ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneur) หมายถึงนักธุรกิจหรือปัจเจกชนผู้มีจิตสาธารณะที่เลือกเดิน “ทางสายกลาง” ระหว่างนักธุรกิจและเอ็นจีโอแบบดั้งเดิม ใช้ประโยชน์จากชุดความรู้จากโลกธุรกิจที่ประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึง ในการคิดค้น พัฒนา และลงมือดำเนินกิจการที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและคุ้มค่าเมื่อเทียบกับต้นทุน กล่าวคือ ธุรกิจต้องสร้างกำไรให้อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค แต่การทำธุรกิจเพื่อสังคมแตกต่างจากการทำธุรกิจทั่วไปตรงที่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ “การทำกำไรสูงสุด” หากแต่อยู่ที่การสร้าง “ผลตอบแทนทางสังคมสูงสุด” (maximized social return)

เนื่องจาก “ผลตอบแทนทางสังคม” เป็นนามธรรมที่วัดค่าไม่ได้ชัดเจน การลงทุนเพื่อสังคมจึงยาก ท้าทาย และเสี่ยงที่จะประสบความล้มเหลวมากกว่าการลงทุนธรรมดา ดังนั้นจึงต้องใช้ความคิดริเริ่ม ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความคิดสร้างสรรค์ ความเชี่ยวชาญ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ยากไร้ และความอดทนของผู้ประกอบการสังคมสูงกว่าการทำธุรกิจปกติ ทำให้มีผู้ประกอบการสังคมน้อยรายที่ประสบความสำเร็จ และในบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่ได้สร้างกระบวนทัศน์และวิธีการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ ๆ ที่พลิกตำราธุรกิจกระแสหลักจากหน้ามือเป็นหลังมือทั้งสิ้น