ทุกวันนี้แนวคิด “ความยั่งยืน” ได้เข้าสู่กระแสสำนึกของภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก และกำลังได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่า หมายถึงวิถีปฏิบัติทางธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (sustainable development) สถาบันการเงินมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในยุคแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานะตัวกลางทางการเงินที่ขาดไม่ได้ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวข้องทั้งการรับฝากและการปล่อยสินเชื่อให้แก่สังคมทั้งผู้รับบริการรายย่อยและผู้รับบริการภาคธุรกิจขนาดเล็กใหญ่ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการพัฒนาและความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสถาบันการเงินจึงมิอาจปฏิเสธความเกี่ยวข้องในบทบาทการเป็นเส้นเลือดใหญ่ของภาคเศรษฐกิจและสังคมในการก้าวเข้าสู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เลย
การสร้างกระบวนการการธนาคารที่ยั่งยืนบรรลุผลจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่
1. การสร้างผู้นำทางความคิด (Political Leadership) หมายถึงผู้นำในด้านการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับภาคสถาบันการเงินของไทยที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในภาคสถาบันการเงิน หน่วยงานกำกับดูแล และบุคคลทั่วไป
2. กลไกการทำงานและการสื่อสารเพื่อผลักดันเป้าหมาย (Collaborative Framework) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศ สร้างเวทีของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์
3. องค์ความรู้และเครื่องมือ (Tools and Knowledge) ชุดความรู้และเครื่องมือเพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทนักการธนาคารในการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิมั่นพัฒนา ให้ดำเนินโครงการวิจัย “การจัดทำและเผยแพร่ชุดงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการพัฒนา ‘การธนาคารที่ยั่งยืน'” ระยะเวลา 36 เดือน โดยถือเป็น “ตอนต่อ” ของโครงการวิจัย “เหตุผลทางธุรกิจของการธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย” ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558
จุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการนี้จะมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และการเผยแพร่องค์ความรู้ที่สังเคราะห์ได้จากการวิเคราะห์/การวิจัยในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนากระบวนการสร้างการธนาคารที่ยั่งยืนเป็นหลัก โดยมุ่งหวังผลต่อเนื่องว่าหากเกิดชุดองค์ความรู้ มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงในเวทีสาธารณะต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นการธนาคารที่ยั่งยืน จะเป็นประโยชน์ในการก่อให้เกิดแรงผลักดัน การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเครือข่ายที่สนับสนุนวิถีการธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป