บริษัท ป่าสาละ จำกัด โดยการสนับสนุนจาก Rockefeller Foundation จัดทำรายงานวิจัยเรื่อง “เหตุผลทางธุรกิจของการธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์สามด้าน ได้แก่

1. สร้างความตระหนักในระดับผู้ดำเนินนโยบาย นักการเงิน ธุรกิจการธนาคาร และผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่นๆ ในสังคมไทย ถึงความสำคัญของวิถี “การธนาคารที่ยั่งยืน”
2. จัดตั้ง “เครือข่ายการธนาคารที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย” (Sustainable Banking Thailand Network) ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ที่สนใจในวิถีการธนาคารที่ยั่งยืน และพร้อมจะทำตัวเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agents) ภายในองค์กรที่ตนสังกัด และ
3. เพื่อรณรงค์ส่งเสริมธรรมเนียมปฏิบัติของการธนาคารที่ยั่งยืน ตลอดจนมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ Equator Principles

ผลการวิจัยหลักๆ สามารถสรุปดังต่อไปนี้ (ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดไฟล์ “บทสรุปสำหรับผู้บริหาร” ภาษาไทย และรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ภาษาอังกฤษ ได้ตามลิงก์ล่างสุดของหน้านี้)

บทสรุปผู้บริหาร:

เหตุผลทางธุรกิจของการปล่อยสินเชื่อลูกค้าธุรกิจอย่างรับผิดชอบในไทย

คณะวิจัยพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมยังไม่เข้าใจแนวคิดหรือวิถีปฏิบัติของการปล่อยสินเชื่อ “ที่รับผิดชอบ” สำหรับลูกค้าธุรกิจ โดยปัจจุบันยังไม่มีธนาคารแห่งใดใช้มาตรฐานสากลด้านการปล่อยสินเชื่อที่รับผิดชอบ อาทิ ชุดหลักอีเควเตอร์ หรือบูรณาการการประเมินความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการกลั่นกรองสินเชื่อด้วยตนเอง ธนาคารเน้นเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศต่างๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลเท่านั้น ตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันการเงินระหว่างประเทศบางแห่ง อาทิ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ได้จัดงานเสวนาเกี่ยวกับการธนาคารที่ยั่งยืนและชุดหลักอีเควเตอร์ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากธนาคารพาณิชย์ไทยเท่าที่ควร ผู้บริหารธนาคารบางรายมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควร “สั่ง” ธนาคารให้รับชุดหลักการข้างต้นดังกล่าวถ้าหากมองว่าเป็นประโยชน์ ปฏิกิริยาดังกล่าวสะท้อนว่า ผู้บริหารยังมิได้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กับความเสี่ยงทางธุรกิจของธนาคาร

ธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมยังให้ความสำคัญกับการทำ “กิจกรรมซีเอสอาร์” ที่ไม่เกี่ยวอันใดกับการดำเนินธุรกิจหลักของธนาคาร มองความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล (เรียกรวมๆ ว่า Environmental, Social, Governance หรือ “ประเด็น ESG”) ว่าเป็น “ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย” (compliance risk) ของลูกค้าธุรกิจ ความเชื่อเช่นนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า ความเสี่ยงด้าน ESG ของลูกค้าถูกจัดการหรือจำกัดอย่างเพียงพอแล้วด้วยกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของรัฐ

อย่างไรก็ดี สมมุติฐานข้างต้นขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันธนาคารไทยหลายแห่งกำลังขยายกิจการเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ซึ่งล้วนแต่มีสถาบันประชาธิปไตยและกลไกคุ้มครองประชาชนด้อยกว่าไทย เปิดช่องให้เกิดความเสี่ยงด้าน ESG สำคัญๆ หลายด้านที่อยู่นอกเหนือจากกรอบกฎหมายและกฎเกณฑ์ ส่งผลให้ธนาคารไทยมีแนวโน้มที่จะมองไม่เห็นความเสี่ยงเหล่านี้ตามไปด้วย

กรณีศึกษาที่น่าสนใจในเรื่องนี้ คือ โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี มูลค่ากว่า 115,000 ล้านบาทในประเทศลาว ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างในลำน้ำโขงสายหลักตอนล่าง โครงการดังกล่าวได้รับสินเชื่อในการก่อสร้างทั้งหมดจากธนาคารไทยล้วน 6 แห่ง โดย ณ ต้นปี พ.ศ. 2558 การก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ถึงแม้แม้ว่านักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนจะคัดค้านอย่างหนัก โดยยกเหตุผลเดียวกันว่า การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีแนวโน้มจะก่อ “หายนะทางระบบนิเวศ” ครั้งใหญ่ นักสิ่งแวดล้อมบางคนถึงกับเรียกไซยะบุรีว่า เป็นการ “ปาดคอแม่น้ำโขง” เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญยิ่งในแง่ของระบบนิเวศ งานวิจัยอิสระชิ้นแล้วชิ้นเล่าชี้ว่าไซยะบุรีจะก่อให้เกิดปัญหาข้ามพรมแดนที่ยากเยียวยายากยิ่ง จากการเปลี่ยนแปลงของระดับแม่น้ำ ตะกอน และเส้นทางปลาอพยพทางปลาผ่าน ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อม

ยิ่งไปกว่านั้น การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรียังเป็นการท้าทายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) องค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อการพัฒนาลำน้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการแรกที่ใช้ข้อตกลง MRC ในการจัดการ รัฐบาลลาวได้อนุมัติให้ก่อสร้างเขื่อนนี้ทั้งที่กัมพูชาและเวียดนาม สองประเทศสมาชิก MRC ไม่เคยให้ความเห็นชอบ และถึงแม้ผลการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ของ MRC เองจะเสนอให้ชะลอโครงการนี้ออกไป 10 ปี ระหว่างที่เพื่อทำการประเมินผลกระทบเพิ่มเติม ธนาคารโลกได้ประกาศสนับสนุนข้อค้นพบของ SEA และยืนยันว่าธนาคารโลกจะไม่ให้สินเชื่อกับโครงการสร้างเขื่อนใดๆ ในลำน้ำโขงสายหลักเป็นอันขาด

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดีพิพาทระหว่างชาวบ้านริมแม่น้ำโขง ซึ่งฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและหน่วยนงานราชการอื่น โดยมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมไว้พิจารณา คาดว่าการพิจารณาในชั้นศาลจะเริ่มต้นในปี 2558

นักวิจัยหลายคน อาทิ Srivastava (2007) เสนอว่าธนาคารควรพิจารณาประเด็นผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในการพิจารณาสินเชื่อโครงการใหญ่ เนื่องจาก 1) การจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และในการปล่อยสินเชื่อจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของธนาคารเอง ด้วยการลดสัดส่วนหนี้เสียลง และ 2) การจัดการความเสี่ยงดังกล่าวจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สร้างประโยชน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น และธุรกิจธนาคารโดยรวมก็กำลังเคลื่อนตัวออกจาก “การธนาคารแนวอนุรักษ์นิยม” ซึ่งตั้งอยู่บนความกลัวความเสี่ยง ไปยัง “การธนาคารที่ยั่งยืน” ซึ่งตั้งอยู่บนการเติบโตจากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ งานวิจัยจำนวนไม่น้อยยังชี้ว่า การบูรณาการประเด็นความยั่งยืนเข้าไปในระบบการจัดการของธนาคารจะสร้างประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ด้วยการขยับขยายพรมแดนของ “ตลาด” ในสายตาธนาคาร ช่วยให้มองเห็นฐานลูกค้าใหม่และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ในทางที่จะเพิ่มชื่อเสียงและความไว้วางใจที่สังคมมีต่อธนาคารได้เหลือคณานับ

เหตุผลทางธุรกิจของการปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยอย่างรับผิดชอบในไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีกลไกเชิงสถาบันที่คุ้มครองผู้บริโภคหลายหน่วยงานด้วยกัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับผู้บริโภคทางการเงิน สคบ. ก็ได้ออกประกาศเกี่ยวกับบัตรเครดิต ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ธุรกิจผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สคบ. ประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่นๆ ในการประชาสัมพันธ์และคลี่คลายข้อพิพาท และมีการสุ่มตรวจเพื่อให้มั่นใจว่าสถาบันการเงินจะทำตามกฎระเบียบว่าด้วยสัญญาสินเชื่อ และรับสอบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาหลอกลวง

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์โดยตรง ได้ออกประกาศหลายฉบับเพื่อปรับปรุงกลไกคุ้มครองผู้บริโภครายย่อย ยกตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2555 ธปท. ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์และประกันชีวิต กำหนดให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทอย่างชัดเจน เหมาะสมและเพียงพอ ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้บริโภคทางการเงินจำนวนมากร้องเรียนว่าถูก “บังคับ” ให้ซื้อผลิตภัณฑ์หลายประเภทในคราวเดียว เช่น ถูกบังคับให้ทำประกันชีวิตควบคู่ไปกับการขอสินเชื่อ

ถึงแม้จะมีกฏเกณฑ์และประกาศเหล่านี้ก็ตาม โดยรวมกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินในไทยยังด้อยกว่ามาตรฐานสากลในบางมิติ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและความรู้เรื่องทางการเงินของธนาคารโลก (World Bank Good Practices for Consumer Protection and Financial Literacy) พบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่คำนวณราคาจริงที่ลูกค้าต้องจ่ายเฉลี่ยรายปี (Annual Percentage Rate: APR) ไม่มีการมอบระยะเวลาที่ลูกค้ารายย่อยสามารถเปลี่ยนใจยกเลิกบริการทางการเงินได้โดยไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ (cooling-off period) และใบสมัครสินเชื่อยังไม่มีมาตรฐานที่ทุกธนาคารใช้ร่วมกัน ช่องว่างเหล่านี้ส่งผลให้การเปิดเผยเงื่อนไขการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความลักลั่นแตกต่างค่อนข้างมาก ดังสาธิตในผลการสำรวจเนื้อหาในใบสมัครบัตรเครดิตของคณะวิจัย

ในปี พ.ศ. 2555 ธปท. เปิดให้บริการศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง., สายด่วน 1213) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินอย่างเป็นระบบ สำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการของธนาคารพาณิชย์และบริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ใต้กำกับของ ธปท. อย่างไรก็ดี ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งเปิดศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ (ศกน., สายด่วน 1359) ในสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบและการให้บริการของธนาคารเฉพาะกิจ

จากการศึกษาสถิติการร้องเรียนมายัง ศคง. พบว่า ประเด็นที่มีผู้ร้องเรียนสูงสุดคือ บัตรเครดิต ตามมาด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อพาณิชย์ และสินเชื่อเช่าซื้อ ในปี พ.ศ. 2556 เรื่องร้องเรียนที่ ศคง. รับกว่าร้อยละ 53 เกี่ยวกับสินเชื่อ โดยประเด็นที่มีผู้ร้องเรียนสูงสุด ได้แก่ การร้องขอความช่วยเหลือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ตามมาด้วยข้อสงสัยเกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ และข้อร้องเรียนว่าสถาบันการเงินคิดค่าธรรมเนียมและค่าปรับฐานผ่อนจ่ายช้าสูงอย่างไม่เป็นธรรม (บางแห่งคิดค่าปรับ 200-450 บาทฐานจ่ายช้าโดยไม่ดูยอดค้างชำระ และต่อให้ชำระช้าไปเพียงวันเดียว)

สถิติเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทางการเงินเช่นกัน ฉายภาพความเปราะบางของผู้บริโภคในมุมที่แตกต่างจากรายงานประจำปีของ ศคง. นั่นคือ ปัญหาการมีหนี้สินเกินตัว กรณีร้องเรียนเรื่องการผ่อนจ่ายช้า การถูกติดตามหนี้อย่างข่มขู่คุกคาม การถูกฟ้องดำเนินคดีจากการผิดนัดชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการถูกหักบัญชีไปชำระหนี้ รวมกันคิดเป็นร้อยละ 75 ของข้อร้องเรียนทั้งหมดเกี่ยวกับบริการทางการเงินที่มูลนิธิฯ รับเรื่องในปี 2556 – กรณีเหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาหนี้เกินตัวของผู้บริโภค

สถิติข้อร้องเรียนของผู้บริโภคทางการเงินข้างต้นสอดคล้องกับสถานการณ์รวมของประเทศ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนในไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับร้อยละ 82 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ณ ปลายปี พ.ศ. 2556 ส่งผลให้ไทยติดกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงสุดในเอเชีย ใกล้เคียงกับมาเลเซีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ – ประเทศซึ่งล้วนแล้วแต่มีระดับรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทย ในแถลงการณ์เดือนเมษายน 2557 ฟิทช์เรทติ้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ระบุว่า “ความเสี่ยงเชิงระบบจะปรับตัวสูงขึ้นถ้าหากการเติบโตของหนี้ครัวเรือนยังไม่ชะลอตัวลง ความเสี่ยงเหล่านี้อาจกลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาคุณภาพสินทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะถ้าหากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ท่ามกลางความปั่นป่วนทางการเมือง จนทำให้อัตราว่างงานและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมาก ในกรณีนั้น ความเสี่ยงด้านภาระผูกพันของประเทศอาจปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ถ้าหากรัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภาคธนาคาร หากเกิดกรณีที่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน”

สถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคทางการเงิน ประกอบกับสถานการณ์ด้านหนี้ครัวเรือนดังสรุปข้างต้น สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางธุรกิจได้จากการปรับปรุงวิถีการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะ 1) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าออมเงินและลดภาระหนี้ และ 2) การผนวกผสานการให้การศึกษาหรือความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) เข้าไปในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

เหตุผลทางธุรกิจของการขยายการเข้าถึงบริการในระบบในไทย

เมื่อหันมาดูสถานการณ์การเข้าถึงบริการทางการเงิน คณะวิจัยพบว่าปัจจุบันคนไทยมีอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบค่อนข้างสูง แต่เข้าถึงบริการเงินฝากมากกว่าสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ ผลการสุ่มสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย 6,000 คนทั่วประเทศโดย FinScope ซึ่งจัดทำเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “Development of a Strategic Framework for Financial Inclusion” โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) สำหรับกระทรวงการคลังเมื่อปี 2556 ระบุว่า ประชากรไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปร้อยละ 77 มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร และอีกร้อยละ 21 ใช้บริการทางการเงินรูปแบบอื่น เท่ากับว่าประชากรวัยผู้ใหญ่กว่าร้อยละ 98 ใช้บริการทางการเงินในระบบรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ผลการสำรวจที่คล้ายคลึงกันของธนาคารโลก (Global Findex) พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการใช้บริการทางการเงินสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลภาพรวมลักษณะนี้มักจะปิดบังความหลากหลายเมื่อมองลึกลงในระดับภาคหรือระดับจังหวัดของประเทศ และกลบเกลื่อนสถานการณ์ของผู้มีรายได้น้อย ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยโดย ADB พบว่า มีครัวเรือนรายได้น้อยเพียงร้อยละ 38 ที่เคยใช้บริการทางการเงินอย่างน้อยหนึ่งประเภท ครัวเรือนรายได้น้อยร้อยละ 16 ไม่เคยใช้บริการทางการเงินใดๆ เลย ในขณะที่ครัวเรือนรายได้ปานกลางและรายได้สูงราวร้อยละ 80 ใช้บริการทางการเงินสามประเภทหรือมากกว่า นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยเกือบครึ่งไม่เคยกู้เงิน และร้อยละ 28 เข้าไม่ถึงแม้แต่บริการเงินฝากของธนาคาร เทียบกับร้อยละ 6 ในกรณีครัวเรือนรายได้ปานกลางและรายได้สูง (ADB, 2011)

โดยรวม ธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่เจาะตลาดผู้มีรายได้น้อย ทั้งในตัวเมืองและชนบท ปล่อยให้ตลาดดังกล่าวเป็นพื้นที่ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่างเช่นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารออมสิน เมื่อมองภาพกว้างขึ้นจะพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่เพียงไม่สนใจตลาดผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ยังประกอบธุรกิจชนิดเป็น “ผู้ตาม” การพัฒนาเศรษฐกิจในไทย มิได้เป็น “ผู้นำ” การพัฒนาดังที่ผู้บริหารบางรายกล่าวอ้าง เมื่อเปรียบเทียบยอดสินเชื่อต่อหัวกับยอดผลผลิตมวลรวมรายจังหวัด (จีพีพี) ต่อหัว คณะวิจัยพบว่ายิ่งจีพีพีมีระดับต่ำ ยอดสินเชื่อคงค้างในจังหวัดนั้นๆ ยิ่งอยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย โดยข้อมูลของกรุงเทพมหานครเป็นค่าผิดปกติอย่างชัดเจน – ยอดสินเชื่อต่อหัวอยู่ที่ 1.04 ล้านบาทโดยประมาณ หรือ 2.1 เท่าของรายได้ต่อหัว ซึ่งอยู่ที่ 485,672 บาทต่อคนต่อปีในปี พ.ศ. 2554

ผลการสำรวจ FinScope มีข้อค้นพบน่าสนใจที่สามารถใช้เป็นจุดตั้งต้นของการวิเคราะห์ธรรมชาติของการกู้ยืมเงิน และพฤติกรรมทางการเงินของผู้บริโภคไทย อาทิ

  • ครัวเรือนร้อยละ 44 มีหนี้ ในจำนวนนี้ร้อยละ 38 เชื่อว่าพวกเขา “มีหนี้มากเกินไป”
  • เงินกู้ร้อยละ 12 ของหนี้ทั้งหมดถูกกู้ยืมเพื่อ “หมุนหนี้” นั่นคือ นำไปชำระหนี้อื่น
  • ครัวเรือนยากจนมีภาระหนี้มากที่สุด ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือนมีภาระหนี้เกือบ 3 เท่าของรายได้ทั้งปี และในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค
  • เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีหนี้สูงสุดในไทย (ร้อยละ 62 ของเกษตรกรทั้งหมดรายงานว่าเป็นหนี้) ตามมาด้วยข้าราชการ (ร้อยละ 59)
  • แรงงานนอกระบบ อาทิ แรงงานในไร่นาและผู้ประกอบอาชีพแม่บ้าน ส่วนใหญ่สามารถกู้ยืมได้คราวละไม่มากจากแหล่งเงินกู้นอกระบบเป็นหลัก
  • ระดับการออมในไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล – เพียงร้อยละ 5.3 ของจีดีพีในปี 2554 เทียบกับหนี้ครัวเรือนร้อยละ 77.7 ของจีดีพีในปีเดียวกัน ครัวเรือนไทยร้อยละ 45 หรือ 9.09 ล้านครัวเรือน ระบุว่าไม่สามารถออมเงินได้อย่างเป็นกิจลักษณะ
  • ปัจเจกร้อยละ 64 ระบุว่าสามารถออมได้น้อยกว่า 2,000 บาทต่อเดือน

เมื่อคำนึงพฤติกรรมทางการเงินของคนไทย ประกอบกับสถานการณ์ในตลาดสินเชื่อปัจจุบัน คณะวิจัยเสนอว่าตลาดยังเปิดกว้างอยู่มากสำหรับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 12,000 บาทต่อเดือน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15-28 ต่อปี โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจในการเจาะตลาดนี้มีอาทิ การจับมือกับองค์กรการเงินฐานรากให้ทำหน้าที่เป็น “ตัวแทนการปล่อยกู้และติดตามหนี้” แทนธนาคาร และโมเดลการธนาคารผ่านมือถือที่สามารถแปลงเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ให้เป็นเงินสดได้ตามต้องการ

 

รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: