ด้วยความสนใจในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) หรือธุรกิจที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมและสามารถสร้างผลตอบแทนทั้งทางการเงินและทางสังคมได้อย่างยั่งยืน ผู้เขียนจึงพยายามทำความเข้าใจกับธุรกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศ และพบว่าธุรกิจเพื่อสังคมในแต่ละประเทศมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ที่สหราชอาณาจักร กิจการส่วนใหญ่จะเน้นไปในรูปแบบของการไม่แสวงหากำไร และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างดี ที่สหรัฐอเมริกาภาคเอกชนเป็นผู้ผลักดันให้ธุรกิจลักษณะนี้เติบโต
ส่วนในบ้านเรา เมื่อ 5-6 ปีก่อนแนวความคิดเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมยังมีการรับรู้อยู่ในวงจำกัด ก่อนจะเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ อินเดีย เพราะถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดของธุรกิจเพื่อสังคมที่มีนวัตกรรมสูง โดยเน้นการแก้ปัญหาความต้องการพื้นฐานให้คนที่มีรายได้น้อยอยู่ในระดับล่างสุดของปิรามิดรายได้หรือตลาด BOP (Base of the Pyramid) ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน เช่น โรงพยาบาลตา Aravind ที่มีการผ่าตัดโรคต้อมากที่สุดในโลก และนำกำไรที่ได้จากคนไข้ที่มีเงินมาบริหารเพื่อรักษาคนจนในราคาถูกหรือฟรี รวมถึงร่วมกับบริษัท Aurolab ผลิตแก้วตาเทียมโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ทำให้ต้นทุนในการผลิตลดจาก 150 เหรียญสหรัฐเหลือเพียง 10 เหรียญต่อคู่ หรือผลิตข้อเข่าเทียมราคาถูก “Jaipur Knee” โดยใช้ทักษะในการออกแบบและเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากจะขายได้ในราคาเพียง 20 เหรียญแล้ว ยังช่วยให้ผู้พิการขาเคลื่อนไหวได้คล่องตัวกว่าวิธีเดิมๆ
ด้วยความสงสัยใคร่รู้ ในปีพ.ศ. 2555 ผู้เขียนจึงเดินทางไปฝึกงานกับธุรกิจเพื่อสังคมด้านการเงินน้องใหม่ชื่อ “Varthana” ที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดียเป็นเวลา 7 สัปดาห์ และได้เข้าร่วมงาน Sankalp Forum ซึ่งถือเป็นงานสัมมนาด้านการลงทุนเพื่อสังคม (Impact Investing) ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียและของเอเชียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้ลักษณะเฉพาะและบรรยากาศของธุรกิจเพื่อสังคมที่นั่น รวมถึงเพื่อหาคำตอบว่า “ทำไม” อินเดียถึงได้เป็นตลาดที่เนื้อหอมของนักลงทุนและผู้ประกอบการเพื่อสังคมจากนานาชาติ
วิกฤตที่กลายเป็นโอกาสของ Varthana
อย่างที่ทราบกันว่าธุรกิจกระแสหลักต้องเน้นผลตอบแทนทางการเงินเป็นหลัก แต่ธุรกิจเพื่อสังคมเน้นการใช้ทักษะทางธุรกิจมาเป็นตัวแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และหวังจะเห็นความยั่งยืนทั้งในทางสังคมและทางการเงิน ดังนั้น “วิกฤต” ต่างๆ จึงเป็น “โอกาส” เสมอของผู้ประกอบการในธุรกิจเพื่อสังคม โดยเฉพาะที่อินเดีย ประเทศที่เป็นบ้านของประชากรกว่า 1.2 พันล้านคน มากเป็นอันดับสองของโลก (และจากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ.2028 อินเดียจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกที่ 1.45 พันล้านคน) เพราะที่นี่มีปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจนติดอันดับโลก เนื่องจากประชากรกว่า 68% มีรายได้น้อยกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน ประชากรกว่า 97 ล้านคนไม่มีน้ำสะอาดใช้ เด็กๆ กว่า 600,000 คนเสียชีวิตด้วยโรคท้องร่วงและโรคที่มาจากน้ำปนเปื้อนในแต่ละปี ประชากร 800 ล้านคนไม่มีส้วมใช้ คน 1 ใน 3 ของประเทศไม่มีไฟฟ้าใช้ และในจำนวนเดียวกันไม่ได้รับการศึกษา รวมถึงปัญหาอื่นๆ อีกมาก อินเดียจึงเปรียบเสมือนขุมทองของผู้ที่อยากสร้างธุรกิจเพื่อสังคม เพราะมี “โอกาส” ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่มากมาย
เมืองที่ผู้เขียนไปอยู่คือบังกาลอร์ เป็นเมืองหลวงของรัฐกรณาฎกะ อยู่ทางอินเดียใต้ มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเทคโนโลยีหรือไอที จนได้สมญานามว่าเป็น “Silicon Valley” แห่งเอเชีย นอกจากจะมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจของประเทศแล้ว บังกาลอร์ยังเป็นเมืองที่ชาวต่างชาติจำนวนมากซึ่งสนใจธุรกิจเพื่อสังคมเลือกเป็นที่ตั้งกิจการ ที่นี่จึงเป็นบ้านของธุรกิจเพื่อสังคมที่มีความหลากหลาย เช่น Embrace ซึ่งจำหน่ายผ้าห่อตัวเด็กที่ควบคุมอุณหภูมิได้เพื่อทดแทนตู้อบทารกหลังคลอดที่มีราคาสูงเกินไปสำหรับคนจน ผ้าห่อของ Embrace ใช้พลังงานไม่มากและสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ก่อนที่จะนำไปใช้ในที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง Simpa Networks ธุรกิจเพื่อสังคมที่ให้บริการไฟฟ้าโดยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในแต่ละบ้าน แต่เก็บเงินโดยใช้โมเดลการจ่ายเงินแบบล่วงหน้า (prepaid) เหมือนที่คนทั่วไปคุ้นเคยกับโทรศัพท์มือถือ หรือ Milaap เว็บไซต์ที่ให้เงินกู้แก่คนจน (คล้าย Kiva.org) Yourstory.in สื่อที่เผยแพร่เรื่องของธุรกิจเพื่อสังคมให้เป็นที่รู้จัก และ Babajobs เว็บไซต์หางานของคนรายได้น้อย
ในบังกาลอร์ ผู้คนที่ทำงานด้านธุรกิจเพื่อสังคมจะรู้จักกันเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่มาจากต่างชาติ ผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือคนเชื้อสายอินเดียที่เกิดและเติบโตในประเทศตะวันตกแล้วเดินทางกลับมาเพื่อรู้จักและพัฒนาบ้านเกิด นักศึกษาจากต่างชาติที่มาดูงาน ฝึกงาน นอกจากจะมีคนหน้าใหม่ๆ และไอเดียใหม่ให้ทำความรู้จักอย่างสม่ำเสมอแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมให้พบปะกันในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ทั้งการสัมมนา การประกวดแผนธุรกิจ การทำความรู้จักกับนักลงทุน การสังสรรค์ระหว่างผู้ประกอบการซึ่งเกิดขึ้นแทบจะทุกสัปดาห์ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแนะนำเครือข่าย หรือเข้าหานักลงทุนจากธุรกิจหนึ่งให้อีกธุรกิจหนึ่งเกิดขึ้นได้เองอย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับขั้นตอนในการทำธุรกิจหรือธุรกรรมในอินเดียที่แสนจะซับซ้อนและเป็นทางการ เช่น หากคุณเป็นชาวต่างชาติที่ไปทำงานที่นั่นแล้วต้องการจะซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ คุณจะต้องใช้รูปถ่ายและแสดงหนังสืออนุญาตทำงานและเอกสารอื่นๆ อีกหลายหน้า ส่วนการทำความรู้จักกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมสักคนใช้เวลาสั้นกว่านั้นมาก
Varthana กิจการที่ผู้เขียนไปฝึกงานด้วยเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการอเมริกันและอินเดียที่ต้องการแก้ไขปัญหาการศึกษา โดยบริษัทมองข้อมูลทางด้านประชากรศาสตร์ของอินเดียและปัญหาการศึกษาของอินเดียเป็นโอกาส อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ยังไม่เข้าสู่ยุคของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) (สังคมซึ่งประชากรที่เข้าวัยชราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด) ซึ่งกลายเป็นปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป หรือแม้กระทั่งจีนที่เริ่มมีความกังวลว่าสัดส่วนของคนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังสำคัญของตลาดแรงงานกำลังลดลง (ประเทศไทยเองก็เริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 และสัดส่วนคนชราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) แต่อินเดียกลับมีประชากรเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง และประชากรกว่า 32% อายุต่ำกว่า 14 ปี (ขณะที่จีนและสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 20%) การที่ประเทศเต็มไปด้วยเยาวชนจึงถือเป็นโอกาสใหญ่ของธุรกิจการศึกษา
ในอินเดียเด็ก 38% เรียนในโรงเรียนรัฐบาล 29% เรียนในโรงเรียนเอกชน และ 33% ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ปัญหาใหญ่ในกลุ่มที่ไปโรงเรียนคือการเลิกเรียนกลางคัน เด็กๆ 27% ต้องออกจากโรงเรียนในระดับอนุบาล (primary level) 41% ต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนที่จะจบการศึกษาในระดับประถม (secondary level)
Varthana ให้บริการกู้เงินแก่กลุ่มโรงเรียนเอกชนราคาประหยัด (Affordable Private School) ที่มีอยู่ถึง 250,000 แห่งทั่วประเทศ รองรับนักเรียนกว่า 100 ล้านคน โรงเรียนเอกชนราคาประหยัดนี้เป็นที่พึ่งของคนชั้นกลางและคนรายได้น้อยซึ่งยอมลงทุนส่งเสียบุตรหลานเพื่อให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพกว่า เพราะแม้ว่าโรงเรียนรัฐบาลจะมีให้บริการอยู่มากมายทั่วประเทศ แต่คุณภาพครู การเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ต่าง เช่น ห้องน้ำ ห้องเรียน กลับต่ำกว่าโรงเรียนเอกชน
โรงเรียนเอกชนราคาประหยัดส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการในรูปแบบธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก เก็บเงินจากผู้ปกครองในราคาถูก เช่น เดือนละ 300-550 รูปี ต่อเด็ก 1 คน (ประมาณ 165-302 บาท) การขยายธุรกิจจึงทำได้ยากเพราะกำไรน้อย เมื่อต้องการกู้เงินเพื่อขยายกิจการจึงไม่เป็นที่สนใจของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่หากจะหันไปหาสถาบันไมโครไฟแนนซ์ พวกเขาก็มีขนาดใหญ่เกินไป โรงเรียนเหล่านี้จึงมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ขาดโอกาสในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับนักเรียนมากขึ้น หรือเพื่อปรับปรุงห้องเรียน อุปกรณ์การเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างห้องน้ำ อาหารกลางวัน สนามเด็กเล่น ห้องสมุดให้ดีขึ้น บริษัทที่ลงทุนเพื่อสังคมจากสหรัฐอเมริกาชื่อ GrayGhost Ventures เป็นบริษัทแรกที่สนใจลงทุนในตลาดการศึกษานี้ในไฮเดอราบัดเมื่อปี ค.ศ.2010 โดยตั้งธุรกิจเพื่อสังคมชื่อ Indian School Finance Company ให้บริการเงินกู้แก่โรงเรียนในจำนวน 400,000-5,000,000 รูปี (ประมาณ 220,000-2,750,000 บาท) และมีลูกค้ากว่า 650 โรงเรียนใน 4 รัฐ
แม้ไม่ใช่เจ้าแรกในตลาด แต่ Varthana มองว่าด้วยจำนวนโรงเรียนเอกชนราคาประหยัดที่มีอยู่มากในทุกรัฐของอินเดีย จึงยังมีอุปสงค์และโอกาสในการขยายกิจการ (Scale up) สูงในตลาดนี้ พวกเขาไม่ได้ใช้เงินกู้เป็นเครื่องมือเดียวที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่ทำงานเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพของโรงเรียน เช่น การเรียนการสอนทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ราคาประหยัด การเข้าถึงเนื้อหาในระดับนานาชาติผ่านเว็บไซต์หรือ Social Media ของครูอย่าง Gooru ที่สนับสนุนโดย Google หรือ Edmodo ที่เปรียบเหมือน Facebook ที่ใช้ระหว่างครูและนักเรียน
Varthana เป็นธุรกิจเพื่อสังคมแบบแสวงหากำไร พวกเขาระดมทุนจากนักลงทุนที่มีอยู่มากมายทั้งจากสหรัฐอเมริกา และในอินเดียเอง ทั้งจากนักลงทุนรายบุคคลและนักลงทุนสถาบัน ทั้งในรูปแบบของ Debt และ Equity ในช่วงระดมทุน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททั้งสองคนจะเดินทางไปทั่วอินเดีย พูดคุยขายไอเดียกับนักลงทุนที่อยู่ในเมืองใหญ่ เช่น มุมไบ นิวเดลี เชนไน ไฮเดอราบัด และที่บังกาลอร์เอง หรือคุยสไกป์กับนักลงทุนในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะจากซานฟรานซิสโก ซีแอตเติล ซึ่งการลงทุนเพื่อสังคมเป็นที่นิยม หรือเมืองทางการเงินกระแสหลักอย่างนิวยอร์ค สิ่งที่น่าสนใจ คือ Varthana ได้เงินลงทุนจากนักลงทุนหลากหลายประเภท บางคนให้เงินด้วยความสัมพันธ์ฉันเพื่อน เหมือนจุดเริ่มต้นทั่วไปของกิจการเกิดใหม่ (Start-up) หลายๆ ที่ บางคนเป็นนักลงทุนเพื่อการกุศล (Venture Philanthropy) ซึ่งต้องบริหารกองทุนของครอบครัวที่มั่งคั่งโดยมองหากิจการที่สร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม บางคนเป็นนักลงทุนเพื่อสังคมแบบแสวงหากำไรที่มองหากิจการซึ่งให้ผลตอบแทนดีทั้งทางสังคมและการเงิน และบางคนเป็นนักลงทุนกระแสหลักทั่วไปที่ลงทุนเพื่อผลตอบแทนทางการเงินที่ดี โดยไม่ได้พิจารณาผลกระทบทางสังคมร่วมด้วย
Varthana เริ่มเข้าหานักลงทุนจากรายชื่อเพียง 1 หน้ากระดาษที่พวกเขารู้จักและคิดว่าน่าจะสนใจในกิจการนี้ แต่ด้วยการแนะนำของเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมทั้งในบังกาลอร์ อินเดียและสหรัฐอเมริกา รายชื่อของนักลงทุนก็ยาวขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาไม่ได้โชคดีทุกครั้งที่ขายไอเดีย เพราะนักลงทุนเพื่อสังคมเองก็มีรสนิยมในการลงทุนและชอบความเสี่ยงไม่เหมือนกัน บางกองทุนเลือกกิจการที่เกี่ยวกับสตรี เด็กเล็ก เทคโนโลยี พลังงาน หรืออย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือเลือกที่จะลงทุนในช่วงขยายธุรกิจ (Scale up) ไม่ใช่ในช่วงตั้งใหม่ (Start up) แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ ในอินเดียเองมีนักลงทุนทั้งรายบุคคลและสถาบันจำนวนมากที่มองหาโมเดลทางธุรกิจที่น่าสนใจตลอดเวลา และนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาเองก็มองหาโอกาสที่ดีในอินเดียเช่นกัน เรียกว่าในขณะที่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมในบ้านเราตั้งคำถามตลอดเวลาว่าจะหาแหล่งเงินทุนได้จากไหน และอาจจะเริ่มต้นหาจากนักลงทุนรายบุคคล (Angel Investor) เพราะเราไม่คุ้นเคยกับนักลงทุนแบบ Venture Capital หรือนักลงทุนทางสังคม (Impact Investor) แต่ในเมืองใหญ่ของอินเดีย ทุกเมืองมีนักลงทุนแบบนี้อยู่มากมาย ทั้งนักลงทุนภายในประเทศและกองทุนที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ
ติดตามอ่านในตอนต่อไปที่พูดถึงภาพกว้างของการลงทุนเพื่อสังคมในอินเดีย