ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) หมายถึง แนวคิดที่ว่าบริษัทควรแสดงความรับผิดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยสมัครใจ ซึ่งอาจแบ่งเป็น 8 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า ชุมชน รัฐ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอาจแสดงออกด้วยการดำเนินธุรกิจและดำเนินโครงการต่าง ๆ ในทุกมิติอย่างรับผิดชอบ การทำซีเอสอาร์ไม่มี “เส้นชัย” ที่เป็นรูปธรรม แต่เป็นเรื่องของกระบวนการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตัวเองของบริษัทที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ในยุคนี้ นอกเหนือจากการเรียกร้องเรื่องประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลจากบริษัทแล้ว กระแสความต้องการให้บริษัททำซีเอสอาร์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากแนวคิดนี้ สอดคล้องกับกระแสการแก้ปัญหา “โลกร้อน” ที่กำลังมาแรง แต่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มากทีเดียวว่า การที่บริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มทำซีเอสอาร์มากขึ้นนั้น ทำเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมจริง ๆ หรือเพียงต้องการโฆษณาประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทเท่านั้น การประเมินซีเอสอาร์ของบริษัทจึงควรประเมินผ่านพฤติกรรมของบริษัทในภาพรวมและคุณภาพของกิจกรรมซีเอสอาร์ พิจารณาว่ามีแนวคิดความรับผิดสะท้อนอยู่ในพันธกิจ เป้าหมายในการทำธุรกิจ หรือกลยุทธ์ของบริษัทหรือไม่ ไม่ใช่พิจารณาแค่เพียงกิจกรรมที่บริษัทโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ ก็ควรทำซีเอสอาร์อย่างพอเหมาะพอดี หากบริษัทใช้เงินทำซีเอสอาร์มากจนลิดรอนความสามารถในการทำธุรกิจปกติของบริษัท จนถึงขั้นต้องลดขนาดกิจการ ไล่คนงานออก เพื่อความอยู่รอด ก็มิอาจเรียกได้ว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม