เมื่อกล่าวถึงการสร้างภาพยนตร์ น้อยคนจะนึกถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์นับเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก โดยในปี พ.ศ. 2550 อุตสาหกรรมผลิตรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ฮอลลีวูดมีการปล่อยมลพิษทางอากาศสูงเป็นอันดับ 2 ในเขตพื้นที่ลอสแอนเจลิส (Los Angeles) แม้ว่าในขณะนั้นผู้ผลิตสื่อมีความพยายามที่จะปรับใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Production) แล้วก็ตาม

การค้นพบความจริงครั้งนี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ตระหนักถึงปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ก่อขึ้น และเริ่มขับเคลื่อนนโยบายเพื่อความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือกับหลายๆ ฝ่าย

ปัจจุบัน หน่วยงานในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ช่วยขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีชื่อว่า Producers Guild of America Foundation (PGA) เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรของกลุ่มผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา PGA ร่วมมือกับผู้ผลิตสื่อยักษ์ใหญ่ฝั่งฮอลลีวูด ได้แก่ Disney, Amblin Partners, 20th Century Fox, NBC Universal, Paramount Pictures, Sony Pictures Entertainment และ Warner Bros. ในการผลักดันให้เกิดแนวทางการถ่ายทำสีเขียว หรือ Green Production Guide (GPG) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ผ่านการเลือกใช้สินค้าและบริการจากบริษัทที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดปริมาณขยะภายในกองถ่าย ผ่านวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • จัดทำฐานข้อมูลผู้ขายสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Vendor) เพื่อให้ผู้ผลิตภาพยนตร์เลือกซื้อสินค้า และบริการจาก Green Vendor ตลอดกระบวนการผลิตภาพยนตร์ อันนำไปสู่การลดรอยเท้าคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  • จัดทำตารางการคำนวณปริมาณคาร์บอน (Carbon Calculator) เพื่อให้ผู้ผลิตใช้ในการจัดทำรายงานเสนอแก่สาธารณะ และดึงดูดนักลงทุนที่ให้ความสำคัญในประเด็นด้านความยั่งยืน
  • จัดทำ Production Environmental Actions Checklist เพื่อเป็นแนวทางในการถ่ายทำรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์อย่างยั่งยืน
  • จัดทำแนวทางการบริจาคและแปรรูปขยะ เพื่อลดปริมาณขยะภายในกองถ่าย เนื่องจากมีวัตถุดิบบางอย่างที่สามารถนำไปรีไซเคิล และใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อได้

หลายคนอาจสงสัยว่า การปรับตัวสู่ความยั่งยืนของแวดวงฮอลลีวูดจะสามารถสร้างผลเชิงบวกได้มากเพียงใด การบริหารจัดการขยะ โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก น่าจะให้ภาพที่ชัดเจน

ปัจจุบัน ผู้ผลิตต้องใช้น้ำมันถึง 17 ล้านบาเรล สำหรับผลิตขวดน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของชาวอเมริกาใน 1 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับเชื้อเพลิงสำหรับขับเคลื่อนรถยนต์ 1.3 ล้านคันต่อปี ทั้งนี้ชาวอเมริกาทิ้งขวดพลาสติก 3,800 ล้านขวด ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ไม่ถูกนำไปรีไซเคิล แต่ถูกกำจัดโดยการฝังกลบซึ่งต้องใช้เวลา 700-1,000 ปีในการย่อยสลาย เมื่อกองถ่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคนำดื่ม นอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายภายในกองถ่ายได้ถึง 5,685.52 ดอลลาร์สหรัฐ  (ประมาณ 192,625 บาท) ดังตารางด้านล่าง

นอกจากการลดขยะขวดน้ำพลาสติกแล้ว การจัดการขยะภายในกองถ่ายเพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบอื่นๆ อาทิ การนำขยะที่ย่อยสลายได้ไปทำปุ๋ยหมัก การเช่ายืมอุปกรณ์ในการถ่ายทำ และการบริจาคอุปกรณ์ภายในกองถ่าย เช่น เสื้อผ้านักแสดง ไม้อัดประกอบฉาก เป็นต้น ก็ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายขยะและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบการขนส่งด้วย โดยภาพยนตร์เรื่อง The Amazing Spider-Man 2 จากค่าย Columbia Pictures ถือเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการจัดการขยะภายในกองถ่าย และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายขยะได้ถึง 4,732 ดอลลาร์ (ประมาณ 160,320 บาท)

ไม่เพียงแต่การดำเนินการภายในกองถ่ายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ผู้ผลิตสื่อรายใหญ่ยังนำความสามารถหลัก (Core Competency) ของตนมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างผลบวกในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ด้วยการพยายามโน้มน้าวให้กลุ่มเป้าหมายคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมผ่านทางสื่อ

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Disney ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของคนในสังคมผ่านโครงการ Disney Citizenship ทางสื่อต่างๆ ของ Disney อาทิ รายการโทรทัศน์ เว็บไซต์ citizenship.disney.com และสื่อโฆษณา เป็นต้น โดยส่งเสริมให้สังคมใส่ใจสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
ประเด็นด้านสุขภาพ – สร้างทัศนคติที่ดีในการออกกำลังกาย กิจกรรมครอบครัว การบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน ผ่านภาพประกอบ วิดีโอ และบทความที่เข้าใจง่ายบนเว็บไซต์ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดที่มีตัวละครของ Disney ปรากฎอยู่ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและครอบครัว ก็ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และไม่ใช่อาหารขยะ (Junk Food) ปัจจุบันอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดที่มีตัวละคร Disney ผ่านการคัดกรองตรวจสอบโดยมีฉลากรับรองจากพี่มิกกี้เมาส์(Mickey Check) สามารถสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปกครองได้ว่าเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กอย่างแน่นอน

ประเด็นด้านสังคม – ส่งเสริมให้วัยรุ่นทำกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านโครงการ “Youth Changing the World” โดยให้นำเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินทุน 500 ดอลลาร์ สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาภายในชุมชน สังคม หรือด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโครงการนี้ส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือชุมชน สังคม และโลกถึง 22.3 ล้านการกระทำ (actions)

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม – ดำเนินกิจกรรมที่เด็กๆ และครอบครัวใกล้ชิดธรรมชาติผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันใน Disney Resort และภาคีเครือข่าย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มีเด็กและครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมนี้ 52 ล้านครัวเรือน ซึ่งนอกจากเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแล้ว ยังสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของธรรมชาติ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ความยั่งยืนไม่จำกัดเพียงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นด้านแรงงาน การทารุณกรรมสัตว์ และความโปร่งใสในการดำเนินงาน ซึ่งผู้ผลิตสื่อรายใหญ่ในฮอลลีวูดให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน และดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับความโปร่งใส และแรงงานไม่แพ้เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมการผลิตรายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ในฮอลลีวูด

ข้อมูลประกอบการเขียน
https://goo.gl/qU8iAU
https://goo.gl/RdN4nw
https://goo.gl/CZjPJN
https://goo.gl/H5EjX5
https://goo.gl/b9z9zy
https://goo.gl/b9z9zy
https://goo.gl/VRwcyG
https://goo.gl/3kzewL
https://goo.gl/1P1CbQ
https://goo.gl/2QtZRc

ที่มารูปภาพ
https://goo.gl/9nPfeb
https://goo.gl/W9p6H4
https://goo.gl/SN9nfY
https://goo.gl/VigZBS