ภาพจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับวันจะชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรู้สึกได้ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากการละลายของน้ำแข็ง ความเป็นกรดในมหาสมุทร และภัยธรรมชาติที่เกิดบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น สถิติที่เป็นรูปธรรมของเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็น ‘เร่งด่วน’ ที่เราต้องดำเนินการอย่างจริงจัง
แต่หากจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวโยงกับสิทธิสตรีด้วย หลายคนคงจะสงสัย เพราะดูเป็นประเด็นที่ไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกันได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก
แผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – ว่าด้วยข้อตกลงปารีส
ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนขอนำเสนอเบื้องต้นว่าโลกมีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และแต่ละประเทศควรมีส่วนในการรับผิดชอบอย่างไร
ดังที่ทราบว่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้นำจากหลายประเทศทั่วโลกได้บรรลุข้อตกลงปารีสที่เปรียบดั่งหมุดหมายสำคัญของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ ภายใต้เป้าหมายร่วมคือ จำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากก่อนยุคอุตสาหกรรม และจะพยายามป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ดี คุณ Sivan Kartha จากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute – SEI) หยิบยกรายงานโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และคณะทำงานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ที่ระบุว่า แม้ทุกประเทศจะดำเนินการตามแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเคร่งครัด เราก็ยังจำเป็นต้องลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกมหาศาลหลัง ค.ศ. 2025 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
Sivan Kartha จากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ภาพจาก IISD
นั่นหมายความว่า ข้อตกลงปารีสเป็นเพียง ‘ก้าวแรก’ แต่ทุกประเทศในโลกยังต้องเผชิญบททดสอบในการลดรอยเท้านิเวศ (eco footprints) ของตัวเองภายในเวลาที่ค่อนข้างจำกัด โดยมีอนาคตของมนุษยชาติรุ่นต่อไปเป็นเดิมพัน
คุณ Sivan นำเสนอว่า ในการลดรอยเท้านิเวศนี้ เราควรยึดหลัก ‘ส่วนได้ส่วนเสีย (equity basis)’ เพื่อคำนวณหา ‘ส่วนแบ่งที่ยุติธรรม (fair shares)’ โดยอ้างอิงจาก 2 แง่มุมคือ ความรับผิดชอบ (responsibility) กล่าวคือ ประเทศที่ปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกจำนวนมากในอดีตควรมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหามากกว่า และความสามารถ (capability) คือการคำนึงถึงศักยภาพของประเทศต่างๆ ทั้งในแง่รายได้ และความทันสมัยของเทคโนโลยีด้วย
“ผมอยากให้มองว่า ไม่มีประเทศใดสามารถป้องกันสภาพภูมิอากาศของตัวเองโดยการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกภายในประเทศเท่านั้น ทุกประเทศจึงต้องพยายามชักจูงประเทศอื่นๆ ให้ช่วยกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Sivan Kartha กล่าวสรุป
ผู้หญิง – เหยื่อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คราวนี้จะมาพูดถึงประเด็นที่หลายๆ คนอาจจะมีข้อกังขาคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอย่างไร
หากเราคิดทบทวนดูก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ในสังคมที่ผู้หญิงไร้สิทธิ์เสียงและอำนาจตัดสินใจ ดังนั้นเมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ผู้ชายซึ่งเป็นใหญ่ย่อมดำเนินการแก้ไขตามที่ตนเองเห็นเหมาะสม โดยกลไกเหล่านั้นอาจ ‘มองข้าม’ ความต้องการของผู้หญิง รวมถึงเพศอื่นๆ เนื่องจากพวกเธอไม่มีส่วนร่วมในการวางแผนรับมือ ยังไม่รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงที่ด้อยกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ดิน สินทรัพย์ และสิทธิทางการศึกษา ความด้อยกว่าเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้หญิงยากที่จะปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คุณ Cecilia Aipira จากองค์การสตรีแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Women) ได้นำเสนอตัวเลขสถิติที่ยืนยันข้อเท็จจริงข้างต้น เช่น ผู้หญิงจะมีอัตราการตายสูงอย่างมีนัยสำคัญจากภัยพิบัติ และเหตุการณ์อย่างอุทกภัยจะส่งผลให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
Cecilia Aipira จากองค์การสตรีแห่งองค์การสหประชาชาติ ภาพโดย Thomas Engstrom
ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้แต่กองทุนสนับสนุนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น Green Climate Fund ที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงปารีส ก็ไม่มีการระบุเงื่อนไขหรือความพยายามเพื่อการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้หญิงในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม เนปาล และอินเดีย มีบทบาทอย่างมากในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สิ่งที่คุณ Cecilia นำเสนอ สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของคุณ Samantha Kwan จากเครือข่ายเยาวชนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งหมู่เกาะซามัว (Youth Climate Action Network of Samoa) เธอเล่าว่า ในหมู่เกาะซามัวซึ่งตั้งอยู่ใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ยังมีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ทั้งที่ผู้หญิงก็มีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่ากัน โดยความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เธอพบเห็นมักเกิดขึ้นหลังภัยพิบัติ เช่น สึนามิ หรือไซโคลน ซึ่งส่งผลให้ชุมชนต้องย้ายไปอาศัยในศูนย์อพยพ เพราะในแผนจัดการวิกฤติกลับไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มฟาฟาฟินิ (fa’afine) หรือกลุ่มเพศที่สามของซามัว ทั้งในเรื่องห้องน้ำและพื้นที่พักผ่อนในตอนกลางคืน ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน
กล่าวโดยสรุปคือ ‘ผู้หญิง’ รวมถึงกลุ่มผู้มีสิทธิ์มีเสียงด้อยกว่าคนอื่นในสังคม คือเหยื่อ ‘อันดับหนึ่ง’ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่กลไกรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสองประเด็นดังกล่าว
ความเท่าเทียมทางเพศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – ความท้าทายเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม
แม้ในบางประเทศยังมองไม่เห็นสิทธิสตรีในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวข้างต้น แต่ Jonathan Gilman จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ก็เห็นว่าการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการเปรียบเทียบตัวเลขโครงการตามกลไกการพัฒนาสะอาด (Clean Development Mechanism) ซึ่งเกิดขึ้นตามพิธีสารเกียวโต เมื่อ ค.ศ. 1997 เพราะในตอนนั้นมีเพียง 5 โครงการจากทั้งหมด 3,864 โครงการที่กล่าวถึงความเท่าเทียมหรือผู้หญิง แต่ปัจจุบัน เป้าหมายการดำเนินงานของประเทศในระดับมุ่งมั่น (INDCs) ของ 65 ประเทศซึ่งมีทั้งหมด 162 เป้าหมาย กลับพบว่ามีโครงการที่ระบุและให้ความสำคัญเรื่องเพศและผู้หญิงถึงร้อยละ 40
การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและผู้หญิงเข้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยใน INDCs หลายฉบับจะระบุให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมหรือเป็นผู้มีบทบาทหลักในการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับบทนำของข้อตกลงปารีสที่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และการสนับสนุนสตรี
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ
ส่วนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งเปรียบเสมือนทิศทางของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า นอกจากจะมีเป้าหมายที่ระบุโดยเฉพาะเจาะจงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (เป้าหมายที่ 5) ยังสอดแทรกเรื่องการพัฒนาผู้หญิงไว้ในเป้าหมายอื่นๆ เช่น สิทธิของผู้หญิงในการใช้ที่ดิน (เป้าหมายที่ 1) สิทธิในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนอย่างเท่าเทียม (เป้าหมายที่ 7) และการคำนึงถึงอย่างเท่าเทียมในกลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ
สำหรับภาคประชาสังคม หลายหน่วยงานก็ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับฐานราก เช่น Helen Hakena จากองค์กรพัฒนาผู้หญิง Leitana Nehan (Leitana Nehan Women’s Development Agency – LNWDA) ซึ่งทำงานส่งเสริมบทบาทและให้ความรู้แก่สตรีในประเทศปาปัวนิวกินี และ Toan Tran จาก Centre for Sustainable Rural Development ประเทศเวียดนาม ที่สนับสนุนให้สตรีเข้าร่วมทีมตอบสนองเร็ว (Rapid Response Team) เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้กลุ่มสตรีเป็นที่ยอมรับในสังคมชายเป็นใหญ่มากขึ้น รวมถึงยังสร้างบทบาทและพื้นที่ในการมีส่วนร่วมตัดสินใจทั้งในครอบครัวและในพื้นที่สาธารณะ
“แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นภัยคุกคามระดับโลก แต่ในอีกแง่หนึ่ง นี่ก็เป็นโอกาสที่เราจะปรับโลกทัศน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมในระดับนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่เท่าเทียมทางเพศไปพร้อมกัน นับว่าเป็นความท้าทายในการสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition)” Kate Lappin จากสมาคมสตรี กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Forum on Women, Law and Development) กล่าวสรุป
สำหรับประเทศไทยเองก็นับเป็นโอกาสดีที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Swedish International Development Cooperation Agency :SIDA) ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ได้จัดสัมมนาระดับภูมิภาคในหัวข้อ วาระเร่งด่วน: การทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสร้างความมั่นใจว่าแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรจะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ (Urgency in Action: Understanding human behavior and ensuring human rights and gender equality in the response to climate change) ขึ้นเมื่อวันที่ 10 – 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ทำให้หลายประเด็นที่ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยเป็นที่รับรู้ เพราะในการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 150 คน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และ องค์การสหประชาชาติ
นอกจากประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างความเท่าเทียมทางเพศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในงานสัมมนายังมีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างไร เพื่อรับมือต่อภัยคุกคามที่นับวันจะใกล้ตัวและรุนแรงมากขึ้นทุกที ซึ่งหากสามารถทำได้ความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นคงลดลง
หรือหากในอนาคตเรายังไม่สามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสได้ ซึ่งจะทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น แต่ ‘คนชายขอบ’ เช่น ผู้หญิง เด็ก และชาติพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งด้อยสิทธิกว่ากลุ่มคนอื่นในสังคม ก็น่าจะมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น