tumblr_mazcl4NU6j1qbh26io1_1280

การออกแบบเพื่อผลลัพธ์ทางสังคมไม่ได้จำกัดอยู่แค่การออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น เพราะแม้แต่เครื่อง MRI ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ อย่างดีเสียด้วย

Doug Dietz เป็นนักออกแบบของบริษัท เจอเนอรัล อิเล็คทริค (General Electric : GE) เขาใช้เวลากว่า 24 ปี พัฒนาเครื่องมือไฮเทคที่ใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) หรือเครื่อง CT Scan (Computed Tomography Scan) เครื่องมือที่เขาออกแบบ ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจหาสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายคนไข้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้เขารักและภาคภูมิใจกับผลงานการออกแบบของเขาเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งวันหนึ่ง ในระหว่างที่ Dietz และทีมงานนำเครื่อง MRI รุ่นใหม่ล่าสุดไปติดตั้งและทดลองใช้ที่โรงพยาบาลเด็กของศูนย์การแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยพิทส์เบิร์ก (Pittsburgh University) เขาเห็นเด็กหญิงตัวเล็ก วัยประมาณ 6-7 ขวบคนหนึ่งที่มารอคิวเข้าเครื่อง MRI ยืนเกาะชายเสื้อคุณพ่อด้วยสีหน้าหวาดกลัวและวิตกกังวลอย่างหนัก ฝ่ายคุณพ่อเมื่อเห็นอาการของลูกสาวก็ย่อตัวลงไปพูดปลอบโยนว่า “ลูกพ่อกล้าหาญอยู่แล้ว…จำได้ไหมคะ” แต่คำพูดเหล่านั้นกลับไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแม้แต่น้อย

Dietz ยืนสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ในห้องที่มีอุโมงค์ขนาดใหญ่ของเครื่อง MRI สีขาว มีแผ่นฟิล์ม X-ray ที่ฉายให้เห็นกระดูกในส่วนที่มีปัญหาแปะอยู่ที่ผนัง ส่วนพื้นรอบๆ เครื่อง MRI ก็มีแถบสติ๊กเกอร์สีเหลืองดำแปะอยู่ ประหนึ่งว่าเป็นพื้นที่เกิดเหตุอาชญากรรม พอใกล้เวลาที่ต้องขึ้นไปอยู่บนเตียง พยาบาลจึงเริ่มปิดไฟ เป็นจังหวะเดียวกันกับที่เด็กน้อยคนดังกล่าว เริ่มสะอึกสะอื้น และปล่อยโฮอย่างหยุดไม่ได้

Dietz ยืนมองเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นด้วยความสับสน ความภาคภูมิใจในเครื่องมือที่เขาใช้เวลาหลายปีออกแบบมาให้ทรงประสิทธิภาพสูงสุดพังทลายลงในพริบตา เพราะเครื่องมือของเขาได้กลายเป็นเหมือนปีศาจร้ายแสนน่ากลัวสำหรับคนไข้น้อยๆ เหล่านี้

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้ลูกน้อยยอมเข้าเครื่องตรวจได้ ตารางเวลาการตรวจของคนไข้เด็กทุกคนจึงต้องล่าช้าออกไป บางกรณีถึงขั้นต้องเรียกวิสัญญีแพทย์มาวางยาสลบก่อนที่จะนำเด็กเข้าเครื่องสแกน หัวใจของคนเป็นพ่อแม่จึงย่อมวิตกกังวลยิ่งนัก เพราะนอกจากจะห่วงว่าลูกน้อยของตัวเองป่วยเป็นอะไร อาการหนักมากน้อยแค่ไหน เขาจะต้องเสียเงินและเวลามากขนาดไหน  พวกเขายังต้องพยายามหาวิธีการให้ลูกยอมเข้าเครื่องตรวจนี้ให้ได้ ซึ่งจากสถิติของโรงพยาบาลพบว่า ผู้ปกครองของเด็กที่ต้องเข้าเครื่องตรวจ MRI กว่า 80% ประสบปัญหาเหล่านี้

เหตุการณ์นี้ทำให้ Dietz รู้สึกว่า วิธีการออกแบบของเขาผิดพลาดอย่างรุนแรง ที่ผ่านมาเขาพยายามออกแบบเครื่อง MRI ที่ดีที่สุด โดยไม่เคยคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้เลย เช่นเดียวกับนักออกแบบส่วนใหญ่ที่มักจะออกแบบสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยไม่เคยออกไป “ถาม” ผู้บริโภคเลย

 Capture

Dietz จึงกลับมาพิจารณาและเริ่มลงมือออกแบบเครื่อง MRI สำหรับผู้ป่วยเด็ก โดยครั้งนี้เขาได้ทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องและสนใจปัญหานี้ เช่น กลุ่มคนไข้เด็ก กลุ่มคุณหมอ กลุ่มพยาบาล กลุ่มพนักงานโรงพยาบาลที่มีหน้าที่ช่วยเหลือพ่อแม่เวลาที่ต้องเกลี้ยกล่อมลูกๆ ให้ยอมเข้าเครื่องสแกน กลุ่มพนักงานจากพิพิธภัณฑ์เด็กในท้องถิ่น และกลุ่มพ่อแม่ เป็นต้น เพื่อหาข้อมูลและความเข้าใจที่ครอบคลุมในการออกแบบครั้งนี้  รวมทั้งต้องหารือกับบริษัทผู้ผลิตเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนการผลิตเครื่องมือ ว่าจะสามารถผลิตเครื่องมือที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคให้มากที่สุดได้อย่างไร

11

กระบวนการที่ Dietz ใช้ในการออกแบบครั้งใหม่นี้ เรียกว่า Human-centered Design ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) และนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการต้นแบบ (Prototype) เพื่อทดลองใช้และให้ผู้บริโภคสะท้อนเสียงตอบรับกลับมา เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับแก้ไขผลิตภัณฑ์หรือบริการต้นแบบนั้นให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ใกล้เคียงที่สุด กระบวนการนี้เอง ที่ Dietz ใช้ในการออกแบบเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม (Design for Social Impact) ที่ต้องการแก้ปัญหาความล่าช้าและความไม่มีประสิทธิภาพของกระบวนการตรวจคนไข้เด็กด้วยเครื่อง MRI ถ้า Dietz สามารถแก้ปัญหานี้ได้ โรงพยาบาลก็จะสามารถตรวจคนไข้เด็กได้รวดเร็วขึ้น คุณหมอก็จะสามารถวินิจฉัยโรค และรักษาอย่างถูกต้องได้รวดเร็วขึ้น วิสัญญีแพทย์ก็จะได้ทำงานกับกลุ่มคนไข้ที่ต้องการให้วางยาสลบอย่างแท้จริงเท่านั้น คนไข้เด็กเองก็จะมีประสบการณ์ในการตรวจรักษาที่ดีขึ้น และช่วยผู้ปกครองประหยัดเวลาและงบประมาณในการรักษาลูกน้อยลงด้วย

จากการศึกษาวิจัย Dietz พบว่าสาเหตุที่เด็กกลัวการเข้าเครื่อง MRI มาจากบรรยากาศที่น่ากลัวของห้องตรวจเป็นสำคัญ เขาและคณะจึงออกแบบเครื่อง MRI รุ่น Adventure series ออกมา และนำไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลเด็ก โดยเครื่องแรกเขาออกแบบเป็นเรือแคนู และอุโมงค์ปลากระโดด (ดังรูป) ห้องตรวจทั้งห้องตกแต่งเป็นป่า มีสัตว์ มีลำธาร น้ำตก และทางเดินที่เป็นก้อนหิน โดยเปิดเสียงน้ำไหลคลอเบาๆ

adventure01

เด็กชายคนแรกที่เข้ามาทดลองใช้เครื่องรุ่น Adventure series นี้ เดินเข้ามาที่เรือแคนู (เตียง) โดยกระโดดมาตามก้อนหินทีละก้อน แล้วยังหันมาบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าให้เดินอยู่บนก้อนหินและระวังตกลงไปในน้ำ พอเขาเดินมาถึงเครื่องสแกน ขอบของเรือแคนูก็ค่อยๆ ลดระดับลงมา พยาบาลบอกให้เด็กขึ้นไปนอนบนเรือ และห้ามขยับตัวเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นเรือจะพลิกคว่ำ และถ้าหากนอนนิ่งมากพอ ตอนที่เรือลอดอุโมงค์จะมีปลากระโดดไปมาให้ดู ปรากฏว่าเด็กชายคนนั้นนอนนิ่งเป็นรูปปั้น เมื่อเตียงค่อยๆ เลื่อนเข้าไปในอุโมงค์ เครื่องจะทำงานและทำให้เด็กเห็นแสงไฟที่ออกแบบให้ติดไว้บนผนังอุโมงค์ ซึ่งเหมือนกับมีปลากระโดดข้ามตัวไปมาเยอะแยะเต็มไปหมด

ผลการทดลองใช้เครื่อง MRI รุ่น Adventure series พบว่า คนไข้เด็กๆ ชอบมาก และได้ผลตรวจที่คุณหมอต้องการ โดยปัญหาความล่าช้าจากกระบวนการตรวจกว่า 80% ลดลงเหลือเพียงแค่ 0.0002% เท่านั้น ในขณะที่ความพึงพอใจของคนไข้เด็กและผู้ปกครองเพิ่มขึ้นเป็น 90% เมื่อผลการทดลองใช้เป็นที่น่าพอใจเช่นนี้ เขาจึงเริ่มออกแบบเครื่อง MRI รุ่นอื่นๆ เช่น รุ่นเรือดำน้ำ รุ่นเกาะโจรสลัด เป็นต้น

 tumblr_mazcl4NU6j1qbh26io1_1280

 onc_aquario021

 2169697_orig

Dietz และทีมงานได้สร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่น่าพึงพอใจอย่างมาก อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ Dietz รู้สึกว่าการออกแบบเช่นนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่ใช่ตัวเลขความความล่าช้าที่ลดลงเพียงอย่างเดียว แต่คือเหตุการณ์ที่เขาได้ประสบ ในระหว่างที่ทดลองนำเครื่อง MRI รุ่น Adventure series ไปติดตั้งตามโรงพยาบาลเด็กต่างๆ ซึ่งเขาพบว่า มีเด็กหญิง 6 ขวบคนหนึ่งที่เพิ่งออกมาจากห้อง “เกาะโจรสลัด” ถามคุณแม่ว่า “คุณแม่ขา พรุ่งนี้เรามาที่นี่อีกได้ไหม” สีหน้าของเด็กและผู้ปกครองที่ยิ้มแย้มให้กันนั่นเอง ที่ทำให้เขารู้สึกว่านี่คือความสำเร็จที่แท้จริง

หลังจากประสบความสำเร็จจากกรณีนี้ GE จึงให้ Dietz ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับพนักงานฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ของ GE คนอื่นๆ และเริ่มใช้วิธี Human centered design ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น

หลายปีแล้วที่ผลงานการออกแบบเครื่อง MRI ของ Dietz ช่วยแก้ปัญหาให้กับคนไข้เด็ก ผู้ปกครอง คุณหมอ และโรงพยาบาล ขณะที่บริษัทเองก็สามารถสร้างตลาดใหม่ๆ และสามารถขายสินค้าได้มากขึ้นด้วย นับเป็นความลงตัวระหว่างการออกแบบเพื่อผลลัพธ์ทางสังคมกับโลกธุรกิจ

 

อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ

Creative Confidence: Unleashing the Creative Potential Within Us All by Tom Kelley and David Kelley. Copyright 2013

Transforming healthcare for children and their families: Doug Dietz at TEDxSanJoseCA 2012

Stories from the students who have gone through the d.school experience. http://dschool.stanford.edu/student/doug-dietz

J-Walk Blog http://j-walkblog.com/index.php?/weblog/comments/14672