ผู้เขียนยังพอมีความทรงจำสมัยเด็กที่พ่อแม่เรียกช่างมาซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นทีวี ตู้เย็น หรือเครื่องซักผ้า การซ่อมแซมสิ่งของในบ้านเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ สมัยนั้นช่างเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถหาใช้บริการได้ทุกหัวระแหงในราคาประหยัด การซ่อมแซมจึงเป็นทางเลือกที่ถูกกว่ามากหากเทียบกับการต้องซื้อของใหม่ที่ราคาแพงแสนแพง

แต่ปัจจุบันตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเค้าเดิม เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ราคาถูกลงมากและมาพร้อมกับฟังก์ชันที่สลับซับซ้อน ช่างซ่อมแซมอิสระหายหน้าหายตาไปจากละแวกบ้าน เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้ามีปัญหา ผู้บริโภคมีสองทางเลือกคือเรียกใช้บริการช่างซ่อมที่ผ่านการรับรองของบริษัทซึ่งมาพร้อมกับค่าบริการและอะไหล่ราคาแพง หรือตัดใจโยนทิ้งแล้วมองหาโปรโมชันเด็ดๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อซื้อเครื่องใหม่ในราคาประหยัด พลางปลอบใจตัวเองว่าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนรุ่นพอดิบพอดี

นี่คือความปกติของโลกยุคใหม่ที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ต่างรู้สึกชินชา แม้ว่าลึกๆ จะรู้สึกว่าของตรงหน้ายังพอใช้ได้เพียงแค่ต้องเปลี่ยนอะไหล่นิดหน่อย แต่ความยุ่งยากและราคาที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายก็ทำให้มองว่าการซื้อ ‘ของใหม่’ อาจคุ้มค่ากว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นปัญหาใหญ่ในหลากหลายประเทศทั่วโลก

ที่สำคัญ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุขัยนั้นไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ แต่ถูกวางแผนโดยผู้ผลิตหรือที่เรียกว่าการ  ‘การออกแบบให้หมดอายุขัย’ (planned obsolescence) ซึ่งมักเกิดขึ้นในตลาดที่มีคู่แข่งน้อยรายหรือผลิตภัณฑ์ที่สลับซับซ้อนซึ่งผู้บริโภคไม่มีความรู้ความเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร

ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องทฤษฎีสมคบคิดที่ผู้เขียนจินตนาการขึ้นมาเอง แต่ความจริงแล้วแบรนด์ชื่อดังไม่ว่าจะเป็น Apple หรือ Samsung ต่างเคยโดยค่าปรับจากจากรัฐบาลในบางประเทศ เช่น อิตาลี ในข้อหาออกแบบให้หมดอายุขัยผ่านการแจ้งให้ผู้ใช้อัปเดตเฟิร์มแวร์รุ่นใหม่ที่ทำให้เครื่องช้าลง กระตุ้นให้ผู้ใช้เครื่องซื้อสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ทางอ้อม

ประเด็นเรื่องการซ่อมแซมของใช้อิเล็กทรอนิกส์ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันคือการระบาดของโควิด-19 โดยคนจำนวนมากจับจ่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บนโลกออนไลน์เพื่อทำให้ช่วงกักตัวไม่เงียบเหงาเกินไปนัก แต่กลับต้องเผชิญปัญหาใหญ่เพราะ ‘บริการซ่อมแซม’ ในชุมชนไม่เปิดทำการ

การต้องนั่งดูเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราหาทางซ่อมไม่ได้ย่อมสร้างความรำคาญใจไม่น้อย แต่ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นเรื่องของความเป็นความตาย เมื่อเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาลเกิดขัดข้องและช่างเทคนิคไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองเนื่องจากผู้ผลิต ‘สงวนสิทธิ’ ในการซ่อมแซม ที่นอกจากจะไม่มีคู่มือให้แล้วยังไม่มีชิ้นส่วนอะไหล่จำหน่ายอีกด้วย สุดท้ายบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์หลายแห่ง เช่น เจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) ก็ยอมแจกจ่ายอะไหล่บางส่วนให้แบบฟรีๆ

เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหา สิ่งที่ตามมาคือกระแสเรียกร้องให้รัฐรับรอง ‘สิทธิที่จะซ่อม’ (right to repair) ของผู้บริโภค

‘สิทธิที่จะซ่อม’ คืออะไร?

เป้าหมายของการเรียกร้องสิทธิที่จะซ่อมนั้นก็แสนจะตรงไปตรงมา คือต้องการให้บริษัทผู้ผลิตมีอะไหล่และเครื่องมือพร้อมจำหน่ายอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นในการซ่อมแซมแก่ผู้บริโภคและร้านซ่อมแซมอิสระเพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องไปจบชีวิตในกองขยะก่อนวันเวลาอันควร

เหตุผลสำคัญสองประการที่สนับสนุนเรื่อง ‘สิทธิที่จะซ่อม’ คือความเป็นธรรม ดังคำขวัญของสมาคมช่างซ่อมแห่งสหรัฐอเมริกา (The Repair Association) ที่ว่า “เรามีสิทธิที่จะซ่อมแซมสิ่งของทุกอย่างที่เป็นของเรา” เหตุผลที่สองคือยุติการ ‘ผูกขาด’ บริการซ่อมแซมโดยบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ซึ่งมักจะเรียกเก็บค่าบริการและค่าอะไหล่ในราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น นำไปสู่วงจรทำให้ล้าสมัยโดยจงใจ เช่นในวันที่แบตเตอรีโทรศัพท์มือถือเริ่มเสื่อม คนส่วนใหญ่ตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องใหม่เนื่องจากการเปลี่ยนแบตเตอรีมีค่าใช้จ่ายมากจนรู้สึกว่าการซื้อเครื่องใหม่นั้นคุ้มค่ากว่าแม้ว่าจะไม่จำเป็นก็ตาม

            แม้ว่าคำจำกัดความของสิทธิที่จะซ่อมนั้นมีมากมายหลากหลายรูปแบบ ผู้เขียนขอหยิบยกนิยาม 3 ประการตามเอกสารของรัฐสภายุโรปดังนี้

  • สิทธิที่จะซ่อมในระหว่างสินค้าอยู่ในระยะเวลารับประกัน ผู้บริโภคจะได้รับสิทธิในการซ่อมแซมสินค้าที่มีความบกพร่องโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วงระยะเวลารับประกันที่กฎหมายกำหนด หากความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของบริษัทเอง ทั้งนี้ บริษัทไม่จำเป็นต้องซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การทำหล่นหรือนำไปใช้อย่างไม่ถูกวิธี
  • สิทธิที่จะซ่อมภายหลังสินค้าหมดระยะเวลารับประกัน แม้ว่าระยะเวลารับประกันตามกฎหมายจะสิ้นสุดลง แต่ผู้จำหน่ายหรือผู้ผลิตยังจำเป็นต้องรับซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สิทธินี้มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้บริโภคตกอยู่ในสถานการณ์ที่การซ่อมแซมมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ร้านค้าไม่มีอะไหล่ ไม่มีศูนย์รับซ่อมแซมในละแวกบ้าน หรือผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบมาให้ไม่สามารถซ่อมแซมได้
  • สิทธิที่ผู้บริโภคจะสามารถซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาร้านตัวแทนของบริษัทหรือช่างซ่อมแซมมืออาชีพ นั่นหมายความว่าบริษัทจะต้องให้ข้อมูลทางเทคนิค เช่น คู่มือในการซ่อมแซมอย่างละเอียด พร้อมกับการจัดจำหน่ายอะไหล่ให้แก่ผู้บริโภค

ที่ผ่านมา แม้ว่าสหภาพยุโรปจะยังไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิที่จะซ่อมแต่ก็มีกฎหมายควบคุมการออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Ecodesign) เช่น กำหนดให้ช่างซ่อมแซมอิสระสามารถเข้าถึงเครื่องมือในการตรวจสอบแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งข้อมูลในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ พร้อมทั้งระบุให้บริษัทจะต้องมีอะไหล่พร้อมจำหน่ายภายในระยะเวลาที่กำหนดหลังจากที่สินค้าวางขาย เช่น 10 ปีสำหรับเครื่องซักผ้า และ 7 ปีสำหรับตู้เย็น

แนวคิด ‘สิทธิที่จะซ่อม’ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันหลงลืมไปชั่วขณะและถูกชักจูงให้สมาทานค่านิยม ‘ใช้แล้วทิ้ง’ การเปลี่ยนแนวคิดดังกล่าวให้เป็นกฎหมายจึงนับเป็นก้าวสำคัญที่นอกจากจะช่วยเราประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว ยังลดการใช้ทรัพยากรโลกอีกด้วย

การขยับตัวของยักษ์ใหญ่และการผลักดันโดยภาครัฐ

            เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษใหญ่ที่ขึ้นชื่อเรื่องความ ‘หวงแหน’ นวัตกรรมแถมยังย้ำนักย้ำหนาว่าผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการดูแลโดยช่างเทคนิคที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะด้านอย่าง Apple กลับทำในสิ่งที่หลายคนไม่คาดฝันคือประกาศว่าจะให้ผู้บริโภค “ที่สะดวกใจจะซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง” สามารถหาซื้อเครื่องมือพิเศษและอะไหล่สำหรับซ่อมแซม iPhone ที่พังเนื่องจากปัญหาอย่าง หน้าจอแตกร้าว หรือแบตเตอรีเสื่อม ถึงแม้ตอนนี้บริการดังกล่าวจะมีให้เฉพาะ iPhone และลูกค้าในสหรัฐอเมริกา แต่บริษัทคาดว่าจะขยายในครอบคลุมผลิตภัณฑ์และประเทศอื่นๆ ในอนาคต

ปัจจุบัน Apple มีบริการอะไหล่และอุปกรณ์เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซ่อมแซม iPhone ได้ที่บ้าน ภาพจาก Apple

            ปัจจุบัน Apple เปิดจำหน่ายอะไหล่ของ iPhone รุ่น 12 และ 13 ตั้งแต่หน้าจอ แบตเตอรี ลำโพง กล้อง ถาดใส่ซิม และระบบสัมผัส แถมยังสามารถขอเช่าเครื่องมือซ่อมแซมได้ฟรีหากไม่ต้องการควักกระเป๋าสตางค์ซื้อ ส่วนราคาก็สมเหตุสมผล เช่น ชุดเปลี่ยนแบตเตอรี iPhone 13 สนนราคา 70.99 ดอลลาร์หรือราว 2,000 บาท แต่ลูกค้าจะได้รับส่วนลดอีก 24.15 ดอลลาร์หากส่งชิ้นส่วนเก่ากลับคืนมาให้บริษัท นับเป็นการจูงใจให้รีไซเคิลซึ่งช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปในตัว

ส่วนฟากฝั่งรัฐบาลก็สรรหาสารพัดวิธีเพื่อ ‘จูงใจ’ ให้เหล่าบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถซ่อมแซมได้ เช่นฝรั่งเศสที่บังคับใช้กฎหมายให้บริษัทเผยแพร่ ‘ดัชนีซ่อมได้’ (Repairability Index) ของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคและผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

กระแสบริโภคนิยมกระตุ้นให้เราซื้อของใหม่ตลอดเวลา แต่ในโลกที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดย่อมไม่สามารถตอบสนองความต้องการอันไร้ที่สิ้นสุดของมนุษยชาติได้ ทางเลือกในการซ่อมแซมสิ่งของที่เข้าถึงได้ง่าย ราคาประหยัด พร้อมทั้งนำอะไหล่กลับมารีไซเคิลจึงควรเป็น ‘หน้าที่’ ของผู้ผลิตและ ‘สิทธิ’ ของผู้บริโภค เพื่อให้โลกใบนี้ยังมีทรัพยากรเหลือเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง

การจัดแบ่งประเภทตาม Repairability Index ของประเทศฝรั่งเศส

เอกสารประกอบการเขียน

What You Should Know About Right to Repair

Fix, or Toss? The ‘Right to Repair’ Movement Gains Ground

Right to Repair – Briefing

Why is the “right to repair” gadgets and machines spreading?