ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ผู้บริโภคเริ่มหันมานิยมสินค้าออร์แกนิคหรือสินค้าอินทรีย์มากขึ้น ตามห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตจึงมีสินค้าที่ติดฉลากระบุข้อความว่าออร์แกนิคให้เลือกซื้อมากขึ้นตามไปด้วย แต่ในฐานะผู้บริโภค พวกเราทราบกันหรือไม่ว่าสินค้าออร์แกนิคคืออะไร การจะระบุว่าเป็นสินค้าออร์แกนิคได้ต้องผ่านมาตรฐานอะไรบ้าง ผู้เขียนขออนุญาตแบ่งปันเรื่องราวที่ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้เลี้ยงโคนมออร์แกนิค เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นตัวอย่างกระบวนการผลิตนมและการจัดการฟาร์มแบบออร์แกนิค ก่อนที่ผลิตภัณฑ์นมนั้นจะได้รับการรับรองเป็นสินค้าออร์แกนิควางขายตามร้านค้า
โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากพื้นฐานอันแท้จริงของธรรมชาติ เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ โดยไม่มีการปนเปื้อนของสารสังเคราะห์ใดๆ ในทุกขั้นตอนการผลิต น้ำนมออร์แกนิคก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นในกระบวนการผลิตน้ำนมออร์แกนิค ต้องเริ่มจากฟาร์มโคนมออร์แกนิคนั่นเอง
คุณศราวุธ ว่องไพกุล เจ้าของไร่ผึ้งฝน ฟาร์มโคนมที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นฟาร์มโคนมอินทรีย์ในปี 2555 เล่าให้ฟังว่า การทำฟาร์มโคนมออร์แกนิคมีหลักเกณฑ์อยู่หลายข้อด้วยกัน หลักๆ คือภายในบริเวณฟาร์มต้องห้ามใช้สารเคมีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช สารปรุงแต่งทุกชนิด ส่วนพื้นที่ในการทำฟาร์มก็ต้องไม่ไปบุกรุกป่าต้นน้ำหรือทำลายระบบนิเวศดั้งเดิม และต้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพภายในฟาร์ม รวมถึงมีพืชสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์หลากหลายชนิด
นอกจากนั้นหากฟาร์มมีพื้นที่ติดกับฟาร์มที่ไม่ใช่ฟาร์มอินทรีย์ก็ต้องกันพื้นที่ไว้เป็นแนวกันชน โดยมีระยะห่างมากพอที่จะไม่เกิดการปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ และเจ้าของฟาร์มยังต้องเก็บข้อมูลรายละเอียดทุกอย่าง เช่น ฐานข้อมูลของวัวแต่ละตัว ทำแผนผังฟาร์ม แปลงหญ้า โดยระบุหมายเลขชัดเจน รวมถึงอธิบายวิธีการปฏิบัติและขั้นตอนในการเลี้ยงวัว การรักษาความเป็นอินทรีย์ ข้อมูลปัจจัยการผลิต เอกสารการตรวจสุขภาพสัตว์ เอกสารการให้ผลผลิตน้ำนม และการจำหน่ายน้ำนมดิบ เป็นต้น
วัวที่นำมาเลี้ยงจะต้องเกิดจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ถูกเลี้ยงมาอย่างออร์แกนิคตลอดชีวิต หรืออย่างน้อยต้องเป็นวัวจากฟาร์มที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานรับรองหรือเป็นวัวที่มีการปรับเปลี่ยนไปเลี้ยงแบบออร์แกนิคแล้วอย่างน้อย 90 วันถึง 6 เดือน นอกจากนั้นวัวเหล่านี้จะต้องได้กินหญ้า ซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติของวัว โดยอนุโลมให้ให้อาหารข้นหรืออาหารเสริม เช่น ข้าวโพด รำข้าว ฯลฯ ได้บางส่วน แต่อาหารเสริมทั้งหมดต้องเป็นออร์แกนิคเช่นกัน
เมื่อวัวมีอาการป่วย ขั้นแรกต้องรักษาด้วยสมุนไพรก่อนและนำไปแยกเลี้ยงไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ แต่หากมีอาการหนักและจำเป็นต้องใช้ยาจริงๆ จะต้องแจ้งให้กรมปศุสัตว์ทราบ และนำวัวที่ป่วยไปแยกเลี้ยงไว้จนกว่าจะหาย รวมถึงจะต้องไม่นำนมของวัวที่ป่วยมาปนเปื้อนกับนมของวัวตัวอื่นๆ เป็นเวลา 1 ปี
วิธีการเลี้ยงก็ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติของวัว เช่น ต้องปล่อยให้วัวออกไปแทะเล็มหญ้า เดินเล่น เคี้ยวเอื้องภายในบริเวณฟาร์มได้อย่างอิสระ ซึ่งทำให้วัวไม่เครียด วัวที่ได้กินหญ้าจะมีกระบวนการย่อยอาหารตามธรรมชาติของสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยวัวจะขย้อนหญ้าที่อยู่ในกระเพาะออกมาเคี้ยวใหม่เรื่อยๆ ทั้งวัน และในกระบวนการเคี้ยวเอื้องนี่เองที่ทำให้เกิดเอนไซม์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของวัว ทำให้ระบบการย่อยอาหารเป็นไปตามปกติ
คุณศราวุธเล่าว่า วัวเป็นสัตว์สังคม เวลาไปไหนจะไปด้วยกันเป็นฝูงโดยมีจ่าฝูงนำไป ฟาร์มของเขาจะปล่อยให้วัวได้ออกไปกินหญ้าอย่างอิสระ ตามปกติวัวจะออกไปอยู่ในแปลงหญ้าจนได้เวลา วัวจะรู้และเดินกลับมาที่โรงเรือนเพื่อให้คนงานรีดนม เมื่อรีดนมเสร็จจะออกไปเล็มหญ้าอีก โดยฟาร์มของเขาจะรีดนมวันละ 2 ครั้ง วัวจึงไม่เครียดและไม่ค่อยป่วย
แตกต่างจากวัวที่เลี้ยงในฟาร์มทั่วไป เพราะวัวเหล่านั้นจะถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในคอกแคบๆ และกินข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรืออาหารข้นเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้กระบวนการย่อยอาหารของวัวมีปัญหา รวมถึงไม่มีกระบวนการสังเคราะห์เอนไซม์ที่มีประโยชน์ออกมา และยังมีส่วนที่ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล ปนเปื้อนในน้ำนมและเนื้อวัว นอกจากนี้การอยู่แต่ในพื้นที่แคบๆ ทำให้วัวไม่ได้เดินเล่นออกกำลังกาย กีบเท้าจึงไม่แข็งแรง เปื่อยง่าย และการใช้สารเร่ง ฮอร์โมนหรืออาหารเสริมรูปแบบต่างๆ เพื่อเร่งให้วัวผลิตนำนมออกมามากๆ ทำให้วัวเกิดความเครียดและป่วยบ่อย ขณะที่คุณภาพและสารอาหารในน้ำนมก็ด้อยกว่าน้ำนมออร์แกนิค แม้ว่าจะมีปริมาณมากกว่าก็ตาม
จากการศึกษาวิจัยโดย ผศ.ดร.นันทิยา สุวรรณปัญญา เรื่อง “การผลิตนมที่มี CLA และ OMEGA3 สูง โดยกระบวนการเลี้ยงโคนมแบบอินทรีย์” พบว่าโคนมที่เลี้ยงโดยการปล่อยให้แทะเล็มหญ้าจะให้ส่วนประกอบน้ำนมสูงในเรื่องของ ไขมัน โปรตีน ธาตุน้ำนม (เนื้อนม) วิตามินต่างๆ รวมถึง Conjugated Linoleic Acid (CLA) ที่มีคุณสมบัติต่อต้านมะเร็ง เพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน ลดไขมันในช่องท้องและคอเลสเทอรอล และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่สามารถผลิตได้เอง นอกจากนี้ยังมีโอเมก้า 3, 6, 9 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังตารางด้านล่างนี้
เปรียบเทียบอย่างง่ายว่าหากเราดื่มนมออร์แกนิคและนมทั่วไปในปริมาณที่เท่ากัน น้ำนมอินทรีย์จะให้คุณค่าและสารอาหารสูงกว่ามาก โดยเฉพาะน้ำนมอินทรีย์ที่ได้จากวัวที่กินหญ้า
ส่วนการนำน้ำนมออร์แกนิคไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิคนั้น ทางโรงงานก็ต้องมีขั้นตอนการผลิตที่เป็นออร์แกนิคเช่นกัน รวมถึงมีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำนมดิบว่าแต่ละถังมีจำนวนจุลินทรีย์ โซมาติกส์เซลล์ เปอร์เซ็นต์ไขมันเท่าไร รวมถึงมีการตรวจหาว่ามียาปฏิชีวนะหรือแอลกอฮอล์ตกค้างหรือไม่ โดยโรงงานผลิตนมออร์แกนิคบางแห่งทราบข้อมูลละเอียดถึงขั้นที่ว่านมถังไหนจะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมอะไร จะไม่มีการนำน้ำนมดิบทั้งหมดมาเทรวมกันโดยเด็ดขาด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำนมออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการรับรองโดยมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์
ข้อมูลคร่าวๆ นี้คงฉายให้เห็นภาพกันแล้วว่ากระบวนการผลิตสินค้าออร์แกนิคแต่ละอย่างนั้นมีรายละเอียดที่ต้องให้ความสนใจค่อนข้างมาก ทั้งนี้เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคนั่นเอง นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ราคาสินค้าออร์แกนิคค่อนข้างสูงกว่าสินค้าทั่วไป
เมื่อทราบข้อมูลนี้แล้ว พวกเราในฐานะผู้บริโภคคงต้องตัดสินใจว่าระหว่างสินค้าทั่วไปกับสินค้าออร์แกนิค ที่แม้จะมีราคาสูงกว่าแต่ให้คุณค่าและปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า ผู้บริโภคจะเลือกแบบไหน
แต่นอกจากนั้นสินค้าเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังมีสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ด้วย นั่นคือสินค้าที่มีส่วนประกอบอินทรีย์บางอย่างเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มชาเขียวบางยี่ห้อ ที่โฆษณาว่าเป็นชาเขียวอินทรีย์ แท้จริงแล้วอาจจะมีเพียงแค่ตัวใบชาเท่านั้นที่ปลูกอย่างอินทรีย์ แต่ส่วนผสมอื่นๆ ยังมีสารเคมีประกอบอยู่มากมาย
กรณีนี้อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ และปัจจุบันยังไม่ค่อยมีหน่วยงานใดให้ความสนใจในประเด็นนี้มากนัก สินค้าหลายอย่างยังไม่บอกแม้แต่ข้อมูลพื้นฐานอย่างปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับ และยังไม่มีสินค้าใดเลยที่ระบุว่าส่วนประกอบใดมาจากการตัดแต่งพันธุกรรมบ้าง ในขณะที่ต่างประเทศเริ่มมีการเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้ผู้ผลิตสินค้าติดฉลากระบุข้อมูลเกี่ยวกับการตัดต่อพันธุกรรมในอาหารแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางรัฐในสหรัฐอเมริกาถึงกับเรียกร้องให้เป็นกฎหมายเลยทีเดียว แต่ผู้บริโภคในประเทศไทยยังไม่ให้ความสนใจในประเด็นนี้เท่าที่ควร และยังไม่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้ผลิตแสดงรายละเอียดที่เราควรทราบเหล่านี้ไว้ในฉลาก ถ้าผู้บริโภคยังนิ่งเฉย เราก็คงจะต้องหลับหูหลับตาบริโภคสินค้าที่ผลิตมาจากวัตถุดิบอะไรก็ไม่ทราบอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผู้เขียนเองได้แต่หวังว่าการรวมพลังของผู้บริโภคทั่วโลกจะมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้บริโภคชาวไทยตระหนักถึงสิทธิในการเรียกร้องให้ผู้ผลิตยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เราได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและสินค้าที่เราบริโภคต่อไป