ในเดือนมิถุนายน 2564 Madison Square Garden สถานที่จัดแสดงงานชื่อดังของสหรัฐฯ ได้จัดคอนเสิร์ตของวง Foo Fighters แบบเต็มความจุเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ขณะที่ทางฝั่งเกาะอังกฤษก็มีการจัดเทศกาลดนตรีสุดหนักหน่วง Download Festival ซึ่งเป็นการจัดเทศกาลดนตรีในสหราชอาณาจักรแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด 19 เช่นกัน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่าหมื่นคน
การกลับมาของงานคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวข้างต้น แม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมดนตรี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าอุตสาหกรรมดนตรี รวมถึงคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรี เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากพลังงานที่ใช้ในการจัดงาน การเดินทางของผู้คนจำนวนมาก รวมถึงการผลิตสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายในงาน ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Julie’s Bicycle ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2553 ได้ประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการจัดคอนเสิร์ตในสหราชอาณาจักรว่าอยู่ที่ 405,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) มากที่สุด คือ การใช้พลังงงานของสถานที่จัดงาน และการเดินทางของผู้ชม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์โควิด 19 จะหันเหความสนใจของอุตสาหกรรมดนตรีออกจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่บุคลากรในอุตสาหกรรมดนตรีบางส่วนก็ยังตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนของปัญหาดังกล่าว
Music Declares Emergency ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายศิลปิน บุคลากร บริษัท และองค์กรในอุตสาหกรรมดนตรี ถือเป็นกลุ่มเครือข่ายที่ยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสถานการณ์โควิด 19 โดยกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวได้จัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้ชื่อ No Music On A Dead Planet ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา เพื่อสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2573
ตัวอย่างการดำเนินการของศิลปิน/ค่ายเพลงที่เข้าร่วม Music Declares Emergency บางส่วน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าชัดเจน เป็นรูปธรรม และสามารถเป็นแนวทางให้ศิลปินหรือบริษัทในอุตสาหกรรมดนตรีของไทยนำไปปรับใช้ได้ คือ ค่ายเพลงอย่าง Beggars Group และ Ninja Tune รวมถึงศิลปินอย่าง Massive Attack
Beggars Group เป็นค่ายเพลงในสหราชอาณาจักรซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2516 และมีค่ายเพลงย่อยที่เป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนฟังเพลงอินดี้ ได้แก่ 4AD, Matador, Rough Trade Records, XL Recordings และ Young ทั้งนี้ Beggars Group ประกาศคำมั่นว่าจะเป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) สำหรับการดำเนินธุรกิจในสหราชอาณาจักรภายในปี 2565 และภายในปี 2567 สำหรับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท ค่ายเพลงย่อย ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ในอัตราร้อยละ 46 ภายในปี 2573 (เทียบกับปีฐาน 2562) เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกินร้อยละ 1.5 เทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เช่น การลดการใช้พลังงานและไฟฟ้า การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่อาคารสำนักงานใหญ่ การใช้เทคโนโลยีที่ลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตซีดีและแผ่นเสียง การบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การลดการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ รวมถึงการสร้างความตระหนักด้านความยั่งยืนให้กับบุคลากรของบริษัท ส่วนในกรณีที่บริษัทไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ บริษัทก็จะลงทุนเพิ่มเติมในโครงการที่ป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงโครงการที่ช่วยลดหรือกักเก็บคาร์บอนเพิ่มเติม นอกจากนี้ บริษัทยังประกาศว่าจะเปิดเผยรายงาน Emission Inventory Report ทุกปี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย
Ninja Tune เป็นค่ายเพลงอินดี้ในสหราชอาณาจักรอีกค่ายหนึ่ง ที่ประกาศคำมั่นว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2564 และจะเป็น Carbon Negative ในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทได้มีการดำเนินการ อาทิ การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่อาคารสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ส่วนอาคารสำนักงานของ Ninja Tune ในหลายเมือง เช่น ลอสแองเจลิส (สหรัฐอเมริกา) กรุงเบอร์ลิน (เยอรมนี) ก็หันมาใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมนุเวียนทั้งหมด รวมถึงในกระบวนการผลิตสินค้าด้วย (ซีดี แผ่นเสียง) โดยบริษัทหยุดใช้กล่องพลาสติกบรรจุซีดีตั้งแต่ปี 2551 และหันมาใช้วัสดุจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืนหรือวัสดุรีไซเคิลแทน นอกเหนือจากการเลือกที่จะผลิตแผ่นเสียงน้ำหนัก 140 กรัม แทน 180 กรัม เนื่องจากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า เป็นต้น
Massive Attack ศิลปินทริปฮอปรุ่นใหญ่ ก็ออกมาเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน โดย Robert Del Naja สมาชิกหลักของ Massive Attack ให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของวงดนตรีหรืออุตสาหกรรมดนตรี ไม่ใช่การยกเลิกการทัวร์คอนเสิร์ตหรือยกเลิกการจัดเทศกาลดนตรี หากแต่คือการปรับรูปแบบหรือวิธีการดำเนินการที่ช่วยลดผลกระทบดังกล่าว
แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการดนตรี มีศิลปินหรือวงดนตรีหลายวงให้ความสำคัญกับการทัวร์คอนเสิร์ตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น Billie Eilish ศิลปินจากสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าทัวร์คอนเสิร์ตของเธอจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก และกระตุ้นให้แฟนเพลงนำขวดน้ำมาเอง ขณะที่วง Coldplay ก็ประกาศหยุดทัวร์คอนเสิร์ตสนับสนุนอัลบั้ม Everyday Life เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทัวร์คอนเสิร์ต รวมไปถึงความพยายามที่จะทำให้การทัวร์คอนเสิร์ตเป็นกลางทางคาร์บอนด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม Robert Del Naja เห็นว่า การที่วงดนตรีเพียงวงเดียวยกเลิกการทัวร์คอนเสิร์ตนั้น ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และมีความพยายามที่จะขยายแนวทางการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้มีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของสหราชอาณาจักรตามความตกลงปารีส โดยในปี 2562 Massive Attack ได้ร่วมกับ Tyndall Centre for Climate Change Research ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำการศึกษาและจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อมุ่งสู่การจัดคอนเสิร์ตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ (Roadmap to Super-Low Carbon Live Music) โดยได้เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564
ความน่าสนใจของแผนปฏิบัติการดังกล่าวอยู่ที่การระบุเป้าหมายว่า ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานของสถานที่จัดคอนเสิร์ต และจากการเดินทางของศิลปิน/วงดนตรี ให้เป็นศูนย์ (Zero Emission) ภายในปี 2578 อันเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานและท้าทายกว่าเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) ร่วมด้วย
นอกจากนี้ แผนปฏิบัติการดังกล่าวยังระบุชัดเจนว่า การลดการปล่อยคาร์บอนในการจัดคอนเสิร์ตเป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ค่ายเพลง ผู้จัดงานคอนเสิร์ต/เทศกาลดนตรี เจ้าของสถานที่จัดงาน ผู้ชม ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวปฏิบัติเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน เช่น
- การเลือกสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่มีมาตรการลดการใช้พลังงานของอาคาร สถานที่มีระบบและเครื่องมืออุปกรณ์ติดตั้งพร้อมใช้ (Plug and Play) เพื่อลดการขนย้ายให้มากที่สุด รวมถึงมีการติดตั้งและใช้พลังงานหมุนเวียน
- การออกแบบการแสดงที่ลดการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ หรือการเช่าเครื่องมืออุปกรณ์จากผู้ให้บริการในพื้นที่ เพื่อลดการขนย้าย
- การลดคาร์บอนจากการเดินทางของศิลปิน/วงดนตรี ทั้งการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การยกเลิกเครื่องบินส่วนตัว การวางแผนเส้นทางทัวร์คอนเสิร์ตที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางให้มากที่สุด
- การประสานกับหน่วยงานหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ชมเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และสร้างประสบการณ์การเดินทางให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง
- การจัดตั้งกองทุนและการส่งเสริมให้สถานที่จัดงานสามารถปรับปรุงการใช้พลังงานได้ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้แก่สถานที่จัดงานที่มีการจัดทำแผนพัฒนาปรับปรุงการใช้พลังงานแบบรายปี
Massive Attack ตอบสนองต่อแผนปฏิบัติการดังกล่าว โดยวงได้วางแผนและออกแบบระบบในการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะทดลองนำร่องสำหรับการทัวร์คอนเสิร์ตของวงในปี 2565 รวมถึงการประกาศว่า จะร่วมกับนักอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม Dale Vince จากบริษัท Ecotricity ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานสีเขียว (Green Energy) เพื่อปรับปรุงโครงข่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสหราชอาณาจักรให้เข้าถึงสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตมากขึ้น
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้โลกยังต้องเผชิญสถานการณ์โควิด 19 ทั้งนี้ ปัจจัยที่ผู้เขียนเห็นว่าส่งผลต่อความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การกำหนดเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน การมีแผนการดำเนินงานหรือแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม การมีระบบในการติดตามตรวจสอบ เพื่อปรับปรุงแผนการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มต้องมีส่วนในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน
ผู้เขียนเองก็ชื่นชอบการชมคอนเสิร์ต และอยากเห็นการจัดคอนเสิร์ตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้สนุกสุดเหวี่ยงแบบรักษ์โลกไปพร้อม ๆ กัน
แหล่งข้อมูล
Foo Fighters set for first concert at Madison Square Garden in more than a year
UK Organises Its First Live Concert Since The Beginning Of Pandemic
Climate change: Plan to cut carbon emissions from concerts
‘Time to shake things up’: music industry confronts climate crisis as gigs resume
Coldplay pause touring until they can offer ‘environmentally beneficial’ concerts
Massive Attack star ‘livid’ with music industry for not acting on green issues
Massive Attack publish Tyndall Centre for Climate Change Live Music Roadmap