ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมของกลุ่มอาสาสมัครโรงบ่มอารมณ์สุข “การเดินทางที่แสนพิเศษหัวใจแบ่งปัน ปล่อยเกาะเพาะรักเกาะตาชัย เช้าทำฝายบ่ายทำโป่งที่คลองนาคา” จึงอยากแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ดีๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและความยั่งยืน ที่ได้จากการทำกิจกรรมในครั้งนี้
จุดมุ่งหมายหลักของการไปทำกิจกรรมในครั้งนี้คือการทำฝายชะลอน้ำและสร้างโป่งเทียมให้กับสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คลองนาคา จังหวัดระนอง แต่ทางผู้ก่อการใจดีแถมโปรแกรมท่องเที่ยวเกาะตาชัย จ.พังงา ให้เหล่าอาสาสมัครด้วย วันแรกพวกเราไปชื่นชมความงามของเกาะตาชัยกันก่อน
เกาะตาชัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน โดยอยู่ทางเหนือสุด เป็นเกาะขนาดเล็กเพียง 12 ตร.กม ที่เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสความงามและความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น และยังไม่อนุญาตให้มีโรงแรมที่พักบนเกาะ ธรรมชาติจึงยังสมบูรณ์อยู่มาก น้ำทะเลสีเขียวอมฟ้าใสเหมือนคริสตัล แม้ว่าจะมองจากผิวน้ำในบริเวณที่น้ำลึกถึง 12 เมตร ก็ยังเห็นปะการังและผืนทรายใต้ทะเลอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดีน่าเสียดายที่ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้ปะการังที่เกาะตาชัยฟอกขาวเช่นเดียวกับปะการังทั่วโลก มิเช่นนั้นปะการังที่นี่คงจะสวยไม่แพ้ที่ใดอย่างแน่นอน ระหว่างนั่งเรือไปชมปะการัง พวกเราโชคดีเพราะมีโอกาสได้เห็นปลาวาฬเบลูก้า ขึ้นมาแหวกว่ายอยู่บนผิวน้ำ สร้างความตื่นเต้นให้กับคณะอาสาสมัครของเราเป็นอย่างยิ่ง ทำให้รู้สึกได้ว่าทะเลแถบนี้น่าจะมีความหลากหลายทางธรรมชาติอยู่มากเพียงใด
นอกเหนือจากความสมบูรณ์ของธรรมชาติและความสวยงามของผืนทรายและท้องทะเลแล้ว สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่าง ก็คือการจัดการขยะบนเกาะ เนื่องจากเกาะแห่งนี้ไม่อนุญาตให้สร้างที่พักถาวร นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงซื้อทัวร์แบบไปเช้าเย็นกลับจากผู้ให้บริการบนฝั่ง ซึ่งจะนำนักท่องเที่ยวมาที่เกาะ พาไปดำน้ำ และเลี้ยงอาหารกลางวันแบบบุฟเฟ่ต์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทานกันอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะพากลับขึ้นฝั่ง ดังนั้นช่วงเวลาทานข้าวกลางวัน จึงเป็นช่วงที่มีคนพลุกพล่านมากที่สุดบนเกาะ ทุกคนมีหน้าที่ตักอาหารและบริการตนเอง ครั้นเมื่อทานอาหารเสร็จ ก็ต้องเอาจานไปเก็บเอง โดยผู้ให้บริการแต่ละเจ้าจะจัดเตรียมถังขยะ และมีเจ้าหน้าที่ประจำคอยบอกทุกคนให้แยกขยะทิ้งตามประเภท ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่เห็นขยะทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ตามที่ต่างๆ บนเกาะเลย และสะท้อนว่าถ้าผู้ให้บริการและนักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกและร่วมมือกันอย่างจริงจัง สิ่งแวดล้อมของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นก็จะสมบูรณ์และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้
เสร็จจากการเที่ยวชมเกาะตาชัย คณะของเรามุ่งหน้าไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระนองเพื่อพักแรมในคืนนี้ และเตรียมตัวสำหรับการทำฝายและสร้างโป่งเทียมในวันรุ่งขึ้น แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าตอนนี้น้ำแล้งให้ยกเลิกภารกิจทำฝายไปก่อน ดังนั้นจึงเหลือเพียงแค่สร้างโป่งเทียมเท่านั้น ก่อนที่จะไปสร้างโป่งกัน เราลองมาทำความรู้จักกับพื้นที่กันก่อน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา มีพื้นที่ครอบคลุมตำบลบ้านนา ตำบลเชี่ยวเหลียง ตำบลกะเปอร์ ตำบลบางหิน ตำบลนาคา ตำบลกำพวน ทั้งหมดอยู่ในอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง พื้นที่ด้านทิศตะวันออกติดกับเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้านทิศใต้ติดกับเขตจังหวัดพังงา เนื่องจากบริเวณนี้ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์และเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุม รัฐบาลจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2515 เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า ปัจจุบันมีพื้นที่ 331,456 ไร่
พื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคาเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน จึงเป็นแหล่งกำเนิดลำคลองหลายสาย เช่น คลองนาคา คลองบางมัน คลองชาคลี คลองแพรกซ้าย คลองแพรกขวา คลองเชี่ยวเหลียง เป็นต้น ซึ่งคลองเหล่านี้จะมีน้ำใสไหลตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลองนาคาที่ขึ้นชื่อว่ามีน้ำใสสะอาดและมีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง จึงมีพรรณไม้น้ำหายากที่พบที่นี่แห่งเดียวในประเทศไทย นั่นคือ พลับพลึงธาร (Crinum thaianum) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ หญ้าช้อง ซึ่งเป็นไม้ล้มลุก มีรากลึกอยู่ใต้น้ำ ช่อดอกเป็นรูปซี่ร่ม กาบหุ้มช่อสีแดง ก้านช่อดอกอวบหนา จะพบตามลำธารที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปีและลึกไม่เกิน 2 เมตร ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ทั้งคลองนาคาจะเต็มไปด้วยพลับพลึงธารบานสวยงาม
นอกจากนั้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคายังมีความหลากหลายทางชีวภาพและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เลียงผา ช้างป่า สมเสร็จ กระทิง หมี เสือโคร่ง เสือดำ เสือดาว ค่าง อีเห็น รวมถึงนกต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น นกกางเขนดง นกเงือก นกกวัก นกปรอด นกกระปูด เป็นต้น โดยสัตว์ป่านานาชนิดนี่เองที่ทำให้พวกเรามีโอกาสได้มาทำกิจกรรมอนุรักษ์ร่วมกัน เพราะสัตว์กินพืชทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในป่า จำเป็นต้องได้รับแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีเขาจะต้องการเกลือแร่และแคลเซียมไปซ่อมแซมบำรุงเขาให้งอกงามและแข็งแรง สัตว์กินพืชเหล่านี้จะได้แร่ธาตุจากการกินดินโป่งหรือดินที่มีเกลือแร่ต่างๆ ปนอยู่ เช่น เกลือโซเดียมคลอไรด์ เกลือแคลเซียม แมกนีเซียมและโปแตสเซียม เป็นต้น ทั้งนี้โป่งตามธรรมชาติจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท หนึ่ง โป่งดิน คือ บริเวณที่มีแอ่งดินเค็ม ซึ่งแต่ละแห่งจะมีเกลือแร่แตกต่างกันไป ดังนั้นสัตว์ป่าส่วนมากจึงต้องกินดินโป่งจากหลายๆ ที่ เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุที่จำเป็น สอง โป่งน้ำ ซึ่งจะแตกต่างจากโป่งดินตรงที่มีน้ำไหลซึมผ่านตลอดทั้งปี โป่งน้ำจะมีสัตว์มาดูดกินแร่ธาตุบ่อยกว่าโป่งดินโดยเฉพาะในหน้าแล้ง ซึ่งโป่งดินจะแข็งมากจนสัตว์ไม่สามารถขุดเจาะลงไปเพื่อกินดินโป่งได้สะดวก
เมื่อเจอโป่งดินแหล่งใหม่ๆ สัตว์ป่าขนาดเล็กจะต้องรอให้สัตว์ป่าขนาดใหญ่อย่างช้างมาขุดก่อน มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถขุดกินดินโป่งที่อยู่ลึกลงไปได้ เมื่อดินโป่งตามธรรมชาติถูกกินจนหมด โป่งนั้นก็จะกลายเป็นโป่งร้าง ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่อาจจะช่วยสร้างโป่งดินเพิ่มให้กับสัตว์ป่าได้ และเรียกโป่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ว่าโป่งเทียม
ภารกิจของเหล่าอาสาสมัครในครั้งนี้ก็คือการสร้างโป่งเทียมให้กับสัตว์ป่า โดยเลือกพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่สัตว์สัญจรผ่านเป็นประจำ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสังเกตจากรอยเท้าสัตว์ และควรใกล้แหล่งน้ำ นอกจากนั้นจะต้องเลือกดูเนื้อดินในบริเวณที่จะทำโป่งเทียมให้คล้ายกับดินโป่งธรรมชาติ เมื่อได้ทำเลที่เหมาะสมแล้วก็จะเริ่มทำโป่งเทียมตามขั้นตอนเหล่านี้
- ขุดดินในบริเวณที่เราเลือกให้เป็นแอ่งลึกราว 30 ซม. ขนาดประมาณ 9 ตร.เมตร
- สับดินให้ร่วน และคัดเอาเศษกิ่งไม้ รากไม้ต่างๆ ออกไป
- เอาเกลือเม็ดโรยให้ทั่วเป็นชั้นบางๆ ขุดดินกลบชั้นแรกบางๆ แล้วรดน้ำ
- เอาเกลือเม็ดโรยให้ทั่วอีกครั้งให้เป็นชั้นหนาขึ้น จากนั้นเอาสารเสริมสำหรับอาหารสัตว์โรยให้ทั่ว ซึ่งสารตัวนี้จะช่วยเร่งกลิ่นหอม ทำให้สัตว์สามารถได้กลิ่นโป่งได้เร็วขึ้น รวมถึงยังมีส่วนผสมของแร่ธาตุเสริมต่างๆ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารกับสัตว์ด้วย
- เอาดินกลบทับให้ทั่ว แล้วรดน้ำให้ชุ่มอีกครั้งก็ถือว่าเสร็จเรียบร้อย
โป่งเทียมเหล่านี้เมื่อสัตว์ป่ามากินจนหมด ก็สามารถนำเกลือมาใส่เพิ่มได้อีก โดยปกติแล้วกว่าสัตว์จะกินโป่งขนาด 9 ตร.เมตร จนหมดอาจใช้เวลาถึง 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างโป่งเทียมบ่อยเกินไป
แม้ว่าการทำกิจกรรมขุดโป่งเทียมครั้งนี้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์ป่า และเมื่อขุดโป่งเทียมเสร็จ ภารกิจของเหล่าอาสาสมัครก็สิ้นสุดลง แต่ทุกคนกลับรู้สึกอิ่มเอมใจที่ครั้งหนึ่งได้ลงแรงช่วยกันมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า
และแน่นอนว่าความประทับใจหลายอย่างที่ได้จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคาจะคงอยู่ในความทรงจำของเหล่าอาสาสมัคร ดังเช่นเมล็ดพันธุ์ของการอนุรักษ์ที่ฝังเข้าไปในจิตใจและค่อยๆ เติบโตงอกงามต่อไป