มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม และทุกสรรพสิ่งอย่างแยกไม่ออก โดยในบรรดาสรรพสิ่งที่มนุษย์มีความสัมพันธ์ด้วย สัตว์น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบทางลบจากมนุษย์มากที่สุด อันเนื่องมาจากตรรกะของมนุษย์ที่มองว่าสถานะของตนสูงส่งกว่าสัตว์ นำมาซึ่งการที่มนุษย์ควบคุม จัดการ ใช้งาน ทรมาน กดขี่และขูดรีดสัตว์อย่างชอบธรรม เป็นต้นว่า สัตว์ที่ถูกเพาะเลี้ยงในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ทั้งชีวิตของมันต้องเผชิญกับความทุกข์ยากทรมานเพื่อผลิตอาหารหล่อเลี้ยงมนุษย์ และถึงแม้ว่าปัจจุบันประเด็นสวัสดิภาพสัตว์จะมีการพูดถึงและได้รับความสนใจพอสมควร แต่เรายังมิอาจพูดได้เต็มปากว่า ผู้คนหันมาตระหนักและใส่ใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจังจนทำให้สัตว์มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ข้อเขียนขนาดสั้นชิ้นนี้พยายามฉายภาพว่าความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ส่งผลให้สัตว์ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ภายใต้บริบททุนนิยมถูกกดขี่ขูดรีดอย่างไร
ปริมาณการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์
ในทุก ๆ วันมนุษย์จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย โดยเนื้อสัตว์เป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนที่มนุษย์บริโภคเป็นประจำทุกมื้อ สถิติอย่างเป็นทางการชี้ชัดว่า มนุษย์บริโภคและฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารในปริมาณที่น่าตกใจ โดยในหนึ่งปีมนุษย์ทั่วโลกบริโภคเนื้อสัตว์ (ไม่รวมปลาและอาหารทะเล) เฉลี่ย 43 กิโลกรัมต่อคน เนื้อสัตว์ที่ถูกบริโภคมากที่สุดได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว/ควาย และเนื้อแพะ/แกะ ตามลำดับ ทั้งนี้ประเทศที่มีรายได้สูงมักมีปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ที่สูง เช่น คนออสเตรเลียบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ย 116 กิโลกรัมต่อปี คนอเมริกาเหนือมีการบริโภคเฉลี่ยมากกว่า 110 กิโลกรัมต่อปี
ในด้านการผลิตพบว่า ตั้งแต่ปี 1961 อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 4 เท่า คือเพิ่มจาก 71 ล้านตัน เป็นกว่า 341 ล้านตัน ในปี 2018 โดยเนื้อหมูมีสัดส่วนการผลิตมากที่สุดประมาณ 35-40 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือเนื้อไก่ที่มีสัดส่วนประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ และทวีปเอเชียซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์ในปริมาณน้อยก็กลับกลายเป็นทวีปที่ผลิตเนื้อสัตว์มากที่สุดในโลกคือ ประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018
ถ้าหากคิดเป็นจำนวนตัว จะพบว่าแต่ละปีมีสัตว์ถูกฆ่าเป็นจำนวนมหาศาล กล่าวคือ ในปี 2018 มนุษย์ฆ่าไก่ไปประมาณ 69,000 ล้านตัว หมู 1,500 ล้านตัว ไก่งวง 656 ล้านตัว แกะ 574 ล้านตัว แพะ 479 ล้านตัว และวัว 302 ล้านตัว (มิพักต้องกล่าวถึงจำนวนสัตว์ประเภทอื่นที่ถูกสังเวยชีวิต เช่น สัตว์ที่เลี้ยงเอานม ไข่ หรือสินค้าต่าง ๆ) ตัวเลขทั้งหมดนี้บ่งบอกว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากความต้องการบริโภคของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด
ชีวิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์
เป็นที่ทราบกันดีว่าสัตว์หลายชนิดที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันส่วนใหญ่ผลิตจากฟาร์มหรืออุตสาหกรรมปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตในปริมาณมหาศาลภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว แน่นอนว่าการผลิตลักษณะนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จึงไม่แปลกที่บ่อยครั้งเราจะพบเห็นการรณรงค์จากภาคประชาสังคมและองค์กรต่าง ๆ ที่เรียกร้องให้ผู้ผลิตตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ หรือดูแลสัตว์อย่างมีจริยธรรมมากขึ้นตามหลักสวัสดิภาพสัตว์สากล 5 ข้อ ที่ประกอบด้วย สัตว์ต้องมีอิสระจากความหิวกระหาย ความไม่สบายกาย ความเจ็บปวดและโรคภัย จากความกลัวและไม่พึงพอใจ และมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี รูปแบบการผลิตที่มุ่งเน้นกำไรบนตรรกะของทุนนิยม กอปรกับการมองว่าสัตว์มีสถานะต่ำกว่ามนุษย์ล้วนส่งผลให้สัตว์ถูกกดขี่ขูดรีดทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างโจ่งครึ่มในอุตสาหกรรมดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าสัตว์อย่างหมู ไก่ เป็ด วัว แพะ หรือแกะ ถูกเร่งให้ผลิตทุกสิ่งอย่างเท่าที่ความสามารถของมันจะเอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ นม ไข่ ขน หนัง และลูกของมัน พูดให้ชัดขึ้น สัตว์พวกนี้เปรียบเสมือนเครื่องจักรราคาถูกที่มนุษย์ใช้สำหรับผลิตอาหารและสินค้า และเมื่อเครื่องจักรพวกนี้หมดประสิทธิภาพ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อีกต่อไป พวกมันก็จะถูกนำไปฆ่าและชำแหละเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ ต่อไป เช่น เครื่องหนัง เสื้อผ้า กระเป๋า แชมพู เครื่องสำอาง และอื่น ๆ อีกมากมาย (ปวงชน, 2562)
ในด้านชีวิตและความเป็นอยู่ สัตว์พวกนี้ถูกเลี้ยงอย่างทุกข์ทรมานภายใต้สภาพแวดล้อมอันโหดร้ายและน่าหดหู่ โดยพวกมันมักถูกนำไปเลี้ยงรวมกันอย่างเบียดเสียดในพื้นที่จำกัด และบางครั้งก็ถูกขังอยู่ในคอกหรือกรงที่มีขนาดไม่ต่างจากตัวมันสักเท่าไร ส่งผลให้สัตว์ขาดอิสระในการหาอาหารและเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงสภาพแวดล้อมของโรงเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ที่อากาศมักถ่ายเทไม่สะดวก อุปกรณ์และวัสดุในการเลี้ยงไม่มีคุณภาพ และมีสุขอนามัยต่ำ
ยิ่งกว่านั้น สัตว์เหล่านี้ยังถูกตัดอวัยวะบางส่วน เช่น หาง ฟัน อวัยวะเพศ จะงอยปาก หรือเขา เพื่อให้ง่ายต่อการจำแนกหรือป้องกันการกระทบกระทั่งกัน ทำให้พวกมันต้องเจ็บปวดทรมานเพราะไม่มีการให้ยาแก้ปวดใด ๆ ระหว่างการตัดอวัยวะ นอกจากนี้ วิธีการเลี้ยงที่ผิดธรรมชาติอย่างการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเร่งโต เพื่อเร่งปริมาณและผลผลิตภายในระยะเวลาสั้นยังส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ (หรือกระทั่งมนุษย์ที่อาจเผชิญกับเชื้อดื้อยา) คือสัตว์จะมีขนาดใหญ่และอ้วนจนเกินไป จนอาจจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางร่างกายซึ่งเกิดจากภาวะกระดูกหักหรือร้าว พูดอย่างหยาบได้ว่า ในบางขณะสัตว์น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกขูดรีดอย่างเลวร้ายจากทุนนิยมมากกว่ามนุษย์ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ได้ถูกแปะป้ายให้เป็นแรงงาน (บังคับ?) เพื่อผลิตและทำกำไรให้กับนายทุนตั้งแต่ลืมตาดูโลกยันสิ้นอายุขัย ฉะนั้นประโยคที่ McMullen (2015) กล่าวไว้ว่า “สัตว์จะได้รับการดูแลก็ต่อเมื่อมันทำกำไรได้ และพวกมันจะถูกทอดทิ้ง ทรมานหรือฆ่าก็ต่อเมื่อมันทำกำไรไม่ได้” จึงสะท้อนความสัมพันธ์ของมนุษย์และสัตว์ในบริบททุนนิยม ที่สัตว์ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าได้เป็นอย่างดี
การรับประทานพืชเพื่อปลดปล่อยสัตว์ ?
กระแสทางเลือกหนึ่งเพื่อการปลดปล่อยสัตว์คือ การเป็นมังสวิรัติ (vegetarian) และวีแกน (Vegan) เนื่องด้วยการงดบริโภคและอุปโภคเนื้อสัตว์จะช่วยลดความทรมานนานาชนิดที่สัตว์ในโรงเลี้ยงต้องเผชิญ อีกทั้งยังช่วยให้ตนเองมีสุขภาพดีและมีศีลธรรมสูงส่งมากขึ้น ถึงกระนั้น นักคิดสายสังคมนิยมกลับมองว่า การกินแต่อาหารที่ทำจากพืชเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ปัจเจกชนผู้มีอันจะกินเท่านั้นที่สามารถปฏิบัติได้ เพราะด้วยความที่อาหารประเภทนี้มีราคาสูงจึงเกินความสามารถของผู้คนธรรมดา ซึ่งอาจรวมถึงชนชั้นกลาง และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ทางเลือกนี้มิได้มุ่งวิพากษ์หรือเปลี่ยนแปลงที่ต้นตอของการกดขี่ขูดรีดสัตว์ หมายความว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์และสัตว์ยังคงวางอยู่บนตรรกะที่สัตว์เป็นเพียงทรัพย์สินส่วนบุคคล อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และมีหน้าที่ในการสร้างดอกผลให้กับมนุษย์เท่านั้น พูดอีกอย่างคือ การลดความทุกข์ทรมานที่สัตว์เผชิญต้องมาพร้อมกับการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม เพื่อที่จะปลดปล่อยสัตว์ได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี แนวคิดเช่นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามันจะสร้างโลกใหม่ให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ และอย่างไร เพราะแนวคิดดังกล่าวเป็นอุดมคติและจับต้องได้ยาก (ปวงชน, 2562) ดังนั้นหนทางที่สัตว์จะได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสรภาพ ไม่ทุกข์ทรมาน และอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ควรเป็นคำตอบที่ทุกคนต้องค้นหาและถกเถียงกันต่อไป
เอกสารประกอบการเขียน
Capitalism and animal liberation
Capitalism is undermining animal welfare
Capitalism’s abuse of animals degrades us all
McMullen, S. (2015). Is Capitalism to Blame? Animal Lives in the Marketplace. Journal of Animal Ethics, Vol. 5, No. 2 (Fall 2015), 126-134.
ปวงชน อุนจะนำ. (2562). ซ้ายกับสัตว์: มาร์กซ์กับปัญหาการกดขี่ขูดรีดสัตว์ในระบบทุนนิยม. วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 หน้า 1-40.
ปวงชน อุนจะนำ. (2562). สัตว์กับสิทธิ: ทฤษฎีการเมืองว่าด้วยการปลดปล่อยสัตว์. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 หน้า 119-160.