Team
ทีมงานป่าสาละTeam Members:
สฤณี อาชวานันทกุล - กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้
นักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน จบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก มีประสบการณ์ทำงานในภาคการเงินกว่า 8 ปี ในฐานะวาณิชธนกรที่ธนาคารดอยช์ สาขาฮ่องกง พนักงานสินเชื่อที่ธนาคารไทยพาณิชย์ วาณิชธนกรและรองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กรที่บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นกรรมการบริหารของบริษัท ฮันเตอร์ส แอ็ดไวซอรี่ จำกัด ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาทุ่มเทเวลาให้กับงานเขียนและงานวิจัยอย่างเต็มตัว
นักท่องเว็บชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักสฤณีในชื่อ “คนชายขอบ” หรือ “Fringer” จากบล็อก http://www.fringer.org ซึ่งการเขียนบล็อกได้นำไปสู่การเป็นคอลัมนิสต์ออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ ณ ปี 2558 เธอมีผลงานรวมเล่มทั้งงานเขียนและงานแปลรวมกันกว่า 50 เล่ม ส่วนใหญ่สะท้อนความสนใจอย่างต่อเนื่องในธุรกิจเพื่อสังคมและการเงินเพื่อสังคม นอกจากนี้ เธอยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ ไทยพับลิก้า และล่าสุดเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ป่าสาละ จำกัด
ปัจจุบันสฤณีมีความสุขกับการติดตามและถ่ายทอดพัฒนาการใหม่ๆ ณ พรมแดนความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในฐานะกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
ติดตามสฤณีได้ที่บล็อก “คนชายขอบ” http://www.fringer.org/ เฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/SarineeA ทวิตเตอร์ @Fringer รวมถึงคอลัมน์ต่างๆ ในสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ “ประชาชน 2.0” ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ และเว็บไซต์ไทยพับลิก้า
View all blog posts
ศิวัช อ่วมประดิษฐ์ - รองกรรมการผู้จัดการ
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์ในฐานะนักวิจัยของโครงการ WTO Watch และเศรษฐกร ที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
จากนั้นทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการองค์กรและการประเมินผลการดำเนินงานในบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เวลากว่า 7 ปี ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของภาครัฐหลายโครงการ ประกอบกับมีโอกาสได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ประกอบการหรือชุมชนบ่อยครั้ง ทำให้เข้าใจสภาพปัญหาหรือความต้องการของผู้ประกอบการ ชุมชน ในมุมมองที่กว้างขึ้น และเริ่มสนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมากขึ้นด้วย
การได้ทำงานกับป่าสาละ จึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการเรียนรู้ ควบคู่กับการมีส่วนร่วมในการปลูกธุรกิจที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน
จักรพงศ์ คงกล่ำ - นักวิจัยอาวุโส
จบการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร และปริญญาโทด้านธุรกิจการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างศึกษาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ณ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้มีโอกาสได้ทำงานวิจัยหลากหลายหัวข้อ อาทิ โครงการเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ โดยกรมการข้าว ซึ่งเป็นการคัดสรร และคัดเลือกข้าวสายพันธุ์ไทยพื้นเมือง ที่คนเมืองไม่เคยรู้จักมาเผยแพร่ทางเว็บไซด์เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงงานวิจัยในระดับปริญญาโท ได้ศึกษาวิจัยคุณลักษณะของข้าวที่ชาวจีนชื่นชอบ และราคาที่ชาวจีนยินดีจ่าย เพื่อเป็นเเนวทางในการขายสินค้าข้าวตลาดเฉพาะไทยไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสศึกษาวิจัยในโครงการพัฒนากลยุทธ์รูปแบบทางเลือกรองรับการขับเคลื่อนสู่สังคมสูงวัยของเทศบาลเขารูปช้าง และเทศบาลกำเเพงเพชร จังหวัดสงขลา ในมิติเศรษฐกิจ และอภิบาลการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อหาโครงสร้างและพัฒนากลยุทธ์ระบบงานที่เหมาะสมของทั้ง 2 เทศบาล ซึ่งโครงการนี้เองทำให้ได้รับรู้ถึงปัญหาที่แตกต่างกันของแต่ละชุมชนและธุรกิจ ก่อเกิดเป็นความสนใจในการนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจมาประยุกต์ใช้ เพื่อวางกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน
พลภคินทร์ พฤฒิวงศ์วาณิช - นักวิจัย
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกำลังศึกษาระดับปริญญาโทต่อที่คณะเดิม เคยเป็นนักศึกษาฝึกงานที่ป่าสาละเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก่อนจะเข้ามาเป็นนักวิจัยเต็มตัวในปัจจุบัน เริ่มสนใจประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยและยังกระหายใคร่รู้ในประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่องจนถึงวัยทำงาน จึงคาดหวังว่าจะยังคงสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากผู้คนที่ประสบพบเจอในการทำงานที่ป่าสาละ นอกเหนือจากได้ทำตามความฝันตั้งแต่เป็นนักศึกษาที่ต้องการเป็น ”ฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า” อีกด้วย
อิชยา เส้งมี - นักวิจัย
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในระหว่างศึกษามีความสนใจการทำงานวิจัย จึงเริ่มต้นสายงานวิจัยด้วยการเป็นผู้ช่วยนักวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และพบว่าชอบการลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ต่อมาได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความชอบในการทำงานวิจัย ความสนใจในประเด็นเรื่องความยั่งยืน รวมไปถึงได้มีโอกาสทำการศึกษาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) การท่องเที่ยว กรณีศึกษาธุรกิจที่พักแรม” การดำเนินการศึกษาดังกล่าวทำให้ทราบถึงจุดเชื่อมโยง และโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นโดยรอบทั้งในมิติของทรัพยากรธรรมชาติทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงการเป็นแหล่งอุปทานทั้งสินค้าและบริการให้แก่ธุรกิจที่พักแรม เพื่อเป็นแนวทางให้ท้องถิ่นในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
หทัยชนก โพธิ์งาม - นักวิจัย
จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาสถิติประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยมีโอกาสได้ทำงานเป็นนักวิจัยในประเด็นนโยบายสาธารณะ ทำให้ได้พูดคุยกับกลุ่มคนที่หลากหลาย จึงได้รับฟังมุมมองของผู้คนผ่านเลนส์ที่หลากหลาย ซึ่งผลักดันให้อยากทำความเข้าใจมนุษย์ที่มีเฉดสีแตกต่างกันไปตามบทบาทในสังคม โดยไม่ตัดสินใครไปก่อน นอกจากนั้นยังมีส่วนทำให้เกิดความสนใจในประเด็นสังคม ผู้คน และการออกแบบนโยบายที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้จริง
นอกจากนี้การมีโอกาสทำงานภาคการเมืองในฐานะนักวิเคราะห์นโยบาย ก็เป็นอีกบทบาทที่ส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาสังคมผ่านนโยบายสาธารณะ และความเชื่อมั่นในเรื่องความเท่าเทียมของผู้คน ทั้งในด้านโอกาสและสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพของภาครัฐ รวมถึงการรับฟังและใส่ใจต่อความคิดเห็นของคนทุกกลุ่ม ตลอดจนได้เรียนรู้กระบวนความคิดในการแก้ไขปัญหาทางสังคมในประเด็นที่แตกต่างออกไป
จนมาถึงปัจจุบันในฐานะนักวิจัยป่าสาละ ยังคงเชื่อมั่นว่าคน ๆ หนึ่งสามารถเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนสังคมผ่านงานที่ทำ หรือการกระทำเล็ก ๆ ด้วยมุมมองที่เคารพในสิทธิและความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และคาดหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม
วรวิช ศิริจินตนา - นักวิจัย
จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโท สาขานโยบายสาธารณะ จาก Central European University (CEU) ร่วมกับ Barcelona Institute of International Studies (IBEI)
ระหว่างที่ศึกษาต่อ วรวิชทำงานในฐานะผู้ช่วยวิจัยที่ศึกษาประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน
การได้รับบทบาทใหม่ในฐานะนักวิจัยที่ป่าสาละ เปิดโอกาสให้วรวิชต่อยอดองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคการเงิน และภาคธุรกิจ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้วรวิชเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
ในเวลาว่าง วรวิชชอบปีนผาจำลอง อ่านหนังสือประเภทเรื่องแต่ง และออกเดินทางเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่
กัญญาณัฐ์ เตโชติอัศนีย์ - นักวิจัย
จบการศึกษาจากโครงการหลักสูตรสองปริญญา คณะเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) และคณะการสื่อสารมวลชน สาขาวิชาการหนังสือพิมพ์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ระหว่างศึกษาสนใจเรื่องขยะ ของเสียและการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจึงทำวิจัยเรื่อง ‘การบริจาคอาหารที่เหลือจากการจําหน่ายของภาคธุรกิจในรูปแบบ CSR’ เขียนบทความเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมลงในหนังสือพิมพ์ของนักศึกษาฝึกปฏิบัติ เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเป็นอาสาสมัครแยกขยะให้กับอีเวนต์ต่าง ๆ ในเชียงใหม่ นอกจากนี้ได้เข้าร่วมการอบรมกับหน่วยงานด้านสื่อมวลชนของไทยและระดับโลก เป็นผู้ชนะการประกวดรางวัลนักข่าวระดับเยาวชน True Future Journalist Awards ได้รับทุนไปศึกษาดูงานที่สำนักข่าว BBC ประเทศอังกฤษ และเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการประชุม ASEAN Foundation Model ASEAN Meeting จัดโดยมูลนิธิอาเซียน
หลังจากฝึกงานร่วมงานกับสำนักข่าวหลายแห่ง โดยเฉพาะด้านข่าวต่างประเทศและข่าวธุรกิจ-การตลาด ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยหลายฉบับ ค้นพบว่างานวิจัยสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นและสร้างผลกระทบทางสังคมที่ดีได้ รวมถึงสนใจและอยากร่วมผลักดันให้ธุรกิจไทยใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น จึงอยากสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้สังคมไทยขับเคลื่อนไปในทางที่ดีและเป็นธรรมมากขึ้น
ปิ่นมณี อายุมั่น - Office Coordinator
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร สนใจในประเด็นความเหลื่อมล้ำและอยากเห็นคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเข้าร่วมโครงการทีชฟอร์ไทยแลนด์ สอนเด็กในโรงเรียนขยายโอกาสเป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิมีชัยวีระไวทยะ ดูแลโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน รวมถึงการจัดอบรมในโรงเรียน ณ จังหวัดบุรีรัมย์
การได้ทำงานกับเด็กและผู้สูงอายุ ยิ่งเพิ่มความตั้งใจว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของคนทุกคนดีขึ้น จึงเข้ามาทำงานกับป่าสาละ เพราะเชื่อว่าการทำงานที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การปลูกธุรกิจที่ยั่งยืน แต่เป็นการปลูกคุณภาพชีวิตของผู้คนตามมาด้วย
Contributing Authors:
ภัทราพร ยาร์บะระ - ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท
จบการศึกษาปริญญาตรีนิเทศศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสั่งสมประสบการณ์ในด้านการสื่อสารการตลาดอยู่กับบริษัทข้ามชาติกว่า 5 ปีก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาการตลาดมหาบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (Master’s Degree Program in Marketing – MIM) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับเลือกเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าประกวดแผนธุรกิจและได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการแข่งขันแผนธุรกิจเพื่อสังคม Global Social Venture Competition (GSVC) ณ University of California at Berkeley ซึ่ง GSVC ถือเป็นการแข่งขันแผนธุรกิจเพื่อสังคมที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลก ก่อนที่จะร่วมก่อตั้งและเป็นผู้จัดการการประกวด GSVC ขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีพ.ศ. 2550 ในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภัทราพรเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการศูนย์วิสาหกิจแบบยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งงานส่วนหนึ่งคือการรวบรวมองค์ความรู้ทางด้านการประกอบการเพื่อสังคมและการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ภัทราพรร่วมเขียนคู่มือการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact Assessment) และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) ร่วมกับสฤณี อาชวานันทกุล ให้สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัท ป่าสาละ จำกัดร่วมกันในพ.ศ. 2556 และบริหารงานในฐานะกรรมการผู้จัดการด้านการเผยแพร่ความรู้จนถึงพ.ศ. 2567
ในพ.ศ. 2561 ภัทราพรได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน ASEAN Young Business Leader ในด้าน Sustainable Business โดย the Asia New Zealand Foundation
ปัจจุบันภัทราพรเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านจิตวิทยาการปรึกษา (counseling psychology) ไปควบคู่กัน รวมภึงเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
View all blog postsภัทรชัย อ่อนน่วม - นักวิจัย
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล แต่หลังจากทำงานในแวดวงภาษาและภาษาศาสตร์มาระยะหนึ่ง ก็พาตัวเองไปเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ด้านวิจัยกับทีมวิจัยวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน และเป็นนักวิจัยสังกัดคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระหว่างนั้นภัทรชัยได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงานวิจัยทั้งในด้านการส่งเสริมความโปร่งใส การสร้างการมีส่วนร่วม และความยั่งยืน ต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาและสนับสนุนวิชาการแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มุ่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสุขภาวะของประชากรกลุ่มเฉพาะ โครงการส่งเสริมและขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวคิดการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน (ESG) ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ โครงการศึกษาและพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการวัด และต่อยอดโครงการเพื่อเพิ่มผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม (SROI) สำหรับแพลตฟอร์มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาพัฒนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามเป้าหมายและความเชื่อของตนเองที่ว่า “ปัญหาต่าง ๆ สามารถแก้ไขและพัฒนาได้ด้วยการศึกษา” ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันภัทรชัยยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของ “การศึกษา” ที่มาผนวกรวมกับ “ความยั่งยืน”จึงอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกับทุกช่วงวัย
จินต์ หวังตระกูลดี - นักวิจัยอาวุโส
จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ และปริญญาโทสาขาบริหารการเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเรียนมีโอกาสได้รู้จักกับการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน และเกิดข้อสงสัยว่ามีวิธีการ “อย่างไร” จึงตัดสินใจก้าวสู่การเป็นนักวิจัยอย่างเต็มตัว มีประสบการณ์วิจัยในประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเงิน การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนให้กับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)
จนกระทั่งได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างยั่งยืน ทำให้ตระหนักว่าการดูแลคนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นและหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงผันตัวไปเป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ ตลอดระยะเวลา 4 ปี ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ทั้งองค์กรชั้นนำในประเทศไทยและบริษัทข้ามชาติ ในอุตสาหกรรมการเงิน ปิโตรเคมี โลจิสติกส์ อาหารและเครื่องดื่ม บริการสุขภาพ เทคโนโลยี และอื่น ๆ โดยมีความเชี่ยวชาญหลักด้านการบริหารประสบการณ์พนักงาน การบริหารจัดการพนักงานที่มีความสามารถและการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่ง การประเมินและพัฒนาผู้นำองค์กร การออกแบบสมรรถนะ และการบริหารสายอาชีพ
นอกจากนี้เคยมีประสบการณ์ในการดูแลโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นของประเทศไทยปี 2562 (Best Employers Thailand 2019)
ปัจจุบันได้กลับมาร่วมทีมกับป่าสาละ ยังคงค้นหาคำตอบว่าเราจะพัฒนาธุรกิจพร้อมกับดูแลพนักงานและขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีความหมายได้อย่างไร เพื่อให้ธุรกิจนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน
View all blog posts
ชิดชนก วิมุกตานนท์
จบการศึกษาปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาคภาษาอังกฤษ) ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่คณะการเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (MIF) เคยมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากการทำงานร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRTA) และด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลง การปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงาน กับบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด และบริษัท ฟาร์มแฟคทอรี เวิร์ล จำกัด
การทำงานในภาคการจัดการธุรกิจ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ก่อให้เกิดความสนใจในงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม บวกกับมีพื้นฐานการทำงานวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ทำให้อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจและสังคมที่ยั่งยืน อันเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนความสมดุลของสังคมและสิ่งแวดล้อม
ปัณณวิชญ์ เถระ
จบการศึกษาปริญญาตรีจากภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากนั้นจึงศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัณณวิชญ์สนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม และต้องการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ต่างๆ อีกทั้งยังชอบการผจญภัยและชอบความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความยั่งยืน ฉะนั้นการเป็นนักวิจัยที่บริษัท ป่าสาละ น่าจะช่วยให้เขาได้ทำตามความปรารถนา นั่นคือการส่งเสริมให้ผู้คนและสังคมเข้มแข็ง อันนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน
กนกพร กลิ่นเกลา
จบการศึกษาปริญญาตรีบริหารธุรกิจ และปริญญาโทการตลาด จากหลักสูตรควบตรี-โททางการบัญชีและบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้พบกับโลกของ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ และ ‘กิจการเพื่อสังคม’ ได้เรียนรู้ควบคู่การลงมือปฏิบัติจริง จึงเกิดแรงบันดาลใจในการเดินทางสู่เส้นทางความยั่งยืน
เคยมีประสบการณ์ฝึกงานในเอเจนซี่ด้านสื่อโฆษณา ชอบออกเดินทางเพื่อเรียนรู้ความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ กระทั่งได้รู้จักกับวงการสิ่งทอผ่าน FolkCharm Craftหนึ่งในธุรกิจเพื่อสังคมด้านสิ่งทอที่ทำให้ได้เรียนรู้จุดเริ่มต้นของความยั่งยืน และกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน จึงนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาสนับสนุนการเกษตรของครอบครัวผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และตราสินค้าเพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาเกษตรที่ผันผวน
ปัจจุบันมุ่งปรับใช้รู้ด้านบริหารธุรกิจ และการตลาดเพื่อร่วมปลูกธุรกิจยั่งยืนไปกับป่าสาละ
บูรกร ทิพยสกุลชัย
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเดินทางในโลกกว้างด้วยบทบาทผู้สื่อข่าวมากกว่า 6 ปี ก่อนผันตัวเองมาเดินบนเส้นทางการวิจัยด้านธุรกิจที่ยั่งยืนกับทีมนักวิจัยของป่าสาละ เพื่อเติมเต็มความฝันที่อยากจะเห็นโลกเต็มไปด้วยความรู้และความยั่งยืนสำหรับทุกคน ในเวลาเดียวกัน บูรกรยังคงสนุกกับการเป็นนักเขียนอิสระ เพื่อแบ่งปันสิ่งที่ได้รับรู้มา
วันไรมีย์ แวดอเล๊าะ
หลังจบปริญญาตรีสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันไรมีย์ได้มีโอกาสร่วมงานกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหนึ่งในทีมการพัฒนายุทธศาสตร์การตลาด สำหรับธุรกิจฮาลาล ก่อนศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ University of Malaya หลังจากสำเร็จการศึกษาได้กลับเข้าสู่วงการการศึกษาอีกครั้งในบทบาทการเป็นอาจารย์พิเศษด้านเศรษฐศาสตร์ให้กับ คณะวิทยาการจัดการมหาลัยราชภัฏยะลา และ การเป็นTeaching Assistant คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี พ.ศ. 2560 วันไรมีย์ ได้โอกาสในการฝึกประสบการณ์ ณ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสำหรับผู้หญิง Hera Lab รวมถึงดูงานศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม The Basement, University of California, San Diego ผ่านโครงการ Young South East Asian Leaders Initiative จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก่อนมาร่วมงานกับทีมนักวิจัยป่าสาละ
นอกจากประสบการณ์ในแวดวงการศึกษา สิ่งที่วันไรมีย์สนใจและทำควบคู่กันไป คือ การพัฒนาธุรกิจยั่งยืน และการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน โดยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดในการผลักดันในการจัดตั้งกองทุนซาลาฟี ชุมชนห้าแยกกำปงบาโงย จ.ยะลา เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อขนาดเล็ก ให้แก่สมาชิกและธุรกิจในชุมชน ร่วมงานกับทีม Songkla Forum ในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็น Active Citizen วันไรมีย์สนุกสนานและมีความสุขกับการ ‘แสวงหา’ และ ‘ส่งต่อ’ ความรู้และการลองประสบการณ์ใหม่ๆ
ศศิวิมล คล่องอักขระ
ศศิวิมลเป็นอดีตนักวิจัยธุรกิจที่ยั่งยืนของบริษัทป่าสาละ ที่ได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านความยั่งยืน ที่ประเทศญี่ปุ่น ศศิวิมลมีความสนใจในเรื่อง ความยั่งยืนของบริษัท (corporate sustainability) ความยั่งยืนด้านการผลิตและบริโภคอาหาร (sustainable food production and consumption) และ ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน (sustainable supply chain) ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลาป่น จนนำไปต่อยอดเป็นหัวข้อวิจัยระดับปริญญาโท
ปัจจุบันศศิวิมลกลับมาร่วมเดินทาง เรียนรู้และสะสมประสบการณ์การทำวิจัยในประเด็นความยั่งยืนไปกับบริษัทป่าสาละอีกครั้งในฐานะนักวิจัยอาวุโส
View all blog postsกรณิศ ตันอังสนากุล
จบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนไปศึกษาปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการสิ่งแวดล้อมจาก University of Gothenburg ประเทศสวีเดน มีความสนใจเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน กรณิศเชื่อมั่นว่าธุรกิจสามารถเติบโตไปพร้อมกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ จึงมุ่งมั่นที่จะส่งผ่านแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ผู้คนรอบๆ ตัว ในอดีตทำงานเป็นนักวิจัยอิสระก่อนมาร่วมทีมป่าสาละในปี 2013
View all blog postsกุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นสมาชิกชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ศึกษา ระหว่างนั้นได้ลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการภาครัฐรวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สิทธิที่ดินทำกินและสิทธิชุมชน และได้เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพของไทย เมื่อจบการศึกษาได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยและได้รับรู้ความเปราะบางของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ เมื่อผนวกประสบการณ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ปัจจุบันกุลณัฐสนใจความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมองว่าการขับเคลื่อนเรื่องทั้งสามสามารถช่วยแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกันได้
กอปรทิพย์ อัจฉริยโสภณ
นักวิจัยธุรกิจที่ยั่งยืนและซีเอสอาร์ อดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาดของสโมสรฟุตบอลอาชีพ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่หลักสูตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
View all blog postsเดือนเพ็ญ ลิ้มศรีตระกูล
อดีตนักข่าวสายการตลาด บรรณาธิการนิตยสารสุขภาพ ที่กำลังหลงไหลกับการกลับไปอยู่กับเตี่ยแม่ และมีความสุขกับการใช้ชีวิตช้าๆ ที่บ้านเกิด แต่อดไม่ได้ที่จะท้าทายตัวเองด้วยการเริ่มต้นเรียนรู้วิถีของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
View all blog postsธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์
ภาคภูมิ โกเมศโสภา
ภาคภูมิ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Ritsumeikan Asia Pacific University ที่ประเทศญี่ปุ่น สาขา Social and Environmental Development มีประสบการณ์การทำงานในสภาพแวดล้อมนานาชาติหรือวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ปัจจุบันเป็นนักวิจัยให้กับบริษัทป่าสาละ มีความสนใจเกี่ยวกับความยั่งยืนในด้านพลังงาน ด้านการผังเมือง และด้านการดำเนินธุรกิจ นอกเวลาทำงาน ภาคภูมิใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการปีนผา อ่านหนังสือ และถ่ายภาพ
อายุวัต เจียรวัฒนกนก
จบการศึกษาปริญญาโทด้าน International Cooperation Policy จากมหาวิทยาลัย Ritsumeikan Asia Pacific University ประเทศญีปุ่น และปริญญาตรีด้าน Asia Pacific Studies จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน มีความสนใจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา
View all blog postsรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
นักศึกษาปริญญาโททางการเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลุกคลีอยู่ในวงการอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมมาหนึ่งปีหลังจบการศึกษาปริญญาตรี ใช้เวลาว่างในการอ่านเขียน สนใจเรื่องธุรกิจที่ยั่งยืน และเริ่มศึกษาอย่างจริงจังหลังจากได้มาร่วมงานกับป่าสาละ
View all blog posts