Skoll World Forum

Skoll World Forum

เมื่อกลางเดือนเมษายน 2557 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์งาน Skoll World Forum on Social Entrepreneurship งานสัมมนาและงานมอบรางวัลการประกอบการเพื่อสังคมระดับโลกที่จัดขึ้นทุกปี ณ เมืองอ็อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ งานนี้จัดโดยมูลนิธิสโกล (Skoll) ซึ่งมีพันธกิจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในวงกว้างผ่านการสนับสนุนด้านการลงทุน การสร้างเครือข่ายและการยกย่องผู้ประกอบการทางสังคมและนวัตกรที่แก้ปัญหาที่เร่งด่วนของโลก

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสโกลคือ เจฟฟ์ สโกล นักธุรกิจระดับโลกชาวแคนาดา คนไทยอาจจะไม่คุ้นชื่อเขานัก  เจฟฟ์คือพนักงานและประธานบริษัทคนแรกของอีเบย์ (eBay) ซึ่งความสำเร็จและการเติบโตอย่างรวดเร็วของอีเบย์ ทำให้เจฟฟ์กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 7 ของประเทศแคนาดา และอันดับที่ 347 ของโลก จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ด้วยความสนใจในการแก้ปัญหาสังคมต่างๆ เจฟฟ์ได้กลายมาเป็นนักการกุศล (philanthropist) ชั้นนำ โดยทำงานการกุศลผ่านมูลนิธิสโกลเป็นหลัก  นอกจากนี้เขายังได้ก่อตั้งบริษัทสร้างหนังอิสระ ชื่อ Participant Media ที่สร้างหนังปลุกกระแสสังคมชื่อดังมากมาย เช่น An Inconvenient Truth และ Food Inc. [1] รวมถึงให้การสนับสนุนการศึกษาด้านการประกอบการเพื่อสังคม ด้วยการบริจาคเงิน 4.4 ล้านปอนด์ให้กับ Saïd Business School โรงเรียนบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด เพื่อก่อตั้งศูนย์ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งสร้างงานวิจัยและสนับสนุนการศึกษาในด้านนี้โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดจึงถือเป็นสถาบันการศึกษาแรกๆ ของโลกที่เน้นสร้างองค์ความรู้  การเรียนการสอนและงานวิชาการในด้านการประกอบการเพื่อสังคม

Jeff Skoll

Jeff Skoll และ Malala ในงาน Skoll World Forum 2014 (ภาพจาก Skoll Foundation)

ในปีนี้งาน Skoll World Forum จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 โดยทุกครั้งจะมีบุคคลสำคัญของโลกตบเท้าเข้าร่วมงานอย่างไม่ขาดสาย เช่น โคฟี่ อันนาน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ดร.มูฮัมมัด ยูนุส แห่งธนาคารเพื่อคนจนกรามีน (Grameen Bank)  ไมเคิล พอร์เตอร์ กูรูด้านการจัดการ และพระราชินีราเนียร์แห่งจอร์แดน เป็นต้น โดยในงานซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสามวันเต็มจะมีทั้งการสัมมนาในประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม วิธีการแก้ปัญหา และนวัตกรรมต่างๆ ในด้านการประกอบการเพื่อสังคมจากกิจการเพื่อสังคม  องค์กรทางสังคมและภาคธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลก

ถึงแม้ว่าจะเป็นที่ชุมนุมของกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ค่าเข้าร่วมงานก็ตกอยู่ในสนนราคาตั้งแต่ 500 – 2,850 เหรียญสหรัฐ โดยขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้าร่วมมาจากองค์กรที่แสวงหากำไรทางการเงินมากน้อยเพียงใด ซึ่งในปีนี้ก็มีคนเข้าร่วมนับพันคนจาก 60 ประเทศทั่วโลก สำหรับผู้เขียนเลือกเข้าร่วมเฉพาะงานในส่วนที่เป็นหัวใจหลัก คือการประกาศรางวัลการประกอบการเพื่อสังคมยอดเยี่ยม ซึ่งราคาบัตรพอจะเป็นมิตรกับคนไทยอย่างเราๆ

องค์กรที่ได้รับรางวัลสโกลนั้นต้องถือว่าเป็นสุดยอดของกิจการเพื่อสังคม  เนื่องจากมูลนิธิสโกลพิจารณาให้รางวัลแก่องค์กรที่มีนวัตกรรมที่พิสูจน์แล้วว่าแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของโลกได้ รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและมีผลลัพธ์ทางสังคม (impact) ที่ชัดเจน โดยมูลนิธิสโกลจะมอบรางวัลให้กับองค์กรที่ทำงานในประเด็นปัญหาเหล่านี้

  • การตัดไม้ทำลายป่า
  • โอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจ
  • การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การเข้าถึงบริการและการรักษาด้านสุขภาพ
  • ความมั่นคงทางอาหารและผลผลิตของผู้เพาะปลูกรายย่อย
  • สันติภาพและความปลอดภัยของมนุษย์
  • ตลาดที่ยั่งยืน
  • น้ำสะอาดและสุขอนามัย

มูลนิธิจะทำการคัดเลือกกิจการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยมีเกณฑ์คร่าวๆ คือ สรรหาองค์กรที่นำโดยผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่นำวิธีการแก้ปัญหาทางสังคมใส่เข้าไปในกระบวนการทำงานขององค์กร  ต้องเป็นกิจการที่แก้ปัญหาเร่งด่วนของโลกตามประเด็นที่มูลนิธิระบุไว้ข้างต้น กิจการต้องมีนวัตกรรมที่แก้ปัญหาในแบบที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงตั้งแต่ระดับฐานราก เพื่อแก้ปัญหาความไม่ยั่งยืนและความไม่เป็นธรรมของระบบที่เคยเป็นๆ มา  กิจการต้องมุ่งเป้าสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในวงกว้างเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบาย พฤติกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมีผลงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบผลสำเร็จ รวมถึงต้องมีแบบจำลองทางธุรกิจ (business model) ที่ชัดเจนที่ทำให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเติบโตได้ในระยะยาว  (องค์กรที่จะได้รับรางวัลสโกลมักจะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้กลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 1 ล้านคน) กิจการมีพันธมิตรที่จะทำให้ผลลัพธ์ทางสังคมขยายไปในวงกว้างได้ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาค  นอกเหนือจากการได้รับการยกย่องว่าเป็น “ที่สุด” ในด้านการประกอบการเพื่อสังคมแล้ว ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ยังได้รับเงินทุนให้เปล่าอีกรายละ 1.25 ล้านเหรียญสหรัฐ  และเงินสนับสนุนในด้านที่จำเป็นเพื่อขยายกิจการและผลลัพธ์ทางสังคม และเข้าถึงเครือข่ายของผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านต่างๆ ของโลก

ในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา มีกิจการเพื่อสังคมระดับโลกหลายสิบแห่งที่ได้รับรางวัลสโกล องค์กรที่อาจจะพอคุ้นหูกันบ้างก็อย่างเช่น Kiva.org, Khan Academy, ธนาคารกรามีน และ Teach for All ส่วนกิจการเพื่อสังคมในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราก็มีหลายแห่ง เช่น Proximity Design ที่ใช้การออกแบบและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรในประเทศพม่า Digital Divide Data หรือ DDD ที่ฝึกสอนอาชีพไอทีให้ผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสในลาว กัมพูชาและเคนยา Friends International ที่เปิดโอกาสการเรียนรู้และฝึกทักษะอาชีพให้เด็กไร้บ้านในกัมพูชา ลาว และประเทศไทย รวมถึงสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนหรือ PDA ของคุณมีชัย วีระไวทยะ ก็ได้รับรางวัลด้านการพัฒนาสาธารณสุขที่สมาคมทำงานอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ

สำหรับปีนี้ มีองค์กรที่ได้รับรางวัลสโกลมากถึง 7 แห่งจากหลากหลายสาขาและพื้นที่การทำงาน ดังนี้

1. Global Witness จากอังกฤษ ซึ่งเล็งเห็นปัญหาจากการที่แหล่งทรัพยากรสมบูรณ์ในประเทศยากจนมักเป็นปัจจัยดึงดูดการเอาเปรียบ  การใช้อิทธิพล  การละเมิดสิทธิมนุษยชนและคอร์รัปชั่นเพื่อแย่งชิงทรัพยากรเหล่านั้น    Global Witness จึงทำหน้าที่ขุดคุ้ยหลักฐาน ทำแคมเปญ และเปิดโปงเครือข่ายบริษัทไร้นามทั่วโลก (Anonymous) เพื่อหาทางออก ในช่วง ค.ศ. 2002-2011 เงินผิดกฎหมายที่อยู่ในวงจรคอร์รัปชั่นในประเทศกำลังพัฒนามีมูลค่ารวมกันสูงถึงกว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

งานแรกของ Global Witness คือ การเปิดโปงกระบวนการค้าไม้ข้ามชาติของผู้นำเขมรแดง ที่ส่งไม้เข้ามาป้อนธุรกิจที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยในช่วงค.ศ. 1995 ซึ่งรัฐบาลไทยในขณะนั้นให้การปฏิเสธ และกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก

2. B Lab จากสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ B Lab จะเป็นกิจการเพื่อสังคมที่เพิ่งก่อตั้งไม่นาน แต่สามารถสร้างความเคลื่อนไหวในวงกว้างในการเปลี่ยนคำจำกัดความของ “ธุรกิจ” B Lab ต้องการให้บริษัทต่างๆ ไม่แข่งขันกันเพียงเพื่อจะเป็นบริษัทที่เก่งที่สุดในโลก แต่แข่งขันกันเพื่อเป็นบริษัทที่ “ดี” ที่สุดของโลก โดยการสร้างมาตรฐาน ผลักดันกฎหมายและนโยบายเพื่อรับรองบริษัทในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Benefit Corporation หรือ B Corp หรือบริษัทที่สามารถสร้างผลลัพธ์ทางการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของสังคม นอกเหนือไปจากการสร้างผลกำไรเพื่อผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว  ปัจจุบันกฎหมายรับรองบริษัทแบบ B Corp ได้รับการอนุมัติแล้วใน 20 รัฐของสหรัฐอเมริกาและมีบริษัทกว่า 16,000 แห่งเข้าร่วมมาตรฐานนี้

b-corp header

ตราสินค้าของธุรกิจที่ได้รับการรับรองให้ได้ตรา B Corp จาก B Lab (ภาพจาก www.bcorporation.net)

3. Fundación Capital จากประเทศโคลัมเบีย ซึ่งทำงานกับกลุ่มคนจนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้  ประชากรกลุ่มนี้มีมากกว่า 2.5 พันล้านคนทั่วโลก  Fundación Capital ทำงานกับคนกว่า 3 ล้านคน เพื่อให้ความรู้ด้านการออม  การลงทุน การขยายทรัพย์สิน การเข้าใจปัจจัยเสี่ยงและการบริหารเงินเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน รวมทั้งจัดหาเงินทุนและโอกาสทางการเงินต่างๆ ให้ นอกจากนี้ยังทำงานผลักดันนโยบายสาธารณะ สร้างกลไกตลาดและผสานเทคโนโลยีเพื่อจะช่วยคนจนให้ได้ถึง 100 ล้านคนภายใน ค.ศ.2030

4. Girls not Brides จากอังกฤษ องค์กรนี้ทำงานสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับองค์กรทางสังคมตั้งแต่ระดับรากหญ้าถึงระดับนานาชาติกว่า 300 แห่งใน 50 ประเทศ เพื่อร่วมกันผลักดันการแก้ปัญหาเด็กหญิงที่ถูกบังคับให้ต้องแต่งงานก่อนถึงวัยอันควร อันเกิดมาจากความเชื่อและประเพณี เพราะในแต่ละปีจะมีเด็กหญิงในหลายๆ ประเทศของโลกถูกบังคับให้แต่งงานมากกว่า 14 ล้านคน การต้องเป็นภรรยาหรือแม่ก่อนวัยอันควรเป็นการริดรอนสิทธิด้านสุขภาพจากการมีเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ในวัยที่ร่างกายยังไม่พร้อม เสียสิทธิด้านการศึกษา เสียโอกาสในการใช้ชีวิตในวัยเด็ก และเสียโอกาสในอนาคต

5. Medic Mobile จากสหรัฐอเมริกา ทำงานแก้ปัญหาสุขภาพของคนยากจนในท้องถิ่นทุรกันดาร  คนกว่าพันล้านคนบนโลกไม่เคยมีโอกาสพบแพทย์แม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต  ในขณะที่ 95% ของประชากรโลกสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Medic Mobile จึงใช้เทคโนโลยีง่ายๆ อย่างการส่งข้อความสั้น (SMS) และ application เพื่อเชื่อมโยงคนในชุมชนห่างไกลเข้ากับการบริการทางสุขภาพโดยเครือข่ายแพทย์ นักสาธารณสุข  ผู้ดูแลผู้ป่วย  และคนไข้ ข้อมูลสุขภาพเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพให้แพทย์สามารถศึกษาผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล  และสามารถแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาต้องไปพบแพทย์

Medic Mobile ทำงานกับเครือข่ายผู้ทำงานทางสุขภาพและการแพทย์กว่า 8,000 คนและเข้าถึงประชากรกว่า 6 ล้านคนใน 20 ประเทศ

6. Slum Dwellers International (SDI) จากแอฟริกาใต้ SDI ทำงานกับชุมชนแออัดเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม  การพึ่งพาตนเอง การรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองและการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนแออัด เช่น การเข้าถึงส้วม น้ำสะอาด และการออม   โครงการของ SDI ทำงานใน 500 เมืองทั่วโลก ประสานงานกับกลุ่มออมทรัพย์สลัมกว่า 15,000 แห่งและสร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้คนกว่า 1 ล้านคน  SDI ผลักดันการทำสัญญากว่า 20 ฉบับกับรัฐบาลระดับชาติและช่วยให้ครอบครัวกว่า 130,000 ครอบครัวได้สิทธิในที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย

7. Water & Sanitation for the Urban Poor (WSUP) จากอังกฤษ WSUP ทำงานกับคนยากจนที่อพยพเข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการน้ำสะอาดและส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  ซึ่งความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นนี้กลายเป็นภาระหนักอึ้งของรัฐบาล พวกเขาจึงต้องรอการช่วยเหลือจากองค์กรการกุศลต่างๆ  WSUP เปลี่ยนโมเดลการกุศลที่มาจากการรอรับบริจาคให้กลายเป็นโมเดลทางธุรกิจเพื่อจะทำให้คนกว่า 2 ล้านคนในสลัม 6 ประเทศสามารถเข้าถึงน้ำดื่ม น้ำใช้ และส้วมที่สะอาด WSUP โดยเปลี่ยนความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ให้กลายเป็นกิจการที่บริหารโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มาจากในสลัมเอง

จากการศึกษาตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัลสโกล ทั้งกิจการเพื่อสังคมแบบไม่แสวงหากำไร หรือแสวงหากำไร  เราจะเห็นว่ากิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จจนได้รับการยกย่องในระดับโลกนั้นมีองค์ประกอบที่คล้ายๆ กันคือ

  • การระบุปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องการจะแก้ไขได้อย่างเฉพาะเจาะจง  กิจการเหล่านี้ไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหาหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน หรือพยายามแก้ปัญหาในลักษณะ “ครอบจักรวาล” เมื่อมีการพุ่งเป้าไปที่ปัญหาได้ชัดเจน กลุ่มเป้าหมายทางสังคมก็มีความชัดเจนด้วย
  • ปัญหาที่แต่ละกิจการเลือกจะเป็นปัญหาใหญ่ หรือประเด็นเร่งด่วนที่สร้างผลกระทบให้กับคนจำนวนมหาศาล และมีอยู่ในหลายๆ เมืองหรือประเทศ ซึ่งเมื่อสามารถหาทางแก้ให้กับที่ใดที่หนึ่งได้แล้ว  การขยายกิจการ (Scale up) จึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและขยายสู่วงกว้างได้
  • มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหา  เช่น ไอที โมเดลทางธุรกิจใหม่  ความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ  เพื่อการแก้ปัญหาที่ฉีกรูปแบบไปจากเดิมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • มีการวัดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างสม่ำเสมอเพื่อจะได้รู้ถึงความก้าวหน้าและผลลัพธ์จากการแก้ไขปัญหาสังคมของกิจการ มีการตั้งเป้าหมายทางสังคมเป็นแผนระยะยาวและมุ่งสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในระดับมหภาค
  • หลายกิจการทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือกิจการเพื่อสังคมอื่นที่มีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมๆ กันในหลายพื้นที่ทั่วโลก  และแบ่งปันประสบการณ์ต่อกัน เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น

ประสบการณ์และการทำงานของกิจการเพื่อสังคมที่ได้รางวัลสโกลในครั้งนี้ จึงน่าจะมีประโยชน์กับกิจการเพื่อสังคมของไทย เพื่อที่ว่าในอนาคตเราจะได้มีกิจการเพื่อสังคมของไทยที่สามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในวงกว้างได้แบบนี้บ้าง  หรือสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมสู่คนเป็นล้านคนโดยไม่จำกัดภูมิภาค เพราะจริงๆ แล้วปัญหาสังคมหลายๆ อย่างของไทย ก็มีความคล้ายคลึงกับปัญหาที่มีในประเทศเพื่อนบ้าน หรือในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ  หากวันหนึ่งเรามีผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่สามารถปลดล็อคปัญหาเหล่านั้นได้ เราก็อาจจะได้เห็นกิจการเพื่อสังคมสัญชาติไทยที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนจำนวนมหาศาลในระดับโลกก็เป็นได้

 


[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Jeffrey_Skoll