“ดัชนีวัดความก้าวหน้าที่แท้จริง” (The Genuine Progress Indicator: GPI) คือแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิด “เศรษฐกิจสีเขียว” และ “เศรษฐศาสตร์สวัสดิการ” และถูกเสนอให้นำมาใช้วัดอัตราการเจริญเติบโตของประเทศแทนการวัดผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product: GDP)

GPI คือความพยายามหนึ่งที่จะวัดสวัสดิการหรือระดับความอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยตั้งต้นจาก GDP ลบด้วย “ต้นทุน” ในการได้มาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างระหว่าง GDP กับ GPI อยู่ในเรื่องวิธีวัดรายได้รวม และกำไรสุทธิ (กำไรสุทธิคือรายได้รวมหักด้วยต้นทุน (กล่าวคือ GPI จะเป็นศูนย์เมื่อต้นทุนทางการเงินของอาชญากรรมและมลพิษมีค่าเท่ากับผลประโยชน์ทางการเงินจากการผลิตสินค้าและบริการ หากปัจจัยอื่น ๆ มีค่าคงที่ ซึ่งการวัดในลักษณะนี้ทำให้ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น สังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากปัจจัยด้านการเงินเพียงอย่างเดียว

ลักษณะพิเศษของ GPI คือสามารถเลือกนำตัวแปรที่คิดว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอื่น นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องรายได้ มาหักออกจาก GDP ปกติได้ ตัวแปรเหล่านั้นก็มีหลายอย่าง เช่น ต้นทุนด้านการเสื่อมสลายของทรัพยากร, ต้นทุนจากปัญหาอาชญากรรม, ต้นทุนจากการเสื่อมสลายของชั้นบรรยากาศ, ต้นทุนจากปัญหาครอบครัวแตกแยก, ต้นทุนจากมลพิษทางอากาศ น้ำและเสียง และการสูญสลายของที่ดินทำกินและแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีผลการศึกษามากมายที่ยืนยันว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว การที่ประชาชนมีฐานะดี ไม่ได้แปลว่าเขาเหล่านั้นมีความสุข ดังนั้นการใช้ดัชนีชี้วัดที่คำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากเงิน จะทำให้เข้าใจสภาพความเป็นอยู่และสภาพจิตใจที่แท้จริงของประชาชนในแต่ละประเทศได้ดีขึ้นกว่าเดิม