โครงการวิจัย การสำรวจความพร้อมของบริษัทในประเทศไทยในการดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ได้รับการสนับสนุนจากโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) สหภาพยุโรป และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อประเมินความพร้อมของบริษัทในประเทศไทยในการดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ตลอดจนสำรวจข้อคิดเห็นและข้อกังวลของภาคธุรกิจในการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเสริมสร้างศักยภาพของบริษัทไทยให้สามารถดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิผลมากขึ้น โดยมีระยะเวลาวิจัยระหว่างเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2566
คณะวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยหลัก ประกอบด้วยการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน การสำรวจความพร้อมในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของบริษัทในประเทศไทย โดยการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์และการสัมภาษณ์เชิงลึก การจัดทำกรณีศึกษา และการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
จากผลการสำรวจ โดยวิธีการส่งแบบสอบถามออนไลน์ มีบริษัทตอบรับ 57 ราย แบ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 43 ราย และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม 14 ราย พบว่า บริษัทในประเทศไทยตอบแบบสอบถามมีความพร้อมในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านในระดับปานกลาง โดยบริษัทส่วนใหญ่ (31 ราย คิดเป็น 54.39% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม) มีการประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชนและ/หรือคำมั่นต่อสาธารณะว่าจะเคารพหลักการหรือมาตรฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งอ้างอิงหลักการหรือมาตรฐานระดับสากล บริษัทกว่าครึ่งหนึ่ง (29 ราย คิดเป็น 50.88%) มีการจัดตั้งคณะทำงานหรือผู้รับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรง ซึ่งหลายบริษัทกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบตั้งแต่ระดับผู้จัดการอาวุโสขึ้นไป และบริษัทส่วนใหญ่ (31 ราย คิดเป็น 54.39%) มีการสื่อสารนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเฉพาะเจาะจงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงมีการอบรมด้านสิทธิมนุษยชน ที่ครอบคลุมทั้งบุคลากรในองค์กร (ผู้บริหารและพนักงาน) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก อาทิ คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน พนักงาน/แรงงานของคู่ค้า ผู้รับเหมา ลูกค้า และชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ
ในด้านการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน พบว่า มีบริษัทที่ระบุว่าเคยตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน 27 ราย จากบริษัททั้งหมดที่ตอบแบบสอบถาม คิดเป็นร้อยละ 47.37 และบริษัทที่ไม่เคยตรวจสอบความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 52.63 อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยพบว่า บริษัทที่ผลการสำรวจบ่งชี้ว่าน่าจะมีความพร้อมระดับสูง ส่วนใหญ่ไม่เคยตรวจสอบความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และบริษัทที่เคยมีการตรวจสอบก็ได้ดำเนินการเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ขณะที่บริษัทที่ผลการสำรวจบ่งชี้ว่าน่าจะมีความพร้อมระดับปานกลางและระดับต่ำกลับมีผลสำรวจที่ระบุว่าเคยตรวจสอบความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่า 1 ครั้ง คณะวิจัยเห็นว่าผลสำรวจที่ดูย้อนแย้งกันดังกล่าวอาจเกิดจากการที่บริษัทผู้ตอบแบบสำรวจมีกลไก นโยบาย และกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อาทิ กลไกรับเรื่องร้องเรียนจากพนักงานและชุมชน เป็นต้น แต่ยังไม่เคยดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน หรือผู้ตอบแบบสำรวจไม่มีความรู้หรือความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเพียงพอ และอาจเข้าใจว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการเดียวกันกับการประเมินความเสี่ยงด้านการดำเนินงานขององค์กร
ในด้านการกำหนดให้คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานเคารพสิทธิมนุษยชน พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ (30 ราย คิดเป็น 52.63%) ยังไม่มีนโยบายหรือกำหนดให้คู่ค้าประกาศนโยบาย/คำมั่นต่อสาธารณะในการเคารพหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ หลายบริษัทยังไม่กำหนดให้คู่ค้ามีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งการทำงานล่วงเวลาหรือการกำหนดเพดานชั่วโมงการทำงาน การปรึกษาหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์/ชุมชนท้องถิ่น การรับเรื่องร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนทางลบ รวมถึงยังไม่กำหนดให้คู่ค้าต้องประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจบางส่วนอาจไม่ทราบหรือไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่าบริษัทของตนมีการกำหนดนโยบายให้คู่ค้าเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างไร ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ผลสำรวจไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ เนื่องจากมีผู้ตอบแบบสำรวจมีจำนวนน้อย อีกทั้งผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ (75.44%) หรือเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (85.96%) จึงทำให้การวิเคราะห์ผลสำรวจสะท้อนความพร้อม/ไม่พร้อมในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดของงานวิจัยนี้ คณะวิจัยจึงใช้ผลการสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดทำกรณีศึกษา เพื่อประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสำรวจ โดยดำเนินการสัมภาษณ์บริษัทขนาดใหญ่ 7 แห่ง และบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก 7 แห่ง จากนั้นเลือกบริษัทในกลุ่มดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาจำนวน 3 กรณี โดยผลการวิจัยในส่วนนี้ พบว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่ได้ดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านแล้ว ตัดสินใจดำเนินการเนื่องจากเกิดประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ เป็นต้น โดยความท้าทายในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของบริษัทกลุ่มนี้ คือ การขยายการการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากบริษัทคู่ค้าที่เป็นบริษัทขนาดเล็กยังไม่มีความพร้อมที่จะปรับปรุงหรือแก้ไขแนวทางในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรการลดความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
ในขณะเดียวกัน บริษัทขนาดใหญ่บางแห่งยังไม่เคยดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เนื่องจากยังไม่มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการดำเนินการเพียงพอ หรือบริษัทบางแห่งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับบริษัทคู่ค้าที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะปรับปรุงหรือแก้ไขแนวปฏิบัติด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และยังไม่มีความเข้าใจในกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนมากพอ
สำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก พบว่า ยังไม่มีบริษัทใดที่ดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เนื่องจากบริษัทกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องธุรกิจเป็นลำดับแรก เช่น คำนึงถึงรายได้ก่อน ถ้ารายได้เพียงพอแล้ว จึงค่อยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นลำดับรอง นอกจากนี้ บริษัทกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจว่าการดำเนินการการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านคืออะไร หรือยังไม่เห็นว่าการดำเนินงานของบริษัทเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างไร จึงยังไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บริษัทบางแห่งมีการดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในระดับหนึ่ง และสามารถยกระดับเพื่อดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อไปได้
จากผลการวิจัยข้างต้น คณะวิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ประการ สรุปโดยสังเขปได้ดังนี้
1. ควรจัดทำกฎหมายการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านสำหรับกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวควรกำหนดมาตรการจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้มีมาตรการเสริมสร้างศักยภาพของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง เพื่อสามารถ “ส่งต่อ” ความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทานตามหลักการชี้แนะ UNGPs เช่น การเป็น “พี่เลี้ยง” ที่สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำเรื่องการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านให้แก่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมและบริษัททุกขนาดที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตนได้
2. ควรมีการเสริมสร้างองค์ความรู้และยกระดับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัท โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากคู่มือการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่หน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศได้จัดทำไว้แล้ว เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากคู่มืออย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้บริษัทเข้าถึงคู่มือดังกล่าวอย่างทั่วถึง มีการสื่อสารที่ช่วยสร้างความเข้าใจได้ว่าการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตามคู่มือดังกล่าวสอดคล้องกับแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่บริษัทดำเนินการอยู่แล้วอย่างไร
นอกจากนี้ คณะวิจัยเห็นว่า ควรมีการจัดทำและเผยแพร่คู่มือและเอกสารแนวนโยบายที่ครอบคลุมประเด็นเสี่ยงระดับอุตสาหกรรม รวมถึงคู่มือและแนวนโยบายของภาคธุรกิจในประเด็นต่อไปนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเห็นว่ายังมีช่องว่างอยู่มากระหว่างมาตรฐานสากลกับการปฏิบัติในไทย
- นโยบายปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน รวมถึงนโยบายไม่ตอบโต้ (non-retaliation policy)
- นโยบายปกป้องผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมสาธารณะ และการรวมกลุ่มเพื่อเจรจาต่อรอง
- นโยบายการปรึกษาหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์/ชุมชนท้องถิ่น
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านแล้ว หรือมีห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าจำนวนมาก คณะวิจัยเห็นว่าควรมีการจัดทำหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและยกระดับให้บริษัทกลุ่มนี้สามารถเป็น “พี่เลี้ยง” ที่สามารถให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านให้แก่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมและบริษัททุกขนาดที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตน โดยกระทรวงยุติธรรมควรพิจารณาให้สถิติการเป็น “พี่เลี้ยง” ดังกล่าว เป็นเกณฑ์ส่วนหนึ่งในการพิจารณามอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมให้กับบริษัทที่มีความพร้อม
3. การบูรณาการแนวปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียว และการเพิ่มระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ คณะวิจัยเห็นว่าการบูรณาการการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างหน่วยงานรัฐ จะช่วยลดความสับสนหรือความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของผู้ประกอบการได้ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ควรหาช่องทางขยายผลการใช้ประโยชน์จากคู่มือประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านและรายการตรวจสอบของภาคธุรกิจที่ได้จัดทำไว้อยู่แล้ว โดยอาจจัดทำระบบออนไลน์ให้บริษัทสามารถเข้ามาทดลองประเมินความพร้อมของตนเองในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ตามรายการตรวจสอบ (checklist) ในคู่มือ เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพควรขยายความร่วมมือกับ กสม. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลข้อร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนมากที่สุด เพื่อเชื่อมโยงและเปิดเผยฐานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน โดยเปิดเผยต่อสาธารณะในลักษณะที่เข้าถึงและประมวลผลได้ง่าย (open data) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจยกระดับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงเปิดโอกาสให้นักวิชาการ บริษัท และหน่วยงานของรัฐ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อประเมินแนวโน้มประเด็นเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรต่อไป
สำหรับรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ สามารถอ่านออนไลน์และดาวน์โหลดได้จากหน้านี้