5

การเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการอาหารทะเลเพียงไม่กี่รายในโลกที่มีธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ อีกทั้งยังยืนหยัดและก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักท์ จำกัด หรือ TUF ไม่เคยหยุดพัฒนาและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานตลอด 30 กว่าปีที่ดำเนินการมา ทำไมและทำอย่างไร ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาที่ยั่งยืน มาให้คำตอบ

Dr.Wit Press Trip (1)

ป่าสาละ : ทำไม TUF จึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน

เนื่องจากโจทย์หลักทางธุรกิจอย่างแรกของเราคือ ทำอย่างไรให้สามารถขายสินค้าและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ทำให้ต้องย้อนกลับมามองว่าเราจะสร้างความแตกต่างให้สินค้าอย่างปลากระป๋อง ซึ่งเจ้าไหนๆ ก็เหมือนกันได้อย่างไร ตรงนี้เป็นส่วนที่ความยั่งยืนเข้ามาตอบโจทย์ทางธุรกิจของเรา เพราะเมื่อเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนขึ้น ลูกค้าก็มีทางเลือกและประสบการณ์ใหม่ๆ ในการบริโภคเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น จากเดิมที่บริโภคเพื่อความอร่อยเท่านั้น

โจทย์สำคัญอีกข้อหนึ่งที่ละเลยไม่ได้คือ การลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและมาตรฐานการรับซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว เพราะถ้าเราไม่ทำความเข้าใจกับคู่ค้าผู้ส่งวัตถุดิบของเราให้ดี ก็มีแนวโน้มที่คู่ค้าจะไปส่งวัตถุดิบให้เจ้าอื่นที่ไม่ต้องผ่านมาตรฐานสูงเท่าของเรา ดังนั้น เราจึงต้องกลับมานั่งทำการบ้านอย่างหนักว่าจะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์ร่วมกัน

เมื่อผู้บริหารเห็นชัดเจนว่าความยั่งยืน ตอบโจทย์ทางธุรกิจในปัจจุบันได้ จึงเร่งให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนขึ้น

 6

ป่าสาละ : TUF คิดว่าอะไรคือนวัตกรรมสร้างความยั่งยืนที่สำคัญหรือประสบความสำเร็จของบริษัท

เรามีนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหลายอย่าง แต่มีโครงการอันหนึ่งที่ผมมองว่าสามารถตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนของแหล่งวัตถุดิบและส่งเสริมเรื่องห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนได้ นั่นคือ โครงการพัฒนาวิถีที่ยั่งยืนของชุมชนชายฝั่งอ่าวบางสน จังหวัดชุมพร ที่ชาวบ้านเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูทะเลและพื้นที่ชายฝั่งที่เปรียบเสมือนแหล่งทำมาหากิน ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน อยากทำพื้นที่อ่าวบางสนให้กลายเป็น “อ่าวแห่งชีวิต” ชาวบ้านจึงคิดสร้างปะการังเทียมขึ้นมาให้เป็นบ้านของปลาเล็กปลาน้อย เมื่อปลากลับเข้ามาอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง ชาวประมงพื้นบ้านก็ไม่ต้องออกไปหาปลาไกลๆ และไม่ถูกรบกวนจากเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่

เมื่อเราเห็นว่าชุมชนมีความตั้งใจดี จึงร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพ เข้าไปให้การสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพูดคุย แลกเปลี่ยน และวางแผนการพัฒนาชุมชน โดยให้โจทย์ว่าแผนนี้จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น และสืบสานวิถี วัฒนธรรมประเพณี และอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น รวมถึงต้องมีกลไกสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ช่วยดูแลและขับเคลื่อนทั้ง 3 ประเด็นไปพร้อมๆ กันอย่างยั่งยืน

1

เราต้องการทำให้มั่นใจว่า เมื่อฟื้นฟูชายฝั่งจนกลับมาสมบูรณ์แล้ว ชาวประมงจะไม่จับปลามากเกินขนาด เพื่อรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล และเมื่อจับปลามาได้ ก็ควรนำมาขายผ่านรูปแบบวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ชาวประมง เพื่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและมีรายได้หมุนเวียนในชุมชน โดยก่อนที่จะรับซื้อ เราต้องเข้าไปคุยกับชาวประมงก่อนว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยทางด้านอาหาร นอกจากนั้นยังต้องเข้าไปสร้างแรงจูงใจและให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการถนอมอาหาร และจัดทีมลงไปช่วยเริ่มกระบวนการแปรรูปเบื้องต้นที่ชาวบ้านสามารถทำเองได้

ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เรายังจุดประกายต่อไปอีกว่า น่าจะส่งเสริมพัฒนาอ่าวบางสนให้กลายเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ไปเรียนดำน้ำ เพื่อกลับมาเป็นครูสอนดำน้ำ สร้างความตระหนักให้เยาวชนสำนึกรักท้องถิ่น และสร้างทางเลือกในการทำงาน ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯเสมอไป

“ผมเน้นกับมูลนิธิสัมมาชีพมากๆ ว่า ถ้ามีองค์กรหรือบริษัทอื่นอยากเข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุน ก็ยินดีมาก ไม่มีหวงว่าต้องเป็นโครงการของ TUF เท่านั้น ผมให้หลักการไปเลยว่า ผมไม่ต้องการเห็นโลโก้ TUF ในชุมชนเลย เพราะกระบวนการนี้คือการสร้างเพื่อน แล้วเวลาที่เราสร้างเพื่อน เราคงไม่เอาโลโก้ของเราไปแปะที่หน้าเพื่อนหรอกใช่ไหม”

หลังจากที่เราใช้เวลากว่า 2 ปีในการร่วมมือกับชุมชน เพื่อสร้างพิมพ์เขียวนี้ขึ้นมา ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงชุดความคิด (mindset) ของชุมชน ชาวบ้านเริ่มมองภาพที่กว้างขึ้น จากระดับปัจเจกบุคคล มาดูผลประโยชน์ของทั้งชุมชน เชื่อมร้อยรวบรวมสิ่งที่แต่ละชุมชนมีเข้าด้วยกัน เกิดเป็นการทำประมงที่ยั่งยืนและการท่องเที่ยงเชิงนิเวศ สอง ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่น อยากกลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิด สาม ทำให้ชุมชนเป็นตัวของตัวเองและเข้มแข็งขึ้น กล้าที่จะปฏิเสธความช่วยเหลือบางอย่างของภาครัฐที่ขัดแย้งกับแผนการพัฒนาความยั่งยืนของพวกเขา

 3

ป่าสาละ : TUF ทำหน้าที่เชื่อมร้อยภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนอย่างไร

หลังจากที่ชาวบ้านมีแหล่งทำมาหากินที่ยั่งยืน สามารถนำปลาต่างๆ มาขายให้เราผ่านทางวิสาหกิจชุมชนแล้ว เราก็มีหน้าที่ต้องนำวัตถุดิบเหล่านี้ ไปพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ ที่สร้างความแตกต่างและยั่งยืน และจำหน่ายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ปลายน้ำต่อไป

การจะสร้างคุณค่าร่วมบนห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนั้น ขั้นแรก ต้องทำความเข้าใจกับคนภายในองค์กรก่อน ไล่เรียงไปตั้งแต่ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ว่าจะแปรรูปวัตถุดิบเหล่านี้อย่างไรให้ตอบโจทย์ความต้องการและข้อกำหนดของลูกค้า ต่อมาเป็นฝ่ายจัดซื้อ ที่ต้องคิดว่าจะจัดการกับต้นทุนและการขนส่งวัตถุดิบเหล่านี้เข้ามาสู่โรงงานอย่างไร ฝ่ายผลิตก็ต้องนำผลจากฝ่ายวิจัยพัฒนาไปผลิตสินค้าออกมา ฝ่ายการตลาดก็ต้องไปเจรจาต่อรอง ทำความเข้าใจกับกับลูกค้า ว่าจะทำอย่างไรให้ผลประโยชน์บางส่วนได้กลับไปสู่ชาวประมง และร่วมกันสร้างคุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนไปสู่ผู้บริโภค

 4

ป่าสาละ : TUF เพิ่งได้รับรางวัลการจัดทำรายงานความ ยั่งยืนดีเด่น จากตลาดหลักทรัพย์ฯ การทำรายงานความยั่งยืนนี้มีส่วนช่วยในการสร้างความยั่งยืนอย่างไร

อย่างที่บอกว่าการทำงานเรื่องความยั่งยืนต้องตอบโจทย์ธุรกิจก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยพิจารณาว่าหลักการทำรายงาน GRI ช่วยตอบโจทย์เราอย่างไร ก่อนอื่นต้องรู้ว่าใจเราเชื่ออะไร สมองเราคิดจะทำอะไร แล้วลงมือทำ จากนั้นจึงค่อยสื่อสารออกไป ถ้าบริษัทไม่ได้ทำอะไรเลย เขียนรายงานไป ทั้งคนเขียนและคนอ่านก็ไม่ได้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี การทำรายงานก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยเร่งกระบวนการด้านความยั่งยืน และช่วยสร้างการมีส่วนร่วมได้ส่วนหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีรายงานคงต้องเสียเวลาในการอธิบายให้คู่ค้าเข้าใจสิ่งที่เราพยายามทำมากขึ้น

 

ป่าสาละ : ความท้าทายต่อไปจะเป็นอย่างไร

ถ้าต้องการสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ก็จะมีความท้าทายจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ความท้าทายภายในก็เป็นเรื่องการทำงานของแต่ละฝ่ายอย่างที่อธิบายไปแล้ว ส่วนความท้าทายภายนอกก็จะมาจากความต้องการของลูกค้าภายในประเทศ ที่อาจยังไม่ค่อยตอบสนองต่อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเท่าที่ควร เพราะลูกค้าในประเทศยังไม่ค่อยรู้จัก ซึ่งเราก็ต้องพยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้เป็นทางเลือกของลูกค้า ให้ลูกค้าได้พบบ่อยขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาไปรับประทานข้าว ในเมนูก็จะเริ่มมีให้เลือกว่าอยากรับประทานปลาธรรมดา หรือปลาที่จับมาอย่างยั่งยืน ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายปลานี้จะหมุนเวียนกลับไปสู่ชุมชน เมื่อผู้บริโภคเห็นบ่อยๆ ก็จะเกิดความตระหนักมากขึ้น ในอนาคตหากผู้บริโภคเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดอุปสงค์ เกิดเป็นกระแส ทำให้เรากลายเป็นกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน รวมถึงสามารถต่อยอดกระบวนการสร้างความยั่งยืนและคุณค่าร่วมในห่วงโซ่อุปทานในเชิงธุรกิจต่อไปได้ ผมมองว่านี่เป็นวิถีการดำเนินธุรกิจยั่งยืนที่แท้จริง

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558

ขอขอบคุณ

ดร. วิทย์ สุนทรนันท์และรูปภาพจาก รายงานเพื่อความยั่งยืน 2556 บริษัท ไทย ยูเนี่ยน โฟรเซ่น จำกัด (มหาชน)