปุ๋ยเคมี ธัญพืช และสารพัดสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของโลก ความขัดแย้งดังกล่าวนอกจากจะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงักแล้ว ยังเป็นชนวนของการคว่ำบาตรรัสเซียจากกลุ่มประเทศโลกตะวันตกจนกระทบต่อราคาสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ทราบไหมครับว่าสองสามปีก่อนหน้านี้ราคาสินค้ากลุ่มอาหาร อาทิ ข้าวสาลี แอปเปิล กาแฟ และช็อกโกแลต ต่างก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีสาเหตุสำคัญจากภัยแล้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกา ส่งผลให้พืชผลเสียหายจนปริมาณสินค้าที่วางขายในตลาดโลกลดฮวบ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ถูกมองข้าม แต่อาจทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นในระยะยาว

หลายคนอาจเคยผ่านตาตัวเลข ‘ความเสียหาย’ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration) ที่ระบุว่าภัยพิบัติซึ่งเกิดจากวิกฤติภูมิอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 14.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2564 หรือบริษัทประกันช่วงชั้นนำของโลกอย่าง Swiss Re ก็คาดว่าวิกฤติภูมิอากาศอาจทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของทุกประเทศทั่วโลกลดลงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ และอีกสารพัด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การศึกษาเหล่านี้จะตีมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีไม่กี่ชิ้นที่ระบุอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งเนื่องจากความยุ่งยากในการประเมินเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ได้เจาะจงไปที่สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง

ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงถือโอกาสชวนมามอง ‘ความเป็นไปได้’ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฐานะปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งนโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่อาจกลายเป็นดาบสองคมซึ่งทำให้เกิดเงินเฟ้อได้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างไร?

            ‘เงินเฟ้อ’ หมายถึงภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น โดยคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer price index) ซึ่งเปรียบเสมือน ‘ตะกร้า’ ที่มีสารพัดสินค้าและบริการตั้งแต่อาหารสด อาหารปรุงสำเร็จ น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม เหล้าบุหรี่ ไปจนถึงค่าตัดผม เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็เปรียบเสมือนการซื้อสินค้าและบริการในคุณภาพและปริมาณเท่าเดิมแต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นนั่นเอง

เราสามารถแบ่งเงินเฟ้อออกเป็น 2 สาเหตุหลักคือ (1) ฝั่งอุปสงค์หรือก็คือความต้องการซื้อที่สูงขึ้นจนผู้ขายต้องปรับราคา เงินเฟ้อแบบนี้จะเรียกว่า ‘เงินเฟ้อจากแรงดึงของอุปสงค์’ (demand-pull Inflation) และ (2) ฝั่งอุปทานที่เกิดจากปริมาณการผลิตที่หดหายหรือต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนผู้ขายต้องปรับราคา ซึ่งจะเรียกว่า ‘เงินเฟ้อจากแรงผลักของต้นทุน’ (cost-push inflation) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นจะเป็นทั้ง ‘แรงดึง’ และ ‘แรงผลัก’ ที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

ผลกระทบที่ชัดเจนจะเกิดขึ้นในฝั่งอุปทานโดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ และพลังงานชีวภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิต (yield) โดยพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดคือกลุ่มประเทศเส้นศูนย์สูตรที่อาจเผชิญกับอากาศร้อนจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ เขตอบอุ่นก็อาจต้องเจอกับโรคและแมลงศัตรูพืชใหม่ๆ ที่รุกคืบขึ้นไป ส่วนพื้นที่เขตหนาวจะได้รับประโยชน์เพราะอาจสามารถปลูกพืชได้บางชนิด

ทรัพยากรสำคัญสำหรับการเพาะปลูกอย่างน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำบนดินและใต้ดินก็มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลน ลักษณะของฝนตกที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลทำให้เกษตรกรต้องใช้เวลาปรับตัวหรือปรับพันธุ์พืชที่เพาะปลูก ยังไม่นับความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย พายุ และไฟป่าที่มีแนวโน้มว่าจะบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ความมั่นคงทางอาหารสั่นคลอน อาหารที่เคยผลิตได้เหลือเฟือย่อมกลายเป็นของหายากและราคาแพงกดดันให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ผลผลิตบางอย่าง อาทิ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ถั่วลิสง และน้ำผึ้ง อาจหลงเหลือเพียงตำนานเพราะไม่สามารถซื้อหาได้อีกต่อไป

ส่วนในฝั่งอุปสงค์อาจเห็นภาพที่ไม่ชัดเจนนัก แต่หากเราลองเปลี่ยนมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากตัวเลขเป็นบ้านเรือนและข้าวของเครื่องใช้ เราก็อาจเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าการเกิดภัยพิบัติที่บ่อยครั้งและรุนแรงย่อมทำให้ความต้องการวัสดุอุปกรณ์สำหรับก่อสร้างเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการแก่งแย่งที่ดินเพื่ออยู่อาศัยที่ลดน้อยลงเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หรือพื้นที่บางแห่งอากาศร้อนจนไม่เหมาะที่มนุษย์จะอยู่อาศัย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากสองอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศเท่านั้น ยังมีการศึกษาอีกหลายชิ้นที่ระบุว่าอากาศที่ร้อนขึ้นจะสร้างความเครียดจนกระทบต่อผลิตภาพการทำงานของเรา ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพยังเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลให้กลไกการกระจายความเสี่ยงอย่างอุตสาหกรรมประกันภัยต้องปรับเบี้ยประกัน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ที่ผ่านมาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจไม่ชัดเจนมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะโครงข่ายการค้าระหว่างประเทศที่แนบแน่นทำให้เรามี ‘สินค้าทดแทน’ หลากหลายชนิดจากทั่วทุกมุมโลกไม่ต่างจากการกระจายความเสี่ยง แต่เมื่อใดก็ตามห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงักหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงจากวิกฤติภูมิอากาศก็เป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง

เมื่อนโยบายคาร์บอนต่ำ อาจเป็นส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ

            นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นต้นเหตุของการเกิดเงินเฟ้อแล้ว นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยก็มองว่าสารพัดนโยบายเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำก็อาจเป็นสาเหตุของเงินเฟ้อเช่นกัน

ตัวอย่างเช่นการเก็บภาษีคาร์บอนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีการศึกษาพบว่าหากมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันจะทำให้ราคาของถ่านหินขยับเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว ขณะที่ราคาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นราว 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่าการเพิ่มราคาคาร์บอน 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เพิ่มขึ้นราว 0.08 จุดเปอร์เซ็นต์ในกลุ่มประเทศโออีซีดี

แม้ว่าเราจะเห็นการรณรงค์ผสมการโฆษณาว่าทั่วโลกต่างเร่งเดินหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาด แต่ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่สหภาพยุโรปเองที่ถูกมองว่าเป็นแนวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียนก็ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในสัดส่วนถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ตราบใดที่น้ำมันเชื้อเพลิงยังเป็นสินค้าสำคัญในการดำรงชีพ การเก็บภาษีคาร์บอนย่อมส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากการเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นแผงพลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี หรือรถยนต์ไฟฟ้า ต่างใช้สินแร่ปริมาณมหาศาล จากแนวโน้มการผลิตที่ผ่านมา ปริมาณแร่สำคัญที่ผลิตได้อาจเติบโตไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทศวรรษหน้าที่นานาประเทศต้องเร่งเดินหน้าโครงการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่ได้ให้คำมั่นไว้

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดำเนินลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อในระยะสั้น แต่อย่าลืมนะครับว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร้ายแรงกว่ามากและยากที่จะตีค่าเป็นตัวเงิน ดังนั้นเงินเฟ้อจากการดำเนินนโยบายก็อาจเป็นราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนรุ่นหลัง

ความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงนับเป็นเรื่องสลับซับซ้อน เพราะการเร่งแก้ไขปัญหาหรือการปล่อยปละละเลยก็จะทำให้เกิดเงินเฟ้อเช่นเดียวกัน ผู้มีอำนาจตัดสินใจจึงต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวและวางแผนดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง พร้อมกับเปลี่ยนมุมมองที่เคยคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะความจริงแล้วปัญหาดังกล่าวเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น

เอกสารประกอบการเขียน

Climate change and the  macro economy

Climate crisis is ‘battering our economy’ and driving inflation, new book says

Climate change: Central banks’ new inflation puzzle

To fight inflation, we must fight climate change

The climate change impact on inflation: regressive effects and policy options

Chilli peppers, coffee, wine: how the climate crisis is causing food shortages