โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) เผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในปี 2022 ผู้คนที่เผชิญกับภาวะอดอยากมีจำนวนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยพบว่ามีผู้คนกว่า 828 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเข้านอนพร้อมกับความหิวโหย สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าวมีมากมาย ไล่ตั้งแต่ ปัญหาความขัดแย้ง ตัวอย่างเช่น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นและสูญเสียรายได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำลายชีวิตและผลผลิตของผู้คน สภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากการระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดจนปัญหาสำคัญอย่างความเหลื่อมล้ำของประชากรโลก

 

ความเหลื่อมล้ำทำให้ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้

เมื่อนึกถึงความอดอยาก หลายคนอาจทึกทักเอาว่าภาวะดังกล่าวเกิดจากการที่โลกของเราผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากร หรือพูดอีกแบบคือ ประชากรมีจำนวนมากเกินไปจนผลิตอาหารไม่ทัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะโลกของเรานั้นผลิตอาหารเพียงพอต่อมนุษย์ทุกเพศทุกวัย โดยผลิตได้มากกว่า 2,300 กิโลแคลอรีต่อวันต่อคน ซึ่งเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของทุกคน ดังนั้นคำถามสำคัญที่ตามมาคือ เมื่ออาหารมีจำนวนเพียงพอต่อทุกคน แต่ทำไมยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับความหิวโหย

สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ผู้คนมากมายต้องเผชิญกับภาวะอดอยากก็คือ ความเหลื่อมล้ำ โดยความยากจนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนขาดความสามารถในการเข้าถึงอาหารและตกอยู่ในภาะอดอยาก คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ยากจน ขาดแคลนแหล่งอาหารและพื้นที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกมักมีปัญหาเรื่องภาวะอดอยาก และกลุ่มประชากร 20 เปอร์เซ็นต์ที่ยากจนที่สุดในประเทศเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการ กล่าวอีกอย่างคือ ความอดอยากมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับภาวะทุพโภชนาการซึ่งมีผลร้ายโดยตรงต่อสุขภาพ เช่น เจ็บป่วยง่าย ผอม แคระแกร็น พัฒนาการและความเจริญเติบโตของร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

ภาพจาก: Extreme Poverty and Hunger: A Vicious Cycle

 

เมื่ออาหารกลายเป็นสินค้า

ปัจจุบันการยุติความอดอยากกลายเป็นวาระสำคัญของโลก หลายฝ่ายมีการผลักดันและตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ประสบกับปัญหาดังกล่าว เช่นที่เราจะพบในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อ 2 ที่มุ่งยุติความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบภายในปี 2030 หรือแม้กระทั่งการผลักดันให้การเข้าถึงอาหารเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวค่อนข้างห่างไกลจากความเป็นจริง เนื่องจากปัจจุบันอาหารยังถูกผลิตเพื่อเป็นสินค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกำไรตามตรรกะของระบบทุนนิยม มิใช่ผลิตขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรโลก ดังจะเห็นได้ว่ามีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เพียงไม่กี่รายที่มีอำนาจในการควบคุมระบบการผลิตอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก และบริษัทเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดผ่านการควบคุมการผลิตและการจำหน่ายอาหาร

ตรรกะการผลิตแบบทุนนิยมส่งผลให้อาหารกลายเป็นสินค้าที่มีความไม่สมเหตุสมผล (absurdity) ดังจะพบได้จากการที่โลกผลิตอาหารล้นเกินจนหลือทิ้งกลายเป็นขยะอาหาร (food waste) แต่ผู้คนจำนวนมากกลับตกอยู่ในภาวะอดอยาก สำหรับขยะอาหารนั้นมีที่มาจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งในกระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การบริการ ไปจนถึงการจัดจำหน่าย ตัวอย่างของการสูญเสียก็อย่างเช่น การขาดแคลนเทคโนโลยีในการผลิต เก็บเกี่ยว หรือขนส่งที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถพิจารณาแค่วิธีหรือเทคนิคในการผลิตโดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น กลไกตลาด กล่าวคือ เป้าหมายการผลิตอาหารเพื่อสร้างกำไรมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่พบเห็นกันบ่อยอย่างเช่น การปล่อยทิ้งผลผลิตไว้ในไร่เนื่องจากสินค้าในตลาดมีราคาถูกลง หรือสินค้าไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด (ผู้ผลิตจะขาดทุนหากนำออกไปจำหน่ายหรือแจกจ่ายแก่ผู้คน) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วปริมาณอาหารที่สูญเสียจำนวนมหาศาลสามารถนำมาหล่อเลี้ยงประชากรโลกที่กำลังหิวโหยได้กว่า 870 ล้านชีวิต ข้อเท็จจริงนี้จึงชี้ชัดว่า เมื่ออาหารกลายเป็นสินค้าสำหรับสร้างกำไรและสะสมทุน ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อบำรุงหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มหนึ่งต้องตกอยู่ในสภาวะอดอยาก

ภาพจาก:  CAN THIS END WORLD HUNGER?

 

ถึงแม้ว่าผู้คนบางกลุ่มจะไม่ได้ตกอยู่ในภาวะอดอยากหรือมีความสามารถในการเลือกซื้ออาหารได้ แต่สิ่งที่ควรตระหนักถึงต่อไปคือ อาหารที่ร่างกายบริโภคเข้าไปมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า บริษัทที่มีอำนาจควบคุมตลาดมักจะผลิตอาหารราคาถูกและมีคุณค่าทางอาหารต่ำออกมาอย่างแพร่หลาย ที่พบเห็นกันจนชินตาตามห้างร้านต่าง ๆ ได้แก่ อาหารจานด่วนหรืออาหารแปรรูปที่มีส่วนประกอบหลักคือน้ำตาล เกลือ และไขมันอิ่มตัว วัตถุดิบเหล่านี้เน้นให้พลังงานแก่ร่างกายมากกว่าให้สารอาหารที่มีคุณประโยชน์และจำเป็นต่อสุขภาพ ยังผลให้ผู้ที่บริโภคอาหารเหล่านี้เผชิญกับโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน

กระนั้นก็ควรกล่าวไว้ด้วยว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพก็มีจำหน่ายเช่นกัน แต่โชคร้ายที่มีเพียงกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีที่เข้าถึงได้ ตรงข้ามกับคนจนที่เข้าถึงเพียงอาหารคุณภาพต่ำ จึงกล่าวได้ว่า การผลิตอาหารเพื่อสร้างกำไรและความมั่งคั่ง นอกจากจะส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะอดอยากแล้ว ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และต้องเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการ

 

อาหารต้องเป็นสิทธิ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลิตอาหารตามตรรกะของทุนนิยมเป็นพิษภัยต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรโลก หากจะหาทางออกของปัญหานี้ รัฐต้องเป็นตัวแสดงสำคัญในการกำกับควบคุมระบบการผลิตแบบตลาดเสรี โดยอาจทำผ่านการออกนโยบายให้เอกชนมุ่งผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพในราคาที่ประชาชนสามารถเอื้อมถึง ที่สำคัญกว่านั้นคือ รัฐต้องลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ทางโภชนาการที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดและอุดมการณ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เราจำเป็นต้องตั้งคำถามกับความบิดเบี้ยวของระบบการผลิตที่ขูดรีดกำไรจากความทุกข์ยากของผู้คน เพื่อหาทางสร้างสังคมที่ทุกคนอิ่มท้อง เริ่มต้นเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตรรกะการผลิตแบบทุนนิยมอย่างถอนรากถอนโคน อาหารต้องไม่ใช่สินค้าแต่ควรเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การผลิตแบบล้นเกินของระบบตลาดเสรีแต่ไม่สามารถหล่อเลี้ยงผู้คนได้จึงไม่ตอบโจทย์กับความต้องการอีกต่อไป ทางออกหนึ่งคือ การสนับสนุนให้ชุมชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและมีอำนาจในการควบคุมและตัดสินใจในขั้นตอนต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ชุมชนจะมีอิสระในการเลือกที่จะผลิตหรือบริโภคอาหารตามความต้องการของตน แนวทางดังกล่าวน่าจะมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมอธิปไตยทางอาหารให้กับผู้คนและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและโลก มากกว่าการพึ่งพาผลผลิตจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง

 

เอกสารประกอบการเขียน

A global food crisis

Capital’s Hunger in Abundance

Extreme Poverty and Hunger: A Vicious Cycle

Food Justice Is Class War

Goal 2: Zero Hunger

Inequality in Hunger and Malnutrition

Inequality, not unavailability, is the main driver of food insecurity – Prof. Johan Swinnen

The Right to Adequate Food

‘Too many people, not enough food’ isn’t the cause of hunger and food insecurity