ขึ้นชื่อว่าขยะคงไม่มีใครอยากได้ ยิ่งมีน้อยยิ่งดี แต่ไม่ใช่สวีเดนที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนขยะจนต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แล้วขยะของสวีเดน(หาย)ไปไหน?
สวีเดนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ขยะจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม หรือภาคเกษตรกรรม ถูกรวบรวมและจำแนกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามคุณสมบัติและความเหมาะสม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 วงจร ได้แก่ การบำบัดน้ำและกากของเสีย (Wastewater treatment and sludge management) การจัดการขยะมูลฝอย (Solid waste management) ระบบก๊าซชีวมวล (Biogas system) และการจัดการพลังงานส่วนเกิน (Surplus energy management)
ขั้นแรกขยะจากครัวเรือนจะถูกจัดการด้วยการคัดแยกเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ในขั้นตอนต่อๆ ไป ด้วยเหตุนี้ขยะจากครัวเรือนเกือบทั้งหมดถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ่านกระบวนการหมักเป็นก๊าซชีวมวลและปุ๋ย หรือนำไปผลิตพลังงาน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยประมาณ 50% ถูกนำกลับมาใช้เป็นพลังงาน ผ่านโครงการจัดการขยะสู่พลังงาน (Waste to energy program) ขยะปริมาณกว่า 450 กิโลกรัมต่อคนต่อปีจึงเหลือที่ต้องนำไปฝังกลบจริงๆ ไม่ถึง 1%
ส่วนการเผาขยะในโรงเผา (waste incineration) นอกจากจะจัดการขยะได้มากกว่า 2 ล้านตันต่อปีแล้ว ยังสามารถผลิตความร้อนและกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย ขยะจึงกลายเป็นสิ่งมีค่าและเป็นทรัพยากรสำคัญที่นำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ในปี ค.ศ. 2011 Avfall Sverige (Swedish Waste Management) ระบุว่า สวีเดนมีเตาเผาขยะทั้งหมด 30 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ปริมาณขยะในประเทศมีไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตของเตาเผาขยะ จึงต้องนำเข้าขยะทั้งหมด 813,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะครัวเรือนปริมาณ 152,000 ตัน
โกเธนเบิร์ก (Göteborg หรือ Gothenburg) เมืองใหญ่อันดับ 2 ของสวีเดน เป็นเมืองศูนย์กลางของสแกนดิเนเวีย และมีท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเหนือ ที่นี่เป็นอีกเมืองที่ดำเนินโครงการจัดการขยะสู่พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินงานของบริษัท Göteborg Energi จนได้รับรางวัล “Modernization of an existing scheme” จากงาน Global District Energy Climate Awards 2011 และในปี 2013 เมืองโกเธนเบิร์กและ Göteborg Energi ได้รับเลือกจาก European Commission ให้เป็นผู้นำโครงการวิจัย “Celsius” เพื่อส่งเสริมการนำความร้อนเหลือทิ้ง (Waste heat) จากการเผาขยะมาใช้ประโยชน์ในระบบความร้อนของเมือง จึงน่าสนใจไม่น้อยที่จะย้อนกลับไปดูว่าโกเธนเบิร์กและ Göteborg Energi มีความเป็นมาอย่างไรก่อนที่จะกลายมาเป็นผู้นำด้านการจัดการขยะสู่พลังงานเช่นในปัจจุบัน
Göteborg Energi ก่อตั้งในปี ค.ศ.1846 ปัจจุบันเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่อันดับ 4 ของสวีเดน แต่เป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของ บริษัทนี้ให้บริการในสาธารณูปโภคต่างๆ ได้แก่ ความร้อน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และโทรคมนาคม อย่างไรก็ตามบริษัทเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ให้บริการความร้อน จากการพัฒนาระบบความร้อนของเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1950 ถึง 1970 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่การจัดการขยะสู่พลังงาน (Waste to energy) ของสวีเดนพัฒนาอย่างรวดเร็ว โรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อน (combined heat and power plants-CHP) แห่งแรกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1953 นับเป็นการเริ่มต้นของระบบความร้อนของเมืองโกเธนเบิร์ก โดยก่อนหน้าที่จะมีการพัฒนาระบบความร้อน แต่ละครัวเรือนผลิตความร้อนแบบของใครของมันจากการเผาถ่านหินและน้ำมันซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศ ส่วนการให้บริการความร้อนแบบใหม่นี้นอกจากจะช่วยให้ชาวเมืองได้ใช้พลังงานความร้อนที่ปลอดภัยวางใจได้แล้ว ยังมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม ปัญหาคุณภาพอากาศจากเตาเผาของครัวเรือนก็ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี Göteborg Energi ยังคงใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับเตาเผาขยะ จนกระทั่งวิกฤตการณ์น้ำมันช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ได้กลายเป็นโอกาสอันดีให้บริษัทพลังงานทั่วประเทศรวมถึง Göteborg Energi เร่งวิจัยและพัฒนาเพื่อหาพลังงานทดแทน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือการนำความร้อนเหลือทิ้งจากโรงงานขยะและโรงกลั่นน้ำมันมาใช้แทนน้ำมัน เท่ากับว่าทั้งเมืองลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะเดียวกันก็สามารถนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการขยะสู่พลังงาน (Waste to energy) การพัฒนาที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อมีการค้นพบว่าก๊าซปล่องไฟ (Flue gas) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาขยะมีส่วนประกอบของไดออกซิน (Dioxine) ซึ่งอันตรายต่อสภาพแวดล้อม จึงนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีจัดการก๊าซปล่องไฟเพื่อลดสารไดออกซินรวมถึงสารอันตรายอื่นๆ อย่างเหมาะสม ก่อนปล่อยสู่ภายนอก
เมื่อพิจารณาสัดส่วนของพลังงานชนิดต่างๆ ที่ Göteborg Energi ใช้ในการผลิตความร้อนระหว่างปี ค.ศ.1979 – 2010 จะเห็นว่า บริษัทใช้สัดส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง (จาก 90% เหลือประมาณ 9%) ขณะที่สัดส่วนการใช้พลังงานจากการเผาขยะ (Waste incineration) และความร้อนเหลือทิ้ง (Waste heat) เพิ่มขึ้น (จาก 10% เป็น 79%) โดยบริษัทยังสามารถผลิตความร้อนได้เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว แม้จะพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงมากก็ตาม ในปี ค.ศ.2010 พลังงานที่ได้จากการเผาขยะครัวเรือนและอาคารสำนักงานคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของพลังงานทั้งหมด รองลงมาเป็นพลังงานจากความร้อนเหลือทิ้งจากโรงงานไฟฟ้าและความร้อน (combined heat and power plants-CHP) และโรงกลั่นน้ำมัน
ปัจจุบันระบบโครงข่ายความร้อนของ Göteborg Energi ครอบคลุมตัวเมืองโกเธนเบิร์เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ให้บริการความร้อนแก่ชาวเมืองคิดเป็น 90% ของอาคารที่อยู่อาศัยทั้งหมด และประมาณ 20% ของบ้านเดี่ยว นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายความร้อนของเทศบาลเมืองรอบๆ ได้แก่ Mölndal Partille Ale และ Kungälv ซึ่งโครงข่ายที่เชื่อมโยงนี้เองทำให้ทั้ง 4 เมืองได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ จึงลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีกด้วย
ระบบโครงข่ายความร้อนของเมืองโกเธนเบิร์กดำรงอยู่ได้ด้วยโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อน 3 แห่งหลัก ซึ่งโรงงานที่ Sävenäs นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตความร้อนหลักของเมืองแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายความร้อนของเมืองอีกด้วย และโรงเผาขยะที่ Sävenäs ก็ได้รับการยกย่องโดย the Cities for Climate Change of the Clinton Foundation ให้เป็นโรงงานตัวอย่างในการจัดการขยะสู่พลังงานสะอาด โรงเผาขยะแห่งนี้มีความสามารถรองรับขยะได้มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยในปี ค.ศ.2011 รองรับขยะมากถึง 535,810 ตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะจากครัวเรือน 248,670 ตัน ขยะเหล่านี้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานความร้อนและกระแสไฟฟ้า 1,419,300 และ 263,270 เมกกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ตามลำดับ ซึ่งเทียบเท่ากับการผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ (Natural gas) 160 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือน้ำมัน 175,000 ลูกบาศก์เมตร โดยประมาณ Göteborg Energi กล่าวว่า คุณภาพอากาศของโกเธนเบิร์กที่ดีขึ้นตลอด 38 ปีที่ผ่านมา เป็นผลของการพัฒนาการระบบการจัดการขยะสู่พลังงานและการให้บริการผ่านระบบโครงข่ายของบริษัท ซึ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ และไนโตรเจน สู่อากาศกว่า 90%
กรณีเมืองโกเธนเบิร์กและ Göteborg Energi เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอีกหลายเมืองของสวีเดนและประเทศต่างๆ ในยุโรป โดยนอกเหนือจากการวิจัย การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จก็คือการได้รับความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชน ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ก็มีส่วนสำคัญ อย่างในกรณีของสวีเดน การเก็บภาษีคาร์บอน ภาษีฝังกลบขยะ และการบังคับใช้กฎหมายห้ามการฝังกลบขยะ เป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นทางเลือกอื่นในการจัดการขยะ อันนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด
ดูเหมือนขยะจะไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นปัจจัยการผลิตที่มีมูลค่าต่อระบบเศรษฐกิจ โดยส่วนหนึ่งถูกนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงวงจรการจัดการขยะสู่พลังงาน ซึ่งเข้ามาแทนที่การจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพและสร้างปัญหามลภาวะเช่นในอดีต