#ปลุกความเป็นมนุษย์ป้าในตัวคุณ ตอน ธนาคารไม่มีสิทธิ์ ‘บิดเบือนข้อมูล’ เพื่อขายพ่วง…นะ

เคยไหมที่คุณเดินเข้าธนาคารไปเพื่อขอสินเชื่อกู้เงินหรือขอทำบัตรเดบิต แต่นายแบงค์เขาว่า ‘อ๊า…อย่างนี้ต้องทำประกันคู่ไปด้วยนะคร๊าบ’ #แบบนี้ก็ได้เหรอ?

ก็ไม่ได้น่ะซี่ และนี่เป็นหนึ่งในความหมายของการ ‘บิดเบือนข้อมูล’ ที่ว่า

การบิดเบือนข้อมูลหมายถึงอะไร?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ธนาคารมีสิทธิ์เสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ลูกค้าได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ ‘บิดเบือนข้อมูลเพื่อขายพ่วง’ ด้วยข้ออ้างอย่างมีแพทเทิร์นว่า

1. ถ้าจะขอสินเชื่อต้องทำประกันคู่ไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงของธนาคารกรณีที่ลูกค้าเสียชีวิตและทำให้ไม่สามารถใช้หนี้คืนธนาคารได้

2. พนักงานไม่ชี้แจงรายละเอียด ความเสี่ยง และข้อแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์อย่างกระจ่าง จนเป็นเหตุให้ #เกิดความงง จนยอมๆ ทำตามที่พนักงานแนะนำก็ได้

3. และเคสอื่นๆ
——————————–

รู้หรือไม่ว่า… นี่เป็นประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทยเลยนะว่า การเสนอขายผลิตภัณฑ์ในด้านเงินฝาก สินเชื่อ และผลิตภัณฑ์พื้นฐานอื่นๆ จะต้อง #ไม่บังคับขายประกันภัย ควบคู่กับผลิตภัณฑ์ที่ได้กล่าวไป

*อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/FPG/2560/ThaiPDF/25600003.pdf

——————————–

คำว่า #ออมทรัพย์ #สะสมทรัพย์ ไม่เท่ากับ ‘ประกันชีวิต’ นะ

เมื่อส่องซูมเข้าไปดูในเงื่อนไขตัวจิ๋วนั้นดีๆ จะพบคำชี้แจงข้างต้นและเพิ่มเติมว่า ‘อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนไม่เต็มจำนวนเมื่อไถ่ถอน’

และการบอกไม่ครบ บอกไม่หมดนี่แหละ ที่อาจเข้าข่ายเป็นการ ‘บิดเบือน’ ประเภทหนึ่ง ไม่ได้การแล้ว รู้อย่างนี้ต้อง #โปรดสังเกตคำเตือนก่อนทำธุรกรรมการเงินทุกครั้ง

และนี่คือลิสต์ตัวอย่างวิธีการที่เข้าข่าย ‘บิดเบือน’ ดังนี้
– ใช้คำว่าการออมทรัพย์/สะสมทรัพย์แทนคำว่าประกันชีวิต
– ใช้คำว่าฝากเงินแทนคำว่าชำระค่าเบี้ยประกันภัย
– การไม่แจ้งชื่อบริษัทผู้รับประกันภัยที่อาจทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าเป็นการทำธุรกรรมดังกล่าวกับธนาคาร

*อ่านเพิ่มเติมได้ที่https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/FPG/2560/ThaiPDF/25600003.pdf

——————————–

การอธิบายเงื่อนไข รายละเอียด และบอกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ คือหน้าที่ของเจ้าพนักงานเลยนะ และใครๆ ก็รู้ว่าเงื่อนไขของการทำธุรกรรมมันระเอียดยิบหยุมแค่ไหน

และนี่เราไม่ได้พูดเอง แต่เป็นหนึ่งในแนวนโยบายการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์เลยเชียวละ

——————————–

หนึ่งในแนวนโยบายการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ เรื่องที่ว่า #การเสนอขายควรอยู่ในช่วงเวลาเหมาะสม ห้ามฉุดรั้งอ้อนวอนหน่วงเหนี่ยว

และนี่คือแนวนโยบายอื่นๆ ที่พนักงานธนาคารไม่อาจ (หรือต้องทำ) ได้

-ต้องชี้แจงความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้คนเห็นได้อย่างชัดเจน (และตรงไปตรงมาด้วย)
-ต้องเปิดเผยรายละเอียด เงื่อนไข ความเสี่ยง ที่ผู้บริโภคจะได้รับ
-ห้ามบังคับขายพ่วง
-ต้องไม่พูดอวดโอ้เว่อร์วังเกินจริง และ

-พนักงานต้องได้รับใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้