ถ้าพูดถึงประเด็นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ Climate Change อาจเป็นเรื่องที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ อย่างไรก็ตาม หากเป้าหมายของเราคือการรักษาระบบนิเวศให้เหมาะสม ปัญหา “การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ” หรือ Loss of Biodiversity จากการดำรงชีวิตของมนุษย์ ก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในวงกว้างไม่แตกต่างกัน แม้ว่าตอนนี้ปัญหาอันแรกจะมีเสียงดังกว่ามากในระดับโลก แต่ในไม่กี่ปีมานี้นักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักว่าทั้ง 2 ปัญหามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดกว่าที่เคยคิด2 และเป็นปัญหาที่ต้องจัดการไปพร้อม ๆ กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่มีวันเพียงพอที่จะรักษาระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมนุษย์เอาไว้ได้
“Great Oxidation Event” – เมื่อออกซิเจนเป็นพิษ
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของความสำคัญและความเชื่อมโยงที่แยกออกจากกันไม่ได้ ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพกับสภาพภูมิอากาศ “อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้” เรื่องนี้ต้องชวนย้อนกับไปดูปรากฎการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศครั้งใหญ่ในอดีตครั้งหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะเป็น “ตลกร้าย” แต่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก นั่นคือเหตุการณ์ “Great Oxidation Event” [1] [2] ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3,500 – 2,500 ล้านปีที่แล้ว
ในช่วงก่อนหน้านั้น (หรือในช่วงครึ่งแรกของดาวโลกที่มีอายุประมาณ 4,500 ล้านปี) ดาวโลกยังไม่ได้ถูกปกคลุมไปด้วยก๊าซออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่อย่างทุกวันนี้ แต่มีเพียง 0.001% ของระดับก๊าซออกซิเจนในปัจจุบัน นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจน และก๊าซมีเทน อย่างไรก็ดี จู่ ๆ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เรียกว่า Cyanobacteria ได้เริ่มปรากฎขึ้นบนโลก พร้อมกับความสามารถใน “การสังเคราะห์แสง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้เปรียบสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างมาก จากการสร้างอาหารได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยเพียงแสงแดด น้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่มากมายรอบตัว ก่อนจะปล่อยของเสียอย่างก๊าซออกซิเจนออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก
ความได้เปรียบนี้ ทำให้ Cyanobacteria ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในทุกแหล่งน้ำทั่วโลก พร้อมกับปล่อยก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนสภาพภูมิอากาศของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โชคร้ายที่ก๊าซออกซิเจนนั้นเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวส่วนใหญ่เวลานั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากหน้ามือเป็นหลังมือนี้ได้จุดชนวนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ขึ้นบนโลก และต้องรอจนกระทั่งสิ่งมีชีวิตที่หลงเหลืออยู่สามารถวิวัฒนาการการเผาผลาญอาหารด้วยออกซิเจนได้ในที่สุด (และปล่อยของเสียออกมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ระบบนิเวศจึงเริ่มเข้าสู่สมดุลใหม่อย่างที่เป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ พร้อมกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่เริ่มวิวัฒนาการต่อไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ รวมถึงมนุษย์ในท้ายที่สุดด้วย
สิ่งที่เป็นตลกร้ายในวันนี้ คือในวันนั้น “ก๊าซออกซิเจน” ที่มากเกินไปในชั้นบรรยากาศต่างหากที่นำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและทำลายระบบนิเวศครั้งใหญ่ของโลก ไม่ใช่ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” อย่างที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้ ดังนั้นจากมุมของดาวโลก สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้ หากมนุษย์ไม่สามารถรักษาระบบนิเวศทั้งหมดนี้ไว้ได้ ในที่สุดก็จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทั้งหมดครั้งใหญ่อีกครั้งในรอบหลายพันล้านปี ซึ่งหลังจากนั้นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ก็จะค่อย ๆ วิวัฒนาการขึ้นมาใหม่จากจุดนั้น และสุดท้ายเราก็จะเป็นเพียงสปีชีย์หนึ่งที่เกิดขึ้นมาบนโลกได้ไม่กี่แสนปีก่อนสูญพันธุ์ไปในที่สุดเช่นกัน
กลับมาที่ภาพปัญหาปัจจุบัน ทั้ง 2 ประเด็นปัญหาก็ยังเชื่อมโยงคล้ายกับเมื่อ 2,500 ล้านปีที่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้จุดเริ่มต้นเกิดจากมนุษย์แทนที่จะเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงจากฝีมือมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากในตอนนี้กำลังเปลี่ยนสภาพถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศบนโลกไป (ยังไม่รวมถึงการทำลายระบบนิเวศโดยตรงของมนุษย์ เช่น การทำลายป่าไม้ การปล่อยน้ำเสีย ฯลฯ อีก) และหากเราเสียระบบนิเวศบางประเภทไปจำนวนมากอย่างป่าไม้ ชายฝั่งต้นโกงกางหรือหญ้าทะเล สุดท้ายขีดจำกัดในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากชั้นบรรยากาศโลกจะลดลงในระดับที่สิ่งประดิษฐ์ใด ๆ ก็ตามของมนุษย์คงชดเชยไม่ได้ ซึ่งในที่สุดจะวนกลับไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก
ส่องความหลากหลายทางชีวภาพของไทย
สำหรับสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยในปัจจุบัน รายงานอย่างไม่ทางการจากเว็บไซต์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Convention on Biological Diversity (CBD) [3] และข้อมูลจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) [4] [5] ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดในโลกด้วยภูมิประเทศ/ระบบนิเวศ 7 ประเภท ได้แก่ เกษตร (Agriculture) ป่าไม้ (Forest) แหล่งน้ำในแผ่นดิน (Inland water) ทะเลและชายฝั่ง (Marine and Coastal) แห้งแล้งและกึ่งชื้น (Arid and Semi-arid) ภูเขา (Mountain) และเกาะ (Island)
ในประเทศไทยจึงเต็มไปด้วยสายพันธุ์พืชมากกว่า 14,000 ชนิด หรือคิดเป็น 8% ของโลก (เทียบกับพื้นที่ที่คิดเป็น 0.41% ของพื้นที่โลกเท่านั้น) สายพันธุ์สัตว์อีกอย่างน้อย 4,700 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างน้อย 8,000 ชนิด และจุลินทรีย์อีกอย่างน้อย 200,000 ชนิด นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างปี 2557 – 2561 ประเทศไทยยังค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ของโลกเพิ่มอีก 202 ชนิด เป็นสิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่าความหลากหลายทางชีวภาพของไทยมีความหลากหลายสูงและอาจยังไม่ถูกค้นพบทั้งหมด
อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งประเทศไทยก็เผชิญกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเช่นกัน โดยจากข้อมูลในปี 2558 พบว่า มีพืชสูญพันธุ์ตามธรรมชาติไปแล้ว 2 ชนิดและกำลังถูกคุกคามอีกเกือบ 1,000 ชนิด ขณะที่สายพันธุ์สัตว์ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว 8 ชนิด (4 ชนิดสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ) และกำลังถูกคุกคามอีกเกือบ 600 ชนิด นอกจากนี้ ระบบนิเวศไทยกำลังถูกคุกคามจากสายพันธุ์ต่างถิ่นมากถึง 300 กว่าชนิด โดยเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษประมาณ 23 ชนิด
ไทยเตรียมรับมือได้ดีแค่ไหน?
ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว เราอาจต้องตอบก่อนว่า แล้วการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพถูกตระหนักว่าเป็นปัญหาเมื่อไร? หากย้อนกลับไปในระดับนานาชาติจะพบว่า มนุษย์เองเริ่มตระหนักถึงปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 โดยมีการจัดทำอนุสัญญาเฉพาะเจาะจงเป็นเรื่อง ๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention) และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (The World Heritage Convention) ในปี 1972 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ในปี 1973 หรืออนุสัญญาว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่อพยพย้ายถิ่น ((Bonn Convention) ในปี 1979 เป็นต้น
จนกระทั่งช่วงปลายทศวรรษ 1990 คำที่ครอบคลุมที่สุดอย่าง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” จึงถูกใช้อย่างเป็นทางการในกฎหมายระหว่างประเทศ คือ “อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” ที่ได้รับสัตยาบันในช่วงปลายปี 1999 หลังจากนั้นยังมีข้อตกลงอื่น ๆ ที่บังคับใช้ตามมาจากการประชุมกันของ CBD เช่น พิธีสารคาร์ตาเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) ในปี 2003 และพิธีสารนาโงยา (Nagoya Protocol) ในปี 2014 โดยประเทศไทยเองได้เข้าร่วมในอนุสัญญา CBD เมื่อต้นปี 2004 และตามมาด้วยการเข้าร่วมพิธีสารคาร์ตาเฮน่าในปี 2006
ขณะที่ความพร้อมต่อปัญหาดังกล่าวของไทย จากรายงาน “BIOFIN1Synthesis Report for Thailand” [6] ของ UNDP ในปี 2020 ซึ่งเป็นรายงานประเมินความพร้อมในระยะแรกของไทย (ก่อนจะดำเนินการโครงการในระยะที่ 2 ต่อไป) ได้แบ่งความพร้อมออกเป็น 1) ความพร้อมด้านนโยบายและสถาบัน เพื่อกำหนดเป้าหมายสำคัญที่ต้องบรรลุ และ 2) ความพร้อมด้านงบประมาณและค่าใช้จ่าย เพื่อประเมินและประมาณการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ โครงการในระยะแรกยังประเมินไปถึงความต้องการทางการเงินด้วย ซึ่งจะประเมิน “ช่องว่าง” ระหว่างเม็ดเงินที่ต้องใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายในข้อที่ 1 กับความพร้อมด้านงบประมาณที่ประมาณการได้ในข้อที่ 2
ผลของการประเมินความพร้อมด้านนโยบายและสถาบัน (จากการแบ่งระบบนิเวศออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ระบบนิเวศบก ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบนิเวศในเมือง) พบว่าแผนนโยบายหลักของไทยคือ “กลยุทธ์และแผนปฎิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ” ประกอบกับแผนกลยุทธ์สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561 – 2580 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเป็นแผนนโยบายที่อยู่ใต้บริบทแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกที
อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่า 3 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย 2 กรมแรกมีหน้าที่ดูแลระบบนิเวศบก กรมสุดท้ายดูแลระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ขณะที่ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำและในเมือง ไม่มีหน่วยงานดูแลโดยตรง และมักถูกมองข้ามไปโดยหน่วยงานส่วนใหญ่ โดยเฉพาะระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญมากหากพิจารณาจากโครงการและกิจกรรมที่จะต้องเกิดขึ้นในแผนนโยบาย ดังนั้นการขาดหน่วยงานดูแลโดยตรงและขาดการกำหนดขอบเขตของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ชัดเจนจะทำให้ปัญหาของระบบนิเวศด้านนี้รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ สำหรับภาคประชาสังคมและเอกชน รายงานพบว่ายังมีส่วนร่วมกับการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพได้ค่อนข้างน้อย
ในแง่งบประมาณ รายงานความพร้อมด้านงบประมาณฯ พบว่า เงินทุนของโครงการส่วนใหญ่มาจากงบประมาณประจำปีของรัฐบาลเป็นหลัก ทำให้กระบวนการจัดสรรงบประมาณของราชการมีส่วนสำคัญในการดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของไทย โดยปัจจุบันคาดว่ามีเม็ดเงินรวมกันประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี ที่ถูกใช้จ่ายจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยคิดเป็นสัดส่วน 0.5% ของงบประมาณ หรือ 0.1% ของ GDP แม้ว่าเม็ดเงินจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามงบประมาณรายจ่ายรวมที่เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนต่องบประมาณถือว่าค่อนข้างคงที่
ขณะที่ช่องว่างของเม็ดเงินและเป้าหมายตามแผนนโยบายของประเทศพบว่า ไทยจะยังลงทุนดูแลความหลากหลายทางชีวภาพขาดไปประมาณ 30,000 – 50,000 ล้านบาทในช่วงปี 2019 – 2021 หรือขาดไปมากกว่า 2 เท่าของงบประมาณประจำปีที่รัฐบาลจัดสรรมา โดยในจำนวนประมาณ 8 ใน 10 จะถูกใช้ไปเพื่อดูแลระบบนิเวศบก
เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจนักที่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แม้ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของโลกไม่แพ้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่วันนี้กลับยังดูเงียบ ๆ เมื่อเทียบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เพราะเป็นเรื่องยากพอสมควรที่คนทั่วไปจะรู้สึกถึงผลกระทบจากมันและเชื่อมโยงกลับไปยังต้นตอของปัญหาได้ ไม่ต้องนับไปถึงว่าจะมีสักกี่คนที่จะได้เป็นพยานของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ต่อหน้าต่อตา
อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไป 5 – 10 ปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เคยตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน ในวันที่ปัญหายังไม่สร้างผลกระทบจนผู้คนในวงกว้างสัมผัสได้อย่างชัดเจนก็เป็นเรื่องยากที่ทุกคนจะกระตือรือร้นลุกมาจัดการ แต่ในวันนี้ที่ทุกคนต้องเคยได้ยินหรือสัมผัสถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือภัยแล้งที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยกว่าปกติ การลุกขึ้นมาตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทันการณ์เพียงใด
เช่นเดียวกัน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวในวันนี้ วันหนึ่งข้างหน้าอาจส่งผลกระทบกลับมาอย่างที่ทุกคนคาดไม่ถึงได้เช่นกัน และเราไม่ควรเดินซ้ำทางเดิมอีกครั้งหนึ่ง
เชิงอรรถ
1. BIOFIN หรือ ไบโอฟิน (Biodiversity Finance Initiative) คือโครงการริเริ่มการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นส่วนหนึ่งของ UNDP ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2012 ใน 30 ประเทศ ก่อนจะเพิ่มเป็นมากกว่า 40 ประเทศในปัจจุบัน โดยเป็นโครงการที่ประยุกต์เครื่องมือทางการเงินและเศรษฐศาสตร์เข้ากับประเด็นที่มีความเฉพาะทางสูงอย่างความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตั้งคำถามง่าย ๆ ว่าความหลากหลายทางชีวภาพมี “มูลค่า” เท่าไร และในแต่ละปี แต่ละประเทศต้อง “ลงทุน” ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเงินสักเท่าใด การทำแบบนี้จะช่วยสื่อสารประเด็นปัญหาด้านนี้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้กำหนดนโยบายให้เห็นภาพอย่างชัดเจนและสามารถลงแรงร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวในที่สุด
สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วม BIOFIN ในปี 2014 (โดยหลังจากนั้นประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ASEAN Conference on Biodiversity ในปี 2016 ที่อุทิศวันหนึ่งให้กับความริเริ่มนี้โดยตรงด้วย) และจนถึงปัจจุบันประเทศไทยรับเงินทุนสนับสนุนจาก UNDP มาแล้ว 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกในปี 2014 – 2017 วงเงิน 530,000 ดอลลาร์สหรัฐ และระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2018 – 2022 วงเงิน 2,250,000 ดอลลาร์สหรัฐ [5] [↑]
2. ในปี 2019 the Intergovernmental Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) ได้เปิดประเด็นถึงความเป็นไปได้ที่จะทำงานร่วมกันกับ the Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) อย่างเป็นทางการมากขึ้น หลังจากนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกันของทั้ง 2 ปัญหา และการแยกกันทำงานอย่างที่เป็นอยู่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนหรือถึงขั้นผิดพลาดล้มเหลวได้ ความร่วมมือดังกล่าวนำไปสู่การประชุมร่วมกับของนักวิทยาศาสตร์จากทั้ง 2 สาขาก่อนจะออกมาเป็นรายงาน Workshop ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อันเป็นรายงานที่เกิดจากทบทวนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ร่วมกันอย่างรอบด้านจากงานวิจัยกว่า 1,500 ชิ้น [↑]
รายการอ้างอิง
[1] Lyons, T., Reinhard, C. & Planavsky, N. (2014). The rise of oxygen in Earth’s early ocean and atmosphere. Nature. 506: 307–315. https://doi.org/10.1038/nature13068 [↑]
[2] Schirrmeister B.E., Gugger M., Donoghue P.C. (2015). Cyanobacteria and the Great Oxidation Event: evidence from genes and fossils. Palaeontology. 58(5):769-785. https://doi.org/10.1111/pala.12178 [↑]
[3] Thailand Biodiversity Facts: Status and trends of biodiversity, including benefits from biodiversity and ecosystem services สืบค้นจาก https://www.cbd.int/countries/profile/?country=th เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2021 [↑]
[4] Progress on Biodiversity Management in Thailand. (2020, 6 สิงหาคม) สืบค้นจาก https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/library/environment_energy/Progres-on-biodiversity-management-in-Thailand.html เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2021 [↑]
[5] Summary of BIOFIN Thailand Phase 1 & 2 (Thai language). (2019, 21 พฤศจิกายน). สืบค้นจาก
https://www.biofin.org/knowledge-product/summary-biofin-thailand-phase-1-2-thai-language เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2021 [↑]
[6] BIOFIN Synthesis Report for Thailand. (2020, 3 กุมภาพันธ์). สืบค้นจาก https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/library/environment_energy/biofin-synthesis-report-for-thailand.html เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2021 [↑]