ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีข่าวคราวเกี่ยวกับเรือประมงผิดกฏหมายที่ทำประมงอยู่ในน่านน้ำไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรืออวนลาก ที่ใช้อวนตาถี่ ทำให้สัตว์น้ำตั้งแต่ลูกปลา ลูกปูไปยันปลาฉลามติดอวนขึ้นมาหมด ซึ่งปลาที่จับได้มากกว่า 50% เป็นปลาขนาดเล็ก ซึ่งมีทั้งลูกปลาและปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย ซึ่งคนไม่นิยมบริโภค แล้วปลาเหล่านี้ถูกจับมาแล้วไปไหน
เพื่อค้นหาคำตอบ เราจึงไปสำรวจแพปลาในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นที่ๆ มีปลามาลงเป็นจำนวนมาก
วันที่เราไปเป็นเช้าวันจันทร์ที่เป็นวันหยุด มีเรือมาเทียบท่าไม่มากนัก แต่ก็มากพอให้เราได้เห็นปลามากมายหลายชนิด หลายขนาด รวมทั้งเรือชนิดต่างๆ ตั้งแต่เรืออวนลากพื้นบ้านที่ทำประมงหน้าบ้าน ไปจนถึงเรืออวนล้อม เรือปั่นไฟ และเรือทัวร์ที่มีหน้าที่ลำเลียงปลาจากเรือประมงพาณิชย์ที่ออกไปทำประมงนอกบ้านกลับมาที่ท่า เราได้นัดกับเจ้าของแพปลาแห่งหนึ่งเอาไว้ให้ช่วยเป็นมัคคุเทศก์นำชมท่า โดยนัดเจอกันตอนหกโมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่การประมูลซื้อปลาเศรษฐกิจที่ส่งขายให้คนกินมักจะเสร็จสิ้นแล้ว ทำให้เจ้าของแพปลาท่านนี้มีเวลามานำสำรวจ
ท่าสะอ้านเป็นท่าเทียบเรือประมงหลักของจังหวัดสงขลา สามารถแบ่งจุดเทียบท่าเป็นสามส่วนใหญ่ๆดังนี้ คือ 1) จุดเทียบท่าของเรือประมงพื้นบ้าน 2) จุดเทียบท่าของเรือประมงพาณิชย์ และ 3) จุดขนถ่ายปลาเป็ด ปลาไก่ เมื่อเราไปถึงคนงานที่แพปลากำลังคัดแยกปลาประเภทต่างๆหลากหลายขนาดอยู่อย่างขะมักเขม้น ปลาเหล่านี้เป็นปลาโรงงาน ถูกคัดแยกใส่ทั้งถังตั้งแต่อยู่ในเรือมาแล้วรอบหนึ่ง แล้วจะมาถูกคัดแยกใส่เข่งพลาสติกที่แพปลาอีกครั้ง ก่อนที่เจ้าของแพปลาหรือโรงงานแต่ละแห่งจะมาเอาไป เมื่อเราเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็พบว่ามีปลาลังและปลาชนิดต่างๆแยกไว้เป็นเข่งๆตามขนาดและสภาพความสดของตัวปลา ปลาที่มีสภาพดี ขนาดไม่เล็กมาก ก็จะตัดหัว ส่งโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำทะเลบ้าง เอาไปรีดเนื้อทำเป็นลูกชิ้นปลาและซูริมิบ้าง ส่วนหัว ก็ส่งให้โรงงานปลาป่น ส่วนปลาที่มีสภาพดี แต่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย ก็จะนำไปเป็นปลาเหยื่อ ขายให้เกษตรกรที่เลี้ยงปลา เช่น ปลากระพง นำไปเป็นอาหารปลาซึ่งได้ราคาดีกว่าขายให้โรงงานปลาป่นอยู่มาก ส่วนเศษปลาที่มีสภาพแย่หน่อย ก็จะถูกขายให้โรงงานปลาป่นไป
หลังจากเดินดูคนงานคัดแยกปลาเสร็จแล้ว มัคคุเทศก์ของเราก็นำไปยังที่จอดเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งเรือเหล่านี้มักจะทำประมงหน้าบ้าน คือจับปลาอยู่เฉพาะในน่านน้ำไทย หลายๆลำเป็นเรืออวนลาก ส่วนเรือที่มีโคมแก้วห้อยระย้าเป็นแถวนั้นคือเรือไดหมึก ตอนที่เราเดินไปดู เป็นเวลาใกล้ๆเจ็ดโมงเช้าแล้ว เริ่มมีชาวประมงนำปลาหมึกและปูที่จับได้มาขึ้นฝั่ง ส่วนใหญ่จะถูกอัดเรียงอยู่ในตะกร้าตั้งแต่อยู่ในเรือ เราสังเกตว่าปลาหมึกที่ลูกเรือลำเลียงขึ้นมาจะตัวลีบๆแบนๆ ไม่ขาวเด้งอวบอัดน่ากินเหมือนที่ขายอยู่ตามตลาดสด เมื่อสอบถามก็ได้ความว่า ปลาหมึกส่วนใหญ่ที่จับมาได้ มักจะมีลักษณะแบบนี้ แต่ที่มันมีสภาพขาวเด้งเต่งตึงเพราะพ่อค้าแม่ค้าจะนำปลาหมึกไปแช่สารแช่สด ฟังแล้วก็รู้สึกร้อนๆหนาวๆชอบกล เพราะเป็นคนชอบทานปลาหมึกแล้วก็ทานบ่อยเสียด้วย
เมื่อเดินดูไปเรื่อยๆ ก็สังเกตว่าสัตว์น้ำที่ชาวประมงนำขึ้นมา มีแต่ปลาหมึก มีปูบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ยักเห็นจะมีปลาเลย มัคคุทศก์ของเราเลยให้ความกระจ่างว่า เรือเหล่านี้เป็นเรืออวนลากหน้าบ้าน ทำประมงอยู่ในน่านน้ำไทย ซึ่งทะเลไทยนั้นเหลือปลาอยู่น้อยมาก ส่วนที่จับปลาหมึกได้มากมาย ก็เพราะว่าช่วงนี้มีปลาหมึกชุม เนื่องจากเรืออวนลากพวกนี้ได้จับปลาที่อยู่หน้าดิน ซึ่งจะคอยกินไข่ปลาหมึกตามหน้าดิน อันเป็นวิธีควบคุมปริมาณปลาหมึกตามธรรมชาติ ไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้นเมื่อไม่มีปลาเหล่านี้ ก็ไม่มีใครมาคอยกินไข่ปลาหมึก ทำให้ปลาหมึกสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างอิสระ ดังนั้นการที่ท้องทะเลไทยเต็มไปด้วยปลาหมึก ไม่ได้บอกว่าทะเลของเราอุดมสมบูรณ์ แต่กลับเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าตอนนี้ทะเลของเราเสียสมดุลย์เสียแล้ว
เราเดินสำรวจบริเวณท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านได้ไม่นานนัก ก็เดินกลับมายังจุดเทียบท่าของเรือประมงพาณิชย์เพื่อจะเดินผ่านไปรอดูเรือลำหนึ่งที่จะลงปลาเป็ด แล้วก็พบว่ามีเรือทัวร์มาเทียบท่า กำลังเตรียมจะขึ้นปลากัน ทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นมาทันที คนงานวิ่งมาแย่งกันจับจองพื้นที่ พูดคุยกันสนุกสนาน ปลาที่นำขึ้นมาช่วงแรกจะเป็นปลาเศรษฐกิจ เมื่อขึ้นปลาเศรษฐกิจจนหมดแล้ว เรือก็เคลื่อนไปยังจุดถัดไปเพื่อขึ้นปลาเป็ด เราหยุดดูเขาขึ้นปลากัน มีปลาน้ำลึกหลายชนิด รวมทั้งกั้งและกุ้งมังกรตัวใหญ่ๆด้วย เห็นแล้วน้ำลายสอเลยทีเดียว แต่ไม่นานก็ได้เห็นความจริงอันเจ็บปวด เพราะปลาที่ทยอยขึ้นมามีทั้งลูกปลาฉลาม ตัวใหญ่สุดประมาณ 1 เมตร มีมาประมาณเกือบร้อยตัว ซึ่งเขาจะตัดครีบมันเอาไปขาย ส่วนเนื้อก็นำไปทำลูกชิ้นปลา นอกจากลูกปลาฉลามแล้วยังมีลูกปลากระเบน ลูกปลาเก๋า ลูกปลาสำลี ลูกปลาวัว ลูกปลาช่อนทะเล และที่ทำให้ช้ำใจสุดๆในฐานะคนชอบกินปลาคือลูกปลาจาระเม็ดตัวแค่ฝ่ามือ เมื่อเห็นเหล่าลูกปลาทั้งหลายโดนจับมาก่อนวัยอันควรอย่างนี้ ก็ทำให้นึกเป็นห่วงแล้วว่าในอนาคต เราจะเอาปลาที่ไหนมากิน เพราะเท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทะเลไทยก็แทบไม่เหลือปลาให้จับ ทำให้เรือประมงไทยต้องออกไปจับปลานอกน่านน้ำไกลถึงประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า บ้างก็ไปถึงเวียดนาม ส่วนเรื่องความสดก็ขอให้คิดกันเอาเอง เพราะเรือแต่ละลำที่ออกไปจับปลานอกน่านน้ำไทย ใช้เวลาไปกลับเป็นเดือน สงสัยอีกหน่อยคงได้กินแต่ปลานิลและปลาทับทิมของซีพีที่เลี้ยงด้วยปลาป่นนำเข้าจากเปรู
หลังจากยืนดูลูกเรือลำเลียงปลาขึ้นจากเรือได้สักพัก ก็มีคนมาตามให้ไปด้านนอกที่จุดลงปลาเป็ด เพราะเขากำลังลงปลาเป็ดปลาไก่กัน เมื่อตอนที่มาถึงแพปลาครั้งแรก ก็ย่ามใจว่ากลิ่นไม่เห็นจะเหม็นจนทนไม่ได้เลย ก็เป็นกลิ่นคาวปลา กลิ่นคาวสัตว์น้ำทะเลตามแพปลาที่เคยได้กลิ่นมาเท่านั้นเอง แต่พอเดินไปตรงที่เขากำลังตักปลาเป็ดขึ้นรถของโรงงานปลาป่นเท่านั้น ความคิดนี้ก็มลายหายไปทันที เพราะกลิ่นมันช่างเหม็นเกินกว่าจะเอื้อนเอ่ย ถ้าจะให้บรรยาย ก็คิดว่าเหมือนอาหารทะเลสดเน่าบวกกับอุจจาระเลยทีเดียว เมื่อกลิ่นมันเหลือจะทน เลยทดลองทำตามคำแนะนำที่ให้สูดกลิ่นให้ลึกๆสองที ก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้นจนต้องควักยาดมและผ้าปิดจมูกมาใส่บรรเทาอาการ ก่อนที่จะหน้ามืดเป็นลมล้มคว่ำลงไปในที่เขาเก็บปลาเป็ดกัน
ปลาเป็ดที่เขากำลังตักขึ้นมานี้เป็นปลาเป็ดคุณภาพต่ำ เพราะเป็นปลาเป็ดที่จับโดยอวนลาก ที่ลากเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่หน้าดินมา นำมาเทใส่ที่เก็บใต้ท้องเรือ แล้วแช่น้ำแข็งเอาไว้ แต่กว่าเรือจะเข้าฝั่ง ปลาเหล่านี้ก็เริ่มเน่าแล้ว จึงส่งกลิ่นเหม็นเน่าเคล้าคลุ้งเช่นนี้ แทบจะดูไม่ออกว่าเป็นตัวปลาถ้าไม่เห็นหัว เห็นตากับหางชี้ๆ ในการลำเลียงขึ้นมา ลูกเรือก็ใช้ขวดน้ำมันเครื่องผ่าครึ่งเป็นที่ตัก โกยเอาปลาเป็ดใส่ตะกร้า แล้วเทใส่รถของโรงงานปลาป่นที่มาจอดเทียบท่ารออยุ่แล้ว ปลาเป็ดคุณภาพต่ำเหล่านี้เมื่อนำไปทำเป็นปลาป่น ก็จะได้ปลาป่นเกรดต่ำ คือ เบอร์ 3 หรือไม่ก็ต่ำกว่านั้น โดยปลาป่นนั้นจะแยกเกรดกันจากค่าโปรตีน กลิ่น ค่า TVBN หรือค่าความสด และ ความชื้น โดยปลาป่นเกรดที่ดีที่สุดคือปลาป่นเกรดกุ้ง ที่มีค่าโปรตีนไม่ต่ำกว่า 65% ซึ่งทำมาจากปลาทั้งตัวที่จับโดยเรืออวนล้อมหรือเรืออวนดำ ซึ่งใช้เวลาจับปลาไม่นาน ทำให้ปลายังคงความสดอยู่ แต่หาได้ยากมากแล้วในประเทศ ทำให้ปริมาณปลาป่นเกรดกุ้งที่ผลิตได้ในประเทศไทยมีเพียง 25% ของปลาป่นที่ผลิตได้ทั้งหมด
เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ก็สงสัยว่าอนาคตของทะเลไทยจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อปลาเริ่มหร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ชาวประมงก็ยิ่งต้องใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง อย่างเรืออวนลาก เรืออวนรุน เรือปั่นไฟ ที่ใช้อวนตาถี่ยิบ เพื่อจะได้จับสัตว์น้ำทะเลให้ได้ปริมาณมากที่สุด โดยไม่สนใจว่าปลาที่จับมาได้นั้น จะเป็นปลาโตเต็มวัยหรือลูกปลาเศรษฐกิจที่จะมีมูลค่ามหาศาลหากเพียงปล่อยให้เจริญเติบโตต่อไป เราจับจนแทบไม่มีอะไรเหลือ จับจนท้องทะเลผลิตไม่ทันความต้องการ คำถามที่ตามมาคือ แล้วกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่รับชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่างกรมประมงกำลังทำอะไรอยู่ ในตอนถัดไป เราจะมาดูกฏหมายที่เกี่ยวกับการประมงที่มีอยู่ รวมไปถึง IUU fishing regulations ที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามร่วมกับสหภาพยุโรป ทำให้โรงงานอาหารสัตว์ ไปจนถึงเจ้าของเรือประมงออกอาการร้อนๆหนาวๆ เพราะมีผลกระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำจากไทยไปสหภาพยุโรป บ้างก็ว่าเป็นการกีดกันทางการค้าของสหภาพยุโรป
อยากรู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป