หากใครได้เคยทำงานใกล้ชิดกับวงการธุรกิจเพื่อสังคมหรือทำโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คำหนึ่งที่ทุกคนน่าจะคุ้นหูกันดีคือ ‘ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change)’ แผนภาพฉบับรวบรัดที่ตั้งต้นจากกิจกรรมของโครงการ เชื่อมโยงกับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นเหตุเป็นผล ก่อนจะจบลงที่เป้าหมายระยะยาวที่เจ้าของโครงการหรือธุรกิจเพื่อสังคมต้องการสร้าง ‘ความเปลี่ยนแปลง’

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงมีจุดกำเนิดตั้งแต่ราว 30 ปีก่อนโดยใช้เป็นแกนหลักอำนวยความสะดวกในการประเมินผลลัพธ์ของโครงการ ก่อนจะพัฒนากลายเป็นหลากหลายเครื่องมือและนิยาม รวมถึงอีกสารพัดคำที่มีความหมายใกล้เคียงหรือเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง เช่น ห่วงโซ่คุณค่า (Impact Value Chain) ที่แสดงให้เห็นกระบวนการโดยละเอียดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแต่ละขั้นตอน

นับวันคำว่าทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงดูจะมีความหมายผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม เกิดเป็นช่องว่างทางความเข้าใจในแวดวงธุรกิจเพื่อสังคมและนักประเมินผลลัพธ์ของโครงการที่มีเป้าหมายสาธารณะ ผู้เขียนได้อ่านบทความวิชาการโดย Maoz Brown ที่เผยแพร่ใน Stanford Social Innovation Review ที่ชวนเราทบทวนนิยามเกี่ยวกับทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงแล้วนำมาสรุปเป็นกรอบคิดได้อย่างน่าสนใจ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทำความเข้าใจอีกครั้งว่าทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงมีความหมายว่าอะไรกันแน่

ทำไมต้องมีทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง

            ในยุคที่ยังไม่มีคำว่าทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง นักวิจัยที่ประเมินผลโครงการทางสังคมจะมองโครงการดังกล่าวเป็นกล่องดำลึกลับที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่าทำงานอย่างไร เพียงพิจารณาปัจจัยนำเข้าและผลลัพธ์ที่ผลิตออกมาสำหรับการประเมินผลว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จหรือไม่ กล่าวคือหากผลลัพธ์ออกมาดีกระบวนการก็ต้องดีด้วย

ตัวอย่างเช่น หากเราปรับหลักสูตรการศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับประถม สิ่งที่เราสนใจจะมีเพียงคำถามที่ว่าเราใส่ทรัพยากรเพิ่มเข้าไปมากน้อยเพียงใดและผลลัพธ์ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาหลังจากปรับหลักสูตรแล้วเป็นอย่างไร โดยเราไม่ต้องสนใจประเด็นปลีกย่อยระหว่างทาง เช่นว่าครูได้รับการฝึกฝนเพียงพอหรือไม่ ครูสอนครบถ้วนตามหลักสูตรหรือไม่ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมว่าโรงเรียนอยู่ในละแวกใด ใกล้กับพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมหรือเปล่า

หากโครงการนำร่องได้ผลลัพธ์ที่ดี ก้าวต่อไปก็คือการยกระดับนำไปปรับใช้เป็นวงกว้างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างไรก็ดี  โครงการขนาดใหญ่ที่อยู่นอกบริบทเดิมมักเผชิญล้มเหลว กลายเป็นความงุนงงสงสัยของผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

นี่คือจุดกำเนิดของการประเมินผลลัพธ์เชิงทฤษฎี (Theory-based evaluation) ที่เปลี่ยนจากคำถามที่ว่าโครงการทางสังคมประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่าเพราะเหตุใดโครงการดังกล่าวจึงประสบความสำเร็จ โดยพิจารณาสมมติฐานตั้งแต่การออกแบบโครงการ รายละเอียดของกระบวนการ รวมถึงผลลัพธ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวผ่านการนำเสนออย่างเชื่อมโยงและเป็นลำดับ เพื่อให้เห็นภาพชัดว่ากระบวนการใดบ้างที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

Carol Weiss นักมานุษยวิทยาคือคนแรกที่เสนอให้เรียกกรอบการวิเคราะห์ลักษณะดังกล่าวว่า “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง” โดยนำเสนอเป็นแผนภาพกล่องและลูกศรที่เชื่อมโยงเหตุและปัจจัยเข้าด้วยกัน ต่อมาจึงถูกพัฒนาให้เป็นแผนภาพที่ผู้อ่านสามารถเข้าใจภาพรวมของโครงการโดยใช้เวลาไม่นาน แต่ความยืดหยุ่นของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงก็กลับกลายเป็นจุดอ่อน เนื่องจากไม่มีนิยามที่ทุกคนยอมรับแต่ละองค์กรจึงใช้คำดังกล่าวตามที่ตัวเองเข้าใจ

ทฤษฎีและการเปลี่ยนแปลงหมายความว่าอย่างไร

            ก่อนที่จะทำความเข้าใจทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนชวนถอยมาตั้งหลักโดยการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า ‘ทฤษฎี’ และ ‘การเปลี่ยนแปลง’ มีความหมายอย่างไร

ทฤษฎี (Theory) คือคำที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์ตัวอย่างเช่นทฤษฎีแรงโน้มถ่วง เราอาจอธิบายได้ว่าทฤษฎีหมายถึงข้อเท็จจริงที่สังเกตได้จากธรรมชาติผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนได้ข้อสรุป ทฤษฎีที่ดีจึงควรจะช่วยทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ เช่นทฤษฎีแรงโน้มถ่วงบอกเราว่าหากปล่อยของลงจากที่สูงของก็จะร่วงลงสู่พื้นผิวโลก

อย่างไรก็ดี บางครั้งคำว่าทฤษฎีก็ถูกใช้กับข้อสมมติฐานบางประการที่ยังไม่ได้รับข้อสรุปเพราะยังมีการถกเถียงอยู่ในแวดวงวิชาการและมีการนำเสนอหลักฐานมาคัดง้างอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะภาคสังคมศาสตร์ที่ต้องยอมรับว่าปรากฎการณ์ทางสังคมไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนกับการศึกษาฝั่งวิทยาศาสตร์

คำว่าทฤษฎีในทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงสามารถเข้าข่ายได้ทั้งสองนิยาม บางโครงการอาจนำเสนอทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงบนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่น ขณะที่โครงการทางสังคมจำนวนไม่น้อยนำเสนอทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในฐานะข้อเสนอที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เพียงแต่เป็นทฤษฎีที่เกิดจากการคาดการณ์อย่างมีเหตุมีผลบนสมมติฐานตามข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในมือ

ส่วนคำว่าการเปลี่ยนแปลง (Change) อาจดูเหมือนว่าจะตรงไปตรงมากว่า นักวิชาการสายสังคมศาสตร์นิยามการเปลี่ยนแปลงไว้สองรูปแบบคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงผลลัพธ์ที่ให้ความสำคัญที่ผลผลิตจากการดำเนินโครงการ สอดคล้องกับแนวคิดการประเมินผลลัพธ์ของโครงการแบบ ‘กล่องดำ’ และการเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนการที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดจากผลผลิตของโครงการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลลัพธ์หนึ่งไปสู่อีกผลลัพธ์หนึ่งโดยมีปลายทางคือผลลัพธ์ของโครงการที่ตั้งใจไว้

เราสามารถหยิบจับนิยามทั้งสองมาใช้กับคำว่าการเปลี่ยนแปลงในทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แม้ว่าจุดเริ่มต้นของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงจะมองการเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนในแวดวงการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมจำนวนไม่น้อยก็สนใจผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง 4 ประเภท    

จากนิยามข้างต้น Maoz Brown ได้แบ่งทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงออกเป็น 4 ประเภทดังนี้

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงออกเป็น 4 ประเภท ภาพจาก Unpacking the Theory of Change

  1. ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงแบบเน้นแสดงเป้าหมาย (Articulating Goals)

สำหรับประเภทแรกจะนิยามทฤษฎีแบบข้อเสนอและเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงผลลัพธ์ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบันเพราะแสดงให้เห็นกิจกรรมและผลลัพธ์ที่คาดหวังอย่างชัดเจน แต่ไม่ลงลึกในรายละเอียดด้านกระบวนการมากนัก ทำให้เหมาะสำหรับการนำเสนอในช่วงเวลาสั้นๆ (Elevator Pitch) จึงเป็นที่แพร่หลายในแวดวงการลงทุนเพื่อสังคมที่นักลงทุนมีเวลาจำกัดและต้องการผลลัพธ์สำหรับเป็นใช้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิพลของพอร์ตฟอร์ลิโอ

อย่างไรก็ดี แม้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้จะกระชับและเข้าใจง่าย แต่การเขียนบนกระดาษกับการปฏิบัติจริงนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะมีความเป็นไปได้ว่าการเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่เราคาดไว้อาจไม่เกิดขึ้นจริง ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้จึงต้องเพิ่มมิติอื่นๆ เช่น หลักฐานสนับสนุนหรือผลลัพธ์เชิงกระบวนการเพื่อสร้างความหนักแน่น

  1. ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเพื่อแสดงความเป็นไปได้ (Demonstrating Feasibility)

ประเภทต่อมาอิงนิยามของทฤษฎีที่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างเคร่งครัด และเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงผลลัพธ์เช่นเดียวกับประเภทแรก ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ค่อนข้างได้เปรียบเพราะไม่ต้องคิดข้อเสนอใหม่ๆ หรือเริ่มต้นจากศูนย์เพื่อลองผิดลองถูก แต่เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตจากการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้วซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา อีกทั้งยังการันตีความสำเร็จของโครงการในระดับหนึ่ง

ตัวอย่างเช่นข้อเสนอยอดฮิตที่ต้องการสนับสนุนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนในชุมชนเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคอ้วนและเบาหวานโดยการเปิดซุปเปอร์มาร์เก็ตใหม่ที่จำหน่ายอาหารสดและดีต่อสุขภาพ ภายใต้สมมติฐานว่าสมาชิกในชุมชนกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงอาหารดีๆ ได้ แต่งานศึกษาหลายชิ้นกลับพบว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่การเข้าถึงอาหาร แต่พฤติกรรมการบริโภคเป็นผลรวมจากสารพัดปัจจัยทั้งรายได้ การศึกษา และความรู้ทางโภชนาการ หากเรารู้ข้อมูลเหล่านี้ก่อนเขียนทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง ย่อมเข้าใจความท้าทายและซับซ้อนของปัญหา พร้อมเดินหน้าโดยไม่ทำผิดพลาดซ้ำรอยเดิมและทุ่มเวลาเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายใหม่ๆ ในบริบทที่แตกต่างจากงานวิจัยชิ้นที่ใช้อ้างอิง

  1. ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเพื่อหาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Identifying Best Practices)

ประเภทที่สามอิงทฤษฎีที่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างเคร่งครัด และเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนการ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงประเภทนี้มีเป้าหมายเพื่อประเมินว่าการดำเนินโครงการมีประสิทธิผลหรือไม่ และเพื่อสร้างแนวทางในการออกแบบกระบวนการเพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกสูงสุด ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น โครงการสนับสนุนให้ล้างมือและรักษาความสะอาดในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ซึ่งมีการศึกษารวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์จากโครงการจำนวนมากที่สิ้นสุดลงแล้วเพื่อวิเคราะห์หาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศว่าปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ หรือควรมีการปรับปรุงอย่างไรในอนาคต เช่นข้อเสนอว่าโครงการส่วนใหญ่มักครอบคลุมระยะเวลาที่สั้นเกินไป ใช้ข้อความสื่อสารยาวเกินไป ไม่มีการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว รวมถึงพึ่งพาการสื่อสารด้วยคำพูดมากเกินไป เป็นต้น

  1. ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำเสนอแบบจำลองตรรกะ (Presenting the Logic Model)

ประเภทที่สุดท้ายจะอิงกับทฤษฎีที่เป็นข้อเสนอ แต่เน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนการ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงประเภทนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างแบบจำลองตรรกะ (Logic Model) ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งสำหรับขยายความทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงโดยเน้นแสดงการเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลระหว่างกิจกรรมแต่ละกิจกรรมกับผลผลิตและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพยากรที่ต้องใช้

แบบจำลองตรรกะโครงการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยหอยนางรม ภาพจาก GEMS Phase I Report: Oyster Reef Restoration.

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงนี้จะเน้นตอบโจทย์ว่าโครงการดำเนินได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ถ้าหากไม่ใช่แล้วมีส่วนใดบ้างที่ออกนอกกรอบที่ออกแบบไว้ เพราะเหตุใด และส่งอย่างไรต่อผลลัพธ์ในตอนท้าย

การจัดประเภททฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในอยู่ใน 4 กล่องถือว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ แต่ก็นับว่าน่าสนใจเรียนรู้เพื่อให้เรามีกรอบคิดและความเข้าใจว่าทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงที่แต่ละองค์กรใช้มีความเหมือน ความต่าง และต้องการบรรลุเป้าหมายใด

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

Unpacking the Theory of Change

Theories of change in sustainability science

Change theory and theory of change: what’s the difference anyway?