ประเทศไทยเป็นแหล่งส่งออกเนื้อไก่ที่ติดอันดับหนึ่งในห้าประเทศที่ส่งออกปริมาณสูงสุดของโลก และมีอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก  หลังจากตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์เป็นเวลาหลายปีในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งหมอกควันอันตรายในภาคเหนือที่มาจากการเผาที่ไร่ก่อนการเพาะปลูกฤดูต่อไป บรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้พยายามทดลองรูปแบบใหม่ๆ เพื่อที่จะกู้ชื่อเสียงของตนคืนมา และช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในเขตพื้นที่คุ้มครองได้เปลี่ยนผ่านไปปลูกพืชชนิดอื่น  นอกจากการริเริ่มของบริษัทเองแล้ว หลายองค์กร รวมทั้งเอ็นจีโอ โครงการพัฒนาในพระราชดำริ และสหกรณ์การเกษตร ก็ได้ทำการทดลองดำเนินการโครงการทำการเกษตรที่ไม่ใช่ข้าวโพดสำหรับพื้นที่สูงในภาคเหนือ  จนถึงปํจจุบันยังไม่มีการรวบรวมประเภทของโครงการดังกล่าว และประเมินสภาพการดำรงชีวิตและสภาพสิ่งแวดล้อมของเกษตรกรหลังจากเข้าร่วมโครงการ และหลังจากการที่หลายบริษัทได้ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการรับซื้อของตน

องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ได้เริ่มการเจรจากับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่แบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อให้นำวิธีการวัดผลกระทบด้านความยากจน (Poverty Footprint) มาใช้ในการประเมินห่วงโซ่อุปทานของตน ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาการศึกษา แม้การศึกษาผลกระทบด้านความยากจนจะยังไม่ได้เริ่ม องค์การอ็อกแฟมประเทศไทยเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากโครงการ “การเปลี่ยนผ่านการปลูกข้าวโพด (post-maize transition)” ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทที่สำคัญอื่นๆ ได้ริเริ่มดำเนินการ และพยายามคำนวณผลกระทบเชิงปริมาณออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรรายย่อยและสภาวะหมอกควัน เพื่อที่จะได้เข้าใจประสิทธิผลและลักษณะของความริเริ่มดังกล่าวได้ดีขึ้น

ในการนี้ อ็อกแฟม ประเทศไทย ได้มอบหมายให้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ดำเนินการศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจาก “โครงการเปลี่ยนผ่าน” ใน จ.น่าน และ จ.เชียงใหม่ โดยมีระยะเวลาวิจัย 1 ปี ระหว่างเดือนมิถุนายน 2560 ถึงเดือนมิถุนายน 2561

ระเบียบวิธีวิจัย

ผู้วิจัยพยายามประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2557-2560 ของ “โครงการเปลี่ยนผ่านการปลูกข้าวโพด (post-maize transition projects)” ซึ่งได้แก่โครงการต่างๆ ที่มุ่งจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดลดและเลิกการปลูกพืชไร่ชนิดนี้  โดยเน้นที่โครงการที่มีการเข้าร่วมอย่างมีนัยสำคัญของบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่  โดยใช้คำถามวิจัยห้าข้อหลักดังต่อไปนี้สำหรับทุกพื้นที่

  1. ในพื้นที่มีการเผาไร่น้อยลงหรือมากขึ้นตั้งแต่เริ่มโครงการ
  2. พื้นที่ป่า (รวมถึงพื้นที่ฟื้นฟูป่า) มีน้อยลงหรือมากขึ้นตั้งแต่เริ่มโครงการ
  3. ชาวบ้านในโครงการได้รายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงตั้งแต่เริ่มโครงการ
  4. ในมุมมองของชาวบ้านในโครงการ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่เห็นได้ว่าเป็นผลจากโครงการ
  5. ชาวบ้านคิดว่าใครหรือองค์กรใดเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

คำตอบสำหรับคำถามที่ 1 และ 2 จะได้มาจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียมเปรียบเทียบจุดความร้อน (hot spots) และพื้นที่ป่าในโครงการก่อนและหลังเริ่มโครงการ โดยการว่าจ้างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) (สทอภ. หรือ GISTDA)  ส่วนคำถามที่ 3 ถึง 5 จะได้คำตอบจากการพูดคุยในกลุ่มย่อยกับผู้จัดการโครงการและชาวบ้านที่เข้าร่วมในแต่ละโครงการ

โดยรวมแล้ว คณะวิจัยได้ดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้จัดการโครงการ และจัดการพูดคุยกลุ่มย่อยกับเกษตรกรรวม 130 คน แบ่งเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 35 คน และจังหวัดน่าน 95 คน ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนผ่านหลังข้าวโพดดังต่อไปนี้

  • โครงการแม่แจ่มโมเดลและแม่แจ่มโมเดลพลัส ในจังหวัดเชียงใหม่ 35 คน
  • โครงการ “สวมหมวกให้ภูเขา สวมรองเท้าให้ตีนดอย” ที่ตำบลพงษ์ จังหวัดน่าน 14 คน
  • โครงการช่องสาริกาโมเดล โดยบริษัทเบทาโกร ที่ตำบลเชียงคาน จังหวัดน่าน 8 คน
  • โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดน่าน อำเภอท่าวังผา ที่หมู่บ้านดอยติ้ว (โครงการหลวงโมเดล) และหมู่บ้านสบขุ่น (ซีพีโมเดล)  53 คน
  • โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน ตามแนวพระราชดำริรัชกาลที่ 9 อำเภอท่าวังผา (ปิดทองโมเดล) ตำบลตาลชุม และตำบลศรีภูมิ 20 คน

สรุปข้อค้นพบหลักจากการวิจัย

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยรวมในช่วงปี พ.ศ. 2557-2560 ใน “โครงการเปลี่ยนผ่าน” ในพื้นที่วิจัย สามารถสรุปได้โดยสังเขปดังต่อไปนี้

  • การเผาตอซังข้าวโพดน่าจะลดลงมากในทุกพื้นที่โครงการ ยกเว้นตำบลพงษ์ ในจังหวัดน่าน ดังสะท้อนจากจำนวนจุดความร้อน ขนาดของจุดความร้อน (จำนวนไร่) และพื้นที่ถูกเผา (จำนวนไร่) ข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นค่อนข้างชัดว่า ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือมิได้มีสาเหตุหลักมาจากไร่ข้าวโพดอีกต่อไป
  • พื้นที่ที่มีป่าปกคลุมไม่ได้เพิ่มขึ้นในเขตที่ทำการศึกษา ความพยายามในการอนุรักษ์ป่าและปลูกต้นไม้ใหม่เพิ่มเติมยังคงมีน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดพื้นที่ป่าที่สูญเสียไปในแต่ละปี แม้ว่าอัตราการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติมอาจลดลงกว่าในอดีตก็ตาม
  • ราคาข้าวโพดที่ตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านเลิกปลูกข้าวโพด ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา (ผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่าราคาตกลงร้อยละ 40-50) ทำให้เป็นการง่ายที่เกษตรกรจำนวนมากจะตัดสินใจหาพืชอื่นมาปลูกแทน
  • ภาระหนี้สินของเกษตรกรยังคงอยู่ในระดับสูง และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรใด ถึงแม้โครงการเปลี่ยนผ่านการปลูกข้าวโพดหลายโครงการมุ่งหมายจะช่วยดำรงหรือเพิ่มรายได้ของเกษตกร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เลิกปลูกข้าวโพด แต่ไม่มีองค์กรใดดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินที่คงค้าง (จากฤดูการเพาะปลูกที่ผ่านมา) โดยตรง  ในเมื่อเกษตรกรประสบภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและราคาข้าวโพดต่ำลง ในขณะที่ยังไม่มีรายได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ข้าวโพด หรือมีแต่ยังน้อยอยู่ จึงไม่พอที่จะชดเชยได้ (ดูข้างล่าง) ภาระหนี้สินนี้ย่อมจะดำรงต่อไป
  • มีแหล่งรายได้ทางเลือกทีมีแนวโน้มดี แต่จะมีผลที่เป็นรูปธรรมต่อการดำรงชีวิตอย่างไรนั้นยังต้องรอดูต่อไป ดังนั้นเกษตรกรจำนวนมากจึงยังคงต้องพึ่งข้าวโพดเป็นรายได้หลัก  ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนมากมีความหวังกับพืชทางเลือกที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการต่างๆ แทนการปลูกข้าวโพด เช่น กาแฟ มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา  อย่างไรก็ตาม พืชทั้งหมดนี้ใช้เวลาเติบโตหลายปีกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องพึ่งข้าวโพดต่อไป
  • “หลักประกันสิทธิในที่ดิน” และ “ตลาด/ผู้ซื้อที่พร้อมรับซื้อ” มีความสำคัญสำหรับความมั่นคงในการดำรงชีวิตของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรจำนวนมากยังคงลังเลที่จะเลิกปลูกข้าวโพด นอกจากจะมีสาเหตุเรื่องของรายได้ที่จะตกต่ำกระทันหันแล้ว ยังมาจากการที่พวกเขาไม่มีความมั่นคงเรื่องสิทธิในที่ดิน และไม่แน่ใจว่าจะมีตลาดและผู้ซื้อที่พร้อมรับซื้อพืชผลทางเลือกหรือไม่ ซึ่งตรงกันข้ามกับข้าวโพด

ผู้สนใจสามารถอ่านและดาวน์โหลดเอกสารสรุปผลการศึกษาได้ตามลิงก์ด้านล่าง: