“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
เราทุกคงคุ้นเคยกับประโยคนี้มาตั้งแต่สมัยเด็ก สองประโยคสั้นๆ สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยที่ปรากฎทั่วอยู่ในแบบเรียน แต่ประโยคดังกล่าวอาจกลายเป็นมายาคติซึ่งอาจทำให้เรามองข้ามวิกฤติในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ในน้ำอาจไม่มีปลาและในนาอาจไม่เหลือข้าวเนื่องจากวิกฤติภูมิอากาศ
ในฐานะคนเมือง ผมเคยมองสภาพแวดล้อมของชนบทไทยอย่างโรแมนติก เคยคิดว่าทรัพยากรธรรมชาติของไทยมีอยู่อย่างเหลือเฟือ อีกทั้งทำเลที่ตั้งและความอุดมสมบูรณ์ทำให้ประเทศไทยแทบไม่เคยเผชิญกับวิกฤติในระดับที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ แถมประเทศไทยเป็นแค่ประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้มีส่วนสำคัญอะไรในการแก้ไขวิกฤติโลกร้อน
เมื่อหลุดพ้นจากรั้วโรงเรียน ผมก็เริ่มตระหนักว่าสิ่งที่เคยเข้าใจนั้นผิดทั้งหมด คนในชนบทต่างต้องกระเสือกระสนหาเลี้ยงชีพ ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มร่อยหรอและบางแห่งเข้าขั้นวิกฤติ เราเผชิญกับทั้งภัยแล้งและอุทกภัยไม่เว้นปี ข้อมูลล่าสุดบอกผมว่าประเทศไทยเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันดับที่ 22 ของโลก แซงหน้าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
รายงานที่ทำให้ผมตาสว่างคือ “ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ รายงานระดับประเทศ (CLIMATE RISK COUNTRY PROFILE)” ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ผู้เขียนถือโอกาสหยิบบางส่วนมาถ่ายทอดต่อเพื่อเติมเต็มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤติภูมิอากาศกับประเทศไทย ประเด็นที่มักถูกมองเป็นเรื่องไกลตัวหรือเป็นเรื่องของโลกตะวันตก แต่ความจริงแล้วกลับเป็นเรื่องน่ากังวลที่ใกล้ตัวอย่างยิ่งจนอดไม่ได้ที่จะรู้สึกแปลกใจว่าทำไมเหล่าผู้มีอำนาจดูจะไม่สนใจไยดีเท่าที่ควร
ปัญหาในปัจจุบัน วิกฤติในอนาคต
หากคุณคิดว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมาไม่ถึงเมืองไทย คุณกำลังเข้าใจผิดครับ
ประเทศไทยร้อนขึ้นมากในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โดยมีการศึกษาสถานีตรวจวัดสภาพอากาศจำนวน 65 แห่งทั่วประเทศไทยตั้งแต่ปี 1970 ถึงปี 2006 พบว่าอุณหภูมิรายวันเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นราว 0.10 ถึง 0.40 องศาเซลเซียส ส่วนฐานข้อมูล The Berkeley Earth ซึ่งระบุการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลในอดีตตลอดศตวรรษที่ 20 พบว่าระหว่างปี 1851 ถึง 2017 กรุงเทพฯ ร้อนขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส ส่วนที่นครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้น 1.4 องศาเซลเซียส และลำปาง 1.2 องศาเซลเซียส
นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นแล้ว การศึกษายังพบว่าจำนวนปริมาณน้ำฝนในฤดูฝนยังเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญซึ่งสัมพันธ์กับภัยแล้งที่มีความรุนแรงปานกลางถึงสูง งานวิจัยที่ตีพิมพ์เพื่อปี 2016 ยังพบว่าไทยเผชิญเหตุอุทกภัยน้อยลง แต่การเกิดแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงมากขึ้น
แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นนะครับ จากฉากทัศน์ 4 แบบของเส้นตัวแทนความเข้มข้นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ RCP (Representative Concentration Pathways – หากสนใจเรื่องนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร?) จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel of Climate Change) พบว่าถ้าทั่วโลกยังไม่สนใจวิกฤติภูมิอากาศแล้วปล่อยเลยตามเลย หรือก็คือสถานการณ์ตามเส้น RCP8.5 อุณภูมิเฉลี่ยรายวันของไทยตอนสิ้นศตวรรษนี้อาจเพิ่มสูงถึง 3.6 องศาเซลเซียส!
ในแง่ของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 81 จาก 191 ประเทศตามดัชนีความเสี่ยงปี 2019 โดยอินฟอร์ม (2019 Inform Risk Index) ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลางถึงสูง โดยภัยพิบัติที่น่ากังวลมากที่สุดคืออุทกภัยซึ่งประเทศไทยเสี่ยงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำหลากจากแม่น้ำ น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมจากชายฝั่ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่าปีละ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สถานการณ์อาจเลวร้ายลงในอนาคตโดยการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า แม้แต่ในฉากทัศน์ที่เราสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้าหมายในข้อตกลงปารีส ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ก็ยังเผชิญความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เหตุวิกฤติที่เกิดขึ้น 1 ครั้งทุก 100 ปี อาจเพิ่มความถี่เป็น 1 ครั้งทุก 50 ปี หรือ 1 ครั้งทุก 25 ปี
นอกจากนี้ประเทศไทยยังเสี่ยงต่อการเผชิญพายุหมุนเขตร้อน (อันดับที่ 27 ของโลก) และภัยแล้ง (อันดับที่ 29 ของโลก) สาเหตุที่ดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำนั้นเนื่องจากรายงานฉบับดังกล่าวประเมินว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสูงกว่าและประชาชนมีความเปราะบางน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเศรษฐกิจไทย
ผลกระทบหลักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจของไทยคือภาคการเกษตรและพื้นที่เมือง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเติบโตของพืชอาหาร ตั้งแต่ข้อจำกัดด้านการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ แหล่งน้ำที่จำกัด อินทรียวัตถุในดิน การพังทลายของหน้าดิน ไปจนถึงลักษณะของโรคระบาดและศัตรูพืช นักวิทยาศาสตร์คาดว่าทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะผลิตผลภาคการเกษตรตกต่ำ อาทิ ข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะผลิตได้น้อยลด 5 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่านานาประเทศจะสามารถบรรลุตามข้อตกลงปารีสโดยจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสก็ตาม
ส่วนการศึกษาในประเทศไทยพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจทำให้ปริมาณฝนตกน้อยลงในฤดูเพาะปลูกจะทำให้ข้าวนาปีมีผลผลิตน้อยลง 10 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งผลิตผลต่อการใช้น้ำของพืช (crop water productivity) จะลดลง 29 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2080 ตามฉากทัศน์ RCP 8.5
อีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลคืออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้จำนวนวันที่ร้อนเกินกว่า 35 องศาเซลเซียสอาจเพิ่มขึ้นถึง 160 เปอร์เซ็นต์ในอีก 60 ถึง 80 ปีข้างหน้าซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อไม้ผลบางประเภทที่อ่อนไหวต่ออุณหภูมิสูง เช่น ลิ้นจี่ผลผลิตน้อยลงกว่าครึ่งในปี 2009 ที่ประเทศไทยเผชิญภาวะร้อนผิดปกติ
ส่วนในเขตพื้นที่เมืองก็น่ากังวลไม่แพ้กัน สภาพแวดล้อมในเขตเมืองเอื้อต่อการเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island) ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวสีดำ การปล่อยความร้อนจากพื้นที่อยู่อาศัยและตึกสำนักงานต่างๆ การขาดพื้นที่สีเขียว และมลภาวะทางอากาศ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่โดยรอบราว 0.1 ถึง 3 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยและทำงานในเขตเมือง โดยมีการศึกษาพบว่าความเครียดจากอากาศร้อนจะมีความสัมพันธ์กับผลิตภาพของแรงงาน การบริโภคของครัวเรือน และคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับบริบท ทั้งความเคยชินต่อสภาพอากาศร้อนของประชาชน และระดับอุณหภูมิที่ผิดไปจากปกติ
มีการศึกษาพบว่าในกรุงเทพฯ จะมีอากาศร้อนกว่าพื้นที่โดยรอบเฉลี่ยราว 0.8 องศาเซลเซียส โดยงานวิจัยระบุว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในสภาพแวดล้อม 1 องศาเซลเซียสจะทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นราว 0.5 ถึง 8.4 เปอร์เซ็นต์ ความต้องการดังกล่าวจะนำไปสู่วงจรอุบาทว์เพราะหากยังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูง สุดท้ายก็จะกลายเป็นตัวเร่งให้วิกฤติภูมิอากาศเลวร้ายลง
ภาวะดังกล่าวค่อนข้างน่ากังวลโดยเฉพาะประเทศไทยที่มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ในขณะเดียวกันเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับมีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กว่าจะรู้สึกตัวว่าต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ไขปัญหาก็อาจจะสายเกินไป
โอกาสในวิกฤติ
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมดูจะกลายเป็นเรื่องรองขณะที่ปากท้องประชาชนและการจัดการโรคระบาดคือประเด็นอันดับหนึ่งที่รัฐบาลต้องหาทางแก้ไข แต่ในขณะเดียวกัน วิกฤตการณ์ครั้งนี้เปิดโอกาสให้รัฐบาลทั่วโลกกู้เงินมหาศาลเพื่อดำเนินมาตรการทางการคลัง พลิกฟื้นเศรษฐกิจที่หยุดชะงักให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง
ประเทศไทยเองก็กู้เงินมูลค่ามหาศาลต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีจนใกล้จะชนเพดานหนี้สาธารณะ เงินส่วนใหญ่ที่ถูกใช้ไปกับการเยียวยาชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 นับเป็นเรื่องสมเหตุสมผล แต่เงินส่วนที่เหลือควรถูกนำมาใช้แบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวคือผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูตัวเลขจีดีพี
โครงการคาร์บอนต่ำอาจเป็นทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคสูง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฟาร์มพลังงานลม หรือโครงสร้างเพื่อป้องกันภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงโครงการง่ายๆ ที่เอื้อต่อการจ้างงานผู้มีรายได้ต่ำ เช่น การฟื้นฟูพื้นที่ป่าหรือระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม (อ่านเรื่องราวต่อได้ที่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ด้วยนโยบายฟื้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)
น่าเสียดายที่ปีที่ผ่านมา เรากลับใช้งบประมาณมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาทที่ถูกจัดสรรเพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมดำเนินโครงการสะเปะสะปะ ทั้งโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ (3,550 ล้านบาท)โครงการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (154 ล้านบาท) และอีกสารพัดอย่างที่สื่อให้เห็นถึงการดำเนินการอย่างไรกลยุทธ์ อาทิ ปะการัง สร้างถนน ติดตั้งไฟฟ้า ซ่อมแซมสะพาน และสร้างห้องน้ำสาธารณะ
นับว่าน่าเสียดายที่ผู้มีอำนาจในเมืองไทยดูจะยังไม่รู้ว่าลูกหลานในอนาคตกำลังจะเจอกับวิกฤติภูมิอากาศที่โหดร้ายรุนแรง โดยที่เราไม่ได้เตรียมความพร้อมใดๆ ให้กับคนรุ่นหลังแม้แต่นิดเดียว
เอกสารประกอบการเขียน
Climate Risk Country Profile: Thailand (2021)