บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “บทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อการคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคเอกชน”
การดำเนินธุรกิจมีทั้งส่วนที่สร้างสรรค์และสร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบและสังคมโดยรวม ดังนั้นเพื่อรับมือกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขององค์กรภาคเอกชนในระดับระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติจึงได้ให้ความเห็นชอบกับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights ย่อว่า UNGP) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐและองค์กรภาคเอกชนที่มีหน้าที่นำไปปฏิบัติ บนฐานของความสมัครใจ ตามกรอบดังนี้ (1) รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (2) องค์กรภาคเอกชนมีหน้าที่เคารพสิทธิมนุษยชน และ (3) ภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มธุรกิจ ควรจัดให้มีช่องทางการเยียวยาเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากองค์กรภาคเอกชน
สำหรับประเทศไทย แนวทางการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยังเป็นการเข้าไปตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมที่เป็นผลกระทบจากการใช้อำนาจของ “รัฐ” เป็นสำคัญ ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งสำรวจบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติในต่างประเทศ ในประเด็นด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมบทบาทของ กสม.ในประเด็นด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และเพื่อเตรียมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับแผนแห่งชาติหรือแผนของ กสม.ในอนาคต
โครงการวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative) โดยการทบทวนวรรณกรรมและสังเคราะห์ความรู้จากเอกสาร องค์ความรู้ งานวิจัย ตลอดจนการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์บทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในต่างประเทศ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการละเมิดโดยภาคเอกชน และเพื่อจัดทำข้อเสนอความเป็นไปได้/แนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบริบทไทย
บทบาทสถาบันสิทธิมนุษยชนที่น่าสนใจในต่างประเทศ
จากการศึกษาบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับชาติใน 3 ประเทศหลัก สามารถสรุปบทบาทหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจได้ดังนี้
เดนมาร์ก สถาบันสิทธิมนุษยชนเดนมาร์กทำงานใกล้ชิดกับภาคธุรกิจและเครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนเพื่อพัฒนามาตรฐาน เครื่องมือ และเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจมาตั้งแต่ พ.ศ.2542 โดยมีฝ่ายสิทธิมนุษยชนและธุรกิจดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ และทุกปีจะมีการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเดนมาร์ก ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (National Action Plan for the Promotion and Protection of Human Right:NAP) แล้วเสร็จในปี 2555 เพื่อคุ้มครองและลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินการของบริษัทเอกชนสัญชาติเดนมาร์กทั้งในและนอกประเทศ มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยและจัดการกับข้อพิพาทว่าด้วยความรับผิดชอบของธุรกิจ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากการดำเนินงานของธุรกิจ และมีการจัดทำ “ตัวชี้วัดสิทธิด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจ” เพื่อให้บริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใช้ประเมินนโยบาย กระบวนการ และการปฏิบัติของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
มาเลเซีย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาเลเซียให้ความสนใจต่อประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้นนับแต่ปี 2555 โดยทำโครงการเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชนร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น ทำโครงการส่งเสริมธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในมาเลเซียเพื่อความสำเร็จและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมของบริษัท ร่วมกับคณะทำงานขององค์การสหประชาชาติ ทำดัชนี FTSE4Good ร่วมกับตลาดหลักทรัพทย์แห่งมาเลเซีย ที่กำหนดให้บริษัทต้องผ่านการประเมินจากตัวชี้วัดต่างๆ รวมถึงเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้มีการรายงานด้านสิทธิมนุษยชนในรายงานความยั่งยืนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วย
เกาหลีใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีนำเอาหลักปฏิบัติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติมาใช้ในสามแนวทางคือ กฎหมาย ระบบ และนโยบายแห่งชาติ การสร้างฉันทามติร่วม และการส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติ โดยได้จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการด้านสิทธิมนุษยชนและรายการตรวจสอบ ซึ่งเป็นข้อตกลงโดยสมัครใจ เพื่อให้ภาคเอกชนดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนได้ง่ายขึ้น และเป็นเครื่องมือประเมินบริษัทไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเข้าใจความคาดหวังของสังคมต่อธุรกิจ และมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วย
อุปสรรคการจัดการการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจไทย
สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจโดยตรงและเป็นระบบ แต่จากสถิติการร้องเรียนต่อ กสม.ระหว่าง พ.ศ.2554-2557 สามารถสรุปภาพรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจไทยได้ 3 ประเภทสำคัญ ได้แก่ สิทธิแรงงาน สิทธิแรงงานข้ามชาติ และสิทธิชุมชน นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวจากการนำข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต การละเมิดสิทธิทางการเมืองของบริษัทในกรณีที่เลิกจ้างพนักงานจากการที่พนักงานแสดงออกทางการเมือง ส่วนการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกละเมิดจากภาคธุรกิจที่ผ่านมาของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่ามีอุปสรรคสำคัญ 2 ประการ คือ
1) การเรียกเอกชนมาให้ข้อมูลกับ กสม. แม้ว่าส่วนใหญ่ บริษัทต่างๆ จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการให้ข้อมูล ถึงจะเคยมีกรณีที่ กสม. เกือบจะต้องใช้หมายเรียกให้บริษัทเข้ามาพบ หรือการมอบหมายให้ผู้อื่นมาพบแทน แต่กลับมีหลายครั้งที่บริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็น นอกจากนี้การเชิญให้บริษัทเข้ามาชี้แจงด้วยวาจายังกลายเป็นช่องทางที่บริษัทเบี่ยงประเด็นในการตอบข้อซักถามต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ขณะที่การให้บริษัทชี้แจงเป็นหนังสือกลับได้คำตอบชัดเจนในประเด็นที่ต้องการ
2) เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการ กสม. โดยรวมยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย กฏเกณฑ์ภาครัฐ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการเคารพสิทธิมนุษยชนของภาคเอกชน โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (ซีเอสอาร์) ส่งผลให้ไม่สามารถส่งข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐได้อย่างชัดเจนเท่าที่ควร และยังไม่เคยมีการส่งข้อเสนอแนะไปยังภาคเอกชนแต่อย่างใด
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
จากการศึกษาทบทวนบทบาทหน้าที่ของ กสม.และบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับชาติใน 3 ประเทศหลัก และ 7 ประเทศรอง คณะวิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังต่อไปนี้
- การส่งเสริมและประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ในประเด็นนี้ สำนักงาน กสม. ควรเพิ่มการอบรมเกี่ยวกับหลักการหรือมาตรฐานที่เกี่ยวกับการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (ซีเอสอาร์) หรือมาตรฐานที่เกี่ยวกับความยั่งยืนทางธุรกิจให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน เพราะปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากรับชุดหลักการหรือมาตรฐานเหล่านี้ และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อทำบันทึกสรุปสำนวนรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อคณะกรรมการ กสม. โดยให้รวม “มาตรฐาน และข้อตกลงโดยสมัครใจของภาคเอกชน” เข้าไว้ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานของคณะกรรมการ และเตรียมพร้อมสำหรับการจัดทำข้อเสนอแนะโดยตรงต่อบริษัทในลำดับต่อไป
- 2.การจัดทำฐานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคเอกชน กสม.ควรจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิโดยภาคเอกชน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เอกชนมีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นเครื่องมือของสำนักงานและคณะกรรมการในกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย เยียวยา เสนอแนะ หรือฟ้องร้องภาคเอกชน ตามระดับความเหมาะสมของสถานการณ์แต่ละกรณี โดยฐานข้อมูลในประเด็นเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ควรเน้นกรณีที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์แล้วว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นจริง และควรครอบคลุมข้อมูลขั้นต่ำดังนี้ ประเภทธุรกิจ ชื่อ ที่อยู่และประเภทธุรกิจของบริษัทแม่(ถ้ามี) มาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งมาตรฐานสากลและมาตรฐานในประเทศ ที่บริษัทนั้นๆ และบริษัทแม่ (ถ้ามี) ประกาศว่ารับหลักการหรือเป็นภาคีสมาชิก รวมถึงต้องมีเนื้อหาในมาตรฐานแต่ละมาตรฐานซึ่งบริษัทที่ถูกร้องว่าทำการละเมิด
- การเผยแพร่ผลการสอบสวน และจัดทำข้อเสนอแนะต่อบริษัท กสม. ควรเผยแพร่ผลการสอบสวนเป็นข้อมูลสาธารณะ ในกรณีที่มีความชัดเจนว่าบริษัทที่ถูกร้องมีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งควรจัดทำข้อเสนอแนะในกรณีดังกล่าวต่อบริษัท และเผยแพร่ข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นข้อมูลสาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนโดยรวมให้ความสาคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (reputation risk) ตลอดจนเพิ่มแรงกดดันจากคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน (peer pressure) ทางอ้อม ให้แข่งกันหันมาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเปิดเผยบนเว็บไซต์ของ กสม.
- สร้างกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลเอกชนในไทย กสม. ควรเริ่มต้นหารือกับหน่วยงานที่มีบทบาทกำกับดูแลภาคเอกชน เพื่อขับเน้นประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ตระหนักในวงกว้างมากขึ้น เช่น
– หารือกับสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงแนวทางที่ กสม. จะให้ข้อมูลต่อ ก.ล.ต. เพื่อประกอบการประเมินผลงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียนรายปี ตามแบบฟอร์ม 56-1 และแนวทางการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้เป็นไปตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
– หารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงแนวทางที่ กสม. จะมีส่วนร่วมในการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน เมื่อเกิดกรณีพิพาทด้านสิทธิมนุษยชนอันอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัท และแนวทางที่ กสม. จะมีส่วนร่วมในการมอบรางวัลต่างๆ อาทิ CSR Award ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
– หารือกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ถึงแนวทางที่ กสม. จะมีส่วนร่วมในการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของกรรมการบริษัท และกลไกธรรมาภิบาล ให้เน้นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
– หารือกับสมาคมหลักของภาคเอกชนต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน และร่วมมือจัดทำแนวทางป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
– หารือกับองค์กรภาคเอกชนระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการสร้างความตื่นตัวและความตระหนักในประเด็นสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจ เช่น Global Business Initiative on Human Rights เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างแนวร่วมในลักษณะเดียวกันกับธุรกิจในประเทศไทย
– จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (NAP) พื่อใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการเริ่มสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคธุรกิจ รัฐ และประชาสังคม โดยปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 35 ประเทศทั่วโลกที่จัดทำและเผยแพร่ NAP แล้ว หรืออยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำ
อ่านและดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้จากลิงก์ด้านล่าง: