การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม เข็มทิศของกิจการเพื่อสังคม

การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact Assessment) เป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในการติดตามผลการดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคม เพราะช่วยตรวจสอบเส้นทางการทำงาน และช่วยในการสื่อสารผลลัพธ์ของกิจการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ให้ทุนสนับสนุน แต่การวัดผลลัพธ์ทางสังคมยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย ความรู้ความเข้าใจและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังอยู่ในวงจำกัด บริษัท ป่าสาละ จำกัด จึงจัดทำ “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมสำหรับกิจการเพื่อสังคม และจัดทำกรณีศึกษานำร่อง” (Social Impact Assessment Research Development System for Social Enterprises and Pilot Cases)  โดยมี สฤณี อาชวานันทกุล เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักการ เครื่องมือ และบทบาทของการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมในต่างประเทศสำหรับกิจการเพื่อสังคม และพัฒนาชุดความรู้เกี่ยวกับการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมในบริบทของประเทศไทยสำหรับกิจการเพื่อสังคม รวมถึงเพื่อพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายนักวิจัยด้านการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมสำหรับกิจการเพื่อสังคม โดยมีระยะเวลาวิจัย 1 ปี แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560

จากการศึกษาทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมสำหรับกิจการเพื่อสังคมทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ รวมถึงการทดลองประเมินผลลัพธ์ทางสังคมสำหรับกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย 6 แห่ง คณะวิจัยค้นพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ความท้าทายของการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม

ความท้าทายแรกคือผลลัพธ์ทางสังคมมีความหมายหลากหลายและถูกตีความในการนำไปใช้แตกต่างกัน การประเมินผลลัพธ์ทางสังคมจึงยังไม่มีมาตรฐานตายตัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมของกองทุนเพื่อสังคม Acumen Fund ระบุว่า ความท้าทายแรกของการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม คือ การระบุว่า “ผลลัพธ์ทางสังคม” คือ อะไร และลงลึกไปถึงระดับไหน เพราะการกำหนดขอบเขตของผลลัพธ์เป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดว่าต้องมีการใช้ทรัพยากรอย่างไรไปกับการประเมิน

ความท้าทายอีกอย่างก็คือ การประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต้องใช้ทรัพยากรสูง ไม่ว่าจะเป็นทักษะและผู้เชี่ยวชาญ เวลา งบประมาณ ความทุ่มเท รวมถึงยังต้องการใช้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพอีกมากมาย จากการสำรวจของ J.P.Morgan และ GIIN ใน ค.ศ.2015 พบว่า ฝั่งผู้ให้ทุนมองว่า “ต้นทุน” เป็นอุปสรรคที่สำคัญของการประเมิน ส่วนนักลงทุนทางสังคมร้อยละ 88 มองว่า ปัญหาสำคัญที่สุดในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมคือ ความสามารถในการวัดผลลัพธ์ทางสังคมของกิจการเพื่อสังคมที่ได้รับเงินลงทุน เพราะมีเพียงกิจการเพื่อสังคมขนาดใหญ่ที่ดำเนินการมานานนับสิบปีเท่านั้นที่มีการลงทุนกับระบบการเก็บข้อมูล มีพนักงาน หรือแผนกที่ทำหน้าที่ประเมินผลลัพธ์ทางสังคมโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ กิจการเพื่อสังคมยังไม่เห็นความสำคัญหรือประโยชน์ของการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม และเห็นว่าเป็นภาระมากกว่าประโยชน์ การประเมินผลลัพธ์ทางสังคมจึงมักจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสำคัญ หรือเมื่อถูกบอกให้ทำ (Lingane & Olsen, 2004)

ขณะเดียวกัน การประเมินผลลัพธ์ทางสังคมบางประเภทยังลดทอนความน่าเชื่อถือของการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม เช่น การประเมินแบบให้คะแนน จัดอันดับ หรือค่าแทน (proxy) เพราะมีความเป็นอัตวิสัย (subjective) องค์กรอาจปรับพฤติกรรมตัวเองเพื่อเพิ่มคะแนนหรือค่าแทนให้มากขึ้น โดยไม่สนใจผลลัพธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้ง “คุณค่า” ทางสังคมหลายด้านก็ไม่สามารถวัดได้ การวัดผลทางสังคมให้มีคุณภาพและน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องยาก (Bielefeld, 2009)

แต่ไม่ว่าจะมีความท้าทายอย่างไร การเติบโตของการลงทุนเพื่อสังคม ที่ทำให้กิจการเพื่อสังคมเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลให้การประเมินผลลัพธ์ทางสังคมมีความสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ  รายงานของ JP Morgan และ GIIN ใน ค.ศ.2014 พบว่า 94% ของนักลงทุนทางสังคมมองว่า การทำความเข้าใจผลลัพธ์ทางสังคมของการลงทุนมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจ มีนักลงทุนเพื่อสังคมเพียง 1% เท่านั้นที่ไม่มีการวัดผลลัพธ์ทางสังคม

สำหรับแนวโน้มการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมนั้น ฟลินน์ ยัง และบาร์เน็ต (Flynn, Young และ Barnett, 2015) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การประเมินผลลัพธ์ทางสังคมได้ถอยออกจากวิธีการประเมินแบบตีมูลค่าผลลัพธ์เป็นมูลค่าเงิน แต่ก้าวเข้าหาการประเมินผลที่มีลักษณะเป็น “มาตรฐาน” มากขึ้น  ซึ่งจากการสำรวจของ J.P. Morgan และ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์พบว่า ใน ค.ศ.2016 นักลงทุนทางสังคมถึงร้อยละ 65 ใช้มาตรฐานตัวชี้วัดของ IRIS หรือเครื่องมือที่อ้างอิงตัวชี้วัดของ IRIS ส่วนร้อยละ 37 ใช้เครื่องมือที่องค์กรสร้างขึ้นมาเองประกอบกับตัวชี้วัดของ IRIS (GIIN Research Team, 2016)

อีกแนวโน้มที่เกิดขึ้นคือ วิธีการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมเริ่มมีจุดร่วมมากขึ้น (consensus) คือนิยมใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (theory of change) เพราะช่วยให้ผู้ประเมินเห็นภาพกว้างของเหตุและผลของการเปลี่ยนแปลง รวมถึงยังทดสอบความเป็นเหตุเป็นผล (logical) และสมมติฐานที่ทั้งอาจจะเชื่อมโยงหรือไม่เชื่อมโยงกันในการออกแบบกิจกรรมหรือการประเมินผล (Flynn, Young, และ Barnett, 2015) รวมถึงวิธีการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมโดยรวมความคิดเห็นและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ก็มีความสำคัญมากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่วรรณกรรมเห็นพ้องต้องกันอย่างมากคือ การใช้วิธีการหรือเครื่องมือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมประกอบกันมากกว่า 1 วิธี มากกว่าการใช้เครื่องมือเพียงประเภทเดียวกับกิจการเพื่อสังคมทุกประเภท (one-size-fits-all)

กรอบทฤษฎีและเครื่องมือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมยอดนิยม

จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับกรอบทฤษฎีและเครื่องมือที่หน่วยงานต่างๆ 69 แห่ง จาก 22 ประเทศ ซึ่งรวมกิจการเพื่อสังคมที่มีการทำการรายงานผลลัพธ์ทางสังคมอย่างสม่ำเสมอจำนวน 6 แห่ง มักใช้ในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม คณะวิจัยพบว่า มีกรอบทฤษฎีการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมที่พบบ่อย 3 กรอบ คือ Logic Model หรือแบบจำลองตรรกะ, Theory of Change หรือทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง และ Outcome Linkage หรือการคำนวณความเชื่อมโยงผลลัพธ์

ขณะที่เครื่องมือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมที่พบบ่อยแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท คือ 1. Impact Value Chain หรือห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์และตรรกะ ตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า (input) ไปจนถึงผลผลิต (outcome) 2. Cost-Benefit Analysis (CBA) หรือ Benefit-Cost Analysis วิธีการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลตอบแทนที่เป็นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ 3. Social Return on Investment (SROI) หรือผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน 4. Indicators หรือตัวชี้วัด (indicator) ที่ช่วยระบุจำนวนของผลผลิต (output) ที่เชื่อมโยงกับการเกิดขึ้นของผลลัพธ์ (outcome) ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่วัดออกมาได้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ 5. Experimental study หรือ “การวิจัยเชิงทดลอง” เป็นการศึกษาที่เน้นการวัดระดับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขหรือสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรัดกุม 6. Proprietary หรือ เครื่องมือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมแบบ “คิดค้น/ประดิษฐ์เอง”

ผลการศึกษาวรรณกรรมพบว่า แหล่งทุนและองค์กรสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมร้อยละ 62 หรือ 39 องค์กร จาก 69 แห่ง ใช้ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง” หรือ Theory of change เป็นกรอบทฤษฎีในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม และใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการประเมิน โดยกิจการเพื่อสังคมชั้นนำ 5 แห่ง จาก 6 แห่งที่ทำการสำรวจใช้กรอบทฤษฎีนี้ รองลงมาได้แก่ “แบบจำลองตรรกะ” หรือ Logic model จำนวน 14 แห่ง หรือร้อยละ 22 โดยมีกิจการเพื่อสังคมชั้นนำเพียงแห่งเดียวคือ BRAC Microfinance ในบังกลาเทศ ที่ใช้กรอบทฤษฎีนี้ อย่างไรก็ดีมีข้อน่าสังเกตว่า BRAC ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1972 นานนับทศวรรษก่อนที่ Theory of change จะเข้าสู่กระแสนิยมของแวดวงการพัฒนาสังคม

ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมนั้น คณะวิจัยพบว่า แหล่งทุนและองค์กรสนับสนุนจำนวนมากใช้เครื่องมือหลายตัวประกอบกัน คือ 35 แห่ง (ร้อยละ 50) ใช้ตัวชี้วัด (indicators) เป็นเครื่องมือหลักในการประเมินผลลัพธ์ของกิจการเพื่อสังคมที่ตนให้การสนับสนุน โดยในจำนวน 35 แห่งนี้ 16 แห่ง หรือราวหนึ่งในสี่ขององค์กรทั้งหมดที่สำรวจ ใช้ชุดตัวชี้วัด IRIS เป็นฐานในการประเมิน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตัวชี้วัดมาใช้ตรงๆ หรือเลือกตัวชี้วัดมาประกอบการสร้าง scorecard หรือเครื่องมือชนิดอื่นในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (proprietary) ก็ตาม รองลงมาคือองค์กร 10 แห่ง (ร้อยละ 15) ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือประเมินของตนเอง (proprietary) ตามเป้าหมายและนโยบายขององค์กร

น่าสังเกตว่าองค์กรสนับสนุนและแหล่งทุนเพียง 9 แห่ง (ร้อยละ 13) ใช้การคำนวณผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment – SROI) เป็นเครื่องมือในการประเมินผลลัพธ์ และหากยิ่งประเด็นสังคมที่องค์กรให้การสนับสนุนมีความหลากหลาย องค์กรนั้นๆ ยิ่งมีแนวโน้มที่จะใช้ตัวชี้วัดในการประเมินมากกว่าการประดิษฐ์เครื่องมือของตนเอง

ข้อค้นพบอีกประการของคณะวิจัย คือ อายุของกิจการ และ ระยะเวลาให้ทุน มีความเกี่ยวข้องกับประเภทเครื่องมือที่แหล่งทุนเลือกใช้ โดยยิ่งกิจการเพื่อสังคมที่ขอรับทุนมีอายุน้อยเพียงใด แหล่งทุนยิ่งมีแนวโน้มที่จะกำหนดให้กิจการใช้ตัวชี้วัด (indicators) ในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจการเกิดใหม่ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่กิจการเพื่อสังคมสามารถเขียนขึ้นเองได้ มีราคาถูก ในทางกลับกัน หากเป็นกิจการเพื่อสังคมที่เติบโตถึงระดับหนึ่ง ต้องการเงินทุนมากขึ้นเพื่อขยายขนาด (scale up) หรือทำซ้ำ (replicate) แบบจำลองทางธุรกิจของกิจการในพื้นที่อื่นๆ แหล่งทุนมีแนวโน้มที่จะกำหนดให้กิจการที่ขอรับทุนสนับสนุนใช้การศึกษาเชิงทดลอง (ezperimental study) เพื่อ “พิสูจน์” ว่ากิจการได้สร้างผลลัพธ์ขึ้นจริง ดังเช่นกรณีของ d.light design ที่ผู้ให้ทุนของบริษัทสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการวัดผลแบบการศึกษาเชิงทดลองในหลายพื้นที่ เพื่อค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าแบบจำลองธุรกิจมีนวัตกรรมทางสังคม มีความมั่นคงทางการเงิน และมีศักยภาพที่จะขยายขนาดไปยังผู้มีรายได้น้อย จำนวนกว่า 2 พันล้านคนบนโลกที่ยังอยู่นอกระบบส่งไฟฟ้า

กรณีศึกษากิจการเพื่อสังคมไทย 6 แห่ง

นอกจากการทบทวนวรรณกรรมแล้ว คณะวิจัยยังได้ทำการทดลองประเมินผลลัพธ์ทางสังคมของกิจการเพื่อสังคมไทย 6 แห่ง เพื่อสรุปบทเรียนที่คาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมของกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย โดยได้เลือกประเมินกิจการเพื่อสังคมที่มีพันธกิจด้านการเกษตร การพัฒนาชุมชน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสังคมที่สำคัญของประเทศไทย ด้านละ 2 แห่ง เป็นกิจการเพื่อสังคมในระยะเริ่มต้น (start-up) และระยะขยายกิจการ (scale up) ด้านละหนึ่งแห่ง มี 1 กิจการดำเนินการมามากกว่า 10 ปี กิจการเพื่อสังคมที่คณะวิจัยได้ทดลองประเมินผลลัพธ์ทางสังคมประกอบไปด้วย ร้านคนจับปลา, โครงการผลิตมะพร้าวอินทรีย์ สหกรณ์กรีนเน็ท, โลเคิล อไลค์ (Local Alike), กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดไผ่ล้อม โดยพระสุบิน ปณีโต, เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น (Learn Education) และ Outsourcing Contact Center (OCC) มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อคนพิการ

กิจการเพื่อสังคมทั้ง 6 แห่งไม่เคยทำการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมมาก่อนจึงประสงค์ที่จะให้คณะผู้วิจัยประเมินผลลัพธ์ทางสังคมสะสมตั้งแต่ปีก่อตั้งกิจการ แต่ด้วยข้อจำกัดของข้อมูล โดยเฉพาะการไม่มี “ข้อมูลฐาน” เกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ก่อนเริ่มดำเนินกิจการ คณะวิจัยจึงต้องลดขอบเขตลงเหลือเพียงการประเมินผลลัพธ์ย้อนหลัง 3-6 ปีล่าสุด ขึ้นอยู่กับว่ากิจการมีข้อมูลเพียงใด และกลุ่มเป้าหมายหลักสามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องย้อนหลังได้ไกลเพียงใด

แนวคิดและเครื่องมือที่คณะวิจัยได้เลือกใช้ในการประเมินครั้งนี้คือ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง” “ห่วงโซ่ผลลัพธ์” และการเลือก “ชุดตัวชี้วัดผลลัพธ์” ที่กิจการจะทำการวัดผล ตลอดจนการประเมินโดยคำนึงถึง “กรณีฐาน” (ผลลัพธ์บางส่วนอาจเกิดจากกิจการอื่นหรือปัจจัยภายนอก) ซึ่งจากการประเมินพบว่าเป็นตัวเลือกที่มีความเหมาะสม ด้วยเหตุผลที่ว่า ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง เป็นจุดตั้งต้นในการวางกรอบวิธีคิดของผู้ประกอบการในการอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า กิจการของตนมุ่งหวังที่จะมีส่วนสร้าง “การเปลี่ยนแปลงทางสังคม” อะไร และอย่างไร ส่วน ห่วงโซ่ผลลัพธ์  เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการ “คลี่” ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของกิจการออกมาให้เห็นองค์ประกอบต่างๆ อย่างชัดเจน และช่วยในการเลือกชุดตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางสังคมที่เหมาะสมกับกิจการ กรณีฐาน (base case scenario) มีประโยชน์ในแง่การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมองบริบทของพื้นที่และสภาพปัญหาที่ตนดำเนินงานในทางที่ “กว้าง” กว่าขอบเขตการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความพยายามของกลุ่มเป้าหมายโดยตรงในการปรับปรุงสถานการณ์ของตนเอง และบทบาทของกลุ่มเป้าหมายในการออกแบบกิจกรรมหลักของกิจการด้วย

ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมทั้ง 6 แห่งเองก็มองว่า ผลการประเมินมีประโยชน์ต่อกิจการ ในแง่ของการให้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่าในอดีตว่า กิจการของตนสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมตรงกับที่มุ่งหวังหรือไม่ เพียงใด ความคืบหน้าเป็นอย่างไร มีผลลัพธ์อะไรที่ไม่คาดหมายหรือไม่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคิดอย่างไร รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของกิจการหลักในบางระดับ อาทิ คณะผู้วิจัยพบว่า “ขนาด”ของผลลัพธ์ทางสังคมหลายรายการเกิดน้อยกว่าที่ผู้ประกอบการคาดหวัง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบางรายการเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญแต่ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางสังคมหลายรายการไม่ใช่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ เช่น ความสามัคคีในชุมชน จึงมีความจำเป็นต้องมีการวางแผนและพัฒนาวิธีวัดผลที่เป็นระบบในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่กลุ่มเป้าหมายหลักมองว่าเป็นประโยชน์ที่พวกเขาได้รับ แต่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายหรือทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของกิจการ เช่น กลุ่มเป้าหมายของโครงการมะพร้าวอินทรีย์ สหกรณ์กรีนเนท รู้สึกว่ามีความรู้ มีศักยภาพมากขึ้นในการทำงานกันเป็นกลุ่ม หรือสมาชิกกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดไผ่ล้อม มองว่า สมาชิกได้รับสินเชื่อมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการเขียนทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของกิจการเพื่อสังคม ตลอดจนการเลือกตัวชี้วัดผลลัพธ์ที่เหมาะสมว่า ต้องนิยาม “การเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ที่กิจการต้องการมีส่วนสร้างอย่างรัดกุมและชัดเจนว่าเป็นผลมาจากกิจกรรมหลัก เช่น แทนที่จะตั้งเป้า “เพิ่มความอยู่ดีมีสุขในชุมชน” ก็อาจจะระบุว่าเพื่อ “ยกระดับคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน” แทน หากกิจกรรมหลักไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมด้านอื่น นอกเหนือจากเศรษฐกิจ กิจการเพื่อสังคมประเภท “ตัวกลาง” (อย่างเช่น โลเคิล อไลค์) ควรกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ขั้นกลาง นอกเหนือจากผลลัพธ์ทางสังคมขั้นสุดท้าย เช่น ศักยภาพขององค์กรชุมชน ความรู้ความสามารถของคนในชุมชน (ในกรณีนี้ “คนในชุมชน” จะเป็นผู้สร้างผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย) รวมถึงควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักของกิจการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างตัวชี้วัดที่เหมาะสม รวมถึงช่วยจัดอันดับความสำคัญของตัวชี้วัดแต่ละรายการได้

สำหรับ กิจการที่ประสงค์จะขยายการดำเนินงานออกไปนอกพื้นที่ หรือนำแบบจำลองทางธุรกิจไปทำซ้ำในพื้นที่อื่น และแสวงหาแหล่งทุนสนับสนุนระดับภูมิภาค ควรจะศึกษาฐานข้อมูลตัวชี้วัดในระดับสากลไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ และทดลองใช้ตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับผลลัพธ์ทางสังคมที่ยึดโยงกับกิจกรรมหลัก เพื่อเปรียบเทียบ (benchmark) การดำเนินงานของตนเองกับกิจการอื่น รวมถึงควรใช้เครื่องมือประเมินที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุของกิจการ ซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า กิจการเพื่อสังคมที่ดำเนินงานมานาน สร้างผลลัพธ์ทางสังคมเป็นที่ประจักษ์ และได้รับทุนสนับสนุนค่อนข้างมาก มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำการศึกษาเชิงทดลอง (experimental study) เพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์ทางสังคมในวิถีที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้ทำซ้ำหรือขยายผลแบบจำลองทางธุรกิจในอนาคต เป็นต้น

แนวทางปรับปรุงการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมสำหรับกิจการเพื่อสังคมกรณีศึกษานำร่อง

ด้วยข้อจำกัดของเวลาและข้อมูล การทดลองประเมินผลลัพธ์ทางสังคมของกรณีศึกษานำร่องครั้งนี้จึงให้ผลส่วนใหญ่ในรูปข้อมูลเชิงบรรยาย และยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ผู้ประกอบการคาดหวังนั้น “เกิด” หรือ “ไม่เกิด” ดังนั้นหากต้องการให้การประเมินในอนาคตมีความชัดเจนมากขึ้น ผู้ประกอบการควรดำเนินการดังนี้ วางแนวทางการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถนำผลการประเมินไปเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่น และเปรียบเทียบปีต่อปีได้ พยายามเก็บข้อมูลย้อนหลัง โดยเฉพาะข้อมูลฐาน (ก่อนเริ่มกิจการ) เก็บข้อมูลตามตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่องทุกปี และควรเปรียบเทียบผลลัพธ์กับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สามารถประเมิน “กรณีฐาน” หรือความแตกต่างระหว่างผู้ที่เข้าร่วม กับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยอาจขอรับทุนสนับสนุน การวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต หลังจากที่กิจการดำเนินไปได้ระยะหนึ่งแล้ว (ไม่ต่ำกว่า 5 ปี) เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดสไลด์ประกอบการแถลงผลการวิจัย เอกสารรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ภาคผนวก และคู่มือประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (ฉบับปรับปรุง) ได้จากลิงก์ด้านล่าง:

สไลด์ประกอบการแถลงผลการวิจัย 19 ธันวาคม 2560:

รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์:

ภาคผนวก:

คู่มือประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (ฉบับปรับปรุง 2560):