ทุกวันนี้ ผู้คนกำลังจับตามองการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือการที่ธุรกิจมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจควรมีการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งไม่เพียงแต่คาดหวังให้ภาคธุรกิจนำไปปรับใช้และบูรณาการกระบวนการดังกล่าวเข้ากับการดำเนินงานขององค์กรเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานในภาคธุรกิจมีความซับซ้อน ทั้งจากจำนวนคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานที่มีจำนวนมาก อีกทั้งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคู่ค้าที่อยู่ในประเทศเดียวกันเท่านั้น หากยังรวมถึงคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งอาจมีแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกัน ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายอย่างยิ่งในการดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน
ตั้งแต่ปี 2567 บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้ดำเนินโครงการวิจัยหัวข้อ “สำรวจการเปิดเผยข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน: กรณีศึกษาบริษัทในเอเชีย” (Reviewing Human Rights Disclosure of Leading Companies in Asia) ด้วยทุนสนับสนุนจาก Oxfam in Asia เพื่อศึกษาว่า บริษัทขนาดใหญ่ในเอเชีย มีการเปิดเผยนโยบายหรือแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไร โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์การประเมิน Corporate Human Rights Benchmark (CHRB) ของ World Benchmarking Alliance (WBA)
ผลการศึกษา พบว่า มีบริษัทที่เปิดเผยนโยบายหรือแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนใน 5 ห่วงโซ่อุปทาน (จากทั้งหมด 8 ห่วงโซ่อุปทาน) ในจำนวนนี้บริษัทส่วนใหญ่เปิดเผยนโยบายสิทธิมนุษยชนในระดับองค์กร แต่มิได้อ้างอิงหลักการชี้แนะ UNGPs รวมทั้งไม่ได้เปิดเผยกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านอีกด้วย