“นิทานก่อนนอนว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไร้ที่สิ้นสุด (fairytales of eternal economic growth)” คำสั้นๆ ซึ่งทำให้ความเชื่อของหลายคนสั่นสะเทือนจากปาฐกถา ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติโดยเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ที่สร้างแรงกระเพื่อมในประเด็นวิกฤติภูมิอากาศทั่วโลก

ก็เราจะหวังให้เศรษฐกิจเติบโตทุกปีได้อย่างไรในโลกที่มีทรัพยากรจำกัด อีกทั้งการเติบโตแต่ละเปอร์เซ็นต์ของจีดีพียังอาจต้องแลกมาด้วยธรรมชาติที่ไม่สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้ วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังถาโถมในปัจจุบันทำให้เราต้องชั่งตวงวัดประโยชน์และโทษของการพัฒนาทางเศรษฐกิจแต่ละก้าวอย่างถ้วนถี่

อย่างไรก็ดี มนุษย์ต่างก็ยังไขว่ขว้าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่โจทย์ใหม่ว่าเราสามารถใช้ทรัพยากรมากน้อยเพียงใดให้อยู่ในระดับที่ไม่อันตราย กล่าวคือเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งต่อมนุษยชาติและระบบนิเวศบนโลก

นี่คือที่มาของกรอบคิดชื่อว่า “ขีดความสามารถในการรองรับของโลก (Planetary Boundaries)” ที่ถูกเสนอต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมต่อยอดจากงานวิจัยที่สั่งสมมาร่วมห้าทศวรรษ งานชิ้นนี้นำโดยโจฮัน ร็อกสตรอม (Johan Rockström) จากมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม (Stockholm University) และวิล สเตฟเฟน (Will Steffen) จากมหาวิทยาลัยแห่งออสเตรเลีย (Australian National University)

กรอบคิดดังกล่าวนำเสนอ 9 ขอบเขตที่อิงจากกระบวนการสร้างสมดุลตามธรรมชาติที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งหากมนุษย์ก้าวข้ามก็อาจเกิดความเสี่ยงอย่างยิ่งที่สมดุลบนโลกจะพังทลายลงและสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก เราสามารถมองขอบเขตดังกล่าวว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษยชาติ โดยสามารถสรุปเป็นหน้าปัดตัวแปรของแต่ละขอบเขตที่สามารถพิจารณาได้ในเชิงปริมาณ

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมาทำความรู้จักทั้ง 9 ขอบเขตพร้อมฉายภาพสถานการณ์ในปัจจุบัน และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ขีดความสามารถในการรองรับของโลกทั้ง 9 ขอบเขต สีแดงหมายถึงขอบเขตที่เผชิญความเสี่ยงสูง ในขณะที่สีเขียวคือขอบเขจที่เรายังอยู่ในช่วงที่ปลอดภัย
ภาพจาก Planetary Boundaries – an update

สองขอบเขตที่ทะลุค่าวิกฤติ

ผมขอเริ่มด้วยข่าวร้ายคือสองขอบเขตที่ทะลุความสามารถในการรองรับของโลกซึ่งกล่าวได้ว่าเข้าสู่ภาวะวิกฤติคือ (1) การสูญเสียความสมบูรณ์ของชีวภูมิ (Loss of biosphere integrity) และ (2) การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการชีวเคมี (Changes to biogeochemical flows) ทั้งไนโตรเจนและฟอสฟอรัส

สำหรับขอบเขตแรก เราใช้ตัวชี้วัดคืออัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ แน่นอนว่าการสูญพันธุ์เป็นกระบวนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแม้มนุษย์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว หลักฐานจากฟอสซิลชี้ว่าสัตว์น้ำจะสูญพันธุ์ในอัตราราว 0.1 – 1 ชนิดพันธุ์ต่อหนึ่งล้านชนิดพันธุ์ในแต่ละปี ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะสูญพันธุ์ในอัตรา 0.2 – 0.5 ชนิดพันธุ์ต่อหนึ่งล้านชนิดพันธุ์ในแต่ละปี

ในปัจจุบันการสูญพันธุ์เกิดขึ้นเร็วกว่าในอดีตหลายร้อยเท่า เนื่องจากสาเหตุที่หลากหลาย เช่น การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์กำหนดขอบเขตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ปลอดภัยอยู่ที่ไม่เกิน 10 ชนิดพันธุ์ต่อหนึ่งล้านชนิดพันธุ์ในแต่ละปี แต่ปัจจุบันเรากำลังเผชิญการสูญพันธุ์ในอัตราสูงถึง 1,000 ชนิดพันธุ์ต่อหนึ่งล้านชนิดพันธุ์ในแต่ละปี

ส่วนขอบเขตที่สองว่าด้วยวัฎจักรไนโตรเจนและฟอสฟอรัสอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักเพราะมักใช้อยู่ในต้นทางของการผลิต สารเคมีทั้งสองเป็นส่วนประกอบสำคัญในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคการเกษตร การปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยเคมีเข้มข้นทำให้เกิดความเสี่ยงที่สารอย่างไนโตรเจนและฟอสฟอรัสถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ ก่อให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในทะเล แม่น้ำ หรือมหาสมุทร เนื่องจากมีสารอาหารมากเกินไป เช่นเหตุการณ์ที่เกิดในทะเลบอลติกและชายฝั่งอีกหลายแห่งทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์กำหนดขอบเขตปริมาณการใช้ไนโตรเจนสำหรับพื้นที่เกษตรไม่เกิน 62 ล้านตันต่อปี ส่วนฟอสฟอรัสไม่เกิน 6.2 ล้านตันต่อปี แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่า มนุษยชาติใช้ไนโตรเจนปริมาณมากถึง 150 ล้านตันต่อปีและฟอสฟอรัส 14 ล้านตันต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความหลากหลายทางชีวภาพและสมดุลในวัฎจักรของไนโตรเจนและฟอสฟอรัสมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะผลิตนิเวศบริการที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นน้ำสะอาด อากาศที่ดี และแหล่งอาหาร (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คุณค่าของระบบนิเวศและนิเวศบริการ) นี่คือบริการที่ช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ ผู้เขียนเองก็ยังจินตนาการไม่ออกว่าหากนิเวศบริการเหล่านี้เสื่อมโทรมลงไป เราจะมีวิธีจัดสรรทรัพยากรที่ร่อยหรอลงอย่างไร

อีกสองขอบเขตที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

            ต่อด้วยปัญหาที่เร่งด่วนน้อยกว่ากันไม่มากนัก คือขอบเขต (3) เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันหนักแน่นว่าเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทั่วโลกจะตื่นตัวและตระหนักถึงความเร่งด่วนมากกว่าในอดีต รวมถึงหลายประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อ พ.ศ. 2559 โดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี ความตระหนักถึงปัญหายังไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม คำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศไม่ควรเกิน 350 ส่วนในล้านส่วน แต่ปัจจุบันเราได้แตะที่ 400 ส่วนในล้านส่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอุณหภูมิก็เพิ่มขึ้นราว 0.7 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม

อีกขอบเขตหนึ่งที่ถือว่าเป็นมุมกลับของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ (4) การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land use change) หรือการหักร้างถางพงจากผืนป่าสู่พื้นที่เกษตรหรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนอกจากจะปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บอยู่ในผืนป่าแล้วยังเป็นการลดอัตราการดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศอีกด้วย

ปัจจุบัน เราต่างเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสภาพภูมิอากาศสุดขั้วหรือภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบทางตรงคือความเสียหายของสินทรัพย์ การลงทุน หรือธุรกิจ รวมทั้งทางอ้อมอย่างราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันนับว่าน่ากังวลไม่น้อยเพราะทั้งการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และการทำลายผืนป่าไม่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงแต่อย่างใด

สามขอบเขตที่ยังสบายใจได้

            นอกจาก 4 ขอบเขตที่ชวนกังวลแล้ว เรายังมีเรื่องที่พอจะยิ้มได้บ้างคือ 3 ขอบเขตที่เราจัดการได้ดี เริ่มจาก (5) การใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืด (Freshwater abstraction) ที่วัดด้วยปริมาณการใช้น้ำที่ไม่ควรเกิน 4,000 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี แต่ปัจจุบันเราใช้อยู่ที่ 2,600 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปีเท่านั้น เช่นเดียวกับ (6) ปรากฎการณ์มหาสมุทรกลายเป็นกรด (Ocean Acidification) ซึ่งเกิดจากการกระบวนการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติของมหาสมุทร หากชั้นบรรยากาศมีคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นมากขึ้นจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ส่งผลต่อความเป็นกรดของมหาสมุทรและทำลายความสามารถในการสร้างเปลือกของแพลงก์ตอนขนาดเล็กซึ่งเป็นต้นทางของระบบนิเวศ แต่ข้อมูลล่าสุดพบว่าสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง

ขอบเขตต่อมาผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยนั่นคือ (7) การสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศ (Loss of stratospheric ozone) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมสำคัญบนเวทีโลก แต่จากความร่วมมือของนานาประเทศในชื่อพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ทำให้เราสามารถลดปริมาณการใช้สาร CFCs ที่สร้างรูบนชั้นโอโซนได้อย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าชั้นโอโซนของเราอยู่ในระยะปลอดภัยและกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

สองขอบเขตสุดท้ายที่ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูล

ขอบเขต (8) ปริมาณสารแขวนลอยในชั้นบรรยากาศ (Atmospheric aerosol loading) แม้ว่าชื่อจะฟังดูยากแต่ความจริงคือประเด็นร้อนในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้นั่นคือฝุ่นขนาดจิ๋ว PM2.5 ที่ชาวกรุงเทพฯ และประชาชนทางภาคเหนือต้องเผชิญทุกปีในฤดูเผาพืชไร่ในพื้นที่การเกษตร สารแขวนลอยขนาดจิ๋วเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์แล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการดักจับ กักเก็บ และสะท้อนความร้อนซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย น่าเสียดายที่ขอบเขตนี้ไม่สามารถประมวลข้อมูลสรุปผลในภาพรวมทั่วโลกได้ โดยต้องพิจารณาแยกรายภูมิภาค

ส่วนขอบเขตสุดท้ายนับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีตัวชี้วัดเชิงปริมาณ นั่นคือ (9) การปนเปื้อนของสารหรือสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ในธรรมชาติ (Release of novel entities) กล่าวคือการสังเคราะห์สารเคมีที่ไม่มีในธรรมชาติรวมถึงการคิดค้นพืชหรือสัตว์โดยตัดต่อพันธุกรรมแล้วปล่อยให้มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการควบคุม นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการปนเปื้อนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบนิเวศ

ทั้งหมดก็คือ 9 ขอบเขตตามแนวคิดเรื่องขีดความสามารถในการรองรับของโลก นับว่าเป็นกรอบคิดที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับใช้เป็นหลักยึดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะนอกจากจะมีตัวชี้วัดเชิงปริมาณที่ชัดเจนแล้ว ยังสรุปประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ยุ่งยากซับซ้อนเป็นหน้าปัดที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ในภาพเดียว

เอกสารประกอบการเขียน

Planetary Boundaries – an update

Planetary Boundaries: Exploring the Safe Operating Space for Humanity

Sustainable Development and Planetary Boundaries

A safe operating space for humanity