Dictionary
Glossary A to Z
Please select a letter from the alphabet below
Please select from the menu above
- Big Data
หมายถึงชุดข้อมูลที่มีปริมาณมาก (volume) เช่น ระดับ เทอร์ราไบต์ (Terabyte) ขึ้นไป รวมถึงรูปแบบมีความหลากหลายสูง (variety) และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (velocity) จนไม่สามารถบริหารจัดการและวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องมือทั่วไป
- Biodiversity
ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) หมายถึง การมีพันธุ์พืชและสัตว์นานาชนิด รวมถึงระบบนิเวศ และแหล่งพันธุกรรมที่แตกต่างหลากหลาย ความหลากหลายทางชีวภาพนับว่าเป็นทรัพยากรสำคัญ โดยเปรียบเสมือนระบบผลิตสินค้าและบริการซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่น เป็นแหล่งอาหาร แหล่งพันธุกรรมเพื่อผลิตยารักษาโรค รวมถึงเป็นแหล่งดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และป้องกันอุทกภัย
- Bottom of the Pyramid
ตลาดฐานปิรามิด (Bottom of the Pyramid) เป็นคำที่นำเสนอโดย C.K. Prahalad ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจผู้ล่วงลับ คำคำนี้มาจากการจัดแบ่งคนในโลกตามรายได้เฉลี่ย โดยพบว่าคนกลุ่มที่มีรายได้สูง คือตั้งแต่ 20,000 เหรียญต่อปีขึ้นไป มีจำนวนน้อยเปรียบเสมือน “ยอดปิรามิด” ส่วนกลุ่มกลุ่มคนจน คือมีรายได้ระหว่าง 365 ถึง 3,000 เหรียญต่อปี และกลุ่มยากจนเรื้อรัง คือมีรายได้ต่ำกว่า 1 เหรียญต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนรวมสูงถึงร้อยละ 76 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเปรียบเสมือน “ฐานปิรามิด” และเป็นตลาดที่มีโอกาสทางธุรกิจมหาศาล
- Business Case
เหตุผลทางธุรกิจ (Business Case) หมายถึงประโยชน์ทางธุรกิจหรือตรรกะของการใช้เงินหรือทรัพยากรอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของธุรกิจ เช่น การลงทุนอัพเกรดซอฟต์แวร์จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่เหตุผลทางธุรกิจของการอัพเกรดซอฟต์แวร์คือประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ลดระยะเวลาการดำเนินการ และลดต้นทุนการบำรุงรักษา เป็นต้น
- Carbon Neutral
การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) หมายถึง องค์กร ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกิจกรรมที่มีการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์
- Climate Change
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของแบบแผนภูมิอากาศโดยเฉลี่ย เช่น อุณหภูมิ ฝน หิมะ ความชื้น และฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นประเด็นซึ่งทั่วโลกกังวลเนื่องจากมีหลักฐานที่ยืนยันว่าในศตวรรษที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์ทำให้แบบแผนของภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์
- Corporate Social Responsibility (CSR)
ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) หมายถึง แนวคิดที่ว่าบริษัทควรแสดงความรับผิดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยสมัครใจ (more…)
- Cosmopolitanism
แนวคิด “หลากหลายนิยม” (Cosmopolitanism) มาจากรากศัพท์คำว่า Kosmopolites ที่แปลว่า พลเมืองโลก เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยสังคมภายใต้จริยธรรมสากล มีการยอมรับความหลากหลายทางด้าน ศีลธรรม, ปรัชญา, สังคมเศรษฐกิจและการเมือง (more…)
- Creating Shared Value (CSV)
การสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV หมายถึง การสร้างสินค้าหรือบริการ การปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่า (value chain) หรือการพัฒนาท้องถิ่น ในทางที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาวของบริษัท และบรรลุเป้าหมายหรือสร้างมูลค่าเพิ่มทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย แนวคิดนี้ถูกคิดค้นเป็นครั้งแรกในปี 2010 โดย ไมเคิล พอร์เตอร์ (Michael Porter) กูรูด้านกลยุทธ์ธุรกิจชื่อดัง
- Creative Commons
ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons: CC) หรืองานสร้างสรรค์เสรี หมายถึงชุดสัญญาอนุญาตชื่อเดียวกัน และองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อเดียวกันที่ก่อตั้งโดย แลรี่ เลสสิก (Larry Lessig) (more…)
- CSR after process
ความรับผิดชอบต่อสังคมนอกเหนือกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจ (CSR after process) หมายถึง การดำเนิน “กิจกรรม” แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่แยกต่างหากจากกระบวนการดำเนินธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น การปลูกป่า การกุศล การเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร เป็นต้น
- CSR in process
ความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจ (CSR in process) หมายถึง การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยบูรณาการหลักความรับผิดชอบเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจของกิจการทุกกระบวนการ ซีเอสอาร์ลักษณะนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในระดับ “เนื้อใน” ของธุรกิจ และแสดงให้เห็นความรับผิดชอบในระดับที่ “ลึก” และ “กว้าง” กว่า “กิจกรรม” ซีเอสอาร์ (CSR after process)
- DJSI
DJSI หรือ The Dow Jones Sustainability Indices คือดัชนีหลักทรัพย์ที่ยั่งยืนชุดแรกของโลกที่เปิดตัวเมื่อ พ.ศ. 2542 พัฒนาโดย RobecoSAM ร่วมกับ S&P Dow Jones โดย DJSI จะแสดงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดัชนีดังกล่าวจัดเป็นมาตรฐานสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนโดยคำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน และนับเป็นเครื่องมือสำหรับบริษัทที่ต้องการเรียนรู้และนำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านความยั่งยืน (sustainable best practices) ไปปรับใช้ในองค์กร
- Ecolabelling
ฉลากสิ่งแวดล้อม หรืออีกชื่อว่า ฉลากเขียว (Green Label) เป็นกลไกในการสื่อสารว่าผลิตภัณฑ์หนึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของผู้บริโภคให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค รวมถึงสร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการผลิต หรือให้บริการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
- Ecological Footprint
รอยเท้านิเวศน์ หมายถึง การวัดผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ โดยคำนวณจากปริมาณการบริโภคและปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แล้วเทียบกับอัตราการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ คำว่ารอยเท้านิเวศน์ถูกใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 โดยนักวางแผนชุมชนมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจำเป็นต้องบริโภคทรัพยากรจากระบบนิเวศน์เพื่อการดำรงชีวิต โดยรอยเท้าขนาดใหญ่หมายถึงการบริโภคทรัพยากรมากกว่ารอยเท้าขนาดเล็ก
- Enron
เอ็นรอน (Enron) เป็นบริษัทค้าพลังงานชั้นนำของโลก ในปี พ.ศ. 2543 เคยติดอันดับที่ 7 ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ Fortune 500 โดยมียอดขายปีละ 101,000 ล้านเหรียญดอลลาร์อเมริกัน (USD) (ครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศไทย) (more…)
- Genuine Progress Indicator (GPI)
“ดัชนีวัดความก้าวหน้าที่แท้จริง” (The Genuine Progress Indicator: GPI) คือแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิด “เศรษฐกิจสีเขียว” และ “เศรษฐศาสตร์สวัสดิการ” และถูกเสนอให้นำมาใช้วัดอัตราการเจริญเติบโตของประเทศแทนการวัดผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product: GDP) (more…)
- Global Reporting Initiative
โกลบอล รีพอร์ติ้ง อินนิชิเอทีฟ (Global Reporting Initiative: GRI) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Coalition for Environmentally Responsible Economies: CERES และ สถาบัน Tellus ด้วยความสนับสนุนของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ในปี พ.ศ. 2540 (more…)
- Good Governance
หลักธรรมาภิบาลที่ดี หมายถึง การบริหารหรือการปกครองที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง และความยุติธรรม โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดหลักการทั่วไปของธรรมาภิบาลไว้ 8 ประการ ได้แก่ การมีส่วนร่วม การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ความสอดคล้อง ความเสมอภาค หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล และความมีเหตุมีผล
- Human Development Index
ดัชนีพัฒนามนุษย์ (The Human Development Index: HDI) เป็นดัชนีชี้วัดระดับการพัฒนาที่นับรวมเอาตัวแปรต่าง ๆ เช่น การคาดการณ์อายุขัย, ความรู้หนังสือ, ระดับการศึกษา, มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ และผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวเข้ามาพิจารณาด้วย เพื่อที่จะจัดกลุ่มประเทศต่าง ๆ ให้อยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาแล้วได้ (more…)
- Impact Investing
การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ หมายถึง การลงทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เป็นหลักหรือเพิ่มเติมนอกเหนือจากการได้รับผลตอบแทนทางการเงิน โดยการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม
- ISO 14000
อนุกรมมาตรฐาน ISO 14000 เป็นมาตรฐานว่าด้วยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (The International Organization for Standardization: ISO) โดยอนุกรมมาตรฐาน ISO 14000 ประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) มาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 2) การตรวจสอบประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อม 3) ฉลากกับผลิตภัณฑ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 4) การประเมินความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม และ 5) การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
- ISO 26000
อนุกรมมาตรฐาน ISO 26000 เป็นมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติชุดแรกของ ISO ที่ตั้งอยู่บนหลักความสมัครใจ (ไม่มีการตรวจสอบ) โดย ISO 26000 ประกอบด้วยหลักการ 7 ข้อ ได้แก่ 1) ความรับผิดต่อสังคมที่สามารถตรวจสอบได้ 2) ความโปร่งใส 3) ความมีจริยธรรม 4) การรับฟังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย 5) การปฏิบัติตามหลักนิติธรรม 6) การยอมรับในมาตรฐานสากล และ 7) การเคารพสิทธิมนุษยชน
- Natural Capitalism
ทุนนิยมธรรมชาติ (Natural Capitalism) คือกระบวนทัศน์ใหม่ที่สังเคราะห์โดย พอล ฮอว์เคน (Paul Hawken) เจ้าของร้านเครื่องมือทำสวนที่ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนทัศน์นี้มีสาระสำคัญแตกต่างไปจากกระบวนทัศน์แบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเดิม ที่มองว่า “เงินสามารถซื้อได้ทุกอย่าง” และ “ตลาดเสรีดีที่สุดสำหรับมนุษย์” (more…)
- Payments for Ecosystem services: PES
การจ่ายค่าตอบแทนนิเวศบริการ หมายถึง การเก็บผลประโยชน์จากผู้ได้รับประโยชน์จากนิเวศบริการ เช่น ผู้อาศัยอยู่ในเมืองที่ได้ใช้น้ำสะอาด บริษัทที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยผลประโยชน์เหล่านั้นจะถูกโอนไปยังชุมชน เกษตรกร หรือเจ้าของที่ดินที่อยู่ใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแรงจูงใจให้พวกเขาเหล่านั้นรักษาสิ่งแวดล้อม (เป็น “ค่าตอบแทน” การอนุรักษ์) หรืออาจถูกนำไปใช้ในการพัฒนาความรู้ บรรเทาความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพในการอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูแหล่งทรัพยากร เป็นต้น
- Self-Emerging System
“ระบบอุบัติเอง” (self-emerging system) เป็นระบบที่เกิดจากคนจำนวนมากร่วมกันสร้าง จนไม่อาจระบุได้ว่าเป็นผลงานของกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง เสมือนหนึ่งว่าเป็นระบบที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง (more…)
- Social Business
ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) หมายถึงการมุ่งแก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ด้วยวิถีธุรกิจ เช่น ก่อตั้งบริษัทกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาขยะ ก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน
มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน ได้แบ่งธุรกิจเพื่อสังคมออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่ 1 (Type I) หมายถึงกิจการที่มุ่งเน้นเรื่องเป้าหมายทางสังคมเท่านั้น โดยนักลงทุนสามารถทยอยรับผลตอบแทนคืนได้แต่ไม่เกินมูลค่าของเงินที่ลงทุน และจะไม่ได้รับเงินปันผล ส่วนประเภทที่ 2 (Type II) คือ กิจการที่เน้นเรื่องเป้าหมายทางสังคมที่มีกำไรและมีคนจนหรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นเจ้าของ ซึ่งพวกเขาจะได้รับเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นๆ จากกิจการ
- Social Enterpreneur
ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneur) หมายถึงนักธุรกิจหรือปัจเจกชนผู้มีจิตสาธารณะที่เลือกเดิน “ทางสายกลาง” ระหว่างนักธุรกิจและเอ็นจีโอแบบดั้งเดิม ใช้ประโยชน์จากชุดความรู้จากโลกธุรกิจที่ประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึง ในการคิดค้น พัฒนา และลงมือดำเนินกิจการที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและคุ้มค่าเมื่อเทียบกับต้นทุน (more…)
- Social Justice
ความเป็นธรรมทางสังคม (social justice) คือแนวคิดที่ว่าด้วยความเป็นธรรมในทุกมิติของสังคม มิใช่เพียงแค่มิติทางด้านกฎหมายเท่านั้น ซึ่งความเป็นธรรมทางสังคมในตัวของมันเอง ก็ตีความได้หลายความหมาย (more…)
- Socially Responsible Investment (SRI)
การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment : SRI) เป็นแนวทางลงทุนของกองทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (socially responsible fund) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนบางกลุ่มที่มีจิตสำนึกทางสังคม ตั้งเป้าหมายที่การเลือกลงทุนในบริษัทที่ผ่านหลักเกณฑ์ว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่าบริษัทที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด (more…)
- Stakeholder
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่ได้รับผลกระทบ และ/หรือส่งผลกระทบต่อองค์กร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจเป็นบุคคลภายในหรือภายนอกองค์กร และมีความสัมพันธ์โดยตรงหรือโดยอ้อมกับองค์กรก็ได้ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักสำหรับองค์กรทั่วไปมักหมายถึงนักลงทุน พนักงาน และลูกค้า อย่างไรก็ตาม แนวคิดในปัจจุบันมักให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ด้วย เช่น ชุมชน รัฐบาล และคู่ค้า
- Strategic CSR
ความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงกลยุทธ์ (Strategic CSR) หมายถึง การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรแบบ “เชิงรุก” โดยองค์กรจะยกระดับจากการเป็นเพียงบริษัทที่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนด หลักความรับผิดชอบ หรือมาตรฐานความรับผิดชอบทางสากล ไปสู่การเป็นผู้ริเริ่ม และหยิบยกประเด็นทางสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมขึ้นมาวิเคราะห์ และวางแผนเพื่อปรับปรุงการดำเนินกิจการใหม่ ให้กลยุทธ์ พันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมขององค์กรสะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมในทางที่สร้างประโยชน์ทางธุรกิจอย่างผสมผสานกลมกลืน
- Sustainable Development
การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) เป็นแนวคิดที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในรายงานชื่อ “อนาคตร่วมของเรา” (Our Common Future) หรือที่เรียกว่า ”Brundtland Report” ซึ่งได้ให้นิยาม “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ไว้ว่าหมายถึง “วิถีการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง” (more…)
- Sustainable Development Goals (SDGs)
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หมายถึง เป้าหมาย 17 ประการที่ได้รับการรับรองในการประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกเป็นระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า และเพื่อทดแทนที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) ที่สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2558
- Triple Bottom Line
“ไตรกำไรสุทธิ” (Triple Bottom Line : TBL) บัญญัติเป็นครั้งแรกโดย จอห์น เอลคิงตัน (John Elkington) ในหนังสือเรื่อง Cannibal With Forks (1997) เป็นแนวคิดที่ขยายการวัดเป้าหมายความสำเร็จและคุณค่าขององค์กร, เศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งแต่เดิมสนใจแค่กำไร (Profit) มาสนใจเรื่องมนุษย์ (People) และโลก (Planet) (more…)
- Water-neutral
การเป็นกลางทางน้ำ หมายถึง องค์กร ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกิจกรรมที่มีการใช้น้ำสุทธิเท่ากับศูนย์ กล่าวคือ มีการชดเชยน้ำกลับคืนในปริมาณเท่ากับปริมาณน้ำที่ใช้ไป ซึ่งการชดเชยอาจทำได้โดยการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ หรือการอนุรักษ์น้ำในพื้นที่อื่นทดแทน
- WBCSD
WBCSD หรือ The World Business Council for Sustainable Development เป็นองค์กรที่รวบรวมผู้บริหารธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 200 บริษัทที่ต้องการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม WBCSD ขับเคลื่อนผ่านเครือข่ายสมาชิกในการผลักดันธุรกิจให้ยั่งยืนขึ้นในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นเสียงสำคัญจากภาคธุรกิจที่จะสร้างเงื่อนไขให้บริษัทที่ยั่งยืนสามารถประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับมากขึ้น
- World Economic Forum
World Economic Forum คือ องค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะจัดประชุมเป็นประจำทุกปี โดยมีผู้นำจากทั้งภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคอื่นๆ ในสังคมเข้าร่วมพูดคุยประเด็นต่างๆ ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และอุตสาหกรรม รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเพื่อจัดทำรายงานความเสี่ยงโลก (The Global Risk Report) เป็นประจำทุกปี