เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นหนี้ ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใด เราก็มักจะรู้สึกว่าการผ่อนชำระหนี้ให้ตรงเวลาคือ “หน้าที่” ในฐานะ “ลูกหนี้” และดังนั้นเราจึงมักจะก้มหน้าก้มตาพยายามผ่อนชำระให้ครบจำนวนและตรงเวลา โดยไม่ตั้งคำถามต่อเงื่อนไขหรือ “ความเป็นธรรม” ของหนี้
แต่การครุ่นคิดและอภิปรายเรื่อง “หนี้ที่เป็นธรรม” ไม่เพียงแต่มีความหมายเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทางการเงิน การคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ตรงต่อความต้องการของเราๆ ท่านๆ (ซึ่งย่อมเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและไลฟ์สไตล์) ตลอดจนการแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ของเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน
เราจะคิดเรื่อง “หนี้ที่เป็นธรรม” อย่างไร? เราอาจจะเริ่มจากการตั้งคำถามง่ายๆ ในแต่ละขั้นตอนของการเป็นหนี้ เริ่มตั้งแต่การเข้าถึงหนี้ การทำสัญญาหนี้ จนถึงการติดตามหนี้ ยกตัวอย่างเช่น เราทุกคนเข้าถึงหนี้ได้อย่างเท่าเทียมกันหรือเปล่า? ถูกเลือกปฏิบัติไม่ให้ใช้บริการทางการเงิน หรือถูกคิดดอกเบี้ยแพงๆ ด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความสามารถในการชำระหนี้ของเรา เช่น เพศสภาพ ความเชื่อทางการเมือง อาชีพ ภาษา การแต่งกาย ฯลฯ หรือไม่?
เวลาที่เจ้าหนี้จูงใจให้เราทำสัญญาหนี้ เจ้าหนี้ให้ข้อมูลเราอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเพียงพอต่อการตัดสินใจหรือเปล่า? บังคับหรือหลอกลวงให้เราต้องซื้ออย่างอื่นด้วยโดยที่เราไม่เต็มใจหรือไม่รู้หรือไม่ เช่น บอกว่าถ้าอยากกู้ เราต้องทำประกันชีวิตพ่วงด้วย? ให้โอกาสเรา “เปลี่ยนใจ” หลังจากที่ตกลงทำสัญญาไปแล้ว ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือเปล่า (cooling-off period)? ขออนุญาตเราอย่างชัดเจนก่อนที่จะใช้ข้อมูลของเราเพื่อการตลาด (ของตัวเอง บริษัทในเครือ และรวมถึงการขายข้อมูลให้บริษัทอื่น) หรือไม่?
คำตามเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตอบ แต่โชคดีที่วันนี้ ในยุคที่สถาบันการเงินถูกเรียกร้องให้ต้องมี “ความรับผิดชอบ” มากขึ้นหลังเกิดวิกฤตการเงินโลก ปี 2008-2009 เราได้เห็น ‘นวัตกรรม’ มากมาย ทั้งนวัตกรรมด้านกลไกกำกับดูแลในหลายประเทศ และนวัตกรรมของสถาบันการเงินหลายแห่ง ซึ่งกำลังช่วยขับเคลื่อนภาคการเงินไปสู่ทิศทางของ “หนี้ที่เป็นธรรม” มากขึ้น
ขอเชิญเริ่มพบกับตัวอย่างของนวัตกรรมเหล่านี้ได้ใน หนี้ที่เป็นธรรม: นวัตกรรมของผู้กำกับดูแล และผู้ให้บริการทางการเงิน
หนังสือเล่มนี้เป็น “ฉบับย่อ” ของรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง “กลไกการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินและนวัตกรรมทางการเงินที่รับผิดชอบต่อลูกค้ารายย่อย” จัดทำโดยคณะวิจัยจากบริษัท ป่าสาละ จำกัด ภายใต้การสนับสนุนโดย มูลนิธิมั่นพัฒนา จัดทำรูปเล่มและภาพประกอบโดย ทีมงาน way magazine
วัตถุประสงค์ของรายงานวิจัยดังกล่าว คือ การรวบรวมและสังเคราะห์ความหมายและพัฒนาการของแนวคิด “หนี้ที่เป็นธรรม” และ “ความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน” ต่อลูกค้ารายย่อย และรวบรวมตัวอย่าง ‘นวัตกรรม’ ที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านกลไกการกำกับดูแล และกลไกการให้บริการของสถาบันการเงินทั่วโลก